ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

ผู้ชุมนุมดันตำรวจ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ "ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง" ในเขตกรุงเทพฯ รวมทั้งประกาศและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง

ข้อความในประกาศฉบับนี้ระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เพื่อใช้มาตรการเร่งด่วนตามพระราชกาหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เข้าระงับยับยั้งการกระทำอันกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ควบคุมและแก้ไขความปั่นป่วนวุ่นวายซึ่งนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 นั้น

โดยที่ปรากฏว่า ปัจจุบันเหตุการณ์ร้ายแรงอันเป็นเหตุให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้คลี่คลายความรุนแรงและยุติลง โดยอยู่ในภาวะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐสามารถดาเนินการบังคับใช้มาตรการตามที่กาหนดในกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตามปกติแล้ว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคสาม และมาตรา 11 วรรคสาม แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ข้อ 2 บรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง ที่ออกตามพระราชกาหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเนื่องจากได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป ลงชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนี้มีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศผ่านโทรทัศน์ร่วมการเฉพาะกิจเมื่อเวลา 19.00 น. วานนี้ (21 ต.ค.) ว่าเขาเตรียมจะยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเร็ว ๆ นี้ "ยกเว้น หากมีสถานการณ์รุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น" เพื่อส่งสัญญาณว่ารัฐบาลพร้อมที่จะ "ถอยคนละก้าว" ตามที่เขาเรียกร้องทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค. ไปเป็นวันที่ 30 พ.ย.

คำบรรยายวิดีโอ, นายกฯ แถลงการณ์ (21 ต.ค.)

ศาลแพ่งรับฟ้องคดี 6 นศ. ฟ้องนายกฯ ให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ในเวลาใกล้เคียงกันวันนี้ (22 ต.ค.) ศาลแพ่งมีคำสั่งรับฟ้องในคดีที่นิสิตนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 คนยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง กรณีละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็น และขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

แต่ศาลแพ่งได้งดไต่สวนฉุกเฉินและยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเนื่องจากนายกฯ ได้ประกาศให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงสิ้นสุดลงตั้งแต่ 12.00 น. วันนี้ (22 ต.ค.) ทำให้เหตุในการขอใช้วิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาและคำขอในกรณีฉุกเฉินของโจทก์ทั้งหกสิ้นสุดลง

เมื่อวานนี้ (21 ต.ค.) เครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน 8 องค์กรได้นำนิสิตนักศึกษาจากจุฬาฯ และ มธ. ทั้ง 6 คนซึ่งถือเป็นตัวแทนประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมสาธารณะเข้ายื่นฟ้องจำเลย 3 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ขอให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และประกาศคำสั่งทั้งหมดของกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.)

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ศาลแพ่งได้ดำเนินการไต่สวนฉุกเฉินและนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาวันนี้ (22 ต.ค.)

ทนายความให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหน้าศาลแพ่ง

ที่มาของภาพ, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

คำบรรยายภาพ, นิสิตนักศึกษาจุฬาฯ-มธ. 6 คนที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ พล.อ. ประวิตร และ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แถลงข่าวพร้อมทนายความจากเครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชนหลังจากยื่นฟ้องคดีเมื่อ 21 ต.ค.

เปิดคำฟ้อง

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินการยื่นฟ้องคดีนี้สรุปประเด็นสำคัญของคำฟ้องไว้ ดังนี้

  • สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมสาธารณะ การเดินทาง การติดต่อสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการจัดการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ล้วนเป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและหลักสากลตามกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
  • การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร มีผู้ร่วมชุมนุมส่วนมากเป็นเด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบหรือมีอาวุธ ไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีเหตุการณ์จลาจลหรือเป็นภยันตรายที่กระทบต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของประชาชนเป็นส่วนรวม
  • การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่ออกมา แม้จะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารก็ตาม แต่ฝ่ายบริหารจะต้องใช้ดุลพินิจภายใต้ข้อเท็จจริงและถูกต้อง มิใช่ใช้อำนาจและดุลพินิจได้ตามอำเภอใจ
ตำรวจใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำผสมสารเคมใส่ผู้ชุมนุมบน ถ.พระราม 1 ในค่ำวันที่มีการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน 16 ต.ค.

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ตำรวจใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำผสมสารเคมใส่ผู้ชุมนุมบน ถ.พระราม 1 ในค่ำวันที่มีการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน 16 ต.ค.
  • การใช้อำนาจของนายกฯ รองนายกฯ และ ผบ.ตร. ได้แก่ การสลายการชุมนุม การประกาศปิดสถานที่หรืออาคารสถานีของระบบขนส่งมวลชนหรืออาคารอื่น ๆ การจับกุมควบคุมตัวประชาชน สื่อมวลชน บุคลากรทางการแพทย์ นักเรียน นิสิตนักศึกษาแบบสุ่มหรือโดยไม่มีเหตุโดยชอบด้วยกฎหมาย การปิดทางสัญจรของประชาชนและของรถพยาบาล การห้ามไม่ใช้ใช้วิทยุ โทรคมนาคม โทรศัพท์ เครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในการเสนอข่าวสาร ภาพ เสียง หรือข้อเท็จจริงต่าง ๆ การสั่งให้ระงับการออกอากาศหรือการเผยแพร่ขอ้มูลข่าวสารของสำนักข่าว เป็นการจงใจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อสกัดกั้นมิให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมุนมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รวมทั้งสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และมีแนวโน้มจะทวีความเข้มข้นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
  • ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอน 1) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ซึ่งออกตามความแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยทันที และ 2)บรรดาประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และห้ามมิให้นำมาตรการคำสั่ง และการกระทำใด ๆ มาใช้กับผู้ชุมนุมอีกต่อไป

"ยกเลิก" ไม่เท่ากับ "เพิกถอน"

นายสุรชัย ตรงงาม เครือข่ายทนายความสิทธิจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (เอ็นลอว์) ซึ่งเป็นทนายความโจทก์ที่ยื่นฟ้องคดีนี้ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กทางการของมเอ็นลอว์ว่า การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ มีผลไม่เท่ากับการเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ ตามที่โจทก์ได้มีคำขอให้ศาลพิพากษา เนื่องจากการยกเลิกยังทำให้รัฐอ้างได้ว่า การออกประกาศคำสั่งและดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การฉีดน้ำสารเคมีสลายการชุมนุม การจับกุมนักศึกษาและประชาชน ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. จนถึงก่อนที่จะมีการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นมีอำนาจทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

"ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดำเนินคดีต่อไปเพื่อให้ศาลได้ตรวจสอบและวินิจฉัยว่าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น และรัฐต้องมีการเยียวยาความเสียหาย โดยการเพิกถอนหมายจับและปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่โดนข้อหาฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินฯ โดยทันที ส่วนข้อหาอาญาอื่น ๆ หากเกี่ยวข้องกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ต้องยุติการดำเนินคดีโดยทันที" นายสุรชัยกล่าว