วัคซีนโควิด: ศาลเพิกถอนคำสั่งให้ลบโพสต์ธนาธรวิจารณ์เรื่องวัคซีนโควิด

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ที่มาของภาพ, Reuters

ศาลอาญาเพิกถอนคำสั่งให้ลบเนื้อหาออนไลน์ที่คณะก้าวหน้าเผยแพร่ 3 รายการ ซึ่งเป็นคลิปและข้อความที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ตั้งคำถามถึงการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19

วันนี้ (8 ก.พ.) ศาลอ่านคำสั่งคดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปไลฟ์สดของ นายธนาธรกรณีการไลฟ์สดเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาล โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ให้เหตุผลว่ามีเนื้อหาพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์และกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งศาลได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ให้ระงับคลิปตามที่กระทรวงดิจิทัลฯ ร้องขอ

ต่อมานายธนาธรได้ยื่นคัดค้านและขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลได้ไต่สวนคู่ความทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ก่อนจะมีคำสั่งในวันนี้

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายธนาธรกล่าวกับบีบีซีไทยว่า ศาลอาญามีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและยกเลิกคำสั่งที่ให้ลบเนื้อหาออนไลน์ทั้งหมดตามคำขอของกระทรวงดิจิทัลฯ โดยศาลให้เหตุผลโดยสรุปว่ากระบวนการที่ผ่านมาข้ามขั้นตอนเพราะนายธนาธรไม่มีโอกาสได้ชี้แจงหรือคัดค้าน และเห็นว่าคำร้องของนายธนาธรที่ขอให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวมีน้ำหนักเชื่อได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญโดยสุจริต

ทั้งนี้ศาลได้ระบุในคำสั่งว่า เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดแล้ว แม้ว่านายธนาธรจะบรรยายว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด แต่ก็มิได้มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการกล่าวหาหรือตำหนิติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริตต่อพระองค์ไม่ว่าในทางใด ๆ จึงไม่มีลักษณะชัดเจนและเห็นได้ในทางภาวะวิสัยที่แสดงว่าข้อความนี้อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์

ดังนั้นศาลจึง "ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การไต่สวนและมีคำสั่งของศาล ซึ่งย่อมจะมีผลให้คำสั่งศาลในวันที่ 29 ม.ค. เป็นอันสิ้นผล"

line

ลำดับเหตุการณ์ ธนาธร vs รัฐบาล เรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19

27 พ.ย. 2563

พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานในพิธี ลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่ให้ความเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการจองล่วงหน้าและการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า สหราชอาณาจักร ในวงเงินกว่า 6 พันล้านบาท

ในการแถลงข่าวหลังจากนั้น กล่าวแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีพระราชดำริให้ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธยรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยรัฐบาลคาดว่าคนไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 ใช้ในปี 2564

18 ม.ค. 2564

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ "วัคซีนพระราชทาน: ใครได้ใครเสีย" วิจารณ์ยุทธศาสตร์การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลไทยที่ล่าช้า ปริมาณไม่เพียงพอ โดยเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการ "แทงม้าตัวเดียว" รวมทั้งการใช้งบประมาณสนับสนุนบริษัทเอกชนในการผลิตวัคซีนโดยการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก บ.แอสตร้าเซนเนก้า

19 ม.ค. 2564

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ตอบโต้นายธนาธรว่าคนที่ออกมาวิจารณ์ในเรื่องนี้ไม่รู้จักสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม "เมื่อมือไม่พายก็อย่าเอาอะไรมาราน้ำ" และ "ถ้าอยากทำอะไรให้ได้ตามที่ตัวเองต้องการ ก็เข้ามาบริหารบ้านเมืองให้ได้เสียก่อน"

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าประเด็นที่นายธนาธรตั้งข้อสังเกตนั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริงและเป็นการบิดเบือน

วันเดียวกันนี้ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้แถลงข่าวชี้แจงข้อวิจารณ์ของนายธนาธรรายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ พร้อมกับยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ "แทงม้าตัวเดียว" ในการเลือกซื้อวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิต

โรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลหลายรายการ เช่น PIC/S GMP, ISO9001, ISO17025 และ ISO13485

ที่มาของภาพ, เว็บไซต์สยามไบโอไซเอนซ์

คำบรรยายภาพ,

บ. สยามไบโอไซเอนซ์ซึ่งนายกฯ ระบุว่าเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย ให้ข้อมูลบนเว็บไซต์ว่าโรงงานของบริษัทฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลหลายรายการ เช่น PIC/S GMP, ISO9001, ISO17025 และ ISO13485

20 ม.ค. 2564

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่งผู้แทนเข้าแจ้งความกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เอาผิด นายธนาธรฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 112 และการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 โดยกล่าวหาว่านายธนาธรบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 18 ม.ค.

21 ม.ค. 2564

นายธนาธรแถลงข่าวกรณีที่เขาถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 จากการวิจารณ์เรื่องการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล โดยเชื่อว่าการแจ้งความดำเนินคดีเขาในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ. การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีแรงจูงใจทางการเมืองและเป็นไปเพื่อปิดปากผู้ตรวจสอบรัฐบาล พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดสัญญาจัดซื้อวัคซีนจาก บ.แอสตร้าเซนเนก้า เพื่อความโปร่งใส

25 ม.ค. 2564

นายธนาธรโพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงนายอนุทินทางเฟซบุ๊ก เรียกร้องให้รองนายกฯ และ รมว.สธ. ชี้แจงประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนให้สังคมหายสงสัย

"ผมติดตามการทำงานของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนไทยด้วยความเป็นห่วง ผมได้แถลงถึงข้อสงสัยของผมในสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อการแสดงออกของผมหลายคน มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งรวมถึงคุณอนุทินเองด้วย ผมจึงอยากขอใช้โอกาสนี้ สื่อสารถึงคุณอนุทินและหวังว่าคุณอนุทินจะชี้แจงประเด็นเหล่านี้ให้สังคมหายสงสัย" นายธนาธรระบุในจดหมาย

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ถูกแจ้งความในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

26 ม.ค. 2564

หลังจากตอบโต้นายธนาธรด้วยท่าทีเกรี้ยวกราด นายอนุทินเปลี่ยนท่าทีอย่างสิ้นเชิงในวันนี้ด้วยการโพสต์ข้อความในลักษณะของจดหมายถึงนายธนาธร ชี้แจงข้อสงสัยต่าง ๆ ที่ประธานคณะก้าวหน้าหยิบยกขึ้นมา

จากเดิมที่เคยให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่าเขาไม่มีหน้าที่และไม่เห็นความสำคัญที่จะชี้แจงข้อวิจารณ์ของนายธนาธร นายอนุทินกลับเขียนจดหมายขนาดยาวถึงประธานคณะก้าวหน้า ขึ้นต้นว่า "เรียน คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผมขอบคุณคุณธนาธร ติดตามการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข และไม่ละเลยที่จะกล่าวคำขอบคุณ ให้กำลังใจกระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ทุ่มเททำงานหนักเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา2019 มาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2562 จนถึงขณะนี้ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อความปลอดภัย และลดการสูญเสียของคนไทยให้ได้มากที่สุด" ก่อนจะตอบข้อสังเกตและข้อสงสัยต่าง ๆ อย่างละเอียด

31 ม.ค. 2564

สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานข่าวตรงกันว่าศาลอาญามีคำสั่งลบเนื้อหาออนไลน์ที่คณะก้าวหน้าเผยแพร่ 3 รายการ หรือ URLs ซึ่งเป็นคลิปและข้อความที่นายธนาธรตั้งคำถามถึงการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากเข้าข่ายกระทบกระเทือนความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14

รายงานข่าวระบุว่าศาลอาญาได้ตรวจสอบพบเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อความภาพและคลิปวีดีโอที่มีเนื้อหาเข้าข่ายอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 3 URLs (รายการ) ประกอบด้วย การโพสต์เนื้อหาผ่านเว็บไซต์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ และยูทิวบ์ของคณะก้าวหน้า ศาลจึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ประกอบมาตรา 20 สั่งให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์

ต่อมาวันที่ 1 ก.พ. นายธนาธรได้ยื่นคำร้องคัดค้าน และขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

4 ก.พ. 2564

ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องของนายธนาธรที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งลบเนื้อหาออนไลน์ 3 รายการ

8 ก.พ. 2564

ศาลให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การไต่สวนและมีคำสั่งของศาลในวันที่ 29 ม.ค. ให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ เป็นอันสิ้นผล