พระปัญญา สีสัน เผยชีวิตผู้ลี้ภัยการเมืองไทยในเยอรมนี แม้ไร้วัดแต่ "ยังเป็นภิกษุโดยสมบูรณ์"

พระปัญญา สีสัน ในเยอรมนี

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, พระปัญญากำลังใช้ชีวิตในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองในเมืองแห่งหนึ่งของเยอรมนี

กว่า 1 ปีแล้วที่ระหกระเหินเดินทางออกจากประเทศไทยพร้อมกับบาตร 1 ใบ พระพุทธรูป 1 องค์ และหนังสือพระไตรปิฎกอีก 4 เล่ม วันนี้พระปัญญา สีสัน ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในเยอรมนีในพรรษาที่ 9 ของการครองสมณเพศ

พระปัญญาได้สถานะผู้ลี้ภัยมา 8 เดือนเศษแล้วตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. 2564 ซึ่งในกรณีของเขา ทางการเยอรมนีอนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศได้ 3 ปี พร้อมกับให้ค่าใช้จ่ายรายเดือน 446 ยูโร (ประมาณ 16,700 บาท) ไม่รวมค่าเช่าอีก 260 ยูโร (ประมาณ 9,700 บาท) นอกจากนี้ยังออกเงินค่าประกันสุขภาพและค่าเรียนภาษาเยอรมันให้ด้วย

"ฉันมาขอลี้ภัย นี่คือเอกสารของฉัน" นี่คือประโยคแรกที่พระปัญญาพูดกับเจ้าหน้าที่ เมื่อเขาหาทางดั้นด้นมาจนถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองของเยอรมนีในนครแฟรงก์เฟิร์ตเมื่อ ธ.ค. 2563 ได้สำเร็จ เขาบอกเจ้าหน้าที่ว่า คดีที่ทำให้เขาต้องเดินทางออกมาจากไทยนั้นเกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญามาตรา 112 แม้ว่าเขาจะถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่บนซองจดหมายที่ส่งเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาถึงเขามีวงเล็บระบุชัดเจนว่า "คดี 112"

คำบรรยายวิดีโอ, พระไทยผู้ลี้ภัยการเมืองในเยอรมนี

เยอรมนี ไม่ใช่ประเทศแรกที่เขาคิดจะมาขอลี้ภัย แต่เพราะเขาเผลอหยิบเอกสารเกี่ยวกับขั้นตอนการขอลี้ภัยในเนเธอร์แลนด์ยื่นติดไปกับตั๋วเครื่องบิน ขณะเช็กอินที่สนามบินในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อกว่า 2 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ทำให้ความแตก เจ้าหน้าที่จึงปฏิเสธการขึ้นเครื่องของเขา

พระปัญญา สีสัน ในค่ายผู้ลี้ภัยที่กักตัวโควิด

ที่มาของภาพ, Phra Panya Seesan

คำบรรยายภาพ, พระปัญญาเล่าว่า ค่ายกักตัวโควิดในเมืองกีเซินมักมีเรื่องวุ่นวายเกิดขึ้นแทบทุกวัน

ชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัย

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจค้นตัวและสัมภาระของเขาทุกชิ้น ถ่ายรูปและสอบสวนเขาถึงที่มาที่ไปของการขอลี้ภัย และเส้นทางการเดินทางเข้ามาที่เยอรมนีอย่างละเอียด นาน 3 ชั่วโมง โดยได้จัดหาล่ามคนไทยที่พูดภาษาเยอรมันได้มาช่วย

"คำถามหลัก ๆ ก็คือว่า ทำไมคุณถึงจะต้องออกมาจากประเทศไทย ทำไมคุณถึงอยู่ประเทศไทยไม่ได้ ถ้าคุณกลับไปประเทศไทย จะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับคุณ อะไรอย่างนี้ ทีนี้เราก็ตอบไปเรื่อย ๆ พอเราตอบไป เขาก็จะเริ่มถาม ถามในสิ่งที่เราตอบ" พระปัญญาเล่า

ช่วง 2 คืนที่ถูกกักกันตัวไว้ที่สนามบิน เขาถูกสอบสวน 2 รอบ โดยเจ้าหน้าที่ 2 ชุด และถูกพาตัวไปฉีดวัคซีนพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งบาดทะยัก ไอกรน คอตีบ พร้อมกับตรวจเลือดและตรวจร่างกายว่ามีเชื้อเอชไอวีและวัณโรคหรือไม่

แต่นี่ยังไม่ใช่การยื่นสมัครขอลี้ภัย เป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นถึงความเป็นไปได้ในการขอลี้ภัยเท่านั้น

เส้นเทา

"112 จำแลง"

ภาพหน้าซองสีเหลือง

ที่มาของภาพ, PHRA PANYA SEESUN

หมายเรียกผู้ต้องหาลงวันที่ 23 ก.ค. 2563 ส่งไปถึงพระปัญญา สีสัน ที่วัดในจังหวัดชลบุรี โดยบนหน้าซองมีวงเล็บว่า "คดี 112" แต่เนื้อความในหมายระบุว่าตัวเขาถูกกล่าวหาว่า "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ อันน่าจะเกิดความเสียหาย ต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ" และให้ไปพบเจ้าหน้าที่สอบสวนที่ สน. บางเขน ในวันที่ 31 ก.ค. 2563 ซึ่งพระปัญญาเรียกว่า "112 จำแลง"

ต่อมา 11 ส.ค. 2563 พระปัญญา เดินทางไปพบเจ้าหน้าที่สอบสวนและได้ลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาที่ระบุว่า มีการกระทำความผิดจากการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก 6 ครั้งด้วยกัน ระหว่าง 14 ต.ค. - 11 ธ.ค. 2562 เป็นโพสต์ที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งภิกษุเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และโพสต์ที่เกี่ยวกับการบริหารงานศาสนาของพระมหากษัตริย์

มาตรา 14 (2) บัญญัติไว้ว่า การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้นหากศาลพิพากษาว่าทั้ง 6 โพสต์ผิดจริง พระปัญญาอาจถูกลงโทษจำคุกสูงสุดโพสต์ละ 5 ปี รวมระยะเวลาสูงสุด 30 ปี

เส้นเทา

ขณะนั้น ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด เขาจึงถูกส่งตัวเข้าค่ายแรกเพื่อกักตัวก่อนนาน 3 สัปดาห์ในเมืองกีเซิน ไม่ไกลจากแฟรงก์เฟิร์ต เจ้าหน้าที่ที่ค่ายบอกกับพระปัญญาว่า ตามกฎหมายของเยอรมนีผู้ขอลี้ภัยห้ามมีเงินติดตัวเกินมูลค่า 200 ยูโร เงินสดสกุลดอลลาร์สหรัฐที่พระปัญญามีติดตัวประมาณ 60,000-70,000 บาท ซึ่งได้รับบริจาคมาจากญาติโยมทั้งที่เนเธอร์แลนด์และที่ไทย ส่วนใหญ่จึงถูกริบไปหลังจากเดินทางเข้าค่าย ที่นั่นเขาต้องอาศัยอยู่รวมกันกับผู้ขอลี้ภัยที่คาดว่า มีจำนวนนับพันคน

เงินก้อนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเงินบริจาคจากญาติโยมที่ "โบว์" ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ช่วยประกาศรับจากญาติโยม แล้วประกาศยอดรวมเมื่อ 21 พ.ย. ปีที่แล้ว ว่าอยู่ที่ 217,034 บาท

พระปัญญา กับผู้ขอลี้ภัย

ที่มาของภาพ, Phra Panya Seesan

คำบรรยายภาพ, พระปัญญา และผู้ขอลี้ภัยในค่ายแรกที่ถูกกักตัวป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด

"ห้องหนึ่งอยู่กัน 3 คน 5 คน 8 คน อะไรอย่างนี้ เขาจะเอาคนชาติเดียวกัน ภาษาเดียวกัน ความเชื่อทางศาสนาเดียวกัน มาอยู่ห้องเดียวกัน ไทย ศาสนาพุทธ ไม่มี ดังนั้นก็ต้องอยู่คนเดียว" พระที่อยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่ทางการไทยจับตามอง 183 คน ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลนำมาเปิดเผย เล่า

แต่หลังจากไปถึงค่ายไม่ถึงชั่วโมง ระหว่างลงมาต่อคิวรับอาหาร คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและไอแพดที่พกติดตัวไป ก็หายไปโดยจับมือใครดมไม่ได้ "เจ้าหน้าที่เขาไม่มีอำนาจตรวจค้น" พระปัญญาจึงต้องไปแจ้งความกับตำรวจ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำอะไรได้

นั่นคือบทเรียนแรก ๆ ที่ทำให้เขารู้ว่า "ค่ายลี้ภัยมันเป็นแบบนี้เหรอ" ในความคิดของเขา "คนลี้ภัยก็คือคนที่เดือดร้อน น่าจะมีความเห็นอกเห็นใจ เพราะเราหนีภัยมา" แต่เมื่อได้มาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เขาจึงเข้าใจว่า "มันไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของแบบ แต่ละคนเจอเหตุการณ์แย่ ๆ มา อะไรอย่างนี้ แล้วพอมาอยู่ในค่าย มันร้อยพ่อพันแม่ ทุกคนก็ต้องเอาตัวรอด หรือจะมีการเอารัดเอาเปรียบกัน"

เมื่อพ้นระยะกักตัวในค่ายแรก เขาต้องเดินทางไปที่ค่ายแรกรับในเมืองนอสตอร์ฟ ไม่ไกลจากเมืองฮัมบูร์ก ซึ่งเขาได้ยื่นสมัครขอลี้ภัยอย่างเป็นทางการที่นั่น และต้องผ่านการสอบสวนครั้งใหญ่อีกครั้ง แต่กว่าจะมาถึงที่นี่ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาระหว่างเดินทาง

พระปัญญา พร้อมสัมภาระ

ที่มาของภาพ, Phra Panya Seesan

คำบรรยายภาพ, พระปัญญาพร้อมกับสัมภาระที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่ง ระหว่างการเดินทางไปค่ายแรกรับหลังการกักตัวป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด เมื่อ 4 ม.ค. 2020

ตั๋วรถประจำทางและรถไฟที่เจ้าหน้าที่จัดหาให้ไปสุดที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่งที่อยู่ในที่เปลี่ยว ห่างจากที่หมายประมาณ 9 กิโลเมตร เวลาหนึ่งทุ่มในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2021 ในเยอรมนีนั้น ฟ้ามืดแล้ว นอกจากนี้ฝนยังตก มีสัมภาระติดตัวอีกหลายอย่าง เงินติดตัวก็มีแต่เงินดอลลาร์สหรัฐที่ยังไม่ได้แลกเป็นเงินยูโร จึงเป็นเรื่องยากที่พระปัญญา จะเดินเท้าจากจุดนั้นไปที่ค่าย

ภิกษุจากไทยจึงต้องเคาะประตูบ้านชาวบ้านในละแวกที่ใกล้กับสถานีเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายมีญาติโยมโทรศัพท์ติดต่อมา พระปัญญาจึงได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในที่สุดก็ได้มีการประสานงานให้คนไทยที่อยู่ที่เมืองฮัมบูร์กขับรถมารับและนำตัวไปส่งที่ค่ายแรกรับในคืนวันนั้น

อาหารการกินในค่ายผู้ลี้ภัย

ที่มาของภาพ, Phra Panya Seesan

คำบรรยายภาพ, "กลางวันก็จะเป็นอาหารร้อน ข้าวหรือโปเตโต้ (มันฝรั่ง) หรือมะกะโรนี ก็จะมากับซอส ประมาณ สามซอส เย็นก็จะเป็นขนมปัง ชีส มันจะเป็นแบบนี้ทุกวัน ๆ" พระปัญญากล่าว

ในช่วงที่อยู่ค่ายนี้นาน 2 เดือน พระปัญญาเล่าว่า มีเพื่อนร่วมห้องที่พักอยู่ก่อนหน้า 1 คน เป็นชาวเม็กซิโก แต่ส่วนใหญ่เขาจะพักอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัย นั่นคือบทเรียนใหม่อีกเรื่องหนึ่งของเขาว่า มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในค่ายผู้ลี้ภัยของเยอรมนีด้วย "อาตมาก็ไม่รู้ว่า มันถูกกฎหมาย หรือว่า มันผิดกฎหมายนะ แต่ว่า มันก็เป็นอย่างนั้น" แต่ส่วนตัวของพระปัญญา ไม่เคยมีความคิดที่จะขอไปพักอาศัยกับญาติโยมคนไทยในเยอรมนี

"เพราะหนึ่งก็ไม่ได้รู้จักโยมอะไรแบบสนิทถึงขั้นที่จะไปพักได้อะไรอย่างนี้ สองคิดว่า เดี๋ยวกระบวนการขอลี้ภัยของเราจะมีปัญหา ถ้าเราไม่อยู่ในที่ที่เขาจัดให้อยู่" ภิกษุวัย 40 ปีกล่าว

เพื่อนร่วมห้องชาวเม็กซิกันของพระปัญญา

ที่มาของภาพ, Phra Panya Seesan

คำบรรยายภาพ, พระปัญญาเล่าว่า ที่ค่ายแรกรับในเมืองนอสตอร์ฟ มีเพื่อนร่วมห้องที่พักอยู่ก่อนหน้า 1 คน เป็นชาวเม็กซิโก แต่ส่วนใหญ่เขาจะพักอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัย

ชีวิตนับตั้งแต่ก้าวออกจากแผ่นดินไทย บาตรที่พระปัญญานำติดตัวมาด้วย ใช้งานนับครั้งได้ เพราะอาหารไม่ต้องบิณฑบาต แต่ต้องต่อแถวรอรับอาหารเหมือนกับคนอื่น ๆ ในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งบางครั้งก็มีวิวาทะกันบ้างเวลาถูกแซงคิว โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็น แต่ก็มีญาติโยมที่เดินทางนำอาหารมาใส่บาตรถึงหน้าค่ายผู้ลี้ภัย 4-5 ครั้ง

พระปัญญาซึ่งมีสถานะเป็นผู้สมัครขอลี้ภัยในขณะนั้นเล่าว่า อาหารที่ค่ายมีให้ 3 มื้อ แต่ทุกวันไม่ต่างกันมาก มื้อเช้าจะมีขนมปัง ชีส แยม นม แตงกวาหรือมะเขือเทศ

"กลางวันก็จะเป็นอาหารร้อน ข้าวหรือโปเตโต้ (มันฝรั่ง) หรือมะกะโรนี ก็จะมากับซอส ประมาณ สามซอส เย็นก็จะเป็นขนมปัง ชีส มันจะเป็นแบบนี้ทุกวัน ๆ ๆ ๆ ๆ"

อาหารในบาตร

ที่มาของภาพ, Phra Panya Seesan

คำบรรยายภาพ, พระปัญญาบิณฑบาตเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ออกจากประเทศไทย จากญาติโยมที่เดินทางมาใส่บาตรถึงหน้าค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองนอสตอร์ฟ

ข่าวดีที่คาดไม่ถึง

ทางเลือกในการรับประทานอาหารของพระปัญญามากขึ้น หลังจากออกจากค่ายแรกรับมาอยู่ที่เมืองบาร์ธ เมืองเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียง 9,000 คน ทางตอนเหนือของรัฐเมกเลินบวร์ก-ฟอร์พ็อมเมิร์น เพราะที่นี่เขาต้องหาอาหารรับประทานเอง และได้มาพักอาศัยในอาคารเดียวกับที่ชาวเยอรมันทั่วไปพักอาศัยอยู่ แต่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งกันไว้สำหรับให้ผู้สมัครขอลี้ภัยพักโดยเฉพาะ โดยเขาได้รับเงินค่าใช้จ่ายรายเดือนประมาณ 300 ยูโรเศษ (ประมาณ 11,200 บาท) เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากตอนที่อยู่ในค่ายแรกรับซึ่งได้ที่ 116 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 4,350 บาท)

"ค่ายแรกรับเนี่ยเขาสามารถส่ง เขาสามารถทรานส์เฟอร์ ผู้ขอลี้ภัย ไปได้ทุกที่ในเมกเลินบวร์ก-ฟอร์พ็อมเมิร์น เขาแจกไปได้หมด ของอาตมาไปอยู่ที่บาร์ธ แล้วบาร์ธจะเรียกว่า เป็นค่าย ก็ไม่ใช่ เพราะมันเป็น sharing accommodation" พระปัญญาเล่าย้อนไปถึงช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

ชีวิตที่นั่นเริ่มมีเสรีภาพมากขึ้น และต้องลงเรียนภาษาเยอรมัน ขณะที่ก็ต้องรอลุ้นผลการสมัครขอลี้ภัยในเยอรมนีไปด้วย แต่ข่าวดีมาก็ถึงเร็วกว่าที่คาด

พระปัญญา กับพระพุทธรูป ในห้อง

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, พระปัญญาเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ห้องพักใหม่เมื่อต้นเดือน พ.ย. 2020 หลังจากได้สถานะผู้ลี้ภัยตั้งแต่เดือน มี.ค. 2020

ช่วงกลางเดือน มี.ค. เขาได้รับแจ้งจากทนายความที่ญาติโยมช่วยออกค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างให้ว่า ทางการอนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยของเขาแล้ว และเขาจะต้องไปรับบัตรผู้พำนักอยู่ในเยอรมนีที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พระปัญญาคิดว่า นอกจากความน่าเชื่อถือของเอกสารที่ยื่นประกอบแล้ว การที่ทางการไทยหันมาใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 จัดการกับผู้ประท้วงจำนวนมากในช่วงนั้น ส่งผลให้การขอลี้ภัยของเขาได้รับการพิจารณาเร็วขึ้น

"ออกจากประเทศไทย 6 ต.ค. (2563) น้อง ๆ เขาก็ชุมนุมกันต่อ ช่วงมกรา ก็เริ่มมีการฟ้อง 112 กัน 112 เริ่มกลับมาใช้เดือนธันวา เพราะฉะนั้นมกรา ก็เป็นข่าวที่ดังมาก ๆ ทั้งข่าวการชุมนุม และข่าวที่รัฐไทยกลับมาใช้มาตรา 112 ฟ้องอีกครั้งหนึ่ง มันอยู่ในกระแสโลก" พระไทยที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยกล่าว

ประภากร วงศ์รัตนาวิน ผู้ช่วยนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยพัสเซาในเยอรมนี กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ปีนี้ มีผู้ได้สถานะผู้ลี้ภัยด้วยเหตุผลทางการเมืองในเยอรมนีแล้ว 3 คน จากที่เข้าสู่กระบวนการทั้งหมด 4 คน ปกติจะใช้เวลา 6-8 เดือนในการดำเนินการ ที่ผ่านมานอกจากเหตุผลทางการเมือง เคยมีคนไทยจำนวนหนึ่งมาขอลี้ภัยด้วยเหตุผลเกี่ยวกับเศรษฐกิจและเพศสภาพ แต่ไม่เคยได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในเยอรมนี

พระปัญญา สีสัน ในซูเปอร์มาร์เก็ตในเยอรมนี

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, พระปัญญาต้องซื้อหาอาหารมารับประทานเอง

ไร้วัดสังกัดยังเป็นพระได้อยู่ไหม

สถานะใหม่ที่เขาได้มาแล้วอย่างแน่นอนคือ ผู้ลี้ภัยการเมืองในเยอรมนี แต่สถานะความเป็นภิกษุของเขายังสมบูรณ์อยู่หรือไม่

นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมให้สัมภาษณ์ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ในรายการ "เรื่องลับมาก" ช่องเนชั่น เมื่อ ม.ค. ที่ผ่านมาว่า เจ้าอาวาสวัดที่พระปัญญาเคยสังกัดอยู่ได้ออกคำสั่งขับพระปัญญาออกจากวัดในช่วงหลังออกพรรษา

"ในกรณีที่ขับออกจากวัดเนี่ย เขาถือว่าพระรูปนี้ไม่มีสังกัด ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งครับอาจารย์ ก็จะไปเข้าลักษณะการกระทำความผิด หรือจะต้องดำเนินการให้พระรูปนี้พ้นจากความเป็นสงฆ์ ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับ 21" นายสิปป์บวรกล่าวในรายการ

"จับสึกเลยครับ เจอที่ไหนก็จับสึกเลย"

ขณะที่พระปัญญาซึ่งเชื่อว่า สถานะพระตามกฎหมายไทยของเขาสิ้นสุดลงแล้ว กล่าวว่า "สถานะภิกษุของอาตมาเนี่ย เป็นสถานภาพที่ได้มาตามพระธรรมวินัย สถานะพระมันเป็นสถานะตามกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ขัดหรือแย้งกับพระธรรมวินัยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น อาตมาก็ไม่เอามาใส่ใจ ในจุด ๆ นั้น ในเรื่องมันจะสิ้นสุดตามกฎหมายอะไรก็ช่าง เพราะว่าอาตมาก็ไม่ได้อยู่ที่เมืองไทย"

ในความเห็นของพระปัญญา ภิกษุก็คือ "ผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ศรัทธาในพระธรรม ศรัทธาในพระสงฆ์ อย่างมุ่งมั่น ไม่หวั่นไหว แล้วก็ปฏิบัติตามนั้น" แม้จะไม่มีวัดสังกัด ความเป็นภิกษุก็ยังคงอยู่

พระปัญญา สีสัน เตรียมที่นอน

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, โซฟาในห้องพักสามารถปรับเป็นที่นอนได้

"วัดตามพุทธกาล มันเกิดมาจากคหบดี อุบาสก อุบาสิกา เป็นคนยื่นให้ ยื่นที่อยู่ให้ ยื่นที่ดินให้ สร้างเสนาสนะให้ อาตมาปัจจุบันนี้ ยังไม่มีญาติโยมมาบอกว่า เรามีที่ดิน เรามีที่อยู่ให้ภิกษุ อะไรอย่างนี้ อาตมาไม่ได้อยู่ตรงนั้น"

พุทธราชสำนัก

พระปัญญา บอกว่า พุทธศาสนาในไทยเป็น "พุทธราชสำนัก" ซึ่งหมายถึงการที่ราชสำนักเข้ามาควบคุมภิกษุสงฆ์ และมีการออกกฎหมายต่าง ๆ มาใช้ในการปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับความเชื่อของเขา "อาตมาเชื่อและศรัทธาตามแนวทางในพระไตรปิฎก" และหากยึดตามหลักพระธรรมวินัยแล้วเขาถือว่าตัวเอง "เป็นพระภิกษุรูปหนึ่งโดยสมบูรณ์" แต่เขาก็ต้องปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมของชีวิตความเป็นอยู่ที่นี่

"ต้องไปซื้ออาหาร ทำกับข้าวกินเอง หรือการแต่งตัวก็ไม่เหมือนพระไทย เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ที่นี่แต่งแบบพระไทยก็ป่วย"

นอกจากนี้ยังมีการสาธยายธรรมในช่วงเวลาที่สะดวกและพอใจ

"การทำวัตรสวดมนต์ เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นสิ่งไม่จำเป็นในพระพุทธศาสนา ในพระพุทธศาสนาแบบเดิม แบบดั้งเดิม แบบพระไตรปิฎก สิ่งที่คล้าย ๆ กันจะเรียกว่า การสาธยายธรรม คือการอ่านออกเสียง การทรงจำพุทธพจน์ คือการอ่านพุทธพจน์ออกเสียง ก็มีพุทธพจน์บอกไว้ว่า ถ้าอ่านบ่อย จะทรงจำได้ ทรงจำได้ก็จะมีอะไรไปใคร่ครวญอะไรอย่างนี้ ถ้าใคร่ครวญบ่อย ๆ ก็จะเห็นความเป็นจริง หลักแห่งธรรม" พระปัญญา กล่าว

พระปัญญา สีสัน กับเพื่อนผู้ขอลี้ภัย

ที่มาของภาพ, Phra Panya Seesan

คำบรรยายภาพ, พระปัญญากับเพื่อนผู้ขอลี้ภัยชาวอิหร่านที่ค่ายแรกรับในเมืองนอสตอร์ฟ ของเยอรมนี

ศีล 227 ข้อ

พระปัญญา ยอมรับว่า ไม่สามารถถือศีลได้ครบทั้ง 227 ข้อ เพราะข้อห้ามบางอย่าง เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง และบางเรื่องก็ไม่สอดคล้องกับบริบทในสังคมเยอรมนี

"อย่างเรื่องการจับเงิน เรื่องการสะสมเงิน เพราะว่าถ้าอาตมาไม่เปิดบัญชี ก็ไม่สามารถที่จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ การแต่งกายคล้ายฆราวาส ในเมืองหนาวก็จำเป็นจะต้องสวมหมวก สวมผ้าพันคอ สวมกางเกง"

ส่วนการแตะเนื้อต้องตัวสตรี ที่คนไทยทั่วไปเข้าใจว่า เป็นอาบัตินั้น พระปัญญาบอกว่า ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างคือ "ต้องมีความกำหนัด มีความเสน่หา ไปจับต้องด้วยความใคร่ ลักษณะนี้มันถึงจะเข้าข่ายอาบัติ" โดยเฉพาะในสังคมยุโรปที่มีการทักทายกันด้วยการจับมือและโอบกอด พระปัญญาเห็นว่า เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้เข้ากับผู้คนที่นั่นได้

"สมัยนี้เรื่องสิทธิความเท่าเทียมกัน เรื่องความเสมอภาค คนให้ความสำคัญ มากกว่าที่จะบอกว่า เธอเป็นนักบวชแล้วไง เธอวิเศษกว่าฉันตรงไหน ทำไมฉันแตะตัวเธอไม่ได้" พระปัญญากล่าว

พระปัญญาบอกว่า ช่วงที่อยู่ในเยอรมนีเคยต้องอาบัติระดับสูงสุดคือ "นิสสัคคิยปาจิตตีย์" ซึ่งถือเป็นอาบัติเบาและต้องปลงอาบัติกับภิกษุด้วยกัน มีอยู่ 30 ข้อ (เช่น เก็บจีวรที่เกินความจำเป็นไว้เกิน 10 วัน, รับเงินทองที่ได้จากการถวายของคฤหัสถ์ และซื้อ-ขายด้วยเงินทอง) แต่เนื่องจากไม่มีพระรูปอื่นอยู่ด้วย จึงไม่ได้ปลงอาบัติ และส่วนตัวของพระปัญญาเองเห็นว่า "เรื่องการปลงอาบัติกับพระภิกษุด้วยกัน ในปัจจุบัน มันก็เหลือแต่เป็นพิธีกรรม มันไม่มีผลทางการปฏิบัติจริง ๆ"

แต่หากพูดถึงพระวินัยในทางพระพุทธศาสนา ไม่ได้มีแค่เรื่องศีลเท่านั้น พระปัญญาได้ชี้ถึงพระวินัยตามพระพุทธพจน์หลายเรื่องที่ตัวเขาให้ความสำคัญ เช่น เรื่องรัฐสวัสดิการ "อาตมาคิดว่าเป็นคุณค่าดั้งเดิมที่มีอยู่ในพระวินัยตามพุทธพจน์ เรื่องการจัดสรรทรัพยากรจะแฟร์มาก เรื่องความเสมอภาค เรื่องความเท่าเทียม เรื่องการไม่เอารัดเอาเปรียบ เรื่องประชาธิปไตย ภิกษุหนึ่งรูปเท่ากับภิกษุหนึ่งเสียง"

หลุดพ้นจาก "ระบบเผด็จการ"

ชีวิตในปัจจุบันของภิกษุรูปนี้ กำลังให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาต้องทำเพื่อความอยู่รอดในเยอรมนี นั่นก็คือ การหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับงบประมาณหลังจากย้ายมาอยู่เมืองแห่งใหม่หลังจากได้สถานะผู้ลี้ภัยแล้ว การหาที่เรียนภาษาเยอรมันแห่งใหม่เพื่อเตรียมตัวลงหลักปักฐาน แต่ก็ยังรับกิจนิมนต์จากญาติโยมชาวไทยที่ศรัทธาในประชาธิปไตยเช่นเดียวกันบ้าง ทั้งจากเนเธอร์แลนด์และหลายเมืองในเยอรมนี

เขาเพิ่งย้ายเข้าที่พักใหม่ขนาดประมาณ 20 กว่าตารางเมตรเมื่อต้นเดือน พ.ย. เป็นห้องเช่าที่อยู่ในตึกที่คนทั่วไปพักอาศัยอยู่ มีเพื่อนบ้านห้องข้างเคียงเป็นชาวเยอรมัน ต้องต่อเติมพื้นที่สำหรับทำครัวและซักล้าง พระปัญญาบอกว่า ค่าใช้จ่ายที่ได้รับจากทางการหากไม่ได้นำมาซื้อข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ ก็น่าจะเพียงพอในการใช้อยู่กิน ชีวิตเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาของพระปัญญา กว่าจะมาถึงจุดนี้ แม้จะเผชิญกับเรื่องวุ่นวายมากมาย แต่ก็มีความรู้สึกด้านบวกอยู่ไม่น้อย

พระปัญญา กับญาติโยม

ที่มาของภาพ, Facebook/Jurairat Verduyn

คำบรรยายภาพ, พระปัญญา เดินทางไปรับกิจนิมนต์ที่บ้านของญาติโยมชาวไทยในเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ช่วง 3-13 ก.ค.

"มีหลาย ๆ บริบท ที่มีความรู้สึกว่า มันโล่ง มันปลอดโปร่งกว่าอยู่เมืองไทย ยกตัวอย่างเช่น อยู่ในวัดอย่างนี้ เราจะปกครองด้วยระบบเผด็จการ ตามกฎหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มันเป็นเผด็จการ เจ้าอาวาสมีอำนาจคนเดียว ทีนี้เจ้าอาวาสก็เป็นลูกน้อง เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของชั้นที่สูง ๆ เรื่อยไป เป็นพีระมิด มาอยู่นี่ก็ไม่รู้สึกว่า ตัวเองอยู่ภายใต้ในระบอบแบบนั้นอะไรอย่างนี้ ก็รู้สึกโล่งไปอีกอย่างหนึ่ง"

แต่เขาก็ยอมรับถึงแรงกดดันที่มีต่อตัวเอง แม้ตัวเขาจะไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแล้ว โดยเฉพาะแรงกดดันจากพี่น้องในครอบครัว ทำให้เขาต้องลดการวิพากษ์วิจารณ์ที่สุ่มเสี่ยงลง พระปัญญาบอกว่า หากเขาอยู่ไทยในตอนนี้ เขาคงจะ "ต้องอยู่แบบเงียบ ๆ" เพราะการอยู่วัดที่เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก "คิดอะไรก็คิดอยู่ในใจ ระบายได้ก็กับเพื่อนเท่านั้นเอง แต่ถึงขั้นเฟซบุ๊กสาธารณะคงไม่ได้"

มุ่งตั้งวัดและ "ตั้งตัว"

ขณะที่ในยุโรปมีวัดไทยตั้งอยู่มากมาย รวมถึงที่เมืองฮัมบูร์กของเยอรมนีด้วย แต่ทุกแห่งต่างก็อยู่ในระบบสงฆ์ของไทย และด้วยสถานะการตกเป็นผู้ต้องหาที่ทางการไทยต้องการดำเนินคดี พระปัญญาจึงไม่คิดที่จะไปขออยู่ที่วัดไทย เพราะไม่ต้องการสร้างความเดือนร้อนให้ทางวัด

พระปัญญาบอกว่า แม้ว่าการใช้ชีวิตในสถานะฆราวาสในเยอรมนีน่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาง่ายขึ้น แต่เขาเองยังคงยึดมั่นศรัทธาในการดำรงเพศบรรพชิตต่อไป

"อาตมาบวชมาเป็นปีที่ 9 แล้ว ยังไม่มีสักวันเลยนะ ที่คิดเรื่องที่จะสึก คิดแบบเกิน 5 นาที อะ ที่แบบแว้บหนึ่งมันต้องมีกันอยู่แล้ว" พระปัญญากล่าว

พระปัญญา กับหนังสือพระไตรปิฎก

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เรียนต่อปริญญาโทสาขาพุทธศาสนาและตั้งวัด คือเป้าหมายของพระปัญญา

พระปัญญาบอกว่า มีญาติโยมที่ติดต่อกันทางเฟซบุ๊กทั้งที่อยู่ในเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ที่มีความเชื่อทางศาสนาแบบเดียวกันคือ "เรื่องพระไตรปิฎก ความคิดของเราไม่ใช่แบบพุทธราชสำนักไทย" โยมบอกกับพระปัญญาว่า "วันหนึ่งเราจะตั้งวัดกัน เมื่อถึงเวลา แต่โยมที่พูดก็ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง เป็นแม่บ้าน ไม่ใช่เศรษฐีนี อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นแล้วแต่เหตุปัจจัย แต่ก็เป็นทางที่อาตมามุ่งไปทางนั้น"

ในความเห็นของพระปัญญา หากสามารถเรียนจบปริญญาโทสาขาพุทธศาสนาและตั้งวัดพุทธนิกายเถรวาทได้สำเร็จ เขาก็จะ "ตั้งตัว" ในเยอรมนีได้ จากนั้นการรณรงค์เคลื่อนไหวเกี่ยวกับการปฏิรูปคณะสงฆ์ตามที่เคยแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนก็จะง่ายขึ้น

"จะต้องตั้งตัวให้ได้ เสียงพูดเราถึงจะมีน้ำหนัก ถ้าเราตั้งตัวไม่ได้ เราก็จะเป็นที่พึ่งให้ใครไม่ได้"