โคโรนา : สธ.พิจารณาประกาศโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น "โรคติดต่ออันตราย"

เทอร์โมสแกน

ที่มาของภาพ, Getty Images

องค์การอนามัยโลกประกาศให้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น "ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" เนื่องจากมีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่นอกประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความกังวลว่าการระบาดของไวรัสชนิดนี้จะแพร่ไปสู่ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขอ่อนแอ

การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขของไทยยกระดับมาตรการป้องกันการระบาดของไวรัสชนิดนี้ ซึ่งรวมถึงการพิจารณาประกาศให้โรคปอดติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น "โรคติดต่ออันตราย" ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งจะนับเป็นโรคติดต่ออันตรายชนิดที่ 14 ของไทยหากมีการประกาศ

นายเทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงที่เจนีวาคืนวันที่ 30 ม.ค.ว่า สาเหตุหลักที่ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้ "ไม่ใช่เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน แต่เป็นเพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ"

"ผมขอระบุให้ชัดว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้ ไม่ใช่การไม่ไว้วางใจประเทศจีน" ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าวและได้ยกย่องมาตรการ "เยี่ยมยอดมากมาย" ที่ทางการจีนได้ดำเนินการเพื่อควบคุมการระบาด

กราฟิก

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในประเทศจีนมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้วอย่างน้อย 231 ราย และพบผู้ติดเชื้อแล้ว 98 รายใน 18 ประเทศ แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตนอกประเทศจีน โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เดินทางมาจากนครอู่ฮั่น จุดกำเนิดของโรคระบาดนี้

สิ่งที่น่ากังวลอีกประการหนึ่งก็คือ นอกจากประเทศจีนแล้ว ยังมีอีก 4 ประเทศ คือ เยอรมนี ญี่ปุ่น เวียดนามและสหรัฐอเมริกาที่พบการติดเชื้อจากคนสู่คนภายในประเทศ

แผนที่การระบาดของไวรัสโคโรนาในจีน

เขากล่าวด้วยว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้ "เป็นการระบาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" แต่ก็ได้รับการตอบสนองรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นกัน

ผู้อำนวยการใหญ่ WHO

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, "การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศครั้งนี้ ไม่ใช่การไม่ไว้วางใจประเทศจีน" ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าว

ไทยยกระดับมาตรการเชิงป้องกัน

วันนี้ (31 ม.ค.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน แถลงข่าวสถานการณ์การรับมือเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่า ได้ยกระดับมาตรการเชิงป้องกัน เน้นการทำงานเชิงรุก หลังองค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเมื่อคืนนี้

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร

ที่มาของภาพ, กระทรวงสาธารณสุข

คำบรรยายภาพ, นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร (คนกลาง) ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน แถลงข่าวสถานการณ์การระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา

มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดที่ นพ.โสภณกล่าวถึง ได้แก่

  • เพิ่มความเข้มข้นในการคัดกรองผู้ป่วยในสถานที่ต่าง ๆ นอกเหนือจากสนามบิน เช่น โรงพยาบาลและชุมชน เนื่องจากมีผู้ป่วยบางส่วนที่ติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ
  • พิจารณาประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นโรคติดต่ออันตรายโรคที่ 14 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งคณะกรรมการด้านวิชาการและกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำลังหารือกันอยู่ ซึ่งการประกาศจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานง่ายขึ้น แต่ก็ต้องพิจารณาถึงผลทางเศรษฐกิจ สังคมและการเดินทางของประชาชนด้วย ไม่ใช่พิจารณาเรื่องสุขภาพอย่างเดียว
  • ช่วยสนับสนุนการสอบสวนโรคให้แก่ประเทศที่ต้องการความเชี่ยวชาญจากประเทศไทย เช่น การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการใช้เทอร์โมสแกนในการคัดกรองผู้ป่วย
Presentational grey line

ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ 5 ครั้งล่าสุด

WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเมื่อ "มีเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศอื่น ๆ จากการแพร่ระบาดระหว่างประเทศ"

ก่อนหน้านี้ WHO เคยประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศมาแล้ว 5 ครั้ง ได้แก่

  • ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 (ไข้หวัดหมู) ปี 2009 - การระบาดของไวรัส H1N1 เมื่อปี 2009 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 200,000 คนทั่วโลก
  • โรคโปลิโอ ปี 2014 - แม้ว่าหน่วยงานด้านสาธารณสุขเกือบจะสามารถกำจัดโรคโปลิโออย่างถาวรได้แล้วในปี 2012 แต่จำนวนผู้ป่วยโปลิโอกลับเพิ่มขึ้นมาอีกครั้งในปี 2013 ส่งผลให้ WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการที่เข้มข้นในการลดจำนวนผู้ป่วยต่อไป
  • ไวรัสซิก้า ปี 2016 - การระบาดของไวรัสซิก้าในทวีปอเมริกาเกิดขึ้นเมื่อปี 2016 แม้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง แต่เชื้อไวรัสชนิดเป็นอันตรายมากต่อหญิงตั้งครรภ์
  • ไวรัสอีโบลา ปี 2014 และ 2019 - WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินเรื่องการระบาดของไวรัสอีโบลาครั้งแรกในเดือน ส.ค.2014 ซึ่งลากยาวถึงเดือน มี.ค. 2016 มีผู้ติดเชื้ออีโบลาเกือบ 30,000 คนและมีผู้เสียชีวิตกว่า 11,000 คน ในแอฟริกาตะวันตก WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินของอีโบลาอีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อปี 2019 หลังจากมีการระบาดในคองโก