รัฐประหาร รสช. : 23 ก.พ. 2534 เมื่อฉันถูกจี้บนเครื่องบินพร้อมนายกรัฐมนตรี

"บิ๊กจ๊อด" พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, "บิ๊กจ๊อด" พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ได้รับฉายา "นายพลเสื้อคับ" เพราะการสวมเสื้อเข้ารูปพอดีตัว
  • Author, เจริญศรี หงษ์ประสงค์
  • Role, อดีตผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล

ผ่านไป 31 ปี แล้ว แต่ ฉันยังจำวันนี้ได้ดี

8 โมงเช้า ของ 23 ก.พ.2534 ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 หรือ บน.6 คณะของ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไป จ.เชียงใหม่ เพื่อนำพล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (รมช. กลาโหม) ไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ. เชียงใหม่ โดยมี ทีมข่าวจากช่อง 3, 5, 7, 9 และ 11 ร่วมเดินทางไปด้วย โดยเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศ ไทย C-130

หนึ่งวันก่อนหน้านั้น มีข่าวลือหนาหูว่าจะเกิดการยึดอำนาจโดย พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ หรือ "บิ๊กจ๊อด" ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพราะไม่พอใจที่ พลเอก ชาติชาย แต่งตั้ง พลเอก อาทิตย์ เป็น รมช. กลาโหม นักข่าวจำนวนมาก ไปเฝ้าหน้าบ้านพล.อ. ชาติชาย และหน้าบ้าน พล.อ. สุนทร ตลอดทั้งวัน แต่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นในวันนั้น

เช้าวันที่ 23 บรรยากาศ ดูแปลก ๆ ตัวฉัน ในฐานะผู้สื่อข่าวช่อง 11 และช่างภาพ คือ ปรีชา มีสุข มาถึง บน. 6 ก่อนเวลา รอสักพักจนคณะมาพร้อม พวกเราก็เดินไปขึ้นเครื่องบิน เราสังเกตเห็นเรื่องผิดปกติหลายเรื่องตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่องไปจนถึงตอนอยู่บนเครื่อง

โดยปกติ เมื่อนายกฯ บินไปไหน ผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพต้องมาเข้าแถวส่งขึ้นเครื่อง แต่วันนั้น มีแต่ พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล หรือ "บิ๊กเต้" ผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่ต้องอยู่ที่เกาหลีใต้ แต่กลับมารอส่ง พล.อ. ชาติชาย แต่เพียงคนเดียว เขารอส่ง พลเอก ชาติชาย ถึงบันไดเครื่องบิน C-130 เพื่อให้แน่ใจว่า "น้าชาติ" อยู่บนเครื่องแน่ ฉันเองเข้าใจว่า นายกฯ น่าจะทราบแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ท่านก็ปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินไป ขึ้นเครื่องไปตามปกติ

เจริญศรี หงษ์ประสงค์

ที่มาของภาพ, ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล

คำบรรยายภาพ, เจริญศรี หงษ์ประสงค์ ผู้เขียน ยืนย่อตัวติดกับด้านซ้ายมือของ พล.อ. ชาติชาย ในการถ่ายรูปร่วมกับ ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลในงานเลี้ยง

การขึ้นเครื่องแบ่งเป็น 2 ชุด คือ พล.อ. ชาติชาย และคณะวีไอพีขึ้นเครื่องและนั่งในส่วนหน้าของเครื่องบิน เบาะที่นั่ง มีตู้ที่นั่งหันหน้าไปทางหัวเครื่อง ส่วนผู้สื่อข่าวและฝ่ายรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ขึ้นทางข้างหลัง นั่งหันหน้าเข้าหากันขนานไปตามความยาวของลำตัวเครื่อง

เมื่อได้ที่นั่ง ฉันเห็นเรื่องผิดสังเกตอีกอย่าง คือ มี ชายไม่คุ้นหน้า ใส่เสื้อซาฟารี 3 คน มานั่งอยู่เบาะท้ายทางหางเครื่องบินปะปนกับพวกเราด้วย ส่วนฉันหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่านรอเครื่องออก เพียงไม่กี่นาที เครื่องบินก็เคลื่อนตัวออกข้า ๆ

พอเครื่องทำท่าจะขึ้น คนพวกนั้นก็ควักปืนสั้นออกมา แล้วบอกให้ทุกคนยกมือขึ้น คนหนึ่งเดินไปที่ส่วนหัวของเครื่อง อีก 2 คน ยืนถือปืนคุมอยู่ส่วนหาง

"ยกมือขึ้น ทุกคนยกมือขึ้น ไม่ยก จะยิง" คือเสียงที่ได้ยินบนเครื่อง ความรู้สึกตอนนั้น คิดว่า เรื่องจริงหรือเปล่าเนี่ย ก็ยังไม่ยกมือ แต่คนที่ถือปืน ก็ตะโกนอีก "ยกมือขึ้น" จน "พี่แดง" ช่างภาพช่อง 7 ที่อาวุโสที่สุดในหมู่พวกเรา บอกพวกเราให้ "ยกมือขึ้น ทุกคนยกมือ เครื่อง C-130 ไม่ได้ทะยานขึ้นฟ้า เครื่องถูกไฮแจ๊ค"

หลังคนเหล่านี้แสดงตัว รปภ. ของนายกฯ ก็ไม่ได้มีปฏิกริยาอะไร ขณะที่เครื่องบินที่ดูเหมือนจะเตรียมบินขึ้น ก็วนกลับมาจอดอยู่ที่ข้างรั้วหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน เมื่อเครื่องจอดสนิทประตูท้ายเครื่องบินก็เปิดออก ภาพแรกที่เห็นคือ ทหารอากาศยศนายพล 1 คน ถือปืนยาว อยู่นอกเครื่อง ไม่ได้ขึ้นเครื่องมา ปล่อยให้คนมีปืนบนเครื่องพาพวกเราสื่อมวลชนและ รปภ. ของนายกฯ เดินลงไปขึ้นรถตู้ที่จอดรออยู่ ส่วนผู้โดยสารวีไอพีด้านหน้าเครื่องนั้น ก็มีคนอีกชุดหนึ่งมาพาตัวไปแล้ว

line

สาเหตุของการยึดอำนาจ

เว็บไซต์ของ สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า แม้ พล.อ. สุนทร นักเรียน จปร. รุ่น 1 เป็นหัวหน้า รสช. แต่การยึดอำนาจในครั้งนี้มี พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และรองหัวหน้า รสช. เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการ และยังมีทหารกลุ่ม จปร. 5 อีกหลายคนมีบทบาทในการยึดอำนาจครั้งนี้ โดยภายหลังการยึดอำนาจ พล.อ. สุจินดา เป็นผู้ที่มีบทบาทในการเข้ามาจัดการปัญหาต่าง ๆ ในขณะที่ พล.อ. สุนทร ไม่ได้มีบทบาทที่ชัดเจนนัก

หลังจากมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี บทบาทของ พล.อ. สุนทร แปรเปลี่ยนเป็นประธานสภาคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลด้านความมั่นคงเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีบทบาทพิเศษในการประสานงานดูแล พล.อ. ชาติชาย และดูแลเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการไปในเดือน ก.ย. 2534

บทความของสถาบันพระปกเกล้าระบุว่า การยึดอำนาจในครั้งนี้มาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกลุ่มทหาร โดยเฉพาะกลุ่มทหาร จปร. 5 โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย. 2533 ฝ่ายทหารได้ยึดรถโมบายยูนิตของ อ.ส.ม.ท. โดยฝ่ายทหารให้เหตุผลว่ารถคันดังกล่าว ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ส่งมาสืบข่าวฝ่ายทหาร ต่อมาในเดือน พ.ย. 2533 พล.อ. สุจินดา แกนนำกลุ่ม จปร. 5 ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "ทหารเสื่อมศรัทธาในรัฐบาล" โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของ ร.ต.อ. เฉลิม ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ฝ่ายทหารเป็นอย่างยิ่ง

พล.อ. ชาติชาย จึงแก้ปัญหาด้วยการเชิญผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมรับประทานอาหารเช้าด้วยกัน แต่ทั้งหมดปฏิเสธ ระหว่างนี้กระแสข่าวการยึดอำนาจปรากฏออกมาเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งช่วง ก.พ. 2534 ข่าวการปลด พล.อ. สุนทร และ พล.อ. สุจินดา เริ่มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแต่งตั้ง พล.อ. อาทิตย์ เป็น รมช. กลาโหม ซึ่งถูกจับจ้องว่าเป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อปลด พล.อ. สุนทร ทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดการยึดอำนาจ

ภายหลังรัฐประหาร รสช. ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง 5 เหตุผลในการยึดอำนาจ คือ

  • รัฐบาลมีพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง
  • ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำ
  • รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา
  • รัฐบาลมีความพยายามทำลายสถาบันทหาร
  • รัฐบาลบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
getty images

ที่มาของภาพ, Getty Images

ขณะที่ พล.อ. สุจินดา ระบุในหนังสือ "บันทึกคำให้การ สุจินดา คราประยูร กำเนิดและอวสาน รสช. เขียนโดย วาสนา นาน่วม, สำนักพิมพ์มติชน ว่าการตัดสินใจและวางแผนยึดอำนาจ มีเพียง 2 คนคือ เขา กับ พล.อ. อิสระพงศ์ หนุนภักดี จากนั้นจึงไปปรึกษา พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางไปเกาหลี กับ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์

บันทึกคำให้การ สุจินดาฯ ระบุด้วยว่า ก่อนที่ รสช. จะทำการรัฐประหารมีความพยายามจาก พล.อ. สุนทร ในการ "ยึดอำนาจเพื่อ พล.อ. ชวลิต (ยงใจยุทธ)" หลัง พล.อ. ชวลิต ถูกโจมตีอย่างหนักโดย ร.ต.อ. เฉลิม ทั้งกรณีเข้ามาร่วมรัฐบาลที่ตัว "บิ๊กจิ๋ว" เคยวิจารณ์ว่าทุจริต และโจมตีคุณหญิงพันเครือ ยงใจยุทธ ภริยา ว่าเป็น "ตู้เพชรเคลื่อนที่" ทำให้ พล.อ. ชวลิตต้องลาออก สร้างความไม่พอใจให้แก่ พล.อ. สุนทร อย่างมาก ในช่วงนั้นผู้นำทหารที่ พล.อ. ชวลิต ช่วยเหลือให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพจึงตบเท้าให้กำลังใจ "นายเก่า" และแสดงความไม่พอใจรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย

"พล.อ. สุนทร ไม่ได้ลงมือทำรัฐประหาร นอกจากแค่การปรึกษาหารือกันภายในกับนายทหารกลุ่มหนึ่งเท่านั้น" หนังสือบันทึกคำให้การ สุจินดาฯ ระบุ

เขาระบุว่าไม่ทราบว่ามีเหตุผลใด แต่เมื่อ พล.อ. สุจินดา ยึดอำนาจ จึงได้เชิญ พล.อ. สุนทร มาเป็นหัวหน้า รสช. โดยที่ พล.อ. สุนทร ก็คิดว่า "เป็นการทำให้ พล.อ. ชวลิต ผู้เป็นทั้งนายเก่าและเพื่อนรัก"

line

รถตู้พาพวกเรามาส่งถึงอาคารของหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ทั้งนักข่าวและ ทีม รปภ. ของพล.อ. ชาติชาย ถูกพาขึ้นไปที่ชั้น 2 ที่มีหลายห้อง ติดแอร์ ใครอยากนั่งตรงไหน ห้องไหน ก็นั่งไป ระหว่างนั้น ทหารที่พาพวกเราขึ้นไปได้ดึงสายโทรศัพท์ออก เพื่อตัดการสื่อสารจากภายนอก สมัยนั้นโทรศัพท์มือถือยังไม่แพร่หลายเหมือนปัจจุบัน ความรู้สึกตอนนั้น ไม่ได้กลัวอะไร อุ่นใจ เพราะ มีเพื่อนนักข่าว-ช่างภาพอยู่ถึง 10 ชีวิต ไม่ได้คิดว่าเขาจะทำอะไรเรา เพราะเป้าหมายเขาคือ น้าชาติ

พอได้เวลาอาหารกลางวัน มีคนนำข้าวมันไก่ใส่ห่อมาแจกจ่ายให้ พร้อมน้ำดื่ม เป็นข้าวมันไก่ที่รสชาติธรรมดาในยามที่ถูกคุมตัว พวกเราไม่เห็นความเคลื่อนไหวใด จนกระทั่งช่วงบ่าย ๆ เวลาที่พวกเรารอคอยก็มาถึง นั่นคือ การออกประกาศยืนยันการยึดอำนาจของผู้ก่อการ

โทรทัศน์ที่อยู่ในห้องหนึ่งที่พวกเรานั่งอยู่ก็ปรากฏภาพของบรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพที่ก่อการยึดอำนาจ เป็นการยืนยันการรัฐประหารในวันนั้น

หลังการอ่านแถลงการณ์ทางโทรทัศน์เสร็จ พวกเรา คณะนักข่าว และ รปภ. ก็ถูกเรียกตัวให้ไปขึ้นรถบัส ของกรมขนส่งทหารอากาศ พาไปลงที่หน้าสวนรื่นฤดี ซึ่งตอนนั้นเป็นที่บัญชาการของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ

เมื่อพวกเราลงจากรถบัส เพื่อน ๆ นักข่าวที่รออยู่หน้าสวนรื่นฯ ต่างกรูกันมาต้อนรับ สอบถาม สัมภาษณ์ที่เหตุการณ์ที่พวกเราเพิ่งเผชิญมา

ผ่านมาแล้ว 31 ปี แต่ฉันยังจำเหตุการณ์วันนั้นได้เหมือนเพิ่งเกิดเมื่อวานนี้

เจริญศรี หงษ์ประสงค์

ที่มาของภาพ, ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล