ศาลพิพากษายกฟ้อง ทักษิณ คดีปล่อยกู้กรุงไทย

ทักษิณ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง พิพากษา "ยกฟ้อง" นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีร่วมอนุมัติให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้แก่บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานครโดยมิชอบ 9 พันล้านบาท เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย

ศาลฎีกาฯ ยังมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับนายทักษิณในคดีนี้ด้วย

องค์คณะผู้พิพากษาที่มีนายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกา เป็นเจ้าของสำนวน ได้อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย โดยมีทนายความผู้รับมอบอำนาจจากอดีตนายกฯ ผู้หลบหนีไปใช้ชีวิตในต่างแดนนาน 11 ปี มาร่วมรับฟังคำพิพากษาด้วย

ศาลมีคำวินิจฉัยว่าฯ ตามทางไต่สวน แม้จะได้ความจากนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ พยานฝ่ายอัยการ ว่านายชัยณรงค์ได้รับโทรศัพท์จากจำเลยที่ 2 (ร.ท. สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยขณะนั้น) แจ้งว่าเรื่องของจำเลยที่ 19 (บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด) "ซูเปอร์บอส" ตกลงแล้ว อย่าสอบถามข้อมูลมากนัก และขอให้พิจารณาไปโดยเร็ว มีลักษณะเป็นการสั่ง คำว่า "ซูเปอร์บอส" น่าจะหมายถึงจำเลยที่ 1 (นายทักษิณ) ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกฯ ในขณะนั้น แต่นายชัยณรงค์เคยให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่า "ซูเปอร์บอส" หมายถึงจำเลยที่ 1 หรือคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร์ อดีตภริยานายทักษิณ อันเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกัน

อีกทั้งการเบิกความว่า "ซูเปอร์บอส" หรือ "บิ๊กบอส" หมายถึงจำเลยที่ 1 เป็นเพียงการคาดเดาไปตามความเข้าใจของนายชัยณรงค์เอง นายชัยณรงค์ไม่รู้จักจำเลยที่ 1 เป็นการส่วนตัว เพียงแต่อ้างว่าจำเลยที่ 2 โทรศัพท์มาบอกว่า "ซูเปอร์บอส" ตกลงแล้ว จึงเป็นกรณีที่พยานได้รับฟังมาจากจำเลยที่ 2 อีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น "ซูเปอร์บอส" จะเป็นผู้ใดจึงมีเพียงจำเลยที่ 2 เท่านั้นที่จะยืนยันข้อเท็จจริงได้ หรืออาจเป็นการกล่าวอ้างของจำเลยที่ 2 เองก็เป็นได้ พยานปากนี้จึงยังเป็นพยานเข้าไปเกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว จึงควรรับฟังด้วยความระมัดระวัง

อุตตม

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พปชร.

คำบรรยายภาพ, นายอุตตม สาวนายน รมว. คลังในรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" ยืนยันต่อสาธารณะเมื่อ ก.ค. 2562 ว่า "ไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิด โดยผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอน" หลังปรากฏภาพว่าร่วมลงนามปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้เครือกฤษดามหานคร

ส่วนพยานปากนายอุตตม สาวนายน ก็ได้ความเพียงว่าก่อนการประชุม นายชัยณรงค์สอบถามที่หน้าห้องประชุมเพียงว่าจำเลยที่ 2 ได้โทรศัพท์มาถึงนายอุตตมหรือไม่ ซึ่งได้ตอบไปว่าไม่ได้โทรมา การพิจารณาอนุมัติให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 19 ในส่วนของนายอุตตมจึงมิได้เกิดจากจำเลยที่ 2 โน้มน้าวให้อนุมัติเพราะได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1

"พยานหลักฐานของโจทก์ที่ไต่สวนมายังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 สั่งการผ่านจำเลยที่ 2-4 ให้อนุมัติสินเชื่อให้จำเลยที่ 19 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1" คำพิพากษาศาลฎีกาฯ ระบุ

สำหรับนายชัยณรงค์ และนายอุตตม เป็นกรรมการการอิสระซึ่งกระทรวงการคลังแต่งตั้งให้ไปเป็นกรรมการบริหาร ในคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย

อดีต 3 ผู้บริหารกรุงไทยเพิ่งพ้นคุกต้นปี 2562

คดีนี้อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อายุ 70 ปี เป็นจำเลยที่ 1 ร่วมกับนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือของ บมจ. กฤษดามหานคร กับพวกรวม 27 ราย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, ความผิด พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 , ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และความผิด พ.ร.บ. บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535

ต่อมา ศาลฎีกาฯ พิพากษาเมื่อ 26 ส.ค. 2558 ให้จำคุกนายวิโรจน์กับพวกรวม 24 คน เป็นเวลาตั้งแต่ 12-18 ปี แต่ปัจจุบันทั้งนายวิโรจน์, ร.ท. สุชาย และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา อดีตกรรมการธนาคารกรุงไทย พ้นจากการเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำตั้งแต่ 8 ม.ค. 2562 หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษตามวโรกาสสำคัญต่าง ๆ จนเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ รวมถูกจองจำทั้งสิ้น 3 ปี 4 เดือน 15 วัน

ขณะที่ในส่วนของนายทักษิณ ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งเมื่อ 11 ต.ค. 2555 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว หลังหลบหนีไม่มาศาลตั้งแต่การพิจารณาคดีครั้งแรก พร้อมออกหมายจับเพื่อนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการ กระทั่ง 21 พ.ย. 2560 อสส. ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้นำคดีนี้กลับมาพิจารณาใหม่โดยไม่มีตัวจำเลย อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) พ.ศ. 2560 มาตรา 28 อีกทั้งกฎหมายใหม่ที่ออกมานี้ยังกำหนดให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ กลายเป็นที่มาของคำว่านายทักษิณต้อง "หนีตลอดชีวิต"

กล่าวสำหรับคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย นอกจากนายทักษิณที่ศาลพิพากษายกฟ้องในวันนี้ (30 ส.ค. 2562) ในการอ่านคำพิพากษาเมื่อ 26 ส.ค. 2558 ศาลยังพิพากษายกฟ้องจำเลยอีก 2 คนซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อธนาคารกรุงไทย คือนายพงศธร ศิริโยธิน จำเลยที่ 6 และนายนรินทร์ ดรุนัยธร จำเลยที่ 7 เนื่องจากไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นไต่สวน สิทธิในการนำคดีนี้ฟ้องสู่ศาลจึงถูกระงับไป

เผยเป็นคดีเดียวที่นายทักษิณแต่งทนาย ก่อนศาลพิพากษาคดีฟอกเงินกรุงไทยของ "ลูกโอ๊ก"

เป็นที่น่าสังเกตว่า คดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย เป็นคดีเดียวที่นายทักษิณแต่งทนายความมาดำเนินการแทน

แม้อดีตนายกฯ จะ "หลุดคดี" นี้ไปแล้ว แต่ยังมีคดีเกี่ยวเนื่องกับนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของนายทักษิณ ซึ่งตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีฟอกเงินทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยฯ กับกลุ่มกฤษดามหานคร เป็นเช็ค 1 ฉบับ จำนวนเงิน 10 ล้านบาท โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 25 พ.ย. นี้

ถึงขณะนี้นายทักษิณถูกพิพากษาถึงที่สุดแล้ว 3 คดี จากทั้งหมด 4 คดีที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่ ดังนี้

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวมและสรุปจากจากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

คงเหลืออีก 1 คดีที่อยู่ในชั้นพิจารณาของศาลฎีกาฯ คือ คดีออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียมเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป ทำรัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท

ส่วนคดีแรกที่นายทักษิณถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี พร้อมออกหมายจับ คือ คดีทุจริตที่ดินรัชดาภิเษก แต่คดีนี้ได้หมดอายุความไปตั้งแต่ 21 ต.ค. 2561 หลังผ่านมา 10 ปี แต่ไม่สามารถติดตามตัวจำเลยมาลงโทษได้ ซึ่งขณะที่ศาลมีคำพิพากษา ยังอยู่ภายใต้กฎหมาย วิ อม. ฉบับเดิม

ทักษิณ พจมานไปศาล

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายทักษิณ และคุณหญิงพจมาน จำเลยคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ เดินทางไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ เมื่อ 31 ก.ค. 2551 ต่อมาศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา นายทักษิณ และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน แต่นายทักษิณเดินทางออกนอกประเทศไปก่อน