สมชัยเปิดหลักฐานพบ 6 พรรคร่วมรัฐบาลแจ้ง กกต. “กู้เงิน” ด้วย

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
สมชัย กกต

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบงบการเงินของ 80 พรรคการเมือง นอกจากพรรคอนาคตใหม่ ยังพบอีก 6 พรรคร่วมรัฐบาลทำสัญญากู้เงิน

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. และรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ามี 18 พรรคการเมืองเคย "กู้เงิน" เพื่อใช้ทำกิจกรรมทางการเมือง

ข้อมูลชุดนี้ นายสมชัยระบุว่าได้จากการตรวจสอบเอกสารงบการเงินปี 2561 จำนวน 609 หน้า ที่พรรคการเมืองต่าง ๆ รวม 81 พรรค แจ้งต่อ กกต. เมื่อ พ.ค. 2562 โดยปรากฏรายการกู้เงินตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 161.2 ล้านบาท ซึ่งมีการทำสัญญากู้เงินระยะสั้นและระยะยาว

นอกจากพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่กำลังเผชิญกับคดียุบพรรคจากกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ปล่อยเงินกู้ให้พรรคตัวเอง 191.2 ล้านบาท ยังมีพรรคร่วมรัฐบาลอีก 6 พรรคที่แจ้ง กกต. ว่าเป็นลูกหนี้ของกรรมการบริหาร (กก.บห.) หรือบุคคลภายนอก ประกอบด้วย พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) พรรคพลังท้องถิ่นไทย และ " พรรคจิ๋ว" อีก 3 พรรค

ที่มา : นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. รวบรวมจากเอกสารงบการเงินลงวันที่ 31 ธ.ค. 2562 ที่พรรคการเมืองแจ้งต่อ กกต. ทั้งนี้มีอยู่ 7 พรรคที่มีที่นั่งในสภาปัจจุบัน (มีเครื่องหมาย *)

สำหรับสาเหตุที่ยอดเงินกู้ของ อนค. เป็น 161.2 ล้านบาท เพราะนายธนาธรทำสัญญาให้พรรคกู้เงิน 2 รอบ งวดแรกเมื่อ 2 ม.ค. 2562 บาท ส่วนอีกงวดเมื่อ 11 เม.ย. 2562 เป็นเงินอีก 30 ล้านบาท

นายสมชัยตั้งคำถามว่า เอกสารงบการเงินนี้เป็นหลักฐานว่า "ความปรากฏ" แก่สายตาของ พ.ต.อ.จรุงวิทย์​ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2562 "ถ้านายทะเบียนพรรคการเมือง และ กกต. คิดว่าเรื่องนี้เป็นความผิด ทำไมถึงไม่ดำเนินการแบบเดียวกับกรณี อนค. อย่างนี้ถือว่าปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือไม่" และ "หากคุณแม่นหลักการก็ต้องแม่นกับทุกพรรค ไม่ใช่แม่นกับพรรคการเมืองเดียว"

นอกจากรายการ "เงินกู้" นายสมชัยบอกว่ายังมีอีกหลายพรรคการเมืองแจ้งรายการ "เงินยืม" และ "เงินยืมทดรองจ่าย" จาก กก.บห. อาทิ พรรคเพื่อไทย, พรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา ฯลฯ ซึ่งนายสมชัยชี้ว่าทั้ง "เงินกู้" และ "เงินยืม" ไม่อยู่ในหมวดรายได้ของพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จึงมีสถานะเป็น "หนี้สิน" แต่ความแตกต่างในทางกฎหมายคือ "เงินกู้" ต้องมีสัญญา มีกำหนดระยะเวลาชำระคืนชัดเจน และมีดอกเบี้ย ส่วน "เงินยืม" ไม่ต้องระบุอะไร ยืมมาเฉย ๆ

พรรคร่วมแจง "ข้อมูลเก่า"

อย่างไรก็ตามบรรดาพรรคการเมืองที่มีชื่อปรากฏตามการ "ขุดคุ้ย" ของอดีต กกต. ต่างออกมาชี้แจงว่าเป็น "ข้อมูลเก่า" ซึ่งพรรคดำเนินการภายใต้ "กฎหมายเก่า" ไม่ว่าจะเป็น นายอรัญ พันธุมจินดา รองผู้อำนวยการ ชพน. ได้ชี้แจงว่าภาระหนี้สิน 2 ล้านบาทของพรรคเกิดขึ้นในปี 2554 ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และ พ.ร.ป. พรรคการเมือง 2550 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ไม่ใช่ตามกฎหมายปัจจุบันแต่อย่างใด อีกทั้ง ชพน. ได้ชำระหนี้ก้อนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนาขอบคุณชาวสุพรรณฯ ที่ลงคะแนนเลือกตั้งให้

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคชาติไทยพัฒนา

คำบรรยายภาพ,

แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนาขอบคุณชาวสุพรรณฯ ที่ลงคะแนนเลือกตั้งให้

ส่วน ชทพ. โดยนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค ออกมายืนยันว่าในฐานะที่ทำหน้าที่บริหารพรรคมากว่า 20 ปี ตั้งแต่สมัยเป็นพรรคชาติไทย (ชท.) จนถึง ชทพ. "ไม่เคยเห็นการกู้ยืมเงินของ ชท. และ ชทพ. มาก่อน" เนื่องจากพรรคเห็นว่าการกู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการพรรคนั้นไม่น่าจะกระทำได้ ดังนั้นแม้ผู้บริหารของพรรคในอดีตจะมีฐานะการเงินดีพอที่ให้กู้เงินมาใช้บริหารพรรคและใช้จ่ายในการเลือกตั้ง แต่พรรคก็ไม่เคยดำเนินการ และหารายได้ด้วยการขอรับบริจาคเงินและจัดระดมทุนตามกฎหมายเลือกตั้ง

ก่อนหน้านี้เมื่อ 23 พ.ค. 2562 ชทพ. เคยออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยระบุว่าเอกสารที่มีการนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะเป็น "งบดุลเก่า" ซึ่งระบุเกี่ยวกับเจ้าหนี้และเงินยืมทดรองจากสาขาพรรคในช่วงที่กองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองยกเลิกการสนับสนุนสาขาพรรค แต่กฎหมายกำหนดให้สาขาพรรคต้องแสดงค่าใช้จ่ายต่อไป กรรมการสาขาพรรคจึงต้องเป็นผู้ทดรองจ่ายเงินไป ถือเป็นเจ้าหนี้ทางรูปบัญชีสะสมมาหลายปี ซึ่งทางพรรคได้สำแดงในรูปบัญชีส่งให้ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองรับทราบอยู่ตลอดมา ไม่ใช่เงินรายได้จากการกู้ยืมแต่อย่างใด

ปิยบุตร ไม่เห็นด้วยเอาผิดอีก 17 พรรค "กู้เงิน"

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ อนค. แสดงความไม่เห็นด้วยหากจะมีการเอาผิดอีก 17 พรรคการเมืองที่มีการ "กู้เงิน" มาดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

"มันไม่ใช่ว่าอนาคตใหม่โดน แล้วทุกพรรคต้องโดน เพราะสิ่งสำคัญคือการนำเรื่องการกู้เงินซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายมาดำเนินคดี ต้องยุติ หรือหากจะไม่ให้พรรคกู้เงิน วันหน้าก็ต้องเขียนกติกาไว้ให้ชัด" นายปิยบุตรกล่าว

ธนาธร ปิยบุตร

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคอนาคตใหม่

เลขาธิการ อนค. ยังกล่าวถึงกรณี กกต.​ ออกเอกสารข่าวยืนยันว่า ได้ดำเนินการทุกขั้นตอนตามหน้าที่และอำนาจ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการ ทว่าไม่มีการปฏิเสธว่า "เอกสารหลุด" ที่ อนค. นำมาเปิดเผยต่อสาธารณะเป็นของจริงหรือของปลอม ตรงกันข้าม กกต. ระบุว่าจะไปติดตามหาคนปล่อยเอกสารและขู่ดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงอยากให้สังคมจับตาดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับรองกระบวนการพิจารณาคดีของ กกต. ซึ่ง อนค.​ เห็นว่า "ข้ามขั้นตอน" หรือไม่อย่างไร ในเมื่อมีเอกสารหลุดออกมาขนาดนี้แล้ว

เขาย้ำด้วยว่า อนค. ไม่เคยถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 72 ของ พ.ร.ป. พรรคการเมือง หัวหนาพรรค เลขาธิการพรรค และเหรัญญิกพรรคเคยถูก กกต. เรียกไปให้ข้อมูลในฐานะพยานเท่านั้นตามมาตรา 66 จึงอยากตั้งคำถามว่าการดำเนินการของ กกต. ตั้งธงไว้ก่อนใช่หรือไม่ เมื่อดำเนินการแล้วไม่ตรงตามธง เลยหาช่อง โดยใช้ช่องมาตรา 72 ใช่หรือไม่

กกต. แจงอยู่ระหว่างสอบ "รายได้" พรรคการเมืองตามงบการเงิน

ด้านสำนักงาน กกต. ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองจะตรวจสอบรายได้ของพรรคการเมืองจากงบการเงินประจำปีได้ ก็ต่อเมื่อพรรคจัดส่งงบการเงินประจำปีให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ทั้งนี้ภายหลัง คสช. "ปลดล็อกการเมือง" มีพรรคการเมืองต้องจัดทำงบการเงินประจำปี 2557-2561 และจัดส่งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน พ.ค. 2562 โดยที่นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ประกาศ "งบการเงิน" ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 2562 ประกอบด้วย

  • งบการเงินประจำปี 2557 จำนวน 73 พรรค
  • งบการเงินประจำปี 2558 จำนวน 72 พรรค
  • งบการเงินประจำปี 2559 จำนวน 70 พรรค
  • งบการเงินประจำปี 2560 จำนวน 69 พรรค
  • งบการเงินประจำปี 2561 จำนวน 100 พรรค

เอกสารข่าว กกต. ระบุต่อไปว่า ขณะนี้นายทะเบียนพรรคการเมืองอยู่ระหว่างตรวจสอบ "รายได้" ของพรรคการเมือง หากพบว่าพรรคเมืองใดกระทำการเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 นายทะเบียนพรรคการเมืองจักแจ้งให้พรรคการเมืองดังกล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐานภายในระยะเวลาที่กำหนดต่อไป