รัฐในอินเดียพบเด็กจำนวนมากเสียชีวิตจากอาการไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ

Children suffering from fever in UP hospital in August 2021
คำบรรยายภาพ, รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐอุตตรประเทศมีผู้เสียชีวิตจากอาการไข้สูงอย่างน้อย 50 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็ก
  • Author, สุทิก พิศวาส
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำอินเดีย

เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์มาแล้วที่เด็กในหลายพื้นที่ของรัฐอุตตรประเทศทางภาคเหนือของอินเดียตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการไข้สูงและเนื้อตัวชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อ

เด็กหลายคนระบุว่ามีอาการปวดตามข้อ ปวดศีรษะ มีภาวะร่างกายขาดน้ำ และคลื่นไส้ ในบางรายเกิดผื่นขึ้นตามแขนและขา

จนถึงบัดนี้มีผู้เสียชีวิตจาก "ไข้ปริศนา" นี้แล้วอย่างน้อย 50 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็ก และยังมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการลักษณะเดียวกันอีกหลายร้อยคนใน 6 พื้นที่ทางตะวันออกของรัฐอุตตรประเทศ

จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีผู้เสียชีวิตคนใดที่ติดเชื้อโรคโควิด-19

ขณะนี้ดูเหมือนว่าอินเดียจะค่อย ๆ ฟื้นตัวจากการระบาดระลอกที่สองของโควิด-19 แต่การเสียชีวิตจากอาการป่วยปริศนาที่เกิดขึ้นก็ทำให้สื่อมวลชนในท้องถิ่นต่างพาดหัวข่าวกันอย่างตื่นตระหนกเกี่ยวกับ "ไข้ปริศนา"ที่ระบาดไปในเขตชนบทของรัฐที่มีประชากรมากที่สุดในอินเดียแห่งนี้

ตัวการสำคัญคืออะไร

แพทย์ในท้องที่ที่ได้รับผลกระทบบางแห่ง เช่น อัครา, มถุรา, เมนปุรี, อีตาห์, กัสกานจ์ และฟิโรซาบัด เชื่อว่าไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงเป็นพาหะ อาจเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น

แพทย์ระบุว่า ผู้ป่วยหลายคนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ถึงโรคไข้เลือดออกรุนแรง

พญ.นีตา กุลเศรษฐา เจ้าหน้าที่แพทย์อาวุโสที่สุดของเมืองฟิโรซาบัด ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 40 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 32 คนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวว่า "คนไข้ โดยเฉพาะเด็ก [ที่เข้ารักษา] ในโรงพยาบาลเสียชีวิตเร็วมาก"

ไข้เลือดออกมียุงลายเพศเมียเป็นพาหะนำเชื้อ เป็นโรคประจำถิ่นในเขตร้อนชื้น และแพร่อยู่ในอินเดียมาหลายร้อยปีแล้ว ปัจจุบันพบโรคไข้เลือดออกในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก แต่ราว 70% ของผู้ติดเชื้ออยู่ในทวีปเอเชีย

2016/09/22: Patient suffering from Dengue being treated at Tej bahadur Sapru hospital (District Hospital) in Allahabad

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การระบาดของไข้เลือดออกเกิดขึ้นบ่อยในรัฐอุตตรประเทศ

เชื้อไวรัสเดงกีที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือกออกมีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ และเด็กมีโอกาสเพิ่มขึ้น 5 เท่าที่จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสนี้ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่า การระบาดของไข้เลือดออกเพียงอย่างเดียวจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากอาการไข้สูงจำนวนมากในรัฐอุตตรประเทศครั้งนี้หรือไม่

รัฐอุตตรประเทศมีประชากรกว่า 200 ล้านคน โดยมากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีสุขอนามัยต่ำ มีปัญหาเด็กขาดสารอาหารในระดับสูง และขาดแคลนระบบสาธารณสุข ที่นี่มักรายงานการพบ "ไข้ปริศนา" หลังฤดูมรสุมทุก ๆ 2 ปี

การระบาดของโรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese encephalitis หรือ JE) ซึ่งเป็นอีกโรคที่มียุงเป็นพาหะนั้น มีรายงานการพบครั้งแรกในรัฐอุตตรประเทศเมื่อปี 1978 และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 6,500 คนนับแต่นั้น

โรคนี้มักพบการระบาดในพื้นที่โครัขปุระ ทางตะวันออกของรัฐอุตตรประเทศ และพื้นที่ข้างเคียงที่อยู่ติดเชิงเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นที่ต่ำและมักเกิดน้ำท่วมที่เหมาะสมต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงที่เป็นพานะนำโรคนี้

โครงการให้วัคซีนที่เริ่มขึ้นในปี 2013 ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบเจอีลดลง แต่ยังคงมีเด็กเสียชีวิตจากโรคนี้อย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้อยู่ที่อย่างน้อย 17 คน และมีผู้ติดเชื้อ 428 คน

เมื่อปี 2014 ซึ่งมีเด็กเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากโรคไข้สมองอักเสบเจอี และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) นักวิทยาศาสตร์จึงตรวจเด็กที่มีอาการป่วย 250 คนในพื้นที่โครัขปุระ และพบว่าในจำนวนนี้ 160 คนมีแอนติบอดี หรือสารภูมิต้านทานต่อเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคไข้รากสาดใหญ่ (scrub typhus)

Many of the child victims who died in Gorakhpur were suffering from encephalitis

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, มีเด็กหลายคนเสียชีวิตจากโรคไข้สมองอักเสบเจอีในอำเภอโครัขปุระ

โรคไข้รากสาดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง จากการถูกตัวไรอ่อนกัด

ตัวไรอ่อนมักอาศัยอยู่ตามป่ารกชัฏในหมู่บ้านช่วงหลังฤดูมรสุม นักวิทยาศาสตร์พบตัวไรอ่อนอยู่ตามไม้ฟืนที่ชาวบ้านเก็บไว้ในบ้าน และบ่อยครั้งที่โรคไข้รากสาดใหญ่มักแพร่กระจายเวลาที่เด็กหยิบจับไม้ฟืนในบ้าน หรือระหว่างการออกไปขับถ่ายตามพุ่มไม้ที่มีตัวไรอ่อนอาศัยอยู่

ในงานวิจัยอีกชิ้น นักวิทยาศาสตร์พบว่า โรคไข้รากสาดใหญ่ และไข้เลือดออกเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้ป่วยด้วยอาการไข้ขึ้นสูงใน 6 พื้นที่ของรัฐอุตตรประเทศระหว่างปี 2015 - 2019

นอกจากนี้ โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่อันตรายถึงชีวิตอีกชนิดคือ โรคฉี่หนู (leptospirosis) ซึ่งแพร่จากสัตว์สู่คน และโรคชิคุนกุนยา (chikungunya) ซึ่งมียุงเป็นพาหะนั้น ต่างก็ทำให้เกิดอาการไข้สูงได้เช่นกัน

ศาสตราจารย์ วี ระวี ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาจากสถาบันสุขภาพจิตและประสาทวิทยาศาสตร์แห่งชาติของอินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาชิ้นหลังนี้ ระบุว่า "มีโรคที่ก่อให้เกิดอาการไข้สูงหลายชนิดที่กำลังแพร่อยู่ในภูมิภาคนี้หลังจากฤดูมรสุมสิ้นสุดลง คุณจะต้องเฝ้าจับตาโรคเหล่านี้อย่างมีระบบและให้การรักษา"

ไข้ปริศนาก่อนหน้านี้

เมื่อปี 2006 นักวิทยาศาสตร์ได้เคยตรวจสอบ "การระบาดปริศนา" ของเด็กหลายคนที่เสียชีวิตด้วยอาการไข้สูงในรัฐอุตตรประเทศ โดยครั้งนั้นพบว่าเด็กเสียชีวิตหลังจากกินฝักของต้นแคสเซีย (cassia) ซึ่งเป็นพืชสกุลราชพฤกษ์ที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของรัฐ

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า อาการอาหารเป็นพิษดังกล่าวเป็นผลมาจากความยากจน ความอดอยาก ความไม่รู้ และการที่เด็กเล่นโดยไม่มีผู้ปกครองดูแล เป็นต้น

คำบรรยายวิดีโอ, โควิด-19 : เด็กอินเดียเผชิญภาวะขาดสารอาหารท่ามกลางวิกฤตการระบาดใหญ่

ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเรื่องนี้ให้ละเอียดยิ่งขึ้น และมีการวิเคราะห์จีโนม หรือ โครงสร้างทางพันธุกรรมทั้งหมดเพื่อหาข้อสรุปว่า การระบาดครั้งล่าสุดของ "ไข้ปริศนา" นี้ เกิดจากโรคไข้เลือดออกเพียงอย่างเดียว หรือมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้จะต้องมีการฝึกอบรมสถานพยาบาลท้องถิ่นในการเก็บตัวอย่างของผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง เพื่อส่งไปวิเคราะห์จีโนมในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

นักไวรัสวิทยาชาวอินเดียคนหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยนามกล่าวว่า "ถ้าเราไม่ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเหมาะสม หลาย ๆ อย่างก็จะยังคงเป็นปริศนาต่อไป"