ไวรัสโคโรนา : จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่มเป็น 9 ราย ติดเชื้อรายใหม่ 136

กระเป๋ารถเมล์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย เป็นชายวัย 54 ปี และหญิงวัย 56 ปี ขณะที่โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แสดงความกังวลต่อการที่ประชาชนจำนวนมากยังคงออกนอกบ้านและไม่ปฏิบัติตามมาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม

นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรคกล่าวในการแถลงข่าวที่ สธ. วันนี้ (30 มี.ค.) ว่า ไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม 136 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย

นพ.อนุพงค์กล่าวว่า ผู้เสียชีวิต 2 รายล่าสุดเป็น ชายไทย อายุ 54 ปี ชาว จ.ยะลา มีประวัติเดินทางกลับจากมาเลเซีย และหญิงไทย อายุ 56 ปี รักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ พบภาวะปอดอักเสบรุนแรง

สรุปสถานการณ์วันนี้มีผู้ป่วยสะสม 1,524 มีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 127 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,388 ราย เสียชีวิต 9 ราย มีผู้ป่วยหนัก 23 ราย

จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ติดเชื้อ จำแนกได้ดังนี้

  • ชาวไทย 1,297 คน และชาวต่างชาติ 227 คน
  • ผู้ชาย 40.4% หญิง 59.6%
  • ไม่แสดงอาการ 17.9% และมีอาการ 82.1%
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบในกรุงเทพฯ 715 คน รองลงมาอยู่ในภาคใต้ 82 คน ปริมณฑล 144 คน และอื่น ๆ
  • ผู้ป่วยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 40 ปี อายุต่ำสุด 6 เดือน สูงสุด 84 ปี

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 136 ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย รวมบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อในขณะนี้ 21 รายแล้ว

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ยืนยันว่าหนึ่งในผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยและการรักษา แต่มีหน้าที่ประสานงานและประชุมหลายหน่วยงาน และ "วิ่งเข้าวิ่งออกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19" ที่ทำเนียบรัฐบาล

เจ้าหน้าที่รายนี้เป็นชาย อายุ 46 ปี เริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. คือมีน้ำมูก ไอเล็กน้อย ผลออกมายืนยันติดเชื้อ ขณะนี้เข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ขณะนี้มีผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดและเพื่อนร่วมงานที่ต้องกักตัว 30 คน

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตน์พงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 ชี้แจงว่าขณะนี้มีเพียง 2 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วย คือ ลำปางและน่าน ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยจำนวนมากคือ จ.เชียงใหม่ ซึ่งสาเหตุหลักน่าจะมาจากบุคคลที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ รวมถึงผู้ป่วยจากสถานบันเทิงในเชียงใหม่ ซึ่งเมื่อสอบสวนโรคแล้วพบว่ามีประวัติเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ

ขณะนี้ จ.เชียงใหม่มีผู้ติดเชื้อ 21 คน อยู่อันดับที่ 9 ของประเทศ แต่เป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ

สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19. ติดเชื้อ: 4,026 เสียชีวิต: 60 หายแล้ว: 3,822.  .

"อยู่บ้าน-หยุดเชื้อ" ยังไม่ได้ตามเป้า

โฆษก ศบค. รายงานด้วยว่า หลังใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก. ฉุกเฉิน) ประชาชนเดินทางลดลงกว่า 40%แต่ถือว่ายังไม่พอที่จะควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นพ. ทวีศิลป์กล่าวว่า ตัวเลขการเดินทางสัญจรของประชาชนเมื่อวันที่ 28 มี.ค. เทียบกับวันที่ 21 มี.ค. ลดลงโดยเฉลี่ยกว่า 40% ทุกช่องทาง แต่หากจะทำให้การควบคุมโรคได้ผล จะต้องขอความร่วมมือจากประชาชนลดการเดินทางเคลื่อนย้ายเพื่อลดกราฟของการระบาดให้ต่ำลงอีก

  • รถโดยสารประจำทาง ลดลง 45.58%
  • รถยนต์ส่วนบุคคล ลดลง 41.33%
  • รถไฟฟ้า ลดลง 58.63%
  • รถไฟ ลดลง 64.47%
  • เดินทางทางน้ำ ลดลง 40%

"ต้องขอความร่วมมือมากยิ่งขึ้น ต้องได้ประมาณ 90% ถึงจะได้ผล นี่เราลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 40 % เท่านั้น ซึ่งเราไม่สามารถจะลดกราฟของการแพร่ระบาดตรงนี้ได้ พี่น้องประชาชนต้องร่วมกัน" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

โฆษก ศบค. ยังรายงานถึงมาตรการของกระทรวงมหาดไทยว่า มี 4 จังหวัด มีคำสั่งประกาศห้ามการเดินทางเข้าออกเพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายของบุคคล ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และภูเก็ต

"นี่คือมาตรการป้องกันไม่ให้บุคคลเคลื่อนย้าย ที่ภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อ 41 คน กักตัวอยู่ที่บ้าน 298 คน ปิดสถานที่เสี่ยงกว่า 2,000 แห่ง ห้ามประชาชนออกพื้นที่ชายหาดทุกแห่ง สวนสัตว์ ถนนสายบางลา และขอความร่วมมือห้ามออกจากเคหะสถานและที่พักตั้งแต่ 20.00-3.00 น. ของวันถัดไป" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะขอให้ใช้มาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม แต่ ศบค. ได้รับรายงานและการร้องเรียนว่าพบกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเกิดขึ้นทั่วประเทศ เช่น

  • กิจกรรมสังสรรค์
  • การชกมวย แม้ไม่มีคนดูก็เป็นความเสี่ยงต่อนักมวยและทีมงาน และยังมีการถ่ายทดสดการชกมวย ซึ่งทำให้คนมาดูรวมกันและบางครั้งก็ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกันด้วย
  • วินมอเตอร์ไซค์ เพราะคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างสื่อสารกับผู้โดยสารอย่างใกล้ชิด
  • มีการแข่งเรือเจ็ตสกีในแม่น้ำเจ้าพระยา
  • การใส่บาตร โดยเฉพาะประชาชนในจังหวัดภาคอีสานที่เอามือจกข้าวเหนียวใส่ในบาตร
  • การทำวัตรเช้า-วัตรเย็น ในวัดที่มีพระอยู่จำนวนมาก พระยังนั่งติดกัน
  • กองถ่ายละคร/รายการโทรทัศน์ มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก