ชุมนุม กลุ่มราษฎร : ภารกิจคนตัวเล็ก ๆ ในขบวนเคลื่อนไหวกลุ่ม "ราษฎร"

sec guard

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, อาสาผู้ร่วมขบวนเป็นกำลังในการจัดการชุมนุมและเดินขบวนของกลุ่ม "ราษฎร" มีทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัย นักเรียนอาชีวะ และประชาชน
  • Author, ธันยพร บัวทอง
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

เกือบสี่ทุ่มของคืนวันจันทร์ที่ 26 ตุลา หน้าสถานทูตเยอรมนี ผู้ชุมนุมทยอยกลับไปทางแยกถนนวิทยุจนเกือบหมดแล้ว กลุ่มหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่เป็นแกนนำและการ์ดแนวหน้า ยังสอดส่องดูความเรียบร้อยเพื่อส่งมวลชนกลับบ้าน ภายหลังพวกเขายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสถานทูตเรียกร้องให้ตรวจสอบเกี่ยวกับประมุขของประเทศ

รวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย...เคลื่อนออกจากธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ไปสนามหลวง...เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล และจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปทำเนียบรัฐบาล จนถึงการเคลื่อนขบวนครั้งล่าสุดจากแยกสามย่านไปสถานทูตเยอรมนี ภารกิจตรงหน้าของ "มดงาน" ผู้ขับเคลื่อนการชุมนุมไม่เอื้อให้เราได้พูดคุยเพื่อรับรู้เรื่องราวของคนตัวเล็ก ๆ ที่ทำภารกิจในม็อบแต่ละครั้งมากนัก

แต่นับเป็นความน่าสนใจเมื่อพวกเขาล้วนเป็น "ทีมงานอาสา" ที่ลงแรงกายและใจ ในฐานะส่วนหนึ่งของขบวนการคนรุ่นใหม่

ที่หน้าสถานทูตเยอรมนีคืนนั้น เราแจ้งจุดประสงค์กับทีมการ์ดแนวหน้า เพื่อทำความรู้จักกับบางชีวิตที่เดินคล้องแขนนำหน้าผู้ชุมนุม หนึ่งในนั้นตอบรับและขอให้เราบันทึกเบอร์โทรศัพท์ของเธอในชื่อว่า "การ์ด"

ปกปิดตัวตนเพื่อความปลอดภัย เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่พวกเขาและเธออาจถูกดำเนินคดีหรือกระทั่งถูกจับกุม

ต่อไปนี้คือเรื่องราวของคนเล็กคนน้อยบางชีวิตในการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร"

"ตอนที่ตำรวจนับถอยหลัง หนูกลับรู้สึกไม่กลัว"

สองวันถัดมา นักศึกษาหญิงผู้เป็นการ์ดอาสาในนามกลุ่ม "วี โวลันเทียร์" ขอให้เราเรียกเธอด้วยนามสมมติว่า "เอ"

ทำไมถึงมาเป็นการ์ด เราถามไปยังปลายสายโทรศัพท์

"ตอนแรกเลยหนูก็เป็นผู้ชุมนุมธรรมดา" นักศึกษาหญิงวัย 20 ปี ซึ่งกำลังเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เริ่มต้นเล่าเรื่องราวของเธอ

"หนูรู้สึกแค่ว่า... ยังอินกับความเป็นการเมืองได้ไม่มากเท่าไหร่ ในฐานะที่เป็นผู้ชุมนุม ก็เลยอยากมาทำอะไรสักอย่าง ความรู้เรื่องกฎหมาย การเมือง หนูก็น้อยด้วย พอดีเห็นเขาเปิดรับสมัคร เราคิดว่าเราเหมาะสมกับงานตรงนี้นะ เลยมาช่วยทำ" เธอบอกต่อไปว่า การเป็นการ์ดคอยปกป้องผู้ชุมนุมเป็นสิ่งเดียวที่เธอนึกออกว่าน่าจะทำได้เพื่อช่วยขบวนการกลุ่มคนรุ่นใหม่

การ์ดอาสาในนามกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า วี โวลันเทียร์

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, การ์ดอาสาในนามกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า วี โวลันเทียร์ เป็นการรวมตัวของอาสานักศึกษาชายหญิงหลายมหาวิทยาลัย ไม่เพียงการชุมนุมในกรุงเทพฯ ที่พวกเขาทำหน้าที่ดูแลมวลชน แต่รวมถึงการชุมนุมครั้งใหญ่ ๆ ในต่างจังหวัด

"เอ" บอกว่าเธอสนใจการเมือง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนทุกคน สำหรับเอแล้ว มันเริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ในบ้านเกิดที่ จ.สระแก้ว ที่ทำให้เธอตั้งคำถามถึงการมี "การเมืองและรัฐที่ดี" และความเหลื่อมล้ำระหว่างชาวบ้านและนายทุน

ผันตัวจากการเป็นผู้ร่วมชุมนุมมาเป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยมวลชนและแกนนำ เธอทำหน้าที่ครั้งแรกในการชุมนุมที่สนามหลวงของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.

วันเคลื่อนขบวนจาก "สนามราษฎร" ซึ่งเป็นชื่อที่แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมใช้เรียก "สนามหลวง" ผู้ชุมนุมมีแผนที่จะมุ่งหน้าไปยังทำเนียบองคมนตรีเพื่อยื่นจดหมายข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ นับเป็นการเคลื่อนขบวนออกจากที่ตั้งครั้งแรกของการชุมนุมนักศึกษา นักเรียน และประชาชน นับตั้งแต่มีการชุมนุมในเดือน ก.ค.

"เรื่องเดินขบวน เอาจริง ๆ แกนนำเก็บเป็นความลับมาก จนการ์ดก็เพิ่งรู้พร้อม ๆ กับมวลชนและพี่นักข่าว อาจรู้ก่อนแค่แป๊บเดียว ก็ต้องรีบปรับหน้างาน" เอ ซึ่งประจำจุดอารักขาขบวนรถปราศรัยของแกนนำ เล่า

เธอยอมรับว่าตอนนั้น "ใจหนึ่งมันก็ตื่นเต้นและกลัวด้วย กลัวว่าจะมีการสลาย (การชุมนุม)" ทว่าเธอก็พยายามควบคุมสติให้ภารกิจตรงหน้าเดินต่อ และช่วยเพื่อนทีมการ์ดด้วยกัน

การชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า "ทวงอำนาจคืนราษฎร" ของ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม"

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า "ทวงอำนาจคืนราษฎร" ของ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ที่มีการเคลื่อนขบวนมวลชนจากสนามหลวงไปยังทำเนียบองคมนตรี เมื่อวันที่ 20 ก.ย. จบลงภายหลัง "รุุ้ง ปนัสยา" แกนนำ ยื่นหนังสือ 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่บริเวณจุดสกัดบน ถ.ราชดำเนินใน หน้าศาลฎีกา

จากก่อนหน้าที่ไม่เคยรู้ว่าการเป็นการ์ดต้องมีความชำนาญและทักษะอะไรบ้าง หลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมใหญ่ หรือแบบดาวกระจาย ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เธอไปในฐานะการ์ดมาแล้วนับสิบ ๆ ครั้ง

"ห้ามอย่างเดียว ห้ามไม่ให้ปะทะ" "เป็นความลับสูงมาก" คือ หลักการทำหน้าที่ที่เหล่าการ์ดถูกฝึกมา

16 ต.ค. ที่สี่แยกปทุมวัน เอทำหน้าที่การ์ดเช่นเดียวกับการชุมนุมครั้งก่อน ๆ กระจายกำลังคนร่วมกับเพื่อนการ์ดแฝงตามจุดต่าง ๆ ก่อนมีการสลายการชุมนุมช่วงหลัง 6 โมงเย็น

"น้องแนวร่วมที่ไม่ได้เป็นการ์ด โทรบอกว่า พี่...ช่วยวิ่งไปดูทางด้านฝั่งสยามเซ็นเตอร์ให้หน่อย มีคนบอกว่าเขา (ตำรวจ) เอารถน้ำมาเลย ตรงนั้นไม่มีการ์ดเลย ติดต่อการ์ดคนไหนไม่ได้เลย" เธอเล่าถึงขณะที่เริ่มชุลมุน

ที่หน้าเวทีปราศรัยสี่แยกปทุมวันเวลานั้น เหตุการณ์เริ่มสับสน ยังมีการปราศรัยไปเรื่อย ๆ แนวตำรวจควบคุมฝูงชนเริ่มรุกคืบมาจากแยกเฉลิมเผ่า ทางถนนพระราม 1 ระยะห่างจากเวทีกลางและแนวหน้าทำให้ไม่อาจรู้ได้ว่า ตำรวจจะเริ่มปฏิบัติการในนาทีไหน มีความวุ่นวายเป็นระยะในหมู่มวลชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมัธยม ด้วยไม่รู้ว่าพวกเขากำลังจะเจอกับอะไร

tnp

ที่มาของภาพ, Thai news pix

"เราพยายามติดต่อเพื่อนคนอื่น ๆ ที่อยู่ฝั่งสยามเซ็นเตอร์ แต่เหมือนเน็ตช้า โทรไม่รับ เลยตัดสินใจวิ่งกับเพื่อน 4 คนไปดู ภาพที่เห็นคือ ตำรวจถือโล่ตั้งแล้ว มีแค่น้องนักเรียน นักศึกษา คล้องแขนนั่งหันหลัง ประมาณ 4-5 แถว ด้านหน้าของแนวรั้วเหล็กเป็นร่ม วิ่งไปถึงสักพักนึงตำรวจก็พูดบนรถ จะนับถอยหลังแล้ว จำเป็นต้องทำ เลยรีบประสานให้เพื่อน และประสานเวทีว่าจุดนี้กำลังเริ่มสลายชุมนุมแล้ว เพื่อให้ตรงนั้นควบคุมมวลชน" เอเล่านาทีระทึก

"พอเห็นตรงนั้นแล้ว ตอนที่ตำรวจนับถอยหลัง หนูกลับรู้สึกไม่กลัว... ตอนนั้นก็คิดแค่ว่าอยากจะช่วย อยากจะช่วยพวกเราด้วยกันเอง"

เหตุการณ์คืนนั้น เอทั้งโดนน้ำแรงดันสูงฉีดอัดเข้าที่แผ่นหลัง บางจังหวะล้มลงไปกับพื้นถนน แสบตา แสบผิว และอาเจียนไปหลายรอบจากน้ำผสมสารเคมีที่เจ้าหน้าที่ใช้ฉีดสลายผู้ชมนุม เธอวิ่งเข้าวิ่งออกระหว่างแนวหน้าสลับกับการเปิดน้ำก๊อกล้างตา ล้างตัว เพื่อจัดแจงมวลชนและนักข่าวที่ยังไม่ล่าถอยให้หลบพ้นออกจากแนวที่ตำรวจฉีดน้ำผสมสารเคมีบริเวณหน้าโรงหนังลิโด้ เนื้อตัวเปรอะไปด้วยสีน้ำเงิน และโดนรั้วเหล็กกระแทกตอนเข้าไปห้ามปรามมวลชนที่เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่

WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

"เดินไปเจอใครก็ห้าม มีลุงคนหนึ่งแบกแผงเหล็กตำรวจมาคนเดียว จะไปทุ่มใส่ฝั่งแนวโล่ แต่หนูออกไปกระโดดยื้อรั้วเขาได้ทัน ด้วยความที่เฮดการ์ด (หัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัย) สอนมา ถ้าเราไปโยนรั้วใส่เจ้าหน้าที่ เราจะเสียเปรียบ เขาจะทำเราแรงขึ้น และเราจะไม่มีอุปกรณ์ไว้กั้นเขา" เธอเล่าเหตุการณ์บริเวณสยามสแควร์

ในฐานะการ์ดของผู้ชุมนุม แม้จะรู้และเตรียมตัวมาอย่างดีว่าเจ้าหน้าที่มีระดับการปฏิบัติการตั้งแต่เบาไปหาหนักอย่างไร และถึงจะ "คิดไว้อยู่แล้วว่าอาจจะถึงขั้นเจอน้ำผสมสารพิษหรือแก๊สน้ำตา" ทว่าเมื่อเจอเหตุการณ์จริง นักศึกษาสาวรายนี้บอกว่ายิ่งรู้สึกโกรธกว่าเดิม และยิ่งรู้สึกว่าฝ่ายนักศึกษาประชาชนต้องชนะให้ได้

"มันยิ่งจุดไฟให้เราว่าเราต้องเดินต่อ ต้องทำต่อ ให้มันชนะ ให้รัฐบาลออก ให้มันเปลี่ยนแปลงให้ได้" เธอกล่าว

เธอทิ้งท้ายว่า "วันหนึ่งถ้าเกิดว่าเราทำสำเร็จขึ้นมา เราจะไม่เสียดายเลยที่เราออกมาทำตรงนี้" ก่อนตอบข้อสงสัยที่เราสังเกตถึงรองเท้าที่ใส่ไปในการเดินขบวนวันนั้น

"คู่ที่ออกงานก็เป็นคู่นี้ เหมือนเข้ากับเท้าเราได้ดีที่สุด" เอกล่าวถึงรองเท้าผ้าใบสีดำที่เธอสวมใส่ทำภารกิจการ์ดรักษาความปลอดภัยกับเธอในการชุมนุมทุกครั้ง

เหตุสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) โต้แย้งการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนว่าเป็นการ "ปฏิบัติตามขั้นตอนสากล" มีการประกาศแจ้งเตือนก่อนหน้า แต่เมื่อไม่ปฏิบัติตามจึงมีความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายจากเบาไปหนัก เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่มิชอบ

สำหรับประเด็นการใช้อุปกรณ์ตามหลักสากลในการเข้าปฏิบัติการนั้น โฆษกตร. กล่าวว่า เป็นการใช้น้ำ และ "น้ำที่ผสมสารเคมีประเภทสี" เพื่อแยกกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากประชาชนทั่วไป เพื่อการดำเนินคดีในอนาคต ซึ่งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด และเป็นเพียงการใช้สารเคมีที่ใช้ตามหลักสากลเท่านั้น

"เป้าหมายระยะสั้นคือการดูแลทุกคนที่มาที่นี่ให้ปลอดภัย"

หลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีราวสามทุ่ม เมื่อคืนวันที่ 26 ต.ค. "เอก" หนุ่มนักศึกษาวิศวะและอดีตนักเรียนแพทย์วัย 28 ปี เดินปะปนไปกับมวลชนบนถนนสาทร มือสองข้างอุ้มน้ำดื่มหนึ่งแพ็ค ที่หลังสะพายเป้บรรจุชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทั้งชุดอุปกรณ์ห้ามเลือด แอมโมเนีย น้ำเกลือสองลิตรสำหรับล้างตาโดยเฉพาะยามเมื่อถูกแก๊สน้ำตา

หมวกนิรภัยสีขาวที่มีสัญลักษณ์กากบาทสีแดง พร้อมธงสีขาวที่เหน็บไว้ที่หลังบ่งบอกว่านี้คือ "ER" หรือหน่วยปฐมพยาบาลอาสาเพื่อประชาชน

"ตอนแรกมาแบบไม่รู้จักใคร มาเจอคนที่เข้ามาเป็นพยาบาลอาสาเหมือนกัน เลยเข้ามาร่วมกลุ่มกันและแบ่งงาน พวกเรามาเจอกันที่นี่ ไม่รู้จักกันมาก่อน" เอกเล่าถึงจุดเริ่มต้น

er

ที่มาของภาพ, Thanyaporn Buathong/bbc thai

คำบรรยายภาพ, "ระยะยาวเราอยากเห็นการปฏิรูปประเทศในหลายมิติตามที่ผู้ชุมนุมได้กล่าวมา แต่เป้าหมายระยะสั้นวันต่อวัน คือการดูแลทุกคนที่มาที่นี่ให้ปลอดภัยกันทุกคน..." ER หน่วยอาสาเพื่อประชาชน บอกกับบีบีซีไทย

เขาบอกว่า แม้ส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางของแกนนำแบบเต็มร้อย แต่เป้าหมายของเขาและการชุมนุมครั้งนี้ไปด้วยกันได้ จึงอยากสนับสนุนในส่วนที่ตัวเองทำได้คือการเป็นหน่วยปฐมพยาบาล โดยใช้ความรู้ที่ได้จากการเป็นนักศึกษาแพทย์มาสองปี ก่อนจะเปลี่ยนมาเรียนด้านวิศวะ

ในช่วงที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพฯ และมีการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน เขากังวลว่าอาจจะเกิดความรุนแรงเหมือนเช่นการประท้วงในฮ่องกง พลันวิตกนึกไปถึงการใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่

"วันที่เดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบ ผมว่าน่ากลัวนิดหน่อย เตรียมหน้ากาก เตรียมอะไรพร้อม ผมกลัว ๆ อยู่ว่าจะเป็นแบบฮ่องกงโมเดล"

เหตุการณ์ที่แยกปทุมวันเมื่อ 16 ต.ค. ทำให้เอกพบว่าปัญหาหลักคือผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถปฐมพยาบาลผู้ป่วยในจุดที่เกิดเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" ยกระดับการเคลื่อนไหวย้ำข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการเดินขบวนไปสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค.

"เวลาใครเป็นลม มันขอพื้นที่ยาก" เขาเล่าประสบการณ์การเป็นอาสาในการชุมนุมครั้งใหญ่ ๆ อย่างน้อยสามครั้ง

นักศึกษาวิศวะผู้รับหน้าที่พยาบาลอาสาบอกว่า กรณีที่ร้ายแรงที่สุดที่เจอ คือ ผู้ชุมนุมนิ้วฉีกจนต้องส่งไปเย็บแผลที่โรงพยาบาล และการบาดเจ็บที่ศีรษะแต่ไม่ถึงขั้นสลบ เขาหวังว่าหลังจากนี้จะไม่เกิดสถานการณ์รุนแรงใด ๆ อีก

เอกมองว่าพยาบาลอาสาอย่างเขาเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในหมู่มวลชนที่ออกมาเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมและเพื่อประชาธิปไตย แต่ในฐานะผู้เห็นด้วยกับเป้าหมายการเคลื่อนไหวของกลุ่ม "ราษฎร" เขาอยากเห็นจุดมุ่งหมายการชุมนุมไปถึงจุดความสำเร็จบรรลุตามข้อเรียกร้อง

"ระยะยาวเราอยากเห็นการปฏิรูปประเทศในหลายมิติตามที่ผู้ชุมนุมได้กล่าวมา แต่เป้าหมายระยะสั้นวันต่อวัน คือการดูแลทุกคนที่มาที่นี่ให้ปลอดภัยกันทุกคน เราไม่ได้หวังสูงอะไรมาก แต่หวังว่าจะเกิดประโยชน์ต่อคนที่มาด้วยกัน คนรอบข้าง ๆ ที่เราได้ช่วยดูแลกัน" เขากล่าว

รามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย

ท้องฟ้ามืดลงแล้ว ขณะขบวนผู้ชุมนุมกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "ราษฎร" กำลังผ่านแยกศาลาแดง ไม่กี่ร้อยเมตรบนถนนพระราม 4 ก่อนถึงแยกวิทยุ รถกระบะ 2 คัน บรรทุกหมวกนิรภัย อุปกรณ์ป้องกันตัว เสื้อกันฝนและน้ำดื่มมาเต็มรถ

อาสาสมัครบนหลังรถกระบะบอกบีบีซีไทยว่าเขามาจาก "เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย" พวกเขาเตรียมตัวกันตั้งแต่ก่อน 4 โมงเย็น เพื่อขนสิ่งของที่มีผู้สนุบสนุนบริจาคไว้ให้สำหรับการชุมนุมเคลื่อนไปยังสถานทูตเยอรมนี

tb

ที่มาของภาพ, Thanyaporn buathong/bbc thai

"เรากลัวว่าอาจจะถูกขว้างปาสิ่งของใส่ได้ ต้องพยายามแจกหมวก ให้ทีมการ์ดและผู้ชุมนุม แล้วก็รอส่งผู้ชุมนุมกลับบ้าน" อานนท์ แม้นเพชร นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชั้นปีที่ 3 ม.รามคำแหง บอกถึงภารกิจของพวกเขาในวันนั้น ขณะรถค่อย ๆ ขยับเคลื่อนอย่างช้า ๆ เพื่อรอขบวนมวลชนที่เดินอยู่เบื้องหลัง

ในการชุมนุมแต่ละครั้ง กลุ่มนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า "เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย" มักจะทำหน้าที่ลงแรงในส่วนงานเตรียมสถานที่ หรืองานอื่นแล้วแต่ว่าในหมู่นักศึกษาจากแต่ละกลุ่ม แต่ละมหาวิทยาลัยจะตกลงกันหน้างาน

"คนที่มาไม่ว่าจะเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย ณ ตอนนี้ ทุกคนออกมาก็คือส่วนหนึ่งของขบวนแล้ว มันไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องเป็นแกนนำ เราอาจจะไม่ได้นำ แต่เรามีหน้าที่ในฐานะของคนตัวเล็กตัวน้อยที่เข้าร่วมเป็นแรงงานของขบวน" กฤษณะ ไก่แก้ว นักศึกษารัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง วัย 28 ปี เล่า

"อาจจะไม่ได้ออกหน้าออกตา แต่ไม่เป็นไรครับ นั่นไม่ใช่จุดใหญ่" เขาพูดด้วยสีหน้าจริงจัง

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

เมื่อถามว่าเขาคิดอย่างไรกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่มีกลุ่มคนที่ไม่พอใจการเคลื่อนไหวของนักศึกษาทำร้ายผู้ชุมนุมภายใน ม.รามคำแหง จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ มีการแจ้งความผู้ที่ก่อเหตุทำร้ายร่างกายนึกศึกษา และมีการเรียกร้องให้อธิการบดีดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลที่ทำร้ายนักศึกษา

"เสียใจ" คือคำตอบของกฤษณะ เขามองว่าคนเห็นต่างทางการเมืองไม่จำเป็นต้องทำร้ายร่างกายกัน และมหาวิทยาลัยก็ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพราะเป็นสถานที่สำหรับศึกษาเล่าเรียน อีกทั้งควรเป็นพื้นที่พูดคุยและแลกเปลี่ยนที่ปลอดจากการใช้ความรุนแรง

เขามีความหวังในการเคลื่อนไหวมากน้อยแค่ไหน นักศึกษารามฯ ผู้กำลังเรียนปริญญาตรีใบที่สอง บอกว่า "เปอร์เซ็นต์คงพูดไม่ได้ว่ามันจะชนะ แต่อย่างน้อย ๆ คนออกมามากขึ้น นั่นเป็นชัยชนะก้าวแรกแล้ว"

"มันอาจจะไม่ใช่เปลี่ยนวันนี้พรุ่งนี้ แต่ผมว่าการที่คนส่วนมากเห็นเหมือนกัน นี่คือการแสวงหาฉันทามติใหม่ของสังคมแล้ว" เขาทิ้งท้าย

"อาชีวะไม่ได้แย่ทุกอย่าง" ความรู้สึกของเด็กอาชีวะในแนวหน้า

เด็กหนุ่มวัย 20 ในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาว ปฏิเสธที่จะบอกว่าเขาเรียนที่สถาบันไหน

เขาและเพื่อนอีก 4-5 คน ยังรวมกลุ่มดูเหตุการณ์บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล ในค่ำคืนของวันที่ 21 ต.ค. แม้แกนนำประกาศยุติการชุมนุมไปแล้ว หลังจากยื่นเส้นตายและใบลาออกผ่านตัวแทนรัฐบาลไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

การเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 ต.ค. เป็นอีกครั้งที่มีการปรากฏตัวของกลุ่มเด็กอาชีวะ หรือ "เด็กช่าง" พวกเขาไม่ได้รวมตัวอย่างเป็นทางการแบบทีมการ์ดรักษาความปลอดภัย แต่มาเจอกันเองในที่ชุมนุม

protest

ที่มาของภาพ, PAris Jitpentom/bbc thai

"พี่ก็เห็นว่าตำรวจเป็นยังไง ดูเอา ไม่ต้องพูดหรอก เด็กอ่ะ อนาคตนะพี่ อนาคตของชาติ เด็กยังออกมา เด็กอายุเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ ม. 4 ม.5 ม.ต้น ก็มี" เด็กหนุ่มพูดถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมของตำรวจควบคุมฝูงชนและรถฉีดน้ำแรงดันสูงที่สี่แยกปทุมวัน

หน้าพาณิชยการพระนคร อีกราว 100 เมตรก่อนประชิดทำเนียบรัฐบาล ชายที่ดูเหมือนเป็นหัวหน้าทีม ตะโกนซ้ำ ๆ ผ่านโทรโข่ง "แนวหน้ามาตรงนี้ แนวหน้ามาตรงนี้" ขณะที่ขบวนผู้ชุมนุมหลัก ยังอยู่แนวหลังห่างไปหลายร้อยเมตรที่หน้าโรงพยาบาลมิชชั่น

พวกเขานับสิบชีวิตในชุดเสื้อช็อป เชิ้ตสีขาว ส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกัน ไม่มีหมวกนิรภัยหรือ หน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตาใด ๆ ป้ายผ้าสีขาวขนาดกว่า 1 เมตร ถูกชูขึ้นในแนวหน้า มีข้อความเขียนว่า "สู้ ๆ นะน้อง เดี๋ยวพี่ ๆ อาชีวะปกป้องเอง"

"วันนี้วันแรกที่รวมครบเลย 20 โรงเรียนได้มั้ง ปกติโดนแต่เขาด่า รอบนี้โดนเขาชม" เด็กหนุ่มคนเดิมพูดติดตลก อาจเพราะรู้ว่าที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของพวกเขาถูกมองแบบไหน

เมื่อถามว่าเขาคิดอย่างไรก็ข้อเรียกร้องของกลุ่ม "ราษฎร" เขาตอบสั้น ๆ ว่า "อยู่มากี่ปีแล้ว 5-6 ปี ไม่มีอะไรดี" ส่วนข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เด็กหนุ่มผู้นี้ขอสงวนความเห็น

คิดอย่างไรกับกระแสสังคมที่พูดถึงการที่อาชีวะฯ ออกมาร่วมเคลื่อนไหวในครั้งนี้

"อาชีวะไม่ได้แย่ทุกอย่าง...ผมพูดเลย"