งบประมาณ 2563 : กลาโหม “ไม่มีประเด็น/รายการที่เป็นข้อสงสัย” หลังรัฐบาลประยุทธ์จัดงบให้ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7%

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBCThai

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท โดยพบว่า รัฐบาลเตรียมจัดสรรงบประมาณให้ส่วนราชการในพระองค์ 7,685.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13% ส่วนงบกระทรวงกลาโหม ได้เพิ่ม 2.7% หรือคิดเป็น 233,353.4 ล้านบาท

ในระหว่างเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 17-18 ต.ค. นี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม จะนำเสนอหลักการของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อขอความเห็นชอบจากสภาในวาระที่ 1 โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ระบุว่า หากเวลาการอภิปรายไม่เพียงพอก็สามารถขยายวันเพิ่มเติมได้ ยืนยันว่าจะให้โอกาสสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้อภิปรายอย่างเต็มที่

สำหรับวงเงินงบประมาณปี 2563 เพิ่มขึ้น 200,000 ล้านบาท จากงบปี 2562 ที่ 3,000,000 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการตั้งงบขาดดุลบัญชี 469,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีก่อนที่ตั้งงบขาดดุล 450,000 ล้านบาท โดยเป็นการจัดสรรตามยุทธศาสตร์สำคัญ 6 ด้าน

งบปี 2563 จำแนกตามยุทธศาสตร์. .  หน่วยเป็น ล้านบาท.

ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลได้ตั้งงบกลางสูงถึง 518,770.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16.2% ของงบประมาณรวมทั้งหมด และสูงกว่างบของกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบสูงสุดอย่างกระทรวงศึกษาธิการเสียอีก ในจำนวนนี้เป็นการตั้งงบประมาณ "เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น" 96,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 จำนวน 3,000 ล้านบาท

แต่เมื่อจำแนกตามแผนงานบูรณาการทั้ง 15 แผนงาน ภายใต้งบประมาณรวม 235,091 ล้านบาท จะพบว่า รัฐบาลทุ่มงบประมาณไปกับการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์สูงสุดที่ 97,389 ล้านบาท รองลงมาคือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 59,431.1 ล้านบาท ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับความสนใจจัดสรรงบให้เป็นอันดับที่ 5 ด้วยเม็ดเงิน 10,865.5 ล้านบาท

บีบีซีไทยตรวจสอบรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณปี 2563 ของหน่วยงานต่าง ๆ พบว่า ในหน่วยงานรับงบประมาณ 33 หน่วยงาน มีอยู่ 12 หน่วยงานที่ถูกปรับลดงบประมาณลงจากปี 2562 ในจำนวนนี้มี 3 กระทรวงในกำกับดูแลของพรรคร่วมรัฐบาลคือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาซึ่งมีรัฐมนตรีในสังกัดพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ถูกหั่นงบลง 6.6% กระทรวงคมนาคมอยู่ในกำกับของ ภท. เช่นกัน ถูกปรับลดงบ 0.4% และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้การกำกับของพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ถูกปรับลดงบ 1.1%

ส่วนอีก 4 กระทรวงที่มีนักการเมืองในโควต้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นเจ้ากระทรวงและถูกหั่นงบคือ กระทรวงพลังงาน งบลดลง 6.2% กระทรวงการต่างประเทศ งบลดลง 2.9% สำนักนายกรัฐมนตรี งบลดลง 2.3% และกระทรวงศึกษาธิการ งบลดลง 0.1%

ขณะที่หน่วยงานที่ได้รับการปรับเพิ่มงบประมาณในสัดส่วนสูงสุดคือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อยู่ในความดูและของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้งบเพิ่ม 59.5% รองลงมาคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้งบเพิ่ม 27.4% และกระทรวงแรงงานได้งบเพิ่ม 15.8%

งบปี 2563 ของ 33 หน่วยงาน (หน่วยเป็น ล้านบาท)

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปข้อมูลจากเอกสารของสำนักงบประมาณโดยเปรียบเทียบงบปี 2563 กับปี 2562

สำหรับกระทรวงที่ตั้งงบ "ทะลุแสนล้าน" มี 8 กระทรวง ในจำนวนนี้มีกระทรวงกลาโหมรวมอยู่ด้วย ขอตั้งงบ 233,353.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็นเงิน 6,226.8 ล้านบาท (คิดเป็น 2.7%) โดยหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบมากที่สุดในกระทรวงกลาโหม หนีไม่พ้น กองทัพบก ได้งบ 113,677.4 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 2,300.5 ล้านบาท

ในรายงานสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ของสำนักงบประมาณ ระบุว่า มีผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมเข้าร่วม 6 หน่วยงาน รวม 12 คน เมื่อ 4 ก.ย. 2562 ปรากฏว่า "ไม่มีประเด็น/รายการที่เป็นข้อสงสัย และการขอปรับปรุงวงเงินงบประมาณปี 2563"

อีกกระทรวงที่ตั้งงบ "ทะลุแสนล้าน" คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งกลายรูปจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเดิม โดยตั้งงบที่ 140,444.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2,871.3 ล้านบาท (คิดเป็น 2.1%) เนื่องจากมีการโยกสถาบันอุดมศึกษา 81 แห่ง มาอยู่ในกระทรวงนี้ด้วย อย่างไรก็ตามมีมหาวิทยาลัย 53 แห่ง ถูกปรับลดงบประมาณลง โดยมหาวิทยาลัยมหิดลถูกหั่นงบสูงสุดหลัก "พันล้าน" หรือคิดเป็นงบที่หายไป 8.5% หากเทียบกับปีก่อน ส่วนอีก 23 สถาบันถูกหั่นงบหลัก "ร้อยล้าน" อาทิ ม. สงขลานครินทร์, ม. ขอนแก่น, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม. เชียงใหม่, ม. บูรพา, ม. ธรรมศาสตร์, ม. วลัยลักษณ์, ม. ศิลปากร ฯลฯ

แม้การจัดสรรงบประมาณปี 2563 ซึ่งเกิดขึ้นโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็พบว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการถูกหั่นงบกันถ้วนหน้า อย่างหน่วยงานรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย สถาบันพระปกเกล้า, สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งงบรวมกันที่ 8,684.6 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 13.2% ที่น่าสนใจคือสำนักงานเลขาธิการสภา ถูกตัดงบในภาพรวมลงไป 18.5%

ขณะที่หน่วยงานของศาล ประกอบด้วย สำนักงานศาลปกครอง, สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งงบรวมกันที่ 20,234.9 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 10.5% มีเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่ได้งบเพิ่ม 25.8%

เลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ด้านองค์กรอิสระ 5 องค์กร และสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ตั้งงบรวมกันที่ 16,495.6 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 25.6% โดยองค์กรอิสระที่ "งบหาย" ไปมากที่สุดหนีไม่พ้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากภารกิจจัดการเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยตั้งไว้ที่ 1,780.1 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 6,448.2 ล้านบาท (คิดเป็น 78.4%) ขณะที่ อสส. ตั้งงบที่ 9,516.5 ล้านบาท เพิ่มจากเดิม 6.4%

ปิดท้ายที่ส่วนราชการในพระองค์ ได้รับงบ 7,685.3 ล้านบาท จากงบปี 2562 ที่ 6,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 885.3 ล้านบาท (คิดเป็น 13%) โดยระบุแผนงานในเอกสารการจัดสรรงบประมาณปี 2563 ไว้เพียงแผนงานเดียวคือ "แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง" เช่นเดียวกับในคราวเสนอขอรับงบประมาณเมื่อปีก่อน

ในรายงานสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ของสำนักงบประมาณ ระบุว่า ทางหน่วยงาน "ไม่มีข้อสังเกต" ส่วนสำนักงบประมาณแจ้งว่า "รับทราบ"