วัคซีนโควิด: สถานะล่าสุดของวัคซีน 6 ยี่ห้อที่ อย. ขึ้นทะเบียนให้ใช้ในปี 64 ก่อนเข้าสู่สมรภูมิโควิดปี 65

คนฉีดวัคซีน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

  • Author, กุลธิดา สามะพุทธิ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ปี 2564 หลายคนอาจหมดเวลาไม่น้อยไปกับวัคซีนโควิด

ตั้งแต่หาข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพ ความปลอดภัย จะฉีดดีไหม ยี่ห้ออะไร ฉีดที่ไหน จะรอรัฐบาลหรือจะซื้อเอง แล้วพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ที่อายุมากหรือมีโรคประจำตัวจะเอายังไงดี ฯลฯ

ฉีดเข็มแรกมานอนซม เข็มสองคิดว่าจะจบแล้ว แต่สาธารณสุขก็มากระตุ้นให้ไปฉีดเข็มสาม แถมบางคนยังต้องเจ็บใจที่วัคซีนชนิด mRNA ที่จ่ายเงินซื้อไป แต่สุดท้ายรัฐบาลมีฉีดให้ฟรี ๆ

จากที่งงงวยและสับสนกับชนิดและยี่ห้อวัคซีนในช่วงต้นปี พอถึงปลายปีรู้หมดว่าวัคซีนยี่ห้อไหนใครผลิต เป็นวัคซีนเชื้อตาย ไวรัลเวคเตอร์ หรือ mRNA

คงไม่ผิดนักถ้าจะนิยามปี 2564 ว่าเป็นปีแห่งวัคซีนโควิด-19 และเป็นไปได้สูงว่าปี 2565 ก็ยังอาจจะเป็นปีแห่งวัคซีนโควิดภาค 2

ก่อนจะเข้าสู่สมรภูมิโควิดในปี 2565 --ปีที่ 3 ที่มนุษยชาติจะต้องต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ บีบีซีไทยสรุปเรื่องราวและอัพเดทสถานะล่าสุดของวัคซีนโควิดทั้ง 6 ยี่ห้อที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติให้นำเข้ามาใช้ในภาวะฉุกเฉิน ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โมเดอร์นา ซิโนฟาร์ม และไฟเซอร์

1. แอสตร้าเซนเนก้า

ชนิดของวัคซีน: ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (ไวรัลเวคเตอร์)

ผู้นำเข้า: บ.แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย)

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

วัคซีนต้านโควิด-19 ของ บ.แอสตร้าเซนเนก้า บริษัทสัญชาติสวีเดน-อังกฤษ ที่ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เป็นวัคซีนชนิดแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. สำหรับนำเข้ามาใช้ในภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564

ประเด็นที่ทำให้วัคซีนชนิดนี้ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษคือ บ.แอสตร้าเซนเนก้าได้เลือกให้ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด บริษัทเวชภัณฑ์ในพระปรมาภิไธยของในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นหนึ่งในแหล่งผลิตวัคซีนกว่า 20 แห่งทั่วโลก ซึ่งทำให้รัฐบาลไทยนำมาคุยว่าไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกลายเป็นศูนย์กลางผลิตวัคซีนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อเดือน พ.ย. 2563 จัดสรรงบประมาณกว่า 6 พันล้านบาทสำหรับจองและจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล่วงหน้า 21 ล้านโดส ก่อนจะเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส ภายในเดือน ธ.ค. 2564

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรกจำนวน 117,000 โดส มาถึงไทยเมื่อวันที่ 24 ก.พ. โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีถูกวางตัวให้เป็นคนแรกที่จะรับวัคซีนในวันที่ 12 มี.ค. แต่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่นายกฯ จะฉีด หลายประเทศในยุโรปได้ประกาศระงับการฉีดวัคซีนชนิดนี้เนื่องจากพบผลข้างเคียงคืออาการลิ่มเลือดอุดตันในผู้รับวัคซีนบางราย ทำให้กระทรวงสาธารณสุขตัดสินใจเลื่อนการฉีดวัคซีนให้นายกฯ ออกไปเป็นวันที่ 16 มี.ค.

ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดย บ.สยามไบโอไซเอนซ์นั้นได้รับการส่งมอบให้ สธ. ล็อตแรก 1.8 ล้านโดสเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. โดยมี พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และประธานกรรมการ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ ร่วมพิธี แต่หลังจากนั้นการส่งมอบก็เป็นไปอย่างล่าช้าและจำนวนน้อย

ในจดหมายเปิดผนึกแจ้งความคืบหน้าการส่งมอบวัคซีนที่นายเจมส์ ทีก ประธาน บ.แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทยส่งถึง "เพื่อนพี่น้องชาวไทย" ฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พ.ย. เขาระบุว่าสยามไบโอไซเอนซ์ สามารถผลิตวัคซีนได้เพิ่มขึ้นกว่า 20% จากเดิม 580,000 โดสต่อรอบการผลิตในช่วงแรก เพิ่มเป็น 700,000 โดส ซึ่งเป็นจำนวนที่ "มากเกินกว่าคาดการณ์ไว้"

ประธาน บ.แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ณ วันที่ 2 พ.ย. ได้ส่งมอบวัคซีนให้ไทยแล้วทั้งสิ้น 35.1 ล้านโดส จาก 61 ล้านโดสที่รัฐบาลไทยสั่งจองไว้ในปีนี้

สธ. รายงานทางแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" ว่า ณ วันที่ 29 ธ.ค. มีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วทั้งหมด 44.08 ล้านโดส จากวัคซีนที่ฉีดทั้งหมด 103.5 ล้านโดส ถือเป็นวัคซีนที่ฉีดมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือวัคซีนของซิโนแวค

ควรบันทึกไว้ด้วยว่า แม้ไทยจะประกาศตัวเป็นศูนย์กลางผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่คนไทยได้รับนี้ ไม่ได้มาจากโรงงานผลิตในไทยอย่างเดียว แต่จำนวนไม่น้อยยังมาจากการ "บริจาค" ของมิตรประเทศ เช่น ญี่ปุ่นที่บริจาคหลายล็อตรวมแล้วกว่า 2 ล้านโดส สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ เยอรมนี และยังมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่รัฐบาลไทย "ขอยืม" ภูฏานและสิงคโปร์อีกรวมกันเกือบ 3 แสนโดส

แม้ในปี 2564 บ.แอสตร้าเซนเนก้ายังส่งวัคซีนได้ไม่ครบ 61 ล้านโดสตามจำนวนที่ไทยสั่งจองไว้ แต่ ครม. ก็มีมติเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. อนุมัติงบประมาณกว่า 18,000 ล้านบาท ในการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มเติมอีก 60 ล้านโดส ในปี 2565 เพื่อฉีดเป็นเข็มกระตุ้น ซึ่ง บ.แอสตร้าเซนเนก้าให้คำมั่นว่าจะ "ทำทุกวิถีทางทั้งการเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศและนำเข้าจากแหล่งผลิตอื่น ๆ" เพื่อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมตามสัญญาสั่งซื้อฉบับใหม่นี้

2. ซิโนแวค

ชนิดของวัคซีน: เชื้อตาย

ผู้นำเข้า: องค์การเภสัชกรรม

วัคซีนซิโนแวค

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

วัคซีนโควิดยี่ห้อที่ 2 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสำหรับใช้ภาวะฉุกเฉินโดย อย. คือวัคซีนที่ชื่อโคโรนาแวคของ บ.ซิโนแวคไบโอเทค จำกัด ประเทศจีน ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564

แม้จะได้รับการขึ้นทะเบียนช้ากว่าแอสตร้าเซนเนก้าประมาณ 1 เดือน แต่วัคซีนซิโนแวคล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดสก็มาถึงไทยในวันเดียวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าคือวันที่ 24 ก.พ. และประเดิมฉีดเข็มแรกให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับวัคซีนโควิด และถือว่าวันนี้เป็นวัน "คิกออฟ" เริ่มต้นการฉีดโควิดของไทย

ด้วยความที่รัฐบาลมีแผนจะให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนหลักของประเทศ วัคซีนสัญชาติจีนยี่ห้อนี้ จึง "ไม่ได้อยู่ในโรดแมป" ตามคำกล่าวของนายอนุทิน แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอกเดือน เม.ย. ประกอบกับ บ.แอสตร้าเซนเนก้ายังไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้มากพอ วัคซีนเชื้อตายของจีนอย่างซิโนแวคจึงกลายเป็นวัคซีนหลักของไทยในช่วงแรก โดยเน้นฉีดให้กลุ่มเสี่ยงสูงคือผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว

การระดมฉีดวัคซีนซิโนแวคเกิดขึ้นท่ามกลางความกังขาต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ สธ. จึงต้องออกมาย้ำหลายครั้งว่าซิโนแวคมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคกว่า 50% และ แทบจะต้องอ้อนวอนประชาชนว่ามีวัคซีนอะไรให้ฉีดไปก่อนเพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตหากติดเชื้อ ขณะที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลพากันออกมาปรามว่าอย่า "ด้อยค่า" ซิโนแวค และสร้างวาทกรรม "วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด" ออกมาโต้

แม้องค์การอนามัยโลกจะให้การรับรองวัคซีนซิโนแวคเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. แต่เสียงวิจารณ์ซิโนแวคก็ยังไม่เบาบางลง จนสถานทูตจีนประจำประเทศไทยถึงกับออกแถลงการณ์ "คัดค้านการกล่าวหาวัคซีนจีนโดยไร้เหตุ" เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ยืนยันว่าซิโนแวคไม่ใช่ "วัคซีนคุณภาพต่ำ" และมีประสิทธิผลในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์อย่างดี

"บางคนและบางองค์การของประเทศไทยได้ด้อยค่าและใส่ร้ายวัคซีนจีนโดยไม่มีเหตุผลใด ๆ...และเป็นการทำร้ายความหวังดีของฝ่ายจีนในการสนับสนุนประชาชนไทยต่อสู้กับโรคระบาด" แถลงการณ์ระบุ

ไม่ว่าจะถูกด้อยค่าหรือถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์อย่างไร แต่ซิโนแวคคือวัคซีนที่ไทยสั่งซื้อและจีนส่งมอบให้ไทยอย่างต่อเนื่อง

ครม.อนุมัติงบประมาณก้อนแรก 1,228 ล้านบาท ให้ซื้อวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดสในเดือน ม.ค. 2564 พอถึงเดือน เม.ย. อนุมัติอีก 321 ล้านบาทให้ซื้อเพิ่ม 5 แสนโดส ปลายเดือน มิ.ย. กรมควบคุมโรคแจ้งให้ ครม. ทราบว่าได้จองวัคซีนซิโนแวคแล้วจำนวน 19.5 ล้านโดส

ครม.อนุมัติงบให้กรมควบคุมโรคอีกครั้งในเดือน ก.ย. เป็นเงิน 4,254 ล้านบาท เพื่อจัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 12 ล้านโดส ภายในสิ้นเดือน ธ.ค. 2564 โดยให้เหตุผลว่า "เนื่องจากวัคซีนมีจำกัด การส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีความคลาดเคลื่อนจากแผนที่กำหนดไว้" นอกจากนี้ยังมีวัคซีนซิโนแวคที่รัฐบาลจีนบริจาคให้ไทยอีก 2.5 ล้านโดส

แอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" รายงาน ณ วันที่ 29 ธ.ค. มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้ไปแล้ว 26.38 ล้านโดส มากเป็นอันดับ 2 รองจากแอสตร้าเซนเนก้า

3. จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

ชนิดของวัคซีน: ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (ไวรัลเวคเตอร์)

ผู้นำเข้า: บ.แจนส์เซน-ซีแลก จำกัด

วัคซีนจอห์นสัน

ที่มาของภาพ, Getty Images

อย. ขึ้นทะเบียนวัคซีนต้านโควิดที่ผลิตโดย บ.แจนส์เซน บริษัทยาของ บ.จอหน์สัน แอนด์ จอห์นสัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 เป็นวัคซีนโควิดชนิดที่ 3 ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาใช้ในไทย

วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันเป็นวัคซีน mRNA ชนิดฉีด 1 โดส ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอนามัยโลกให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 4 มี.ค. แต่หลังจากนั้นไม่นาน สำนักงานการแพทย์ยุโรปก็ได้สั่งพักการฉีดวัคซีนชนิดนี้ชั่วคราวช่วงต้นเดือน เม.ย. เนื่องจากพบความเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดหายากในผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนยี่ห้อนี้ ก่อนจะกลับมาเริ่มฉีดอีกครั้งในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เมื่อผลการสอบสวนพบว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อยมากและประโยชน์จากการฉีดมีมากกว่า

สำหรับไทย หลังจาก อย. ขึ้นทะเบียนแล้ว กรมควบคุมโรคได้รายงาน ครม. เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ว่าได้จองวัคซีนจอห์นสันฯ แล้วจำนวน 5 ล้านโดส แต่จนถึงเดือน ธ.ค. ก็ยังไม่มีการส่งมอบ มีเพียงสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยที่นำเข้าวัคซีนยี่ห้อนี้มาฉีดให้ชาวฝรั่งเศสที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปที่อยู่ในประเทศไทย โดยบริการฉีดที่โรงพยาบาล 8 แห่งในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สถานทูตฝรั่งเศสระบุในเพจเฟซบุ๊กว่า สถานทูตได้รับอนุญาตจากทางการไทยให้นำวัคซีนแจนส์เซนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันเข้ามาฉีดให้คนฝรั่งเศสในไทยได้ โดยไม่ได้ระบุจำนวนที่นำเข้ามา แต่ต่อมานายอนุทินเปิดเผยว่าทูตฝรั่งเศสได้ขอนำเข้าวัคซีนชนิดนี้ทั้งหมด 10,000 โดส

แอปพลิเคชันหมอพร้อมของ สธ. รายงานว่า ณ วันที่ 29 ธ.ค. มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนของจอห์นสันฯ ทั้งหมด 7,000 โดส

4. โมเดอร์นา

ชนิดของวัคซีน: สารพันธุกรรม (mRNA)

ผู้นำเข้า: บ.ซิลลิคฟาร์มา จำกัด

วัคซีนโมเดอร์นา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เรื่องของการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาในไทยมีทั้งความไม่แน่นอน ความสับสน การรอคอยและการตอบโต้-ชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่องค์การเภสัชกรรม สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ไปจนถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ติดตามกันตลอดทั้งปี 2564

นับจากได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 ต้องใช้เวลาอีกถึง 5 เดือนกว่าที่วัคซีน mRNA ชนิดนี้จะได้รับการฉีดให้คนไทยเข็มแรก

การนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นามีความซับซ้อนเพราะมันเป็น "วัคซีนทางเลือก" ตัวแรกที่รัฐบาลอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนสั่งซื้อมาฉีดให้ลูกค้าได้ โดยมีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นตัวแทนภาครัฐจัดซื้อเพื่อมาจำหน่ายให้โรงพยาบาลเอกชนในราคาเข็มละ 1,100 บาท เนื่องจาก บ.โมเดอร์นามีเงื่อนไขว่าจะขายวัคซีนให้หน่วยงานรัฐเท่านั้น

กระบวนการเริ่มจาก รพ.เอกชนแต่ละแห่งเปิดให้ประชาชนจองและจ่ายเงินค่าวัคซีนในราคา 1,500-1,700 บาท รพ.เอกชนส่งยอดสั่งซื้อให้ อภ. พร้อมเงินค่าวัคซีน จากนั้น อภ. จึงเซ็นสัญญาสั่งซื้อกับบริษัท เมื่อบริษัทส่งมอบวัคซีนแล้ว อภ.จึงกระจายต่อไปให้ รพ.เอกชนตามจำนวนที่สั่งจอง รพ.เอกชนจึงนัดหมายลูกค้ามาฉีดวัคซีน

ความไม่ราบรื่นในการจัดซื้อโมเดอร์นาปรากฏขึ้นในเดือน ก.ค. เมื่อ นพ. บุญ วนาสิน ผู้บริหารโรงพยาบาลเครือธนบุรีที่เป็นผู้ผลักดันการซื้อวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา ออกมาวิจารณ์ อภ. ที่ดำเนินการเซ็นสัญญาสั่งซื้อล่าช้าและกล่าวหาว่า อภ. มุ่งแสวงหากำไรจากประชาชน จนทำให้ อภ. ฟ้องหมิ่นประมาท นพ.บุญทันที และในสัปดาห์ต่อมา อภ. ก็ได้เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนโมเดอร์นากับ บ. ซิลลิคฟาร์มา บริษัทผู้นำเข้า จำนวน 5 ล้านโดส ในวันที่ 23 ก.ค.

ปัญหาต่อมาคือการส่งมอบที่ล่าช้ากว่ากำหนดที่ บ.ซิลลิคฟาร์มาแจ้งสมาคมโรงพยาบาลเอกชนไว้ว่าล็อตแรกจะมาถึงวันที่ 15 ต.ค. ทำให้ลูกค้าที่จองไว้เกิดความสับสนและไม่แน่ใจว่าจะต้องรอวัคซีนอีกนานแค่ไหน และควรจะไปฉีดของรัฐบาลก่อนหรือไม่ ซึ่งทางซิลลิคฟาร์มาชี้แจงว่าความต้องการวัคซีนโควิดทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูงและบริษัทจะหาทางเลือกอื่น ๆ เพื่อส่งมอบวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด

7 ก.ย. แม้วัคซีนล็อตแรกจะยังเดินทางมาไม่ถึง แต่ อย. อนุมัติล่วงหน้าให้ฉีดวัคซีนโมเดอร์นาในเด็กอายุ 12 ปี ขึ้นไปได้

1 พ.ย. วัคซีนล็อตแรกของโมเดอร์นามาถึง รพ.เอกชนเริ่มฉีดให้ลูกค้าในวันที่ 9 พ.ย.

ล่าสุด บ.ซิลลิคฟาร์มารายงานความคืบหน้าการส่งมอบวัคซีนโมเดอร์นาว่า ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2564 ส่งมอบแล้ว 1.9 ล้านโดส และจะส่งมอบอีก 3.7 ล้านโดสภายในเดือน ม.ค. 2565 ส่วนวัคซีนอีก 6.8 ล้านโดสที่ได้ลงนามสัญญาการจัดหาวัคซีนกับ อภ. ไปแล้ว จะทยอยส่งมอบในไตรมาสแรกของปี 2565

ณ วันที่ 29 ธ.ค. มีการฉีดวัคซีนของโมเดอร์นาไปแล้ว 2.31 ล้านโดส จากการรายงานของระบบหมอพร้อม สธ.

5. ซิโนฟาร์ม

ชนิดของวัคซีน: เชื้อตาย

ผู้นำเข้า: บ.ไบโอจีนีเทค จำกัด

วัคซีนซิโนฟาร์ม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ในบรรดาวัคซีนโควิด-19 ที่นำเข้ามาฉีดให้คนไทย วัคซีนของซิโนฟาร์มหรือวัคซีน "BBIBP-CorV" น่าจะมีกระบวนการที่รวบรัดรวดเร็วที่สุด

เริ่มจากวันที่ 26 พ.ค. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศที่ให้อำนาจราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (รจภ.) ในการนำเข้าวัคซีน เวชภัณฑ์ และให้บริการทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 ได้ อีกสองวันต่อมา คือ 28 พ.ค. วัคซีนซิโนฟาร์มของ บ. ซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนในกำกับของ เครือรัฐวิสาหกิจแห่งชาติด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ประเทศจีน (CNBG) ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนโดย อย. ให้นำเข้ามาใช้ในไทยได้ โดยมี บ.ไบโอจีนีเทค จำกัด เป็นผู้นำเข้า นับเป็นวัคซีนโควิดชนิดที่ 5 ที่ อย. อนุมัติ

วันเดียวกันนั้นเอง ศ.นพ. นิธิ มหานนท์ เลขาธิการ รจภ. ก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า รจภ. ได้ติดต่อบริษัทซิโนฟาร์มเพื่อขอนำเข้าวัคซีนไว้แล้ว แต่มอบหมายให้บริษัทไบโอจีนีเทคช่วยดำเนินการยื่นเอกสารขออนุญาตจาก อย. เนื่องจากมีใบอนุญาตนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ และเคยเป็นผู้นำเข้าและเก็บรักษาวัคซีนอื่น ๆ ของซิโนฟาร์มมาแล้ว

วันที่ 20 มิ.ย. วัคซีนซิโนฟาร์มล็อตแรกจำนวน 1 ล้านโดสมาถึงไทย และเริ่มฉีดให้ประชาชนกลุ่มแรกจำนวน 6,400 คน ซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนโดยรอบโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.

วัคซีนล็อตอื่น ๆ ที่ตามมาหลังจาก รจภ. ได้จัดสรรและจำหน่ายให้องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ที่จองไว้ และอีกส่วนหนึ่งนำมาฉีดให้ประชาชนที่จองวัคซีนไว้กับ รจภ. โดยมีค่าใช้จ่ายเข็มละ 888 บาท

ความเคลื่อนไหวสำคัญอีกครั้งหนึ่งของ รจภ. ในปีนี้ คือการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มให้เด็กอายุ 10-18 ปี ทั้งที่ อย. ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนชนิดนี้สำหรับฉีดในเด็กได้ แต่ รจภ. ระบุว่าการฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. เป็นโครงการวิจัยที่ชื่อว่า "VACC 2 School" ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการวิจัยในคนของของ รจภ. แล้ว โดยมีเด็กได้รับวัคซีนกว่า 1 แสนคน

นอกจากนี้ยังมีวัคซีนซิโนฟาร์มอีก 2 แสนโดสที่รัฐบาลจีนถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.

ฐานข้อมูลการฉีดวัคซีนในระบบหมอพร้อมรายงาน ณ วันที่ 29 ธ.ค. ว่ามีการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มไปแล้วทั้งสิ้น 14.56 ล้านโดส นับตั้งแต่เริ่มฉีดวันแรกเมื่อ 25 มิ.ย.

6. ไฟเซอร์

ชนิดของวัคซีน: สารพันธุกรรม (mRNA)

ผู้นำเข้า: บ.ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด

วัคซีนไฟเซอร์

ที่มาของภาพ, Getty Images

วัคซีนโควิดชนิดที่ 6 ซึ่งเป็นชนิดสุดท้ายที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. ในปี 2564 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. คือวัคซีน "โคเมอร์เนตี" ที่ผลิตโดย บ.ไฟเซอร์ ของสหรัฐฯ นับเป็นวัคซีนที่หลายคนรอคอยเพราะเป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนชนิดอื่น ๆ ในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ และเหมาะสำหรับการฉีดเป็นเข็มที่ 3 เพื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

20 ก.ค. กรมควบคุมโรคลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA กับบริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทยและอินโดไชนา) จำนวน 20 ล้านโดส แต่ระหว่างที่รอการมาถึงของวัคซีนที่ทางการไทยสั่งซื้ออยู่นั้น วัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสที่รัฐบาลสหรัฐฯ บริจาคให้ไทยก็เดินทางมาถึงเมื่อวันที่ 30 ก.ค. และอีก 1 ล้านโดสมาถึงเมื่อ 22 พ.ย. รวมวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ บริจาคให้ไทยในปีนี้ 2.5 ล้านโดส

สธ. ระบุว่าวัคซีนไฟเซอร์บริจาคนี้จะนำไปฉีดเป็นวัคซีนกระตุ้นหรือบูสเตอร์โดสให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ชาวต่างชาติ ผู้สูงอายุและนักเรียนนักศึกษา นักการทูต นักกีฬาที่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นมาบุคลากรด่านหน้าบางกลุ่มร้องเรียนว่าไม่มีรายชื่อให้ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ แต่กลับมีบุคคลที่ไม่ได้มีความเสี่ยงจากการปฏิบัติหน้าที่ได้รับไป ทำให้ สธ. ปรับเกณฑ์จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์บริจาคใหม่ให้ครอบคลุมบุคลากรด่านหน้าอย่างแท้จริง

ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่รัฐบาลไทยจ่ายเงินซื้อ 20 ล้านโดสนั้น ล็อตแรกจำนวน 2 ล้านโดสมาถึงเมื่อวันที่ 29 ก.ย. ซึ่ง สธ. ได้นำไปฉีดให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปและฉีดเป็นเข็มกระตุ้นให้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วเพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์

การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนในช่วงปลายปี 2564 ที่ในไทยก็พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นกว่า 700 คนภายในเดือน ธ.ค. ทำให้วัคซีนชนิด mRNA มีบทบาทมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. อย. ได้อนุมัติให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปีได้ ขณะที่ ครม. ก็อนุมัติงบประมาณให้จัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

  • วันที่ 30 ส.ค. ครม.อนุมัติงบประมาณ 4.7 พันล้านบาท เพื่อจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่ม 9.9 ล้านโดส
  • วันที่ 21 ธ.ค. อนุมัติให้กรมควบคุมโรคจัดหาวัคซีนไฟเซอร์อีก 30 ล้านโดสในปี 2565 กรอบวงเงิน 16,297

ทั้งหมดนี้คือสถานะล่าสุดของวัคซีนทั้ง 6 ยี่ห้อที่ อย. อนุมัติและมีการนำเข้ามาฉีดในไทยแล้วในปี 2564 สำหรับปี 2565 ครม. มีมติในการประชุมนัดก่อนสุดท้ายของปี ตั้งเป้าจัดหาวัคซีนจำนวน 120 ล้านโดส ส่งมอบภายในไตรมาสที่ 1 ของปี โดยเน้นที่วัคซีนรุ่นที่ 2 ที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้