3 สมาคมสื่อเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. คุมสื่อ 3 ฉบับ

นักข่าวถ่ายภาพ

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ออกแถลงการณ์ร่วมเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกในวันนี้ (3 พ.ค.) โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ

โดยประเด็นสำคัญคือการเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรระมัดระวังในการออกกฎหมายที่เป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อและประชาชน พร้อมกันนั้นยังเรียกร้องให้ยกเลิก ประกาศและคำสั่งของ คสช. ซึ่งประกอบด้วย

  • ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 การขอความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ซึ่งห้ามเสนอข่าวสารที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ความลับราชการ ยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง
  • ประกาศ คสช. ฉบับที่103/2557 แก้ไขเพิ่มเติมจาก ประกาศฉบับที่ 97/2557 ซึ่งมีเนื้อหาห้ามวิพากษ์วิจารณ์ การปฏิบัติงานของ คสช. โดยเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ
  • คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการห้ามการนำเสนอข่าว และเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ที่มีข้อความที่ให้ประชาชนหวาดกลัว บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ความเข้าใจผิดต่อความมั่นคงของชาติและส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานว่า สมาคมทั้งสามจะยื่นแถลงการณ์ต่อรัฐบาลหรือไม่ อย่างไรก็ตาม บีบีซีไทยกำลังติดต่อรัฐบาลเพื่อขอความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่าจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องของ 3 สมาคมหรือไม่

ภาพแถลงการณ์

ที่มาของภาพ, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ไอลอว์ ชี้ คำสั่ง คสช. ให้ดาบแก่ กสทช. คุมสื่อเกินไป

ขณะเดียวกัน นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ ไอลอว์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า นอกจากนี้กฎหมายทั้งสามฉบับแล้วก็ยังมีคำสั่งที่ 41/2559 ที่ให้อำนาจแก่ กสทช. ให้พิจารณาว่าอะไรขัดกับสองฉบับแรกบ้าง และมีข้อยกเว้นความรับผิดชอบ กสทช. คือไม่สามารถจะฟ้อง กสทช.ได้

"โดยทั่วไปแล้ว คสช. เลี่ยงใช้อำนาจโดยตรง เลี่ยงการใช้ทหารเข้ามาปิดสื่อ แต่ใช้อำนาจผ่าน กสทช. แต่ว่าเราก็เห็นว่า กสทช.เคยสั่งลงโทษสื่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสื่อฝั่งเสื้อแดง อย่าง วอยซ์ทีวี 19 ครั้ง พีซทีวีโดนสั่งปิดไปแล้วสองครั้ง สั่งปิดแบบถาวร ตอนนี้คดีอยู่ที่ศาลปกครอง

ดัชนีเสรีภาพสื่อ

"การควบคุมสื่อผ่านระบบประกาศคำสั่งพวกนี้ ก็ยังถูกใช้งานอยู่อย่างมาก แต่เราไม่ค่อยรู้ว่าทำงานอย่างไรบ้าง เพราะตรวจสอบลำบาก นอกจากนี้ก็ทราบว่ามีการเรียกสื่อมาคุย หรือการส่งทหารไปหาที่สถานี"

นายยิ่งชีพกล่าวอีกว่า ขณะที่ออนไลน์มีเดียก็จะมีการควบคุม อย่างเช่น คนที่โพสต์อะไรบนเฟซบุ๊ก จะอยู่ภายใต้มาตรา 116 หรือ 112

นอกจากนี้ก็ยังมีประกาศคสช. ฉบับหนึ่งให้ตั้งคณะกรรมการกำกับสื่อออนไลน์ ให้กรรมการชุดนี้มีอำนาจสั่งบลอคเว็บได้เลยโดยไม่ต้องขอหมายศาล "ไม่ทราบว่าทำงานหนักแค่ไหน เพราะเมื่อไม่ต้องขอหมายศาล เราก็ติดตามไม่ได้ว่าสั่งบลอกเว็บไปแล้วเท่าไร"

ไมค์วางบนโต๊ะแถลงข่ว

ที่มาของภาพ, Getty Images

และก็ยังมีคำสั่งคสช.ที่ไม่เผยแพร่ต่อสาธารณะและรู้ว่ามีอยู่ฉบับหนึ่งที่แต่งตั้งคณะทำงานที่ติดตามการทำงานของสื่อ ซึ่งทำงานค่อนข้างขันแข็ง วัน ๆหนึ่งก็จะมีทีมมานั่งดู ทีวีว่าช่องไหนออกอากาศอะไรบ้าง แล้วถอดเทปไปให้กสทช. แล้วกสทช.จะรับเรื่อง แล้วก็ดำเนินการตามขั้นตอนของประกาศคำสั่ง

นอกจากนี้ก็ยังมีตัวเอ็มโอยูด้วย บางครั้งไม่ได้ทำผิดตามประกาศไหนเลย แต่ผิดเอ็มโอยูที่ทางสื่อได้ลงนามไว้กับทาง กสทช.แล้ว "นับเป็นการควบคุมสื่อด้วยช่องทางหลากหลายอย่างเข้มงวด" เขากล่าว

พีซทีวี

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

บอร์ด กสท. เคยมีมติ 4 ต่อ 1 เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดาวเทียมช่องพีซทีวี (Peace TV) จากการออกอากาศรายการมองไกล ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำด้วยการออกอากาศเนื้อหารายการยั่วยุ ปลุกปั่น ให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งนี้ ช่องพีซทีวี เคยถูกพิจารณาให้ระงับการออกอากาศ เป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 10-17 เม.ย 2558

นายยิ่งชีพกล่าวว่าตอนนี้ทางไอลอว์กำลังรวมรายชื่อประชาชนให้ครบ 1 หมื่นชื่อเพื่อเสนอให้ร่าง พรบ.ยกเลิกประกาศ คสช.35 ฉบับ ที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพสิทธิมนุษยชน ชื่อ "ปลดอาวุธ คสช." "เพราะเราคิดว่ามันอยู่แบบนี้ไม่ได้จริง ๆ ... ในระยะยาวเราเห็นว่า คสช. เขียนรัฐธรรมนูญวรรคสุดท้ายเพื่อรับรองให้ประกาศคำสั่งคงอยู่ตลอดไป เขาต้องการให้ฟังก์ชั่นการควบคุมสื่อเหล่านี้ทำงานต่อไปไม่รู้อีกนานเท่าไร"

ยูเอ็นเรียกร้องให้เลิกโจมตีสื่อมวลชน

นายเดวิด เคย์ (David Kaye) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเสรีภาพด้านความคิดเห็นและการแสดงออก รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญในเรื่องสิทธิมนุษชนทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันว่าการคุกคามเสรีภาพและความคิดเห็นที่หลากหลายของสื่อมวลชนในนานาประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสื่อออนไลน์

ในคำแถลงร่วมในวันเสรีภาพสื่อโลก (3 พ.ค.) พวกเขาเน้นย้ำถึงบทบาทของสื่ออิสระในการก่อรูปสังคมประชาธิปไตย และแสดงความกังวลเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย รวมทั้งการสอดส่องติดตาม การลดบทบาท รวมทั้งบีบพวกสื่ออิสระต่าง ๆ ให้ไม่สามารถทำงานได้

นายเคย์กล่าวว่า "สื่อมวลชนอิสระและไม่ขึ้นกับใครนั้นส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย และ ภาระรับผิดชอบ (accountability) ของผู้มีอำนาจ ขณะที่การโจมตีสื่อมวลชนและการรายงานข่าวนั้นบ่อนทำลายการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน และแนวคิดที่ว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำลงไปโดยสิ้นเชิง"

นายเคย์ยังได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องปกป้องนักข่าวให้มากขึ้น การที่สื่อมวลชนตกเป็นเป้าการโจมตีทางด้านต่าง ๆ ก็เนื่องจากการที่นักการเมืองหรือผู้นำธุรกิจต่าง ๆ กล่าวหาสื่อมวลชนว่าเป็น "ศัตรู" และพยายามขัดขวางการสืบสวนสอบสวนเพื่อรายงานข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน

เขายังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมความเป็นอิสระและความหลากหลายของสื่อมวลชนรวมพลังกันเพื่อยุติการโจมตีสื่อมวลชนในทุกด้าน

สื่อไทยร่วมอาลัยสื่อมวลชน 46 รายผู้วายชนม์

นอกจากนี้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนของไทย ยังได้แสดงความเสียใจกับการสูญเสียบุคลากรสื่อมวลชน 46 รายใน 2560 ที่ผ่านมา เนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งการเสียชีวิตของนายอาห์เหม็ด ชาห์ ผู้สื่อข่าวแผนกภาษาอัฟกันของบีบีซีวัย 29 ปีและนายชาห์ มาไร หัวหน้าช่างภาพของเอเอฟพีประจำกรุงคาบูล ในเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย 2 ครั้งซ้อนในย่านใจกลางกรุงคาบูล ของอัฟกานิสถานเมื่อวันจันทร์ (30 เม.ย.)

นายอาห์เหม็ด ชาห์ ผู้สื่อข่าวแผนกภาษาอัฟกันของบีบีซีวัย 29 ปี ถูกชายไม่ทราบกลุ่มยิงเสียชีวิตในจังหวัดโคสต์
คำบรรยายภาพ,

นายอาห์เหม็ด ชาห์ ผู้สื่อข่าวแผนกภาษาอัฟกันของบีบีซีวัย 29 ปี ถูกชายไม่ทราบกลุ่มยิงเสียชีวิตในจังหวัดโคสต์

นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวในแถลงการณ์ดังกล่าวว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 46 รายประกอบด้วย ผู้สื่อข่าวในประเทศอิรัก และซีเรีย เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ถึงประเทศละ 8 ราย เม็กซิโก 6 ราย อินเดีย และอัฟกานิสถานประเทศละ 4 ราย, ฟิลิปปินส์ รัสเซีย เยเมน และโซมาเลีย ประเทศละ 2 ราย, โคลัมเบีย บราซิล เดนมาร์ก มอลตา ซูดานใต้ มัลดีฟส์ บังคลาเทศ และปากีสถานอีกประเทศละ 1 ราย ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการรายงานข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบและความขัดแย้ง

สำหรับการเสียชีวิตของนักข่าวในประเทศเม็กซิโกกลับต่างออกไป เนื่องจากสาเหตุของการเสียชีวิตมากจากการถูกฆาตกรรมเพื่อแก้แค้น จากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อตรวจสอบการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูง

กราฟิกนักข่าวที่ตายในปี 2017