โควิด-19: วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับผลข้างเคียงที่พึงระวัง

A medical worker prepares to give a shot of Vaxzevria (formerly AstraZeneca) COVID-19 vaccine at a public health facility in Seoul, South Korea

ที่มาของภาพ, EPA

ความวิตกกังวลที่มีต่อวัคซีนต้านโควิด-19 ของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า กำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ โดยล่าสุด เดนมาร์กกลายเป็นชาติแรกในยุโรปที่ตัดสินใจยกเลิกการใช้วัคซีนชนิดนี้อย่างถาวร เมื่อ เม.ย. จากความเป็นไปได้ว่าอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

เมื่อต้นเดือนเมษายน สำนักงานการแพทย์ยุโรป (European Medicines Agency หรือ EMA) ประกาศว่ามีความเป็นไปได้ว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเชื่อมโยงกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน แต่ความเสี่ยงของประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วเสียชีวิตมีสูงกว่ามาก

ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (MHRA) ของสหราชอาณาจักร ก็ระบุว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้มีมากกว่าความเสี่ยงสำหรับประชากรส่วนใหญ่

ที่ผ่านมา หลายประเทศในยุโรปได้สั่งระงับการใช้วัคซีนนี้เป็นเวลาสั้น ๆ แต่ก็ให้กลับมาใช้แล้วกับประชากรสูงอายุ

วัคซีนนี้อาจสร้างปัญหาอะไร

MHRA กำลังตรวจสอบกรณีพบผู้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากเพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในสหราชอาณาจักร

MHRA ระบุว่า ตามปกติจะมีประชากรราว 4 คนจากใน 1 ล้านคนที่จะมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันเช่นนี้ และการที่เป็นอาการเจ็บป่วยที่พบได้ยากมากจึงทำให้การคาดคะเนอัตราการเกิดขึ้นตามปกติทำได้ยาก

นอกจากนี้ MHRA ยังระบุว่าจนถึงบัดนี้ยังไม่มีการพิสูจน์ยืนยันที่แน่ชัดว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

พญ.จูน เรน หัวหน้า MHRA ระบุว่าแม้ความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนกับภาวะผิดปกตินี้จะเริ่มชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีหลักฐานมาสนับสนุนมากกว่านี้

เธอชี้ว่า สำหรับประชากรส่วนใหญ่ประโยชน์ที่จะได้รับจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีมากกว่าความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่สำหรับกลุ่มคนหนุ่มสาว ปัจจัยดังกล่าวอาจอยู่ในระดับที่เท่าเทียมกัน

Vials of Vaxzevira (formerly AstraZeneca) COVID-19 vaccine in Taoyuan city, Taiwan

ที่มาของภาพ, EPA

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดที่พบได้ยากนี้คืออะไร

จนถึง 26 พ.ค. 2021 MHRA ได้รับรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่สำคัญ (major thromboembolic events) ร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia) 348 คน ในสหราชอาณาจักร หลังจากรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า แบ่งเป็นผู้หญิง 189 คน ผู้ชาย 156 คน และไม่ทราบเพศอีก 3 คน อายุระหว่าง 18-93 ปี มีผู้เสียชีวิต 61 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตที่ประมาณ 18% ในจำนวนผู้เกิดภาวะนี้ มี 18 คนที่เกิดขึ้นหลังการรับวัคซีนโดสที่ 2

ผู้ที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่สำคัญ แบ่งเป็นภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน (cerebral venous sinus thrombosis) 128 ราย (อายุเฉลี่ย 46 ปี) และอีก 220 ราย มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่สำคัญ (major thromboembolic events) อื่น ๆ ร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ (อายุเฉลี่ย 54.5 ปี) ประมาณการจำนวนผู้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสแรกของแอสตร้าเซนเนก้าในสหราชอาณาจักรถึงวันที่ 26 พ.ค. อยู่ที่ 24.3 ล้านคน และโดสที่ 2 อยู่ที่ 13.4 ล้านคน

เมื่อนำมาเทียบสัดส่วนจำนวนการเกิดภาวะดังกล่าวหลังรับวัคซีนโดสแรกจะอยู่ที่ 13.6 คนต่อ 1 ล้านคน และเมื่อพิจารณาถึงกลุ่มอายุของผู้ที่เกิดภาวะดังกล่าว จากข้อมูลพบว่า มีโอกาสเกิดขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อยมากกว่าคนอายุมาก

เมื่อพิจารณาการเกิดภาวะดังกล่าวหลังรับวัคซีนโดสที่ 2 จะอยู่ที่สัดส่วน 1.3 คนต่อ 1 ล้านคน

จากการตรวจสอบที่ดำเนินการอยู่ ยังคงมีคำแนะนำว่า ข้อดีของวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงที่เกิดกับคนส่วนใหญ่

นอกจากนี้ MHRA ยังได้รับรายงานผู้มีกลุ่มอาการของโรคเส้นเลือดฝอย (capillary leak syndrome) ซึ่งเป็นอาการที่เลือดรั่วออกจากเส้นเลือดฝอยเข้าสู่ร่างกายจำนวน 8 ราย หลังมีการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า 37 ล้านโดส จากหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้ระบุว่า อาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากวัคซีนดังกล่าว MHRA จะจับตามองปัญหานี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

อาการแบบไหนที่ต้องระวัง

MHRA ระบุว่าผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ภายหลังจากได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว 4 วันหรือมากกว่านี้ จะต้องรีบขอรับคำแนะนำจากแพทย์

  • ปวดศีรษะรุนแรงต่อเนื่อง
  • ตาพร่ามัว
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจลำบาก
  • ขาบวม
  • ปวดท้องอย่างต่อเนื่อง
  • ผิวหนังมีรอยช้ำผิดปกติ
  • มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง (ไม่รวมจุดที่ได้รับการฉีดวัคซีน)
Generic close-up of man with chest pain

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ผู้ที่มีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก หลังจากได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว 4 วันหรือมากกว่านี้ จะต้องรีบขอรับคำแนะนำจากแพทย์

มีข้อแนะนำอะไรบ้าง

MHRA ไม่แนะนำให้จำกัดอายุผู้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แต่ระบุว่ากลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปีที่ไม่มีโรคประจำตัวควรได้รับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นแทน

นี่เป็นเพราะมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า พบกรณีลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มผู้ใหญ่ตอนต้นสูงกว่ากลุ่มอื่นเล็กน้อย

จากข้อมูลในปัจจุบัน MHRA มีข้อแนะนำว่า

  • ผู้มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากได้รับวัคซีนโดสแรกไม่ควรรับวัคซีนโดสที่สองต่อ
  • ผู้ที่มีประวัติโรคเลือด (มีความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน) ควรรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต่อเมื่อประโยชน์มีมากกว่าความเสี่ยงเท่านั้น
  • สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เรื่องประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้จากการฉีดวัคซีนชนิดนี้

เมื่อต้นเดือน เม.ย. อังกฤษสั่งพักการทดลองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเด็ก ในระหว่างที่มีการตรวจสอบกรณีลิ่มเลือดอุดตันในผู้ใหญ่

ปัจจุบัน เยอรมนี สเปน และอิตาลีได้ระงับการให้วัคซีนชนิดนี้แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ขณะที่ฝรั่งเศสแนะนำให้ฉีดแก่ผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไป

วัคซีนชนิดนี้ทำงานอย่างไรและป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่

วัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ทำมาจากไวรัสไข้หวัดทั่วไป (หรือที่รู้จักกันในชื่อ อะดีโนไวรัส-adenovirus) ที่อ่อนแอ โดยนำเชื้อนี้มาจากลิงชิมแปนซีไปดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อที่เชื้อไวรัสนี้จะไม่สามารถขยายตัวในมนุษย์ได้ จากนั้นจะนำยีนที่ได้มาจากปุ่มโปรตีนของเชื้อไวรัสโคโรนาไปใส่ในไวรัสไข้หวัดที่อ่อนแอและไม่เป็นอันตรายต่อคนดังกล่าว

วัคซีนที่ได้จะถูกนำไปฉีดให้กับคนไข้ เซลล์ในร่างกายมนุษย์จะสร้างปุ่มโปรตีนไวรัสโคโรนาขึ้น เป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันขึ้น และกระตุ้นให้ที-เซลล์ทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ

เมื่อคนไข้ได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายจริง ๆ ภูมิคุ้มกันและทีเซลล์ก็จะถูกกระตุ้นให้ต่อสู้กับเชื้อไวรัส

วัคซีนอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ทำงานอย่างไร

ศาสตราจารย์โจนาธาน แวน แทม รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของรัฐบาลอังกฤษ ระบุเมื่อ เม.ย. ว่ามี "หลักฐานมากมาย" ที่บ่งชี้ว่าวัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ

งานวิจัยของสำนักงานสาธารณสุขของอังกฤษ (พีเอชอี) ที่เผยแพร่เมื่อ 23 พ.ค. เกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนแต่ละยี่ห้อในการสู้กับแต่ละสายพันธุ์ ระบุว่า 3 สัปดาห์หลังรับวัคซีนเข็มแรกจากแอสตร้าเซเนก้า หรือ จากไฟเซอร์ จะได้ประสิทธิผล (effectiveness) 33% ในการต่อต้านไวรัสสายพันธุ์อินเดีย และ 50%ในการต่อต้านไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ

และ 2 สัปดาห์หลังได้รับเข็มสอง แอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิผล 60% ในการสกัดความรุนแรงของโรคจากสายพันธุ์อินเดีย เทียบกับ ประสิทธิผล 88% ของไฟเซอร์ ส่วนสายพันธุ์อังกฤษนั้นแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิผล 66% เทียบกับไฟเซอร์ที่มีประสิทธิผลถึง 93%