หลุมอุกกาบาตเก่าแก่ที่สุดในโลก เผยร่องรอยการชนละลายน้ำแข็งยุค "ลูกบอลหิมะ"

ภาพจากฝีมือศิลปินจำลองสภาพของโลกที่มีน้ำแข็งปกคลุมทั่วทั้งใบ หรือ "โลกยุคลูกบอลหิมะ" (Snowball Earth)

ที่มาของภาพ, SCIENCE PHOTO LIBRARY / COSMOS

คำบรรยายภาพ, ภาพจากฝีมือศิลปินจำลองสภาพของโลกที่มีน้ำแข็งปกคลุมทั่วทั้งใบ หรือ "โลกยุคลูกบอลหิมะ" (Snowball Earth)

นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าหลุมอุกกาบาตยาร์ราบับบา (Yarrabubba) ที่ออสเตรเลีย ซึ่งมีอายุถึง 2.2 พันล้านปีนั้น เป็นหลุมอุกกาบาตที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และอาจจะเป็นร่องรอยการชนที่ทรงพลังมหาศาล จนทำให้อากาศอุ่นขึ้นและน้ำแข็งที่ปกคลุมโลกทั้งใบในยุค "ลูกบอลหิมะ" (Snowball Earth) ละลายตัวลง

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคอร์ทิน (Curtin University) ของออสเตรเลีย ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร Nature Communications ฉบับล่าสุด โดยระบุว่าหลุมอุกกาบาตยาร์ราบับบาที่มีการค้นพบเมื่อปี 1979 ในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดารของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย มีความเก่าแก่คิดเป็นถึงครึ่งหนึ่งของอายุโลก

แม้ในปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาจะทำให้ไม่สามารถมองเห็นหลุมอุกกาบาตโบราณได้ด้วยตาเปล่า แต่นักวิทยาศาสตร์ตรวจวัดร่องรอยความเปลี่ยนแปลงในสนามแม่เหล็กของบริเวณนั้นแล้วพบว่า หลุมอุกกาบาตดังกล่าวมีขนาดมโหฬาร โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 70 กิโลเมตร

A marked photograph and map of the crater in Western Australia

ที่มาของภาพ, CURTIN UNIVERSITY

คำบรรยายภาพ, หลุมอุกกาบาต "ยาร์ราบับบา" อยู่ห่างจากเมืองเพิร์ทไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 600 กม.

นอกจากนี้ ยังพบชั้นหินที่มีลักษณะพิเศษในบริเวณหลุมอุกกาบาตอีกด้วย โดยผลการวิเคราะห์ปริมาณยูเรเนียมในผลึกของเพทาย (zircon) และแร่โมนาไซต์ (monazite) ชิ้นเล็ก ๆ ที่พบในชั้นหินดังกล่าว ยืนยันว่าหลุมอุกกาบาตนี้มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกจริง โดยเก่ากว่าหลุมอุกกาบาต Vredefort Dome ในแอฟริกาใต้ถึง 200 ล้านปี

ศาสตราจารย์ คริส เคิร์กแลนด์ ผู้นำทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเคอร์ทินยังชี้ว่า การชนของอุกกาบาตที่ทำให้เกิดแอ่งหลุมขนาดยักษ์นี้ อาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ยุคน้ำแข็งครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของโลกสิ้นสุดลง โดยช่วงเวลาที่เกิดการชนประจวบเหมาะกับตอนที่น้ำแข็งซึ่งปกคลุมโลกทั้งใบในยุค "ลูกบอลหิมะ" (Snowball Earth) เริ่มละลายตัว และโลกมีสภาพอากาศอบอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็ว

A shocked zircon crystal used to date the Yarrabubba impact. The margin (pink) re-crystallised during impact, leaving the inner core (blue) intact.

ที่มาของภาพ, CURTIN UNIVERSITY

คำบรรยายภาพ, ผลึกของเพทาย (zircon) ช่วยชี้ให้ทราบถึงอายุที่แท้จริงของหลุมอุกกาบาตยาร์ราบับบา

ผลการคำนวณด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์พบว่า อุกกาบาตได้ชนทะลุแผ่นน้ำแข็งที่จับตัวหนาบนพื้นผิวโลกถึง 1 กิโลเมตร ทำให้มีการปลดปล่อยไอน้ำและก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั่วโลกอย่างฉับพลัน

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โลกในช่วงบรมยุคโพรเทอโรโซอิก (Proterozoic) เมื่อ 2,500 ล้าน - 542 ล้านปีก่อน มีอากาศร้อนขึ้นและเริ่มมีออกซิเจนปรากฏในชั้นบรรยากาศ แต่ยังไม่มีมีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตแบบซับซ้อนเกิดขึ้น

A view of the Yarrabubba crater looking west from Barlangi Rock, an outcrop of impact melt rock near the centre of the crater

ที่มาของภาพ, TIMMONS ERICKSON

คำบรรยายภาพ, บริเวณที่ยังมีร่องรอยของหลุมอุกกาบาตหลงเหลืออยู่

"มีความเป็นได้เช่นกันว่า โลกถึงคราวสิ้นสุดยุคลูกบอลหิมะเมื่อราวสองพันล้านปีก่อน เพราะเกิดเหตุภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้มีคาร์บอนไดออกไซด์สะสมในชั้นบรรยากาศมากขึ้น แต่การค้นพบของเรามีความลงตัวในเรื่องเส้นเวลาทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน ทำให้น่าสนใจอย่างยิ่ง" ศ. เคิร์กแลนด์กล่าว