งดใช้ถุงพลาสติก : จะเกิดอะไรขึ้นหลังคนไทยเลิกใช้ถุงพลาสติก

งดแจกถุง

ที่มาของภาพ, Thai News pix

วันขึ้นปีใหม่ 1 ม.ค. 2563 ถือเป็น "จุดเริ่มต้น" ของสิ่งใหม่ ๆ รวมถึงการงดแจกถุงพลาสติกของห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายอภิโชค จงภัทรากุล วิ่งออกจากร้านสะดวกซื้อ 7-11 หลังได้รับแจ้งจากพนักงานประจำร้านว่าไม่มีถุงพลาสติกให้ใส่ของ เขาตรงรี่ไปเปิดประตูรถยนต์ส่วนตัวที่จอดอยู่บริเวณหน้าร้าน ก่อนกลับไปชำระเงินและรับของจำนวน 8 ชิ้นที่ซื้อไว้

นายอภิโชคยอมรับว่า เมื่อก่อนหากซื้อของชิ้นเล็กชิ้นน้อยก็จะขอถุงพลาสติก เนื่องจากถือลำบาก

"ปกติไม่เคยพกถุงผ้าเลย เพียงแต่พอเห็นเขารณรงค์ เราก็เห็นด้วยว่าดี เราก็ควรจะพก ถ้าไม่มีถุงให้แล้ว สำหรับเราก็คงโทษตัวเองว่าทำไมเราไม่พร้อม" เขากล่าวกับบีบีซีไทยด้วยรอยยิ้ม

ขณะที่นายจารุกิตติ์ สีประเสริฐ วัย 48 ปี กอบเอาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลายซอง แหนม และขนมขบเคี้ยวไว้เต็มมือ เดินออกจากร้านสะดวกซื้อ แม้ทราบข่าววันนี้เป็น "ดีเดย์" งดแจกถุงพลาสติก แต่เจ้าตัวดันลืมนำถุงมาจากบ้าน

"ไม่ลำบาก ปกติ อยู่ที่เราแหละ ถ้าเราเตรียมมันก็ปกติ ครั้งต่อไปก็จะพยายามเอาถุงมา ทำให้ชิน"นายจารุกิตติ์กล่าวกับบีบีซีไทย

ถุงผ้า

ที่มาของภาพ, paris jitpentom/BBC Thai

ประชาชนหลายคนได้เตรียมถุงผ้ามาใช้ซื้อของในร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้า หลังทราบว่าวันนี้ถูกกำหนดให้เป็นวันเริ่มต้นงดแจกถุงพลาสติก โดยมีห้างร้านเอกชนกว่า 90 บริษัททั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ Everyday Say No To Plastic Bags

ขณะที่บางคนก็ต้องควักเงินซื้อถุงผ้า ที่ผู้ประกอบการนำมาวางจำหน่ายไว้ตรงจุดชำระเงิน และตามชั้นต่าง ๆ ภายในร้านสะดวกซื้อ

ประชาชนส่วนหนึ่งพกถึงผ้ามาซื้อสินค้าที่กูร์เมต์ มาร์เก็ต สยามพารากอน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ประชาชนส่วนหนึ่งพกถุงผ้ามาซื้อสินค้าที่กูร์เมต์ มาร์เก็ต สยามพารากอน
ถุงผ้า

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ขณะที่ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์และห้างร้านต่าง ๆ ได้พร้อมใจกันเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก ด้วยการติดแฮชแท็ก #1 มกราบอกลาถุง จนขึ้นเป็นเทรนด์ยอดฮิตในทวิตเตอร์ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ทวีตข้อความในเชิงติดตลกว่าอ่านไว ๆ นึกว่า "บอกลาลุง"

ถุงพลาสติกที่จะหายไปจากมือผู้บริโภคตั้งแต่ 1 ม.ค. เป็นถุงก๊อบแก๊บแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือที่เรียกว่าถุงพลาสติกหูหิ้วมีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 - 2564) ของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society)

NurPhoto via Getty Images
จะเกิดอะไรขึ้นหลังคนไทย “บอกลาถุง”

  • 3,000 ล้านใบ ลดถุงพลาสติกได้หลังรณรงค์จริงจังในช่วง 5 เดือนก่อน

  • 45,000 ล้านใบ/ปี ลดถุงพลาสติกหูหิ้ว

  • 225,000 ตัน/ปี ลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด

  • 340ล้านบาท/ปี ประหยัดงบจัดการขยะมูลฝอย

  • 616ไร่ ประหยัดพื้นที่รองรับและกำจัดขยะมูลฝอยแบบฝังกลบ

ที่มา : คำชี้แจง/คาดการณ์ของ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อ 31 ธ.ค. 2562

รัฐบาลตั้งเป้าจะยกเลิกการใช้พลาสติกประเภทครั้งเดียวทิ้ง 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว, หลอดพลาสติก, แก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และกล่องโฟม ให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี 2564 โดยร่นเวลาเร็วขึ้นจากแผนเดิม 1 ปี

นักสิ่งแวดล้อมอย่าง นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกวันนี้ว่า "วันประวัติศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมไทย"

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เรียกมันว่า "ปรากฎการณ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน" ถือเป็นวันแรกของประเทศไทย กับการก้าวเข้าสู่บริบทใหม่ที่มุ่งสู่การเป็น "ประเทศไร้ขยะพลาสติก" โดยได้รับความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ ในการงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้ว เพราะที่ผ่านมา คนไทยเราเคยชินกับความสะดวกสบายด้วยการใช้ถุงพลาสติกกันถึงวันละ 5,300 ตัน

ถุงผ้า

ที่มาของภาพ, สื่อมวลชน พรรคชาติไทยพัฒนา

คำบรรยายภาพ, นายวราวุธ นำทีม ทส. ให้กำลังใจบรรดาห้างร้านที่รวมโครงการงดแจกถุงพลาสติก จุดนี้คือเอ็มโพเรียม

อย่างไรก็ตาม ทส. ยังผ่อนผันให้สินค้า 4 ชนิดใช้ถุงพลาสติกได้ ได้แก่ อาหารที่ต้องอุ่นร้อน, อาหารเปียก, เนื้อสัตว์ และผลไม้ โดยสินค้ากลุ่มนี้ใช้ถุงพลาสติกแบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ถุงร้อนใส่อาหาร พลาสติกหุ้มอาหารและของแช่แข็ง รวมถึงพลาสติกหูหิ้วหนาที่สามารนำกลับมาใช้ซ้ำได้

พะยูน

ที่มาของภาพ, SIRACHAI ARUNRUGSTICHAI/AFP/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ, การตายของลูกพะยูนเพศเมียซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า "มาเรียม" โดยพบเศษพลาสติกอุดตันในลำไส้ ทำให้สังคมไทยตื่นตัวเรื่องการงดใช้ถุงพลาสติก