ปารีณา ไกรคุปต์ : ส.ป.ก.-กรมป่าไม้ บอก ใกล้ได้ข้อสรุป ฟาร์มไก่ 1,700 ไร่ รุก-ไม่รุกที่ป่าสงวน

ปารีณา ไกรคุปต์

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคพลังประชารัฐ

หกเดือนของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) "เป็นข่าว" นับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่การวิจารณ์เครื่องแต่งกายและหน้าตาของ พรรณิการ์ วานิช ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ มาจนถึงวิวาทะกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ในกรรมาธิการป้องกันและปราบปราม การทุจริตประพฤติมิชอบ ของสภาผู้แทนฯ

แต่ดูเหมือนจะไม่มีเหตุการณ์ไหนที่ทำให้ปารีณาออกอาการคล้ายกับ "ไปไม่เป็น" เท่ากับกรณีที่เธอถูกตั้งคำถามการใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ คือ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ใน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี

อาการดังกล่าวเห็นได้จากความพยายามหลบเลี่ยงการตอบคำถามผู้สื่อข่าวในเรื่องนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งผิดวิสัยของ ส.ส.หญิงปากกล้า วัย 43 ที่ให้สัมภาษณ์สื่อ วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่หวั่นไหว

ครั้งแรก เมื่อผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาถามปารีณาเมื่อวันที่ 22 พ.ย. เกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องครอบครองที่ดินรุกป่าสงวน ส.ส.ราชบุรีพูดซ้ำไปซ้ำมาเพียงว่า "ดิฉันทำ MOU กับนักข่าวไว้แล้ว" และ "ขอร้องเถอะนะคะ" สร้างความงุนงงให้นักข่าวว่า "MOU" ที่ว่านั้นหมายถึงอะไรกันแน่ วันต่อมาเธอจึงชี้แจงว่าได้ทำข้อตกลงและเขียนจดหมายถึงผู้สื่อข่าวบางคนว่าจะไม่ให้สัมภาษณ์ใด ๆ ในประเด็นเรื่องที่ดินของเธอ

ครั้งที่สอง ปารีณาพยายามหลีกเลี่ยงการตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่รัฐสภาอีกครั้งเมื่อ 27 พ.ย. โดยอ้างว่าติดสายโทรศัพท์ เธอออกอาการลุกลี้ลุกลน ก่อนจะพึมพำว่าจะไปชี้แจงกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ข้อกล่าวหาเรื่องที่ดินที่ตั้งฟาร์มไก่ของ ส.ส.ปารีณารุกพื้นที่ป่าสงวนมีที่มา ที่ไปอย่างไร และเรารู้อะไรแล้วบ้าง บีบีซีไทยสรุปมาไว้ที่นี่

ปารีณา ไกรคุปต์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/ BBC Thai

จุดเริ่มต้น

ปารีณาเป็นคนที่จุดประเด็นนี้ขึ้นมาเองโดยไม่ตั้งใจ เมื่อเธอออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนใน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ขอให้ช่วยเรียกคืนที่ดิน 500 ไร่จากทั้งหมดกว่า 3,000 ไร่ของ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยเธออ้างว่ามีประชาชนร้องเรียนว่าที่ดิน 500 ไร่นี้เป็นที่ดินที่ชาวบ้านได้รับจัดสรรเป็นที่ทำกิน ซื้อขายไม่ได้และชาวบ้านต้องการใช้เป็นป่าชุมชน ต่อมาสมพรได้ชี้แจงว่าที่ดินแปลงนี้มีกรรมสิทธิ์หลายแบบ และเธอพร้อมที่จะส่งมอบที่ดินที่เป็นที่ทำกินของประชาชนคืนให้

หลังจากปารีณาเปิดประเด็นเรื่องที่ดินของสมพร เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ ได้ฉวยโอกาสนี้เปิดประเด็นตีกลับ โดยบอกว่าในพื้นที่เดียวกันนี้ อาจมีที่ดินอื่น ๆ ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือที่ดินของ ปารีณา

วันที่ 13 พ.ย. เรืองไกรยื่นเรื่องขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบที่ดินกว่า 1,700 ไร่ของ ปารีณา ที่ใช้ทำฟาร์มไก่ชื่อ "เขาสนฟาร์ม" ที่สงสัยว่ารุกพื้นที่ป่าสงวน เรืองไกรอ้างว่าเขาได้ขอแผนที่จากกรมป่าไม้และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มาตรวจสอบเบื้องต้น และพบว่า

-ที่ดินบางส่วนเป็นที่ตั้งของฟาร์มเลี้ยงไก่ชื่อ เขาสนฟาร์ม

-ตรวจสอบจากภาพ Google Map พบอาคารเลี้ยงไก่ของเขาสนฟาร์มจำนวน 8 หลัง ในจำนวนนี้ 7 หลัง อยู่ที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและ 1 หลังอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี

ปารีณา ไกรคุปต์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

การตรวจสอบ

หลังการร้องเรียน อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ที่ดินฟาร์มไก่ 1,700 ไร่ ของ ปารีณา โดยมี ธวัชชัย ลัดกรูด ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ เป็นประธาน และในวันที่ 23 พ.ย. กรมป่าไม้ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับทาง ส.ป.ก. ซึ่งจากการแปลภาพทางอากาศประกอบการนำชี้ของผู้ใหญ่บ้าน และพบว่าที่ดินดังกล่าวบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชีเนื้อที่ประมาณ 46 ไร่ และในวันนี้ (28 พ.ย.) กรมป่าไม้ และ ส.ป.ก.ราชบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบเขาสนฟาร์มของ ปารีณา ซ้ำอีกครั้งเพื่อรังวัดรอบใหม่ หลังจาก ปารีณายื่นหนังสือขอรังวัดที่อีกครั้งเพราะอาจมีความคลาดเคลื่อน

อรรถพล อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวว่าเมื่อได้ข้อมูลรังวัดรอบใหม่แล้วจะเรียกประชุมคณะทำงาน ในวันที่ 29 พ.ย. เพื่อหาข้อสรุป และพิจารณาว่าต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปในทางกฎหมาย

ปารีณาว่าอย่างไร

นอกจาก "ทำ MOU กับนักข่าวไว้แล้ว" และ "ขอร้องเถอะนะคะ" น.ส.ปารีณา ยังไม่ได้ชี้แจงอะไรมากเพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหานี้ แต่คณะทำงานตรวจสอบได้รับคำอธิบายจากครอบครัวของ ปารีณาว่า เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้ตั้งแต่ พ.ศ.2489 ก่อนที่กรมป่าไม้จะมอบให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินใน พ.ศ.2536 นอกจากนี้ ปารีณายังได้ทำหนังสือขอให้กรมป่าไม้และ ส.ป.ก.รังวัดที่ดินอีกครั้งเพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อน พร้อมกับยืนยันว่าครอบครองที่ดินผืนนี้โดยสุจริตมากว่า 10 ปี

ขณะที่ทวี ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี ผู้เป็นพ่อของ น.ส.ปารีณา เชื่อว่าข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นนี้เป็น "เกมการเมือง" และบอกว่าสงสารลูกสาวที่ต้องมาเจอกับเกมการเมืองเช่นนี้

ย้อนรอยคนคดี กรณีสุเทพกับ สปก.

ปารีณา ไม่ใช่นักการเมืองคนแรกที่ประสบปัญหาปมถือครอง "ที่ดินร้อน"

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2537 สุเทพ เทือกสุบรรณ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ต้องลาออกจากตำแหน่ง หลังจากเขาไปมอบเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ที่ จ.ภูเก็ต จำนวน 592 แปลงให้เกษตรกร 489 คน เมื่อ 19 พ.ย. 2537

ทว่ากลับปรากฏชื่อคนใน "11 ตระกูลดัง" ของภูเก็ต รวมถึง ทศพร เทพบุตร สามีของ อัญชลี วานิช ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้รับเอกสารสิทธิ์ด้วย ทำให้ รมช.เกษตรฯ สังกัด ปชป. ถูกร้องเรียน ตั้งกรรมการสอบสวน ก่อนต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 7 ธ.ค. 2537

แต่เรื่องไม่จบเท่านี้ เมื่อฝ่ายค้านตามขุดคุ้ยข้อมูลต่อ และยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ในที่สุดชวนต้องประกาศยุบสภา 19 พ.ค. 2538 หนีการนัดลงมติไม่ไว้วางใจ กลายเป็น "ฝันร้าย" ของ ปชป. เรื่อยมา ขณะที่สุเทพแม้ไม่เคยถูกฟ้องดำเนินคดีในชั้นศาลเกี่ยวกับกรณี ส.ป.ก. 4-01 แต่ก็ทำให้กรณี ส.ป.ก. กลายเป็นเรื่องบาดใจเขามาโดยตลอด

สุเทพ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เมื่อมีประเด็นเรื่อง ส.ป.ก. ชื่อของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ต้องมา

อีกคนคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี อดีตผู้ครอบครองบ้านพักบนที่ดินเขายายเที่ยง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งถูกแจ้งความดำเนินคดีเมื่อ 10 ต.ค. 2550 ในข้อหาบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเขายายเที่ยง หลังมีหลักฐานปรากฏว่า พ.อ.หญิง คุณหญิงจิตรวดี จุลานนท์ ภริยาของ พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นผู้ยื่นเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) ในที่ดินแปลงนี้ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา

การแจ้งความดำเนินคดีกับ พล.อ.สุรยุทธ์กับพวกรวม 4 คน เกิดขึ้นหลังนายพลรายนี้ลาออกจากตำแหน่งองคมนตรีมารับตำแหน่งนายกฯ โดยมีแนวร่วมคนเสื้อแดงเป็นผู้ยื่นฟ้อง และมีการจัดเวทีปราศรัยโจมตี พล.อ.สุรยุทธ์ ณ ตีนเขายายเที่ยง

สปก.

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ร่วมพิธีเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 โดยเชื่อมระหว่างบ้านบูเก๊ะตา อ. แว้ง จ. นราธิวาส กับ บ้านบูกิตบุหงา รัฐกลันตัน มาเลเซีย เมื่อ ธ.ค. 2550

ท้ายที่สุดสุดทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการมีความเห็นตรงกัน "สั่งไม่ฟ้อง" พล.อ.สุรยุทธ์ เมื่อ 16 พ.ย. 2552 คดีจึงถือเป็นที่สิ้นสุด โดยให้เหตุผลว่า "ขาดเจตนากระทำผิดตามข้อกล่าวหา"

อัยการระบุว่า ที่ดินบนเขายายเที่ยงแปลงในครอบครองของ พล.อ.สุรยุทธ์ เดิมเป็นของนายเบ้า สินนอก และบุตรเขย ซึ่งเข้าไปทำไร่มันสำปะหลัง ละหุ่ง และข้าวโพด โดยไม่ทราบว่าเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวน ต่อมาวันที่ 29 เม.ย. 2518 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กรมป่าไม้ปรับปรุงป่าสงวนแหล่งนี้เพื่อจัดสรรให้ราษฎรทำกินครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งนายเบ้าและบุตรเขยก็ได้รับจัดสรรด้วย มีการเสียภาษี ภ.บ.ท.5 มาตลอด ก่อนที่ขายที่ต่อให้นายนพดล พิทักษ์วาณิชย์ ในปี 2538 และเปลี่ยนไปอยู่ในมือ พ.อ.สุรฤทธิ์ จันทราทิพย์ ปี 2540-2545 และกลายมาเป็นบ้านพักของ พล.อ.สุรยุทธ์

เรื่องราวทั้งหมดจบลงเมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ตัดสินใจคืนที่ดินให้กรมป่าไม้ เมื่อ ก.พ. 2553