ประชุมสภา : สภามีมติ 374 เสียง อนุมัติ พ.ร.ก. เป็น พ.ร.บ. โอนกรมทหารราบ 1-ราบ 11 ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ปิยบุตร แสงกนกกุล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 ด้วยคะแนนเสียง 374 ไม่เห็นด้วย 70 งดออกเสียง 2 จากองค์ประชุม 446 เสียง

แม้นายชวน หลีกภัย ประธานสภา จะขานมติว่ามีผู้ลงคะแนนเสียง "อนุมัติ" ด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ 366 เสียง และลงคะแนนเพิ่มเติมด้วยวาจา 10 เสียง รวมเป็นคะแนนอนุมัติ 376 เสียง แต่ต่อมาสำนักรายงานการประชุมและชวเลข ได้แจ้งสื่อมวลชนว่ามติที่ถูกต้องคือ 374 เสียง เนื่องจากมีการนับคะแนนซ้ำซ้อนกัน 2 เสียง

หลังจากนี้เป็นคิวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการพิจารณา พ.ร.ก. ฉบับนี้ในวันที่ 20 ต.ค. หากสภาสูงยืนยันอนุมัติก็จะถือว่า พ.ร.ก. มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อย่างสมบูรณ์

การอนุมัติ พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณฯ ของสภาล่างเกิดขึ้นเป็น "วาระแรก" ในระหว่างการประชุมสภา สมัยวิสามัญ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (17 ต.ค.) ใช้เวลาเพียง 1 ชม. ฝ่ายรัฐบาลมี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รมช. กลาโหม เป็นตัวแทนนายกฯ ในการชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการตรากฎหมาย ซึ่งเขาไม่ได้อธิบายอะไรมากนอกจากอ่านตาม "หมายเหตุ" จำนวน 21 บรรทัดที่อยู่ท้าย พ.ร.ก. และย้ำว่าเรื่องนี้ "เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก. นี้"

ส่วน ส.ส. ที่ลุกขึ้นอภิปรายมีเพียง 2 คน เป็นการอภิปรายคัดค้าน 1 คน และอภิปรายสนับสนุน 1 คน

ปิยบุตร งัดทั้งพจนานุกรม-กม. เดิมถาม "ฉุกเฉินรีบด่วน" อย่างไรต้องออก พ.ร.ก.

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ออกตัวว่า เมื่อฟังเขาอภิปรายจนจบจะรู้ว่า "นี่คือการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" และสิ่งที่อภิปรายและกำลังจะลงมติคือความสัมพันธ์ระหว่างสภากับ ครม. ตามระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องกระบวนการออกกฎหมาย และการตรวจสอบถ่วงดุล ครม. ในฐานะองค์กรถวายคำแนะนำ

"นี่เป็นการตรวจสอบ พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ซึ่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ" นายปิยบุตรระบุ

ประชุมสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

อดีตอาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน ม. ธรรมศาสตร์ ชี้ว่า การตรา พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณฯ มีประเด็นในทางรัฐธรรมนูญที่ต้องอภิปราย เพราะการออก พ.ร.ก. ถือเป็นข้อยกเว้นที่ให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจออกกฎหมายก่อนแล้วให้สภารับรองทีหลัง เพื่อไม่ให้ฝ่ายบริหารใช้ข้อยกเว้นอย่างฟุ่มเฟือย และไม่ให้ข้อยกเว้นกลายเป็นเรื่องทั่วไป ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 กำหนดเหตุผลในการออก พ.ร.ก. ไว้ 4 ประการ และกำหนดว่าจะกระทําได้เฉพาะเมื่อ ครม. เห็นว่า "เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้"

นายปิยบุตรกล่าวว่า รัฐบาลหลายชุดในอดีตก็เคยใช้ช่องทางตรา พ.ร.ก. แต่เฉพาะรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" พบว่า มีการตรา พ.ร.ก. แล้ว 2 ฉบับ ฉบับแรกคือ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ถูก ส.ส. ยื่นตีความว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณฯ เป็นฉบับที่สอง ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ามีปัญหาต้องพิจารณาว่า "เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้" จริงหรือไม่

ทหารราชองครักษ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ถูกนายปิยบุตรหยิบยกมาเป็น "ตัวช่วย" ในการอ้างอิงและตีความ

ฉุกเฉิน หมายถึง "ที่เป็นไปโดยปัจจุบันทันด่วนและจะต้องรีบแก้ไขโดยฉับพลัน" คือต้องทำทันที ถ้าทำไม่ทัน จะเกิดผลร้ายตามมา

อย่างไรก็ตาม ส.ส. อนค. รายนี้เห็นว่า ครม. ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงให้สภาทราบว่า ณ วันออก พ.ร.ก. มีเรื่องอะไรกระทบต่อการถวายการอารักขาความปลอดภัย หรือกระทบต่อพระเกียรติยศ หรือมีเหตุอันใดที่จำเป็นต้องตรา พ.ร.ก. ทันทีหากไม่ตราจะเกิดผลร้ายตามมา

เขายังหยิบยกสารพัดกฎหมายมายืนยันว่ากระทรวงกลาโหมมีหน้าที่พิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว และที่ผ่านมา หลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับหน่วยถวายความปลอดภัยและเกี่ยวข้องกับสถาบัน ก็เคยมีการตรากฎหมายในรูปแบบ พ.ร.บ. เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก. ในกรณีนี้

  • พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 มาตรา 8 ระบุอำนาจของกระทรวงกลาโหมไว้ 5 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ "พิทักษ์รักษา ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์"
  • รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หมวดหน้าที่ของรัฐ ระบุว่า "รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์"
  • คำแถลงนโยบายของรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" ต่อรัฐสภา บรรจุให้ "การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์" เป็นนโยบายข้อแรกจากนโยบายหลัก 12 ข้อ
  • รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ยกฐานะหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นนิติบุคคลระดับกรม สังกัดกระทรวงกลาโหม ด้วยการตราเป็น พ.ร.บ. เมื่อปี 2556
  • รัฐบาล "ประยุทธ์ 1" ตรา พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560
  • สภาชุดปัจจุบันผ่านร่าง พ.ร.บ. เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ. เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. .... เมื่อปี 2562

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากคำอภิปรายของนายปิยบุตร แสงกนกกุล

พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รมช. กลาโหม เป็นตัวแทนนายกฯ ชี้แจง พ.ร.ก. โอนสองหน่วยทหาร

อัดเคยชินใช้อำนาจพิเศษ หวั่น พ.ร.ก. คือ ม. 44 จำแลง

นายปิยบุตรอภิปรายต่อไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นปัญหาเรื่องการใช้อำนาจของนายกฯ ว่าคงคุ้นชินกับการใช้อำนาจพิเศษมา 5 ปีเศษ แต่วันนี้เราเข้าสู่ระบบปกติแล้ว ใช้รัฐธรรมนูญเต็มรูปแบบและมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว พล.อ. ประยุทธ์ จึงไม่มีมาตรา 44 ไม่มีมนต์วิเศษแล้ว การใช้อำนาจจึงต้องเคารพรัฐธรรมนูญและระมัดระวังรอบคอบ

"หากเราปล่อยผ่านเรื่องนี้ไป เท่ากับเรากำลังสนับสนุนการใช้อำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ว่าใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้... นี่จะสร้างบรรทัดฐานแบบผิด ๆ ว่านายกฯ อยากได้กฎหมายอะไร ไม่อยากมาชี้แจงสภา ก็จะออกเป็น พ.ร.ก. นานวันเข้าการออก พ.ร.ก. ก็จะกลายเป็นมาตรา 44 จำแลง" นายปิยบุตรกล่าว

เขายังย้ำด้วยว่า นี่เป็นอีกครั้งของอาการ "โรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ" ที่เกิดขึ้นกับ พล.อ. ประยุทธ์ นับจากเกิดปัญหากรณีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน, แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่ชี้แจงแหล่งที่มารายได้ และมาถึงการตรา พ.ร.ก. ทั้งสองฉบับ

เลขาธิการ อนค. ประกาศ "ไม่อนุมัติ" พ.ร.ก. เพื่อยืนยันอำนาจของสภา-ถ่วงดุลฝ่ายบริหาร

เลขาธิการ อนค. ระบุว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจอธิปไตย พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางรัฐสภา ครม. และศาล ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ พระมหากษัตริย์ไม่ทรงทำอะไรผิด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงต้องรับผิดชอบ แต่รัฐมนตรีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ได้ยืนยันว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ทรงเป็นกลางทางการเมือง และใช้คำว่า "ทรงปกเกล้าฯ แต่ไม่ปกครอง"

"พรรคอนาคตใหม่และตัวผมเองยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข การอภิปรายของผมในวันนี้ เป็นไปเพื่อยืนยันอำนาจของสภาตามรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร รักษาระบบรัฐสภา และที่สำคัญที่สุด นี่คือการปกป้องรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พ.ร.ก. ฉบับนี้ตราขึ้นโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ไม่เป็นเรื่องจำเป็นฉุกเฉินรีบด่วน และส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมในฐานะ ส.ส. เป็นผู้แทนของราษฎร มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผมไม่สามารถลงมติอนุมัติ พ.ร.ก. ฉบับนี้ได้ครับ" นายปิยบุตรกล่าวทิ้งท้าย

ที่ประชุมสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

บรรยากาศในที่ประชุมสภาขณะที่ประธานสภาผู้แทนฯ เปิดให้สมาชิกลงคะแนนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยให้ พ.ร.ก.โอนกำลังพลและงบประมาณฯ เป็น พ.ร.บ.

พีระพันธุ์ ย้ำความมั่นคงสถาบัน = ความมั่นคงชาติ

ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายสนับสนุน พ.ร.ก. ฉบับนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรที่ไม่เหมือนประเทศอื่น มีประวัติศาสตร์ไม่เหมือนกัน ที่ชาติไทยยืนยาวมาถึงทุกวันนี้เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่มีประเทศไทย ดังนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์คือความมั่นคงของประเทศ อะไรที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เท่ากับกระทบความมั่นคงของประเทศ

"การถวายความปลอดภัยให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เป็นการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ไม่เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน...ผมเห็นว่าเรื่องนี้จำเป็นฉุกเฉินรีบด่วน ผมรับรองครับ" นายพีระพันธุ์กล่าว

ภายหลังการอภิปรายของ 2 ส.ส. ประธานสภาได้สั่งให้ลงมติ เนื่องจากไม่มีผู้อภิปรายเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามหลายคนได้ใช้เวลาในระหว่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 พูดถึงการลงมติของตัวเอง เช่น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่าระหว่างการชี้แจงการตั้งงบกลางซึ่งเกี่ยวข้องกับการถวายการอารักขาความปลอดภัย โดยกล่าวว่า ได้ยินนะว่ามีคนบอกว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน "ผมคงหูแว่ว หรือฝันไปก็ไม่รู้"

ส่วน พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน กล่าวว่า "ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน พรรคเสรีรวมไทยเราเสนอผ่านให้"

วิษณุชี้ไร้ปัญหา 70 ส.ส. โหวตคว่ำ พ.ร.ก. แต่ให้ ปิยบุตร "รับผิดชอบ" คำอภิปรายเอาเอง

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึง 70 เสียง ส.ส. อนค. ลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ว่า ไม่มีปัญหา ไม่มีอะไรผิดปกติ การมีเสียงไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เห็นว่าเป็นความแปลกประหลาดอะไร เรื่องนี้เป็น พ.ร.ก. ของรัฐบาล อย่างที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล พูดนั้นถูกต้อง

"รัฐบาลเป็นคนคิด เป็นคนเสนอ และรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพราะฉะนั้น ถ้า พ.ร.ก. ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา รัฐบาลเป็นคนรับผิดชอบ ต้องลาออกหรือยุบสภา" รองนายกฯ กล่าวและว่า ส่วนการอภิปรายในสภา ผู้พูด "ก็ต้องรับผิดชอบเอง"

เช็คชื่อ อนค. เสียงแตก 3 คนโหวตรับ พ.ร.ก. 1 คนงดออกเสียง

อนาคตใหม่ ในหลวง

ที่มาของภาพ, Wasawat lukharang/bbc thai

บีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลการลงคะแนนเสียงของ ส.ส. พบว่า คะแนน "ไม่อนุมัติ" พ.ร.ก. ทั้ง 70 เสียง ล้วนมาจาก ส.ส. ในสังกัด อนค.

อย่างไรก็ตามมี ส.ส. อนค. บางส่วนที่เสียงแตกออกไป โดย 3 คนลงคะแนน "อนุมัติ" พ.ร.ก. ได้แก่ น.ส. กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส. ชลบุรี, นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส. จันทบุรี, พ.ต.ท. ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส. จันทบุรี

ส่วนอีก 1 คน "งดออกเสียง" คือ น.ส. ศรีนวล บุญลือ ส.ส. เชียงใหม่ อนค. โดยมี พล.ต.ต. สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส. สงขลา ปชป. ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลร่วมลงมติ "งดออกเสียง" ด้วย

ขณะเดียวกันมี ส.ส. บัญชีรายชื่อ อนค. อีก 5 คนที่เลือก "ไม่เข้าประชุม" โดยอยู่ในกลุ่ม 51 ส.ส. ที่ไม่ได้อยู่ในองค์ประชุมระหว่างลงมติอนุมัติ พ.ร.ก. ได้แก่ น.ส. จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กก.บห.อนค., นายนิรามาน สุไลมาน กก.บห.อนค., น.ส. ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ, น.ส. สุทธวรรณ สุวรรณ ณ อยุธยา ส.ส. นครปฐม และนายอนาวิล รัตนสถาพร ส.ส. ปทุมธานี

นอกจากนี้ยังมี ส.ส. รายอื่น ๆ ไม่มีชื่อในองค์ประชุม อาทิ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา, นายซูการ์โน มะทา ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลที่ไม่อยู่ในองค์ประชุม อาทิ นายชัย ชิดชอบ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.), นายชัชวาลย์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท, นายระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่, นายปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน, น.ส. ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ พรรคพลังเมืองไทย, นายสิระ เจนจาคะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฯลฯ