ผลการเลือกตั้ง 2562 : ศึกชิงเสียงตั้งรัฐบาล ยึด “ที่นั่งในสภา” หรือ “คะแนนมหาชน” ?

ที่มาของภาพ, wasawat lukharang/BBC Thai
- Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
- Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
การช่วงชิงกันเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นทันทีที่ทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต่างออกมากล่าวอ้างว่าตัวเองเป็น "ผู้ครองเสียงข้างมาก" ตามการตีความ "ฉันทามติ" ที่เป็นประโยชน์แก่พวกตัวเอง
พท. ในฐานะพรรคอันดับ 1 หิ้วว่าที่ ส.ส. เข้าสภาฯ ได้ 137 คน เปิดแถลงชิงการนำจัดตั้งรัฐบาลบ่ายวันที่ 25 มี.ค. โดยอ้างถึงประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ให้ "พรรคที่ได้ฉันทานุมัติให้มีที่นั่งในสภาฯ สูงสุดได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน"
2 ชั่วโมง 40 นาที หลังจากนั้น พปชร. ในฐานะพรรคอันดับ 2 หิ้ว ส.ส. เข้าสภาฯ ได้ราว 121 ชีวิต แต่ จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อยังไม่นิ่ง ได้กล่าวอ้างความชอบธรรม จากคะแนนมหาชน หรือ ป๊อบปูลาร์โหวต 7.9 ล้านเสียงที่เลือก พปชร. สูงสุดเป็นอันดับ 1 ว่าเป็นเพราะประชาชนให้ความไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้สมัครนายกฯ ในบัญชีของพรรค
"ไม่มีเหตุผลใดทั้งสิ้นที่ พปชร. จะไม่เคารพ พรรคยืนยันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ" สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการ พปชร. แถลง
นี่เป็นอีกครั้งที่ พรรคอายุ 6 เดือน พยายามสร้าง "ธรรมเนียมใหม่" ขึ้นมาในการเมืองไทย ก่อนวันเลือกตั้ง อุตตม สาวนายน หัวหน้า พปชร. เคยโยนหินถามทางไว้รอบหนึ่งว่า "เมื่อพรรคไหนหรือกลุ่มไหนที่รวบรวมเสียงได้อันดับ 1 ก็ควรจัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งถือเป็นกติกา ก็ควรจะเดินตามนั้น" จนถูกคนการเมืองขั้วตรงข้ามวิจารณ์ว่าเป็นการส่งสัญญาณตั้งรัฐบาลแข่งตั้งแต่ยังไม่รู้ยอด ส.ส. ที่แน่ชัด
การช่วงชิงกันจัดตั้งรัฐบาลของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ก่อให้เกิดข้อถกเถียงว่าใครควรมีสิทธิจัดรัฐบาลก่อน ระหว่างพรรคที่มี "ที่นั่งในสภาสูงสุด" แต่มีคะแนนมหาชนน้อยกว่า โดยอยู่ที่ 7.4 ล้านคะแนน กับพรรคที่มี "คะแนนมหาชนสูงสุด" ที่ 7.9 ล้านคะแนน แต่มีที่นั่งในสภาฯ น้อยกว่า

ย้อนสำรวจประเพณีปฏิบัติตั้งรัฐบาลในรอบ 20 ปี
บีบีซีไทยตรวจสอบ "ประเพณีปฏิบัติ" และ "มารยาททางการเมืองไทย" ในการเมืองหลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 พบว่าพรรคอันดับ 1 ที่ครองที่นั่งมากที่สุดในสภาฯ ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง
2554
- พรรคเพื่อไทย 15.74 ล้านเสียง
- พรรคประชาธิปัตย์ 11.43 ล้านเสียง
- รัฐบาลผสม 6 พรรค รวม 300 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคมหาชน, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคชาติพัฒนา, พรรคพลังชล
- ฝ่ายค้าน 5 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย, พรรครักประเทศไทย, พรรคมหาชน, พรรครักษ์สันติ
2550
- พรรคพลังประชาชน 14.07 ล้านเสียง
- พรรคประชาธิปัตย์ 14.08 ล้านเสียง
- รัฐบาลผสม 6 พรรค รวม 315 เสียง ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน, พรรคชาติไทย, พรรคเพื่อแผ่นดิน, พรรคมหาชน, พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา, พรรคประชาราช
- ฝ่ายค้านพรรคเดียวคือ พรรคประชาธิปัตย์
2548
- พรรคไทยรักไทย 18.99 ล้านเสียง
- พรรคประชาธิปัตย์ 7.21 ล้านเสียง
- รัฐบาลไทยรักไทยพรรคเดียว 377 เสียง
- ฝ่ายค้าน 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทย, พรรคมหาชน
2544
- พรรคไทยรักไทย 11.63 ล้านเสียง
- พรรคประชาธิปัตย์ 7.61 ล้านเสียง
- รัฐบาลผสม 3 พรรค รวม 286 เสียง ประกอบด้วย พรรคไทยรักไทย, พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติไทย แต่ต่อมา ทักษิณ ชินวัตร ได้ดึงพรรคเล็กและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ มาควบรวมภายใต้ ทรท. ทำให้ก่อนการเลือกตั้งปี 2548 มี ส.ส. ในสังกัด ทรท. ถึง 320 เสียง
นักวิชาการชี้อ้างระบอบปกครอง "ผิดฝาผิดตัว"
ด้านนักรัฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า "ระบอบประชาธิปไตยระบบผู้แทน" เป็นระบอบที่ถือเอา "ผู้แทนประชาชน" เป็นสำคัญ ไม่ใช่ "ระบอบประชาธิปไตยทางตรง" ที่ถือเอาการแสดงออกของตัวประชาชนโดยตรงเป็นสำคัญ การกล่าวอ้างถึงความชอบธรรมว่ามีคะแนนเสียงของประชาชนเลือก พปชร. โดยตรงมากกว่าพรรคอื่น จึงเป็น "การอ้างถึงระบอบการปกครองที่ผิดฝาผิดตัว"
ส่วนการกล่าวอ้างถึงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้มี "เทเสียงทิ้งน้ำ" ก็ถือเป็นคนละเรื่องเดียวกัน และชี้ให้เห็น "ข้อบกพร่องของระบบการจัดสรรปันส่วนผสมเอง" ที่คะแนนป๊อบปูลาร์โหวตไม่สอดคล้องกับจำนวน ส.ส.

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai
จาก "ประธานาธิบดีแบบลับ ๆ" ถึง 7.9 ล้านเสียงหนุน ประยุทธ์
นอกจากนี้ถ้าย้อนไปดูความเห็นของ ศ. พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยระบุเอาไว้เมื่อครั้งทำหน้าที่กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ในบรรยากาศหลังรัฐประหาร โดยมีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งใหม่จาก ส.ส. แบบเขตเดียวเบอร์เดียว และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เป็น เขตใหญ่เรียงเบอร์ และ ส.ส. แบบสัดส่วน เนื่องจากในช่วงปี 2544-2549 ที่ ทักษิณ ชินวัตร ครองอำนาจ มักมีการอ้างถึงประชาชน 19 ล้านเสียงที่โหวตให้พรรคของเขา
ศ. พิเศษ จรัญ วิจารณ์ระบบปาร์ตี้ลิสต์เอาไว้ว่า ไม่ใช่ช่องทางคนดี คนเก่ง แต่เป็นช่องทางของนายทุน, พรรคการเมืองไม่ใช่ "พรรคมหาชน" แต่กลายเป็น "พรรคนายทุน" และทำให้ ส.ส. ของระบบรัฐสภาถูกแอบอ้างเป็นฐานที่มานายกฯ ในลักษณะประมุขประเทศ ซึ่งก็คือ "ประธานาธิบดีแบบลับ ๆ"
แม้การเลือกตั้งปี 2562 จะมีการรื้อระบบอีกครั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่จัดทำในบรรยากาศหลังรัฐประหารเช่นกัน โดยเปลี่ยนมาใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม แม้ยังมี ส.ส. 2 ระบบทั้ง แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ทว่าบัตรเลือกตั้งหดเหลือใบเดียว แต่ถึงกระนั้นแกนนำ พปชร. ก็อ้างถึงคะแนนเสียง 7.9 ล้านเสียงเป็น "หลังพิง" ให้หัวหน้า คสช. ได้ครองอำนาจต่อไป
พท. วิจารณ์ พปชร. "เข้าเส้นชัยที่ 2 แต่จะขอรับเหรียญทอง"
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้เสนอตัวเป็นนายกฯ ในบัญชีของ พท. วิจารณ์การกระทำของ พปชร. ว่า "เข้าเส้นชัยเป็นที่ 2 แต่จะขอรับเหรียญทองบนแท่นที่ 1" ทว่าเธอก็ต้องเผชิญอุปสรรคในการเป็นหัวหอกจัดตั้งรัฐบาลของฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า "พรรคฝ่ายประชาธิปไตย" เมื่อไม่มีสถานะเป็น ส.ส. เนื่องจากพรรคต้นสังกัดของเธอไม่ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว
ล่าสุด พท. แจ้งสื่อมวลชนว่า เวลา 10.00 น. ของ 27 มี.ค. จะแถลงข่าวเรื่อง "พรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายประชาธิปไตย" ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ ทว่าไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix
พบ 4 พรรคหนุน "พรรคเสียงข้างมากจัด รบ."
บีบีซีไทยตรวจสอบความคิดเห็นของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีที่นั่งในสภา พบว่า ขณะนี้มีอย่างน้อย 4 พรรคการเมืองที่ประกาศตัวสนับสนุนให้พรรคที่มีที่นั่งในสภาฯ สูงสุดจัดรัฐบาลก่อน
- พรรคอนาคตใหม่ : นายกรัฐมนตรีต้องมาจากพรรคที่ได้จำนวน ส.ส. มาเป็นอันดับหนึ่ง (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, 25 มี.ค.)
- พรรคประชาชาติ : ฝ่ายที่มีจำนวน ส.ส. มากกว่า มีความชอบธรรมที่จะจัดตั้งรัฐบาล แต่หากเป็นการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงถึงจะใช้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตได้ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา, 26 มี.ค.)
- พรรคเสรีรวมไทย : การจัดตั้งรัฐบาลควรเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนที่เลือก ส.ส. มามากที่สุด ให้เขาเป็นคนจัดตั้งรัฐบาลเสียก่อน พรรคที่มีคะแนนเป็นอันดับ 2 หรือ 3 หรืออันดับต่อมา ๆ ไม่ควรจะไปแย่งกันจัด ถือว่าเสียมารยาทเป็นอย่างยิ่ง (พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส, 26 มี.ค.)
- พรรคเพื่อชาติ : ควรรอจนกว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียง ส.ส. อันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ก่อน พรรคลำดับ 2 จึงจะมีความชอบธรรมที่จะจัดตั้งรัฐบาลต่อได้ (รยุศด์ บุญทัน, 26 มี.ค.)
ขณะเดียวกันมีฝ่ายส่งสัญญาณอาจพลิกไปสนับสนุนพรรคป๊อบปูลาร์โหวต
- พรรคภูมิใจไทย : ประเด็นสำคัญคือใครสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ ที่ผ่านมาก่อนการเลือกตั้ง เข้าใจว่าเคยมีการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดในพิธีลงสัตยาบันร่วมระหว่างพรรคการเมือง ที่มี โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล จัดขึ้น ซึ่งได้ถามย้ำในที่ประชุมแล้วว่าไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคที่ได้จำนวน ส.ส. มากเป็นอันดับ 1 ถึงจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้ใช่หรือไม่ ซึ่งทุกพรรคก็เห็นพ้องว่าใช่ รวมถึง พท. (สรอรรถ กลิ่นประทุม, 26 มี.ค.)


ที่มาของภาพ, BBC Thai
คุณผู้อ่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหว สัมภาษณ์พิเศษ บทวิเคราะห์ พร้อมทั้งทำความรู้จักกับ การเลือกตั้ง 2562 โดยทีมงานบีบีซีไทยได้ที่เว็บไซต์ www.bbc.com/thai/election2019 พร้อมทั้งสื่อสังคมออนไลน์บีบีซีไทยผ่านทาง เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และ ยูทิวบ์ รวมทั้ง #ThaiElection2019 หรือ #เลือกตั้ง2562