วิ่งไล่ลุง เดินเชียร์ลุง : เปรียบเทียบกิจกรรม "วิ่ง-เดิน" การเมือง 12 ม.ค.

เพจ

ที่มาของภาพ, FB/วิ่งไล่ลุง/เชียร์ลุง

พ้นจากวันเด็กแห่งชาติเพียง 1 วัน จะมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ "ลุง" เมื่อประชาชนฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นัดจัดกิจกรรมวิ่งและเดินในวันที่ 12 ม.ค. ภายในสวนสาธารณะ 2 แห่งซึ่งถือเป็น "ปอดของคนเมือง" มีระยะทางห่างกัน 14 กม.

กิจกรรมแรก ใช้ชื่อว่า "วิ่งไล่ลุง" จะเกิดขึ้นที่สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ เขตจตุจักร มีนิสิตนักศึกษาและนักกิจกรรมการเมืองที่เรียกตัวเองว่า "คณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุงเพื่อประโยชน์ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนประเทศไทย" เป็นโต้โผจัดงาน เริ่มเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ 23 พ.ย. 2562 ผ่านแฟนเพจของ ธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือบอล นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะผู้จัดงาน "วิ่งไล่ลุง"

"วัตถุประสงค์ในการจัดงานก็เพื่อสุขภาพ และเพื่อต่อต้านตัวถ่วงความเจริญของประเทศ" ธนวัฒน์กล่าวกับบีบีซีไทย

ส่วนอีกกิจกรรม ใช้ชื่อว่า "เดินเชียร์ลุง" จะเกิดขึ้นที่สวนลุมพินี เขตปทุมวัน

ถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยโฉมหน้าแกนนำผู้จัดกิจกรรมต่อสาธารณะ และบรรดาผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ต่างพร้อมใจกันตามหาตัวผู้จัดงานหลัก อย่างไรก็ตามพวกเขานิยามตัวเองไว้ทางแฟนเพจ "เชียร์ลุง" ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารเกี่ยวกับกิจกรรมว่าเป็น "พลังเงียบ ในนามภาคประชาชน 'คนรักลุง' ที่รักชาติ รักสถาบัน จัดกันเอง... งานนี้ไม่เกี่ยวกับ "รัฐบาลลุงตู่" ใด ๆ ทั้งสิ้น" โดยเริ่มเชิญชวนประชาชนให้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมเมื่อ 3 ธ.ค. 2562

กปปส.

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, สวนลุมพินีถูกใช้เป็น 1 ใน 7 จุดชุมนุมของ กปปส. ในช่วง "ชัตดาวน์บางกอก" ปี 2557
ภาพมุมสูงเห็นการชุมนุมของ กปปส. ภายในสวนลุมพินี

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ภาพมุมสูงเห็นการชุมนุมของ กปปส. ภายในสวนลุมพินี

บีบีซีไทยได้ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากแอดมินเพจ "เชียร์ลุง" และ "เชียร์ลุง2" ได้รับแจ้งว่า "ไม่สะดวก" ให้ข้อมูลวันนี้ จะให้ข้อมูลได้ในวันที่ 8 ม.ค. หรือ 4 วันก่อนถึงวันงาน ทว่าในเพจดังกล่าวได้เน้นย้ำถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมเอาไว้ว่าเพื่อ "ให้กำลังใจลุงตู่" และ "ต่อต้านพวกชังชาติ"

บีบีซีไทยได้รวบรวบรายละเอียดของ 2 กิจกรรมเพื่อ "สุขภาพการเมือง" มารวมไว้ ณ ที่นี้

เปรียบเทียบกิจกรรม "วิ่ง-เดิน" การเมือง 12 ม.ค.

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลพื้นฐานจากเพจหลักของผู้จัดงาน และข้อมูลที่ปรากฏในสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์

เมื่อคนหลายพันและนับหมื่นมารวมตัวกันในเวลาเดียวกัน-ในพื้นที่อันจำกัด น่าสนใจว่าทางผู้จัดงานเตรียมแผนรองรับไว้แค่ไหน เกี่ยวกับเรื่องนี้ บอล-ธนวัฒน์ ยอมรับว่า ตัวเขาเองไม่เคยลงแข่งขันวิ่งรายการไหนมาก่อน ไม่เคยจัดงานวิ่ง และไม่คิดว่าขนาดของกิจกรรมจะใหญ่โตขึ้นมาขนาดนี้ โดยมีคนลงทะเบียนร่วมงานกว่า 10,000 คน

สวนรถไฟ

ที่มาของภาพ, Thanyaporn Buatong/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, บรรยากาศภายในสวนรถไฟ

"ถ้าเกิดข้อผิดพลาดใดระหว่างงาน ก็ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า เพราะเราไม่เคยจัดมาก่อน เป็นนิสิตนักศึกษาทั้งนั้น ที่เราพยายามแก้ไขก็คือได้ไปหาคนที่เคยจัดงานวิ่งระดับมืออาชีพมาให้คำปรึกษา และพยายามเตรียมการอย่างรอบคอบที่สุด" ธนวัฒน์กล่าว

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผู้จัดงานตัดสินใจปล่อยตัว "นักวิ่งไล่ลุง" เป็น 2 รอบ โดยรอบแรกเริ่มเวลา 06.30 น. สำหรับนักวิ่งที่ลงแข่งขันจริงจัง 4,000 คน ซึ่งจะได้รับโล่และเหรียญรางวัล ส่วนที่เหลืออีกกว่า 6,000 คน และบุคคลที่มาให้กำลังใจแต่ไม่ได้ลงทะเบียนมา ก็จะวิ่งและเดินได้รอบหลังเวลา 07.15 น.

"เราถามคนที่เคยจัดวิ่งมาก่อน ได้รับคำยืนยันว่าสวนรถไฟเคยรองรับนักวิ่งพร้อมกัน 4,000 คน ก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา" ธนวัฒน์กล่าว

แผนที่เส้นทางวิ่งระยะทาง 2.58 กม. ภายในสวนรถไฟ

ที่มาของภาพ, Google Map

คำบรรยายภาพ, แผนที่เส้นทางวิ่งระยะทาง 2.58 กม. ภายในสวนรถไฟ

เขาบอกด้วยว่า ผู้จัดงานได้เตรียมจุดรับน้ำดื่มเมื่อผ่านระยะทาง 2 กม. (1 คนต่อ 2 แก้ว) และมีอาหารว่างสำหรับผู้ลงทะเบียนแบบเสียเงิน ส่วนคนทั่วไปกำลังพิจารณา "แจกกล้วย" ให้ นอกจากนี้ยังมีทีมแพทย์ อาสาพยาบาล และหน่วยกู้ภัยราว 40 คนมาเตรียมความพร้อมในพื้นที่

สวนลุม

ที่มาของภาพ, Google Map

คำบรรยายภาพ, แผนที่เส้นทางวิ่งระยะทาง 2.5 กม. ภายในสวนลุมพินี

ส่วนความกังวลใจต่อการแฝงตัวเข้ามาของเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะ "นักวิ่งหัวเกรียน" แกนนำผู้จัดงาน "วิ่งไล่ลุง" ยอมรับว่า คงไปห้ามไม่ได้ แต่จะเปิดจุดให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องการเข้ามาสังเกตการณ์กิจกรรมได้ลงทะเบียนเพื่อแสดงความจริงใจ ขณะเดียวกันจะมีอาสาสมัครราว 100 คนกระจายกำลังดูแลความสงบในพื้นที่ หากพบเห็นเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ตั้งกล้องถ่ายภาพผู้มาร่วมกิจกรรม ซึ่งถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว ก็จะเชิญออกนอกพื้นที่ไป

ธนวัฒน์บอกด้วยว่า กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่การ "หยั่งกระแส" การชุมนุมบนท้องถนนให้พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เพราะนอกจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เชื่อว่าจะมีนักการเมืองจากหลายพรรคมาร่วมงาน และขอสังคมอย่าตกหลุมพรางฝ่ายอำนาจนิยมที่ว่า นักการเมืองกับประชาชนทำกิจกรรมร่วมกันไม่ได้ "นี่ไม่ใช่การหยั่งกระแสให้พรรคการเมืองไหน แต่เป็นการแสดงพลังจริง ๆ ของประชาชนที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะโลกออนไลน์"

บอล

ที่มาของภาพ, wasawat lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, บอล-ธนวัฒน์ แถลงข่าวจัดงานวิ่งไล่ลุง ซึ่งเดิมจากวิ่งจาก ม.ธรรมศาสตร์ แต่ต้องเปลี่ยนเส้นทาง เพราะ กทม. อนุญาตให้ใช้สวนรถไฟ

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" ถูกนำไปเปรียบเทียบ-วัดพลังกับกิจกรรม "เดินเชียร์ลุง" ที่จัดขึ้นในอีกฟากหนึ่งของเมืองหลวงประเทศไทย บอล-ธนวัฒน์บอกว่า การเห็นต่างทางการเมืองถือเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย แต่ขอว่าอย่านำไปสู่ความรุนแรงและสร้างความเกลียดชังแบบประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมากมายในประเทศนี้

ล่าสุดธนวัฒน์ระบุว่า มี 26 จังหวัดที่จะจัดกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" ในวันที่ 6 ม.ค.

ขณะเดียวกันยังมีกิจกรรมวิ่งในต่างแดนในวันเดียวกัน อย่างที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มีการเชิญชวนประชาชนไปร่วมวิ่งจากประตูบรันเดินบวร์ค ส่วนที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีผู้เชิญชวนให้ไปร่วม "วิ่งไล่ห่าน" เพื่อสุขภาพ ที่สวนสาธารณะไฮด์ ปาร์ก โดยผู้ตั้งแคมเปญบอกว่า "เป็นเพียงการมารวมตัววิ่งด้วยกัน.. ไม่มีผู้จัดชัดเจน"