ความยากจนในอังกฤษ เมื่อนักเตะแมนยูวัย 22 เรียกร้องให้รัฐบาลอย่ายุติโครงการอาหารกลางวันฟรี

Marcus Rashford celebrates his match-winning goal against PSG in the UEFA Champions League on 21 October

ที่มาของภาพ, Getty Images

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. มาร์คัส แรชฟอร์ด ยิงประตูในนาทีที่ 87 พาทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ชนะทีมปารีส แซงต์แชร์กแมง ไป 2-1 ในศึกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก

แต่กองหน้าวัย 22 ปีผู้นี้ก็ไม่ได้ฉลองชัยชนะนั้นอยู่นาน เขาเขียนในทวิตเตอร์ว่า "หากคุณสามารถทำสิ่งหนึ่งให้ผมได้ในค่ำคืนนี้ ช่วยลงชื่อในการเรียกร้องนี้"

เขากำลังพูดถึงการรณรงค์เรียกร้องให้เด็กนักเรียนได้อาหารกลางวันฟรี ซึ่งตอนนี้มีคนลงชื่อเกือบ 5 แสนชื่อแล้ว

แม้สหราชอาณาจักรจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลก แต่ข้อมูลรัฐบาลระบุว่า มีเด็กถึง 4.2 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในภาวะยากจน โดยพ่อแม่พวกเขาไม่มีเงินพอสำหรับหาอาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย

ตัวเลขดังกล่าวเท่ากับสัดส่วน 30% ของเด็กทั้งหมดในประเทศ และคาดว่าจะมีเด็กที่ยากจนเพิ่มอีกล้านคนภายในปี 2022

ในสหราชอาณาจักร ภาวะยากจนส่งผลกระทบต่อเด็กที่พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวและที่มีเชื้อชาติชนกลุ่มน้อย เป็นพิเศษ และแรชฟอร์ดเองก็เป็นเด็กที่อยู่ในทั้งสองประเภทนี้

A plate with food in a UK school

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ข้อมูลรัฐบาลระบุว่า มีเด็กในสหราชอาณาจักรถึง 4.2 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในภาวะยากจน

แม้ว่าตอนนี้เขาทำเงินได้ 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 8 ล้านบาท ต่อสัปดาห์ แต่แรชฟอร์ดเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจนในเมืองแมนเชสเตอร์ โดยแม่เขาเลี้ยงดูเขาและพี่น้องอีก 4 คน มาด้วยตัวเอง

"ผมรู้ว่าความหิวโหยเป็นอย่างไร" แรชฟอร์ด ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีก่อนหน้านี้ถึงการรณรงค์เพื่อเด็ก ๆ ที่ยากจน

พออยู่ได้

ครอบครัวแรชฟอร์ดต้องอาศัยโครงการช่วยเหลือทางสังคมเพื่อที่จะพออยู่ได้ โรงเรียนประถมของแรชฟอร์ดอยู่ย่านหนึ่งในแมนเชสเตอร์ที่ 28.1% ของเด็กทั้งหมดได้อาหารกลางวันฟรีในปี 2019 เหมือนที่เขาเองเคยได้มา

แม่เขาทำงานเป็นพนักงานเก็บเงิน หาเช้ากินค่ำ เธอโน้มน้าวให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดรับลูกชายเข้าทีมเยาวชนสำเร็จตอนอายุ 11 ขวบ แม้ตามกฎเด็กต้องอายุอย่างน้อย 12 ปี

นั่นทำให้แรชฟอร์ดได้ที่พักใกล้กับสนามฟุตบอลและเข้าถึงอาหารการกินที่ดีขึ้น

แต่แม้ว่าจะกลายนักฟุตบอลชื่อดังแล้ว เขาไม่เคยลืมเลยว่าชีวิตวัยเด็กเขายากลำบากแค่ไหน

รัฐบาลเปลี่ยนใจ

ในปี 2019 มีเด็กในอังกฤษ 1.3 ล้านคนที่ขออาหารกลางวันฟรี หรือคิดเป็น 15% ของเด็กโรงเรียนรัฐ

เมื่อกลางปี แรชฟอร์ดเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้านจนสำเร็จหลังรัฐบาลประกาศว่าจะยกเลิกการให้คูปองอาหารฟรีแก่เด็กที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำระหว่างปิดเทอมช่วงฤดูร้อน นี่เป็นผลให้เขาได้รับเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ชั้นเอ็มบีเอ (MBE) ในเวลาต่อมา

แต่เมื่อวันที่ 21 ต.ค. สภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักร ซึ่งพรรคคอนเซอร์เวทีฟถือเสียงข้างมาก ลงมติไม่เห็นด้วยที่จะให้ขยายโครงการอาหารฟรีไปถึงช่วงเดือน เม.ย. ปีหน้า โดยอ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนที่จะต้องให้อาหารนักเรียนระหว่างปิดเทอม และรัฐบาลก็ให้การช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้น้อยมากแล้วระหว่างวิกฤตโควิด-19

แรชฟอร์ดวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจนี้ว่า "เด็กจำนวนมากต้องเข้านอนคืนนี้พร้อมความหิวโหยและความรู้สึกว่าพวกเขาไม่สลักสำคัญอะไรจากการแสดงความคิดเห็นในวันนี้" แรชฟอร์ดระบุในทวิตเตอร์ซึ่งมีผู้ติดตาม 3.5 ล้านคน

"ผมไม่มีการศึกษาแบบนักการเมือง หลายคนบนทวิตเตอร์ได้พูดเรื่องนี้อย่างชัดเจนแล้ว แต่ผมมีการศึกษาทางสังคมจากการเผชิญสิ่งนี้เอง และการได้ใช้เวลากับครอบครัวและเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบ ...เด็กเหล่านี้มีความสำคัญ"

Marcus Rashford with his mum Mel

ที่มาของภาพ, Marcus rashford

คำบรรยายภาพ, แม่แรชฟอร์ดโน้มน้าวให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดรับลูกชายเข้าทีมเยาวชนสำเร็จตอนอายุ 11 ขวบ แม้ตามกฎเด็กต้องอายุอย่างน้อย 12 ปี

อย่างไรก็ดี สภาเมือง บาร์ และร้านอาหาร ทั่วประเทศ ตอบโต้รัฐบาลด้วยการบอกว่าจะจัดอาหารฟรีให้กับเด็กในกลุ่มเปราะบาง

เมื่อเดือน ก.ย. แรชฟอร์ด อาศัยซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่ ๆ ของประเทศในการช่วยโน้มน้าวให้รัฐบาลเพิ่มทุนช่วยเหลือด้านอาหารแก่เด็กยากจน

แรชฟอร์ดร่วมกับองค์กรการกุศลแฟร์แชร์ ยูเค (FareShare UK) เรี่ยไรเงินได้ถึง 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นค่าอาหารสำหรับเด็กที่ต้องพึ่งอาหารที่โรงเรียน

แม้ว่าแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดต้องกลับมาแข่งขันในฤดูกาล 2020-2021 แล้ว แรชฟอร์ดก็ยังไม่ลืมที่จะต่อสู้ในเรื่องนี้

หลังเกมที่เจอกับปารีส แซงต์แชร์กแมง เขาทวีตว่า "ถึงเวลาที่เราจะพักการเมืองเรื่องพรรคไว้ก่อน และมาทำงานด้วยกันเพื่อหาทางออกในระยะยาวในเรื่องอาหารของเด็กที่ยากจนในสหราชอาณาจักร"