ศาลรัฐธรรมนูญ: สำรวจข้อกฎหมาย-ข้อวิเคราะห์ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา พล.อ. ประยุทธ์ คดีพักบ้านหลวง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคย "หลุด" คดีเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐมาแล้วเมื่อปีก่อน
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ก่อนอ่านคำวินิจฉัยให้คู่ความฟังในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 2 ธ.ค. ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณียังพักอาศัยในบ้านพักของข้าราชการทหารทั้งที่เกษียณอายุมาแล้ว 6 ปี หรือที่รู้จักในชื่อ "คดีพักบ้านหลวง"

แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลไม่รู้สึกกังวลใจต่อคำตัดสินที่จะออกมา

ขณะที่แกนนำฝ่ายประท้วงต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม "ราษฎร" ประกาศระดมมวลชนไปที่ศาลเพื่อ "เป็นประจักษ์พยานว่าความยุติธรรมจะยังมีให้เราอยู่หรือไม่" ท่ามกลางการจับตาดูว่าคดีนี้จะเป็นจุดพลิกผันทางการเมืองแบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 12 ปีก่อนหรือไม่

ย้อนกลับไป 2 ธ.ค. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญสอยนายกฯ คนที่ 26 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ร่วงจากอำนาจ ด้วยคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน พร้อมเพิกถอนสิทธิการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) จากกรณี กก.บห. ทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งนำไปสู่การพลิกขั้วการเมืองหลังจากนั้น

กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

บีบีซีไทยประมวลข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และข้อวิเคราะห์ของฝ่ายต่าง ๆ ต่อ "คดีพักบ้านหลวง" ก่อนนาทีชี้ชะตาผู้นำคนที่ 29 ของไทยจะมาถึง

เส้นทางคดี

การขุดคุ้ยเรื่องปัจจัย 4 ว่าด้วยที่อยู่อาศัยของ พล.อ. ประยุทธ์ ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต เกิดขึ้นอย่างจริงจังในระหว่างฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีรวม 6 คน เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แม้ผู้ถูกซักฟอกจะกำชัยชนะกลางสภาด้วยมติ "ไว้วางใจ" อย่างท้วมท้น แต่ฝ่ายค้านก็ยังไม่ลด-ละ-เลิก-เร่งเดินเกมการเมืองนอกสภาต่อทันควัน

- 25-27 ก.พ. ในระหว่างเปิดศึกซักฟอกรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ได้เปิดประเด็นกล่าวหา พล.อ. ประยุทธ์ ว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์ เนื่องจากยัง "พักในบ้านพักทหารโดยไม่จ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ทั้งที่เกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ไปตั้งแต่ 1 ต.ค. 2557" ถือเป็นการรับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ในลักษณะที่ร้ายแรง อีกทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ร่วมอภิปรายสนับสนุนว่านายกฯ ไม่สามารถอยู่บ้านหลวงต่อโดยอ้างเหตุความปลอดภัยได้

บรรยากาศห้องประชุมสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, บรรยากาศห้องประชุมสภาช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีรวม 6 คน เมื่อปลายเดือน ก.พ. 2563

- 9 มี.ค. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภา พร้อม ส.ส.ฝ่ายค้านรวม 56 คน ได้เข้าชื่อกันยื่นคำร้องผ่านประธานสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ จากกรณีพักอาศัยในบ้านหลวง

- 10 มี.ค. นายชวน หลีกภัย ประธานสภา เปิดเผยว่าได้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว

- 11 มิ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญทำหนังสือแจ้งคู่ความว่ามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาล

พล.อ. อภิรัตช์ คงสมพงษ์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ. อภิรัตช์ คงสมพงษ์ ขณะยังดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ. เคยทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวให้ พล.อ. ประยุทธ์ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

- ต่อมา กองทัพบก (ทบ.) ได้ส่งเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวให้ พล.อ. ประยุทธ์ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 2 ครั้งตามการรายงานของเว็บไซด์ไทยพีบีเอส, ไทยโพสต์ และผู้จัดการ เอกสารดังกล่าวลงนามโดย "ผบ.ทบ. 2 ยุค" ทั้ง พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ และสำทับอีกครั้งโดย พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้

- 4 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า ศาลได้ประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า "คดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน" และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันที่ 2 ธ.ค. เวลา 15.00 น.

ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน

การอยู่บ้านหลวงของนายกฯ วัย 66 ปี ถูกฝ่ายค้านตีความว่าเป็นการ "รับประโยชน์อื่นใด" และชี้ชวนให้สังคมเห็นว่านี่คือเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายและกฎระเบียบอย่างน้อย 3 ฉบับ

หนึ่ง จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560

มาตรา 184 และมาตรา 186 ของรัฐธรรมนูญ ห้าม ส.ส. ส.ว. หรือ รมต. รับเงิน หรือ "ประโยชน์ใด ๆ" จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกจากที่หน่วยงานเหล่านั้นปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ

นายกฯ ลุกขึ้นพูดในสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, มาตรา 184 และมาตรา 186 ของรัฐธรรมนูญ ห้าม ส.ส. ส.ว. หรือ รมต. รับเงิน หรือ "ประโยชน์ใด ๆ" จากหน่วยราชการ

สอง ผิดกฎหมาย ป.ป.ช. ปี 2561

มาตรา 128 ของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับทรัพย์สิน หรือ "ประโยชน์อื่นใด" ที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท

สาม ขัดมาตรฐานจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองปี 2561

ข้อ 9 ของมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ (ซึ่งใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย) ระบุว่าผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือ "ประโยชน์อื่นใด" ในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทย มองแง่มุมกฎหมายแล้วฟันธงว่า "พล.อ. ประยุทธ์ หาทางออกยาก"

ข้อต่อสู้-คำแก้ต่างของฝ่าย พล.อ. ประยุทธ์

ข้อกฎหมายที่ ทบ. งัดขึ้นมาช่วยชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้ พล.อ. ประยุทธ์ คือระเบียบภายในของ ทบ. อย่างน้อย 2 ฉบับ

ฉบับแรก ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง ปี 2548 ลงนามโดย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผบ.ทบ. ขณะนั้น

ฉบับที่สอง ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคารบ้านพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก ปี 2553 ลงนามโดย พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ขณะนั้น

กำแพงตู้คอนเทนเนอร์และรั้วลวดหนามด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ได้รับการคุ้มกันด้วยกำแพงตู้คอนเทนเนอร์และรั้วลวดหนามหลังจากกลุ่ม "ราษฎร" ประกาศนัดชุมนุมที่นี่ในวันที่ 29 พ.ย. ก่อนจะย้ายที่ไปกรมทหารราบที่ 11

ผู้จัดการรายงานโดยอ้างถึงหนังสือที่ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 28 ก.ย. 2563 สาระสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า ทบ. ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลอดีตผู้บังคับบัญชาที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น องคมนตรี ครม. ส.ส. ส.ว. จึงจัดให้มีบ้านพักรับรองในพื้นที่ของ ทบ. เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในยามปกติ และในสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ที่ต้องการความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา และเพื่อให้สามารถดำรงสถานะทางสังคมได้อย่างสมเกียรติและมีศักดิ์ศรี

สำหรับผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัย ต้องเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทบ. หรืออดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทบ. ซึ่งยังคงทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและ ทบ. และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้ว

"พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นบุคคลสำคัญระดับประเทศ และเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทบ. ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและ ทบ. หากพักอยู่นอกเขตทหาร จะทำให้เกิดความยากลำบากในการรักษาความปลอดภัย จึงอนุมัติให้เข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองของ ทบ. รวมถึงให้การรักษาความปลอดภัย และการสนับสนุนอื่น ๆ ในฐานะบุคคลสำคัญของประเทศ" ผู้จัดการรายงานโดยอ้างถึงหนังสือชี้แจงของ พล.อ. อภิรัชต์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, ทำเนียบรัฐบาล

สอดรับกับข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจที่อ้างความเห็นของ "กุนซือตึกไทยคู่ฟ้า" ที่ว่า พล.อ. ประยุทธ์ อยู่บนข้อยกเว้นตามระเบียบของ ทบ. "เป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายให้อดีต ผบ.ทบ. อยู่บ้านพักในกองทัพได้ ถึงแม้ว่าจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว" และที่ผ่านมา "พล.อ. ประยุทธ์ จ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟเอง"

นักการเมืองระดับกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์กับบีบีซีไทยตรงกันว่า "ไม่มีอะไรตื่นเต้น" และ "ไม่รู้สึกกังวลใจ" เกี่ยวกับคำตัดสินคดีนี้ เพราะ "นายกฯ เข้าข้อยกเว้น"

พล.อ. ประยุทธ์ และครอบครัวเข้าพักอาศัยในบ้านหลังนี้ตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. เมื่อปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่ฝ่าย พล.อ. ประยุทธ์ ต้องพิสูจน์ต่อศาลคือมีการเปลี่ยนแปลงใช้ประโยชน์บ้านหลังดังกล่าวจาก "บ้านพักสวัสดิการ" (ตามระเบียบปี 2553) เป็น "บ้านพักรับรอง" (ตามระเบียบปี 2548) เมื่อไรและอย่างไร เพื่อให้สอดรับกับเอกสารชี้แจงที่ พล.อ. อภิรัชต์ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าบ้านหลังดังกล่าวยังอยู่ในฐานะ "บ้านพักสวัสดิการ" สิทธิพักอาศัยของ พล.อ. ประยุทธ์ และบริวารก็จะหมดลงตั้งแต่เกษียณอายุราชการ

ผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" เขียนข้อความต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" เขียนข้อความต่อต้าน พล.อ. ประยุทธ์ ระหว่างการชุมนุมที่แยกราชประสงค์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 พ.ย.

บ้านของนายกฯ ประยุทธ์

ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ เคยตอบคำถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับบ้านพักหลวงเพียง 3 ครั้ง

"ผมไม่ตอบคำถามนี้ ผมทำงานรับใช้ชาติมาตลอดชีวิต ถึงกฎระเบียบจะว่าอย่างไรก็ตาม วันนี้ผมยังทำงานอยู่" พล.อ. ประยุทธ์ หลีกเลี่ยงจะพูดถึงเรื่องนี้เมื่อ 18 ก.พ. หลังถูกโยนคำถามใส่ว่าจะออกจากบ้านพักหลวงในค่ายทหารหรือไม่เพราะเกษียณแล้ว

เขากล่าวเพียงว่า "ปัญหาของผมคือผมเป็นนายกฯ มันมีปัญหาเรื่อง รปภ. (การรักษาความปลอดภัย) จึงจำเป็นต้องมีสถานที่ที่เหมาะสมในเรื่องการ รปภ. ในฐานะเป็นผู้นำประเทศ และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งผมก็เตรียมการไปอยู่บ้านผมอยู่แล้ว"

ต่อมาวันที่ 16 พ.ย. เป็นอีกครั้งที่ พล.อ. ประยุทธ์บ่ายเบี่ยงจะพูดถึงคดีพักบ้านหลวง โดยระบุว่าเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องมาถาม เพราะไม่ได้เป็นผู้ตัดสิน

"ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินอย่างไร ก็ว่าไปตามนั้น ยืนยันทุกอย่าง ผมปฏิบัติตามกฎหมาย กฎหมายว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น ไม่เคยฝ่าฝืนกฎหมาย ผิดก็คือผิด ถูกก็ถูก ก็แค่นั้นเอง ต้องยอมรับกลไกทางกฎหมาย" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ล่าสุดวันที่ 30 พ.ย. พล.อ. ประยุทธ์ ได้ขออย่าคาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับ "คดีพักบ้านหลวง" ส่วนตัวเขาไม่ได้คิดอะไรมากนัก ไม่ว่าผลออกมาเป็นอย่างไรก็รับได้

เขายังพูดถึงบ้าน 2 หลัง หลังแรกคือบ้านพิษณุโลก ซึ่งเป็นบ้านประจำตำแหน่งของนายกฯ พล.อ. ประยุทธ์ บอกว่าตอนนี้การซ่อมแซมยังไม่เรียบร้อย เนื่องจากมีการชำรุดไปตามเวลา และมองว่าบ้านพักหลังดังกล่าวใหญ่โตเกินไป ส่วนบ้านอีกหลังคือ บ้านพักส่วนตัวซึ่งนายกฯ ยอมรับว่าเตรียมไว้แล้ว

"หากเขาไม่ให้อยู่ก็ไป ผมก็มีบ้าน แต่พื้นที่จำกัด แม้จะคิดว่าจะไม่มีใครมาทำร้ายผม แต่ผู้นำของประเทศก็ต้องมีการคุ้มครอง จะให้ผมโดดเดี่ยวอยู่คนเดียวคงไม่ได้ ซึ่งในทุกประเทศก็มีการคุ้มครองผู้นำอยู่แล้ว" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ผลทางกฎหมาย

หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินในทางเป็นคุณ: พล.อ. ประยุทธ์และองคาพยพ ก็จะอยู่ในอำนาจต่อไป

ทว่าหากผลออกมาในทางลบ พล.อ. ประยุทธ์ต้องเผชิญวิบากกรรมทางกฎหมายอย่างหลากหลายตามแต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

หากศาลชี้ว่าฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ: พล.อ. ประยุทธ์ต้องพ้นตำแหน่งนายกฯ ทันที (ตามมาตรา 160, 170 ของรัฐธรรมนูญ) ส่งผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องหลุดจากเก้าอี้ยกคณะ (ตามมาตรา 167 ของรัฐธรรมนูญ) ทว่าพวกเขายังต้องอยู่ทำหน้าที่ "รัฐบาลรักษาการ" ต่อไปในระหว่างรอรัฐบาลชุดใหม่

ครม. ประยุทธ์ ถ่ายรูปหมู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ครม. ประยุทธ์ ถ่ายรูปหมู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563

จากนั้นรัฐสภาต้องร่วมกันลงมติเลือกนายกฯ คนที่ 30 จากบัญชีผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกฯ ของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เหลืออยู่ นั่นหมายความว่า ส.ว. ยังมีส่วนโหวตเลือกนายกฯ ดังเดิมตามบทเฉพาะกาล เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่ถูกแก้ไข ทว่าอาจไม่สามารถโหวตเลือก พล.อ. ประยุทธ์ให้หวนคืนอำนาจได้อีก หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ากระทำการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งจะส่งผลให้เขาต้อง "เว้นวรรคการเมือง" 2 ปี (ตามมาตรา 186 (8) ของรัฐธรรมนูญ)

สำหรับแคนดิเดตนายกฯ ที่ยังเหลืออยู่มี 5 คน ประกอบด้วย แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย 3 คนคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตจากพรรคประชาธิปัตย์ 1 เดียวคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตจากพรรคภูมิใจไทยคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรค

หากศาลชี้ว่าฝ่าฝืน พ.ร.บ.ป.ป.ช.: พล.อ. ประยุทธ์ อาจต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ตามมาตรา 169 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช.) ซึ่งขณะนี้มีคดีคา ป.ป.ช. อยู่แล้ว หลังจากเมื่อเดือน ก.พ. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เข้ายื่นเรื่องให้ตรวจสอบ พล.อ. ประยุทธ์ พร้อมบรรดานายพลและนายพันนับร้อยคนที่พักอาศัยในบ้านหลวง ว่าเข้าข่ายรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาทหรือไม่

หากศาลชี้ว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ: ฝ่ายค้านอาจเดินเกมต่อเพื่อนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากศาลฎีกาฯ ชี้ว่าผิดจริง พล.อ. ประยุทธ์ ก็จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และห้ามลงสมัคร ส.ส. ตลอดชีวิต (ตามมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญ)

แรงสะเทือนทางการเมือง

การขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ ถือเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องหลักของกลุ่ม "ราษฎร" ทำให้พวกเขาเกาะติดคดีพักบ้านหลวงอย่างใกล้ชิด

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร ประกาศเมื่อ 29 พ.ย. นัดหมายแนวร่วมมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ไปศาลรัฐธรรมนูญ ถ.แจ้งวัฒนะ ในวันที่ 2 ธ.ค เพื่อ "เป็นประจักษ์พยานว่าความยุติธรรมจะยังมีให้เราอยู่หรือไม่"

"ขอให้พ่อแม่พี่น้องใช้เวลา 2-3 วันที่เหลือออมแรงไว้ให้มาก เราใช้กำลังใจ แรงกายอย่างมาก วันที่ 2 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ขอให้ไปอย่างพร้อมเพรียง ผมก็จะไปด้วย" นายพริษฐ์กล่าว

พริษฐ์ ชิวารักษ์ ปราศรัยในที่ชุมนุม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พริษฐ์ ชิวารักษ์ ประกาศบนรถปราศรัยระหว่างการชุมนุมที่กรมทหารราบที่ 11 วานนี้ (29 พ.ย.) เชิญชวนประชาชนไปชุมนุมที่ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ธ.ค.

จึงไม่แปลกถ้าจะมีคำขู่จาก พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ว่า "จะมีทัวร์มาลงศาลและครอบครัวแน่นอน" หาก พล.อ. ประยุทธ์หลุดคดี และยังดักคอด้วยว่าคำตัดสินนี้จะกลายเป็นภาระของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีผลผูกพันทุกองค์กรและจะกลายเป็นบรรทัดฐานคดีอื่นต่อไป

ทว่าหาก พล.อ. ประยุทธ์ ร่วงหล่นจากอำนาจ คาดว่าขั้วตรงข้ามรัฐบาลจะขุด-ขยี้-ขยายผลไปยังนายพลนอกราชการรายอื่น ๆ ที่ยังพักอาศัยอยู่ในบ้านพักหลวง

เฉพาะที่กรมทหารราบที่ 1 ปรากฏว่า "พี่น้อง 3 ป." ไปตั้งรกรากกันครบถ้วน นอกจาก พล.อ. ประยุทธ์ ยังมีบ้านพักของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้เกษียณราชการมาแล้ว 15 ปี และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ผู้เกษียณราชการมาแล้ว 11 ปี

พล.อ. ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ในสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, "พี่น้อง 3 ป." ล้วนพำนักอยู่ภายในกรมทหารราบที่ 1

ประมุขฝ่ายบริหารกับศาลรัฐธรรมนูญ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ "ประมุขฝ่ายบริหาร" ต้องตกที่นั่ง "ผู้ถูกกล่าวหา" ในศาลรัฐธรรมนูญ จากปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และ 2560 ทว่ามีเพียง พล.อ. ประยุทธ์ ผู้เดียวที่รอดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

  • 9 ก.ย. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ คนที่ 23 พ้นจากตำแหน่ง จากกรณีเป็นลูกจ้างทำของจัดรายการ "ชิมไปบ่นไป"
  • 7 พ.ค. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ คนที่ 28 พ้นจากตำแหน่ง จากกรณีก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยไม่ชอบ
  • 18 ก.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนที่ 29 ไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นนายกฯ เพราะ "ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ"

ผู้ชี้ชะตา

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่รับหน้าที่ "ชี้ชะตา" นายกฯ และการเมืองไทยมี 9 คน ดังนี้

1. นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (เลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด) ดำรงตำแหน่งตุลาการเมื่อ 9 ก.ย. 2557

2. นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์) ดำรงตำแหน่งเมื่อ 21 ต.ค. 2556

3. นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ โดยการสรรหาของ สนช.) ดำรงตำแหน่งเมื่อ 16 พ.ย. 2558

4. นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ โดยการสรรหาของ สนช.) ดำรงตำแหน่งเมื่อ 26 พ.ย. 2558

ป้ายศาลรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

5. นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (เลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา) ดำรงตำแหน่งเมื่อ 1 เม.ย. 2563

6. นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (เลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา) ดำรงตำแหน่งเมื่อ 1 เม.ย. 2563

7. นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (เลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา) ดำรงตำแหน่งเมื่อ 1 เม.ย. 2563

8. นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ผู้ทรงคุณวุฒิสายข้าราชการ) ดำรงตำแหน่งเมื่อ 1 เม.ย. 2563

9. นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (เลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด) ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563