ชุมนุม 8 พ.ย.: กลุ่มราษฎรตั้งตู้ไปรษณีย์จำลองใกล้พระบรมมหาราชวัง ส่ง "ราษฎรสาส์น" ถึงรัชกาลที่ 10

จดหมายจำลองถึงกษัตริย์วชิราลงกรณ์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" ถูกตำรวจฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสกัดไม่ให้เคลื่อนขบวนเข้าใกล้พระบรมมหาราชวัง แต่ยังคงเดินหน้าผลักดันแนวกั้นของตำรวจจนสามารถนำตู้ไปรษณีย์จำลองไปตั้งบริเวณหน้าศาลหลักเมือง ถ.ราชดำเนินใน เพื่อให้ผู้ชุมนุมนำจดหมายที่เขียนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปหย่อน ก่อนรวบรวมส่งสำนักพระราชวัง

การชุมนุมของกลุ่มราษฎรในวันนี้ (8 พ.ย.) เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงบ่าย แม้ว่าแกนนำจะประกาศนัดหมายในเวลา 16.00 น. ก็ตาม กิจกรรมสำคัญคือการให้ผู้ชุมนุมเขียนจดหมายหรือที่ผู้จัดการชุมนุมเรียกว่า "ราษฎรสาส์น" เพื่อส่งถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ขณะที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองซึ่งรวมตัวกันในนาม "ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน" รวมตัวกันที่อีกฝั่งหนึ่งของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่เวลา 14.00 น. เพื่อ "เฝ้าระวังการจาบจ้วงก้าวล่วงสถาบันของกลุ่มราษฎร 63" แต่ได้สลายตัวไปในเวลา 16.00 น. โดยไม่เกิดเหตุปะทะกับกลุ่มราษฎรอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

การชุมนุมของประชาชนทั้งสองกลุ่มในวันนี้ ทำให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลระดมกำลังตำรวจมากถึง 59 กองร้อย หรือ 9,145 นาย มาควบคุมสถานการณ์

คำบรรยายวิดีโอ,

ราษฎรสาส์น vs. ประชาสาส์น

เปิดจดหมายของ "ราษฎร"

ผู้ชุมนุมในวันนี้ต่างร่วมกิจกรรมเขียนจดหมายถึงกษัตริย์อย่างคึกคัก โดยผู้จัดการชุมนุมมีการแจกซองที่สกรีนคำว่า "เรารักในหลวง" โดยมีวลีต่อท้ายเช่น "ที่ให้เราตรวจสอบได้" "ที่ต่อต้านความรุนแรง"

หญิงชาว จ.นครปฐม วัย 50 ปี เขียนจดหมายด้วยลายมือแล้วฝากให้ผู้ชุมนุมส่งถึงพระมหากษัตริย์

เธอเขียนว่า "งบประมาณที่ได้จากภาษีประชาชน ส่วนใหญ่เอาไปใช้กับส่วนราชการและส่วนของสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งจ่ายดอกเบี้ยที่มีหนี้ประเทศ งบที่จะมาพัฒนาหรือเป็นรัฐสวัสดิการให้ประชาชนแทบจะไม่เหลือแล้ว หรือมีก็จะให้เฉพาะเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น ไม่มีให้จังหวัดเล็ก ๆ ที่ไกลปืนเที่ยงเลย ที่เหลื่อมล้ำมาก ๆ"

จดหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 5 ข้อ เนื้อความโดยรวมกล่าวถึง ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจน การเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม และการไม่มีรัฐสวัสดิการ ที่ทำให้ประชาชนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นข้าราชการใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ทว่าภาษีส่วนใหญ่ที่ประชาชนเสียไป กลับถูกใช้ไปกับส่วนราชการและสถาบันกษัตริย์

จดหมายขนาดใหญ่ที่ผู้ชุมนุมถือ

ที่มาของภาพ, Thanyaporn Buathong/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

"จดหมาย" ขนาดใหญ่ที่ผู้ชุมนุม 2 คนควักเงินส่วนตัวจัดทำมาในราคา 1,400 บาท เพื่อร่วมกิจกรรมส่ง "ราษฎรสาส์น" ถึงกษัตริย์

ขณะที่ชายหนุ่มวัย 24 ปี 2 คนเดินถือจดหมายยักษ์ขนาด 1 เมตร จ่าหน้าถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเนื้อความในจดหมายระบุข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่ม "ราษฎร" ได้แก่ ประยุทธ์ต้องลาออก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และปฏิรูปสถาบันฯ

พวกเขาใช้เงินส่วนตัวจำนวน 1,400 บาทผลิตจดหมายนี้ขึ้นเพราะเห็นว่ากลุ่มราษฎรยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาลมาระยะหนึ่งแล้วแต่ไม่เป็นผล จึงต้องการบอกให้พระมหากษัตริย์รับทราบข้อเรียกร้องของประชาชนด้วย

"เป็นข้อเรียกร้องที่อยากให้สถาบันฯ ได้รับรู้ว่า ประชาชนต้องการอะไร" ผู้ชุมนุมที่เป็นเจ้าของจดหมายกล่าว

ป้ายไวนิลขนาดใหญ่เป็นรูปซองจดหมายถึงกษัตริย์วชิราลงกรณ์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ผุ้ชุมนุมเขียนจดหมายถึงกษัตริย์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เขียนจดหมาย "เพื่อให้รู้ว่าเรามีตัวตน"

ภายหลังผู้ประสานงานกลุ่ม "ราษฎร" ได้แจกกระดาษและซองจดหมายให้แก่ผู้ชุมนุมเพื่อเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ บีบีซีไทยพูดคุยกับแนวร่วมการชุมนุมอย่างน้อย 5 คนที่รวมเขียนจดหมายในครั้งนี้

หลายคน "ไม่มั่นใจ" ว่าจดหมายจะไปถึงปลายทาง และหลายคนบอกว่าโอกาสที่จดหมายจะไปถึงพระเนตรเป็นเรื่องที่ "เป็นไปไม่ได้" แต่พวกเขายังยืนยันถึงเหตุผลความจำเป็นในการร่วมส่ง "ราษฎรสาส์น" ในวันนี้

นักเรียนหญิงชั้น ม.3 ซึ่งเดินทางมาพร้อมผู้ปกครอง มีโอกาสเขียนจดหมายฉบับแรกในชีวิตในวันนี้ เพราะ "ต้องการเขียนส่งไปเพื่อให้รู้ว่าพวกเรามีตัวตน และเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ ก็มีอยู่จริง"

ผู้ชุมนุมถือจดหมายที่เขียนถึงในหลวง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ขณะที่สไตลิสต์ชาย วัย 38 ปี เตรียมข้อความที่จะสื่อสารมาในสมาร์ทโฟนตั้งแต่ค่ำวานนี้ ก่อนคัดลอกมันลงกระดาษเขียนจดหมาย

"การเขียนจดหมายคือการระบายสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจ ผมมองว่าพลังของการสื่อสารครั้งนี้อยู่ที่การเอาความจริงมาพูดกัน ไม่มั่นใจว่าจะไปถึงไหม แต่หวังว่าจะมีผู้รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ให้รับทราบ"

เคลื่อนขบวนไปสำนักพระราชวัง

เวลาประมาณ 17.50 น. ผู้จัดการชุมนุมประกาศกับมวลชนพร้อม ๆ กับเผยแพร่ข้อความที่เฟซบุ๊กกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" ว่าจะเคลื่อนขบวนไปที่สำนักพระราชวัง ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวังเพื่อนำจดหมายที่ประชาชนเขียนไปส่งที่นั่น พร้อมกับมีการนำตู้ไปรษณีย์จำลองขนาดใหญ่ 4 ตู้ และป้ายไวนิลขนาดยักษ์ตกแต่งเป็นรูปซองจดหมายระบุชื่อผู้ส่ง "ราษฎร" และชื่อผู้รับ "วชิราลงกรณ์" มาเดินนำขบวน จำนวนผู้ชุมนุมที่มีเป็นจำนวนมากทำให้การจราจรทั้ง 7 ช่องทางถูกปิดไปโดยปริยาย

เวลาประมาณ 18.20 น. หัวขบวนผู้ชุมนุมเดินทางมาถึง ถ.ราชดำเนินใน บริเวณหน้าศาลฎีกา

ขณะที่มีการระดมการ์ดอาสา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายไปยืนตั้งแถวเป็นแนวหน้าสุดของขบวน แต่ผู้ชุมนุมก็ไม่สามารถเคลื่อนขบวนต่อไปได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำรถโดยสารประจำทางอย่างน้อย 3 คันมากีดขวางถนนไว้ ผู้ชุมนุมบางส่วนจึงช่วยกันดันรถโดยสารประจำทางคันหนึ่งเพื่อช่องเปิดช่องทาง แต่กลับพบว่ามีรถกีดขวางอีกหลายชั้น และในจำนวนนี้มีรถฉีดน้ำแรงดันสูงรวมอยู่ด้วย

ขณะที่ผู้ชุมนุมพยายามจะฝ่าแนวกั้นตำรวจเพื่อเดินทางต่อไปยังสำนักพระราชวังนั้นเอง ตำรวจได้เริ่มฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ฝูงชน จนผู้ชุมนุมพากันแตกตื่น วิ่งหลบน้ำคนละทิศคนละทาง และเกิดเสียงก่นด่าตำรวจรอบทิศทาง

ตำรวจฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม

ที่มาของภาพ, Getty Images

ตำรวจฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม

ที่มาของภาพ, Getty Images

อย่างไรก็ตามการฉีดน้ำเกิดขึ้นในเวลาสั้น ๆ ก่อนที่ตำรวจจะประกาศว่าจะมีการเจรจา และจะไม่มีการฉีดน้ำอีกต่อไป และยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศผ่านโทรโข่งว่า "ขอโทษครับ เมื่อสักครู่ผิดพลาด" ทำให้ผู้ชุมนุมโห่ร้องแสดงความไม่พอใจ

หลังจากนั้นผู้จัดการชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เจรจากันอยู่พักใหญ่ ขณะที่ผู้ชุมนุมลำเลียงร่มและอุปกรณ์ป้องกันตัวส่งไปให้ผู้ที่แนวหน้าเป็นระยะ ๆ เนื่องจากหวั่นว่าเจ้าหน้าที่จะฉีดน้ำเข้าใส่อีก

ผบช.น. ขอโทษผู้ชุมนุม

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงต่อผู้ชุมนุมชี้แจงเหตุการณ์ที่มีการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมว่า เป็นการสั่งการของ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 ในฐานะผู้บัญชาการควบคุมสถานการณ์

"เจตนาของท่าน ท่านไม่อยากให้เหตุการณ์ลุกลาม ก็เกรงว่าพี่น้องจะมีกระทบกระทั่งกันและเกิดอันตราย ผมในฐานะผู้บังคับบัญชา สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้พี่น้องเข้าใจผิดและเกิดเหตุรุนแรง ก็ขอโทษด้วยนะครับ" ผบช.น. กล่าว

แถลงการณ์ราษฎรระบุ "กษัตริย์มิอาจเลือกที่รักมักที่ชัง"

เวลาประมาณ 20.00 น. ผู้ชุมนุมได้พยายามเคลื่อนรถประจำทางออกเพื่อเปิดทาง และสามารถนำตู้ไปรษณีย์จำลองไปตั้งไว้บริเวณหน้าศาลหลักเมืองได้ จากนั้นแกนนำจึงอ่านแถลงการณ์และประกาศให้ผู้ชุมนุมนำจดหมายที่ตัวเองเขียนขึ้นมาหย่อนในตู้ไปรษณีย์

แถลงการณ์ของกลุ่มราษฎรมีใจความสำคัญว่า สามัญชนอาจเลือกได้ว่าจะอยู่ท่ามกลางผู้ที่รักและศรัทธา แต่ "กษัตริย์มิอาจทำเช่นนั้น ด้วยกษัตริย์มิอาจเลือกที่รักมักที่ชัง ราษฎรไม่ว่าจะรักและศรัทธากษัตริย์มากน้อยเพียงใด ย่อมเป็นที่รักของกษัตริย์ผู้ซึ่งต้องคำนึงถึงหลักสิทธิ เสรีภาพ และความบริสุทธิ์ยุติธรรม"

แถลงการณ์ราษฎรยังระบุด้วยว่า เมื่อกษัตริย์ฟังคำสรรเสริญเยินยอได้ ก็จำเป็นต้องสดับรับฟังคำเตือนและข้อเสนอแนะ พร้อมย้ำด้วยว่า 3 ข้อเรียกร้องของพวกเขา "เป็นการประนีประนอมที่สุดแล้ว"

หลังจากนั้นได้เปิดให้ประชาชนทยอยนำ "ราษฎรสาส์น" ไปหย่อนที่ตู้จดหมายจำลองแล้วจึงแยกย้ายกันกลับ

แกนนำประกาศยุติการชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 20.55 น.

รวบรวมจดหมายส่งสำนักพระราชวัง

น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำ "ราษฎร" กล่าวกับสื่อมวลชนหลังยุติการชุมนุมว่า จดหมายที่ราษฎรนำมาหย่อนที่ตู้ไปรษณีย์จำลองคืนนี้ ทางผู้จัดชุมนุมจะรวบรวมและนำส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งส่วนตัวคาดว่าจะเป็นสำนักพระราชวัง แต่จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งถึงมือของผู้แทนสำนักพระราชวังโดยตรงหรือไม่ ต้องดูว่าประชาชนต้องการอย่างไรและรัฐบาลมีท่าทีอย่างไรด้วย

น.ส. ภัสราวลีระบุว่าข้อความหลักที่ต้องการสื่อสารถึงสถาบันฯ คือข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ และย้ำว่าข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ไม่ใช่การล้มล้างสถาบัน ส่วนเหตุที่ต้องส่งจดหมายถึงกษัตริย์เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม

"เราหมดหวังที่จะเรียกร้องกับรัฐบาล เราเลยต้องขอให้ประมุขของประเทศนี้ มองเห็นข้อเรียกร้องของประชาชน"

น.ส. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ จากกลุ่มเยาวชนปลดแอก นำจดหมายไปหย่อนในตู้ไปรษณีย์จำลอง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

น.ส. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ จากกลุ่มเยาวชนปลดแอก นำจดหมายไปหย่อนในตู้ไปรษณีย์จำลอง

ตร. ย้ำฉีดน้ำเพื่อส่งสัญญาณเตือน

เวลาประมาณ 21.00 น. พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงข่าวถึงผลการดำเนินการหลังการดูแลความเรียบร้อยของการชุมนุมในวันนี้

พ.ต.อ. กฤษณะกล่าวว่า การชุมนุมและการเคลื่อนขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมในวันนี้ไม่ได้ขออนุญาตล่วงหน้า ถือว่าผิด พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยเจ้าหน้าที่ได้เก็บหลักฐานมาตั้งแต่ช่วงบ่ายที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้เริ่มรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยรวมทั้งการเคลื่อนขบวนมายังบริเวณด้านหน้าศาลฏีกา

"เมื่อมีการประกาศหลายครั้ง และมีการเจรจาต่อรองแล้ว แต่ไม่เป็นผลเจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางแนวทางเอาไว้ คือการใช้น้ำฉีดเพื่อเป็นการเตือนว่าตรงนี้เป็นการตั้งแนวเขตแนวที่สอง" พ.ต.อ. กฤษณะกล่าวและอธิบายว่าการฉีดน้ำในวันนี้เป็น "การฉีดตามยุทธวิธี" เป็นน้ำเปล่า ไม่ได้มุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายหรือให้เกิดความเสียหายให้กับทรัพย์สิน

รองโฆษก ตร.กล่าววอีกว่า หากว่าดูตามแนววิถีที่ฉีด เป็นการโปรยน้ำออกมาเพื่อเป็นการเตือนถึงจุดที่จะต้องมีบังคับใช้กฎหมาย ที่สำคัญคือมีการแจ้งเตือนประสานงาน รวมทั้งต่อรองกับผู้ชุมนุมโดยตลอด

ส่วนในเรื่องการออกมาขอโทษผู้ชุมนุมนั้น ก็เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย