“ไพบูลย์” เช็คกับทีมงานพบว่านโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐไม่เคยถูกลบ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ชี้แจงมติ พปช. โดยขอชี้แจงเฉพาะข้อกฎหมาย และหลีกเลี่ยงจะให้ความเห็นประเด็นการเมือง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายไพบูลย์ นิติตะวัน ชี้แจงเรื่องการลบนโยบายในเพจของพรรคว่าเป็นการปรับปรุงระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กครั้งใหญ่ของพรรคให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด

หลังจากถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสื่อสังคมออนไลน์ จากกรณีที่โพสต์นโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐถูกลบออกจากเพจ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมายืนยันหลังเช็คกับทีมงานว่าโพสต์ดังกล่าวไม่เคยถูกลบ

เมื่อวานนี้ (27 พ.ค.) นายไพบูลย์ ออกมาชี้แจงจากกล่าวกรณีที่มีข่าวออกมาว่านโยบายหาเสียงในเพจของพรรคพลังประชารัฐถูกลบออกไป "เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน" เนื่องจากทีมงานที่ดูแลเพจของพรรคพลังประชารัฐ ได้ยืนยันว่าตลอดมายังไม่เคยลบโพสต์ใด ๆ ออกจากเพจ

นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าโพสต์ที่ลงในเพจตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่มีผู้แอบอ้างว่ามีการลบโพสต์หาเสียงของพรรค โดยในวันดังกล่าวมีการโพสต์จำนวน 23 โพสต์ และทุกโพสต์ยังปรากฏอยู่ในเพจ ไม่ได้มีการลบโพสต์ออกตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

โดยโพสต์ที่ปรากฏส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับนโยบายหาเสียงที่ลงไว้ในวันนั้น เนื้อหายังอยู่ครบถ้วนทั้งหมด รวมทั้งโพสต์ก่อนหน้าวันที่ 14 มี.ค. 2562 และโพสต์หลังจากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน

นายไพบูลย์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า โพสต์นโยบายที่ปรากฏเป็นข่าวออกมาว่ามีการลบออกจากเพจนั้น หลังจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าเนื้อหาดังกล่าวไม่เคยโพสต์ในเพจพรรค ซึ่งอาจเป็นการจัดทำขึ้นและสร้างลิงก์ขึ้นมาเพื่อใส่ความว่าพรรคไปลบโพสต์ออก บิดเบือนให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดและทำให้พรรคเกิดความเสียหาย ยืนยันว่าพรรคไม่มีการลบโพสต์นโยบายหาเสียงและโพสต์ใด ๆ ออกจากเพจของพรรค

นายไพบูลย์ กล่าวว่าหลังจากนี้จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ผู้ใดเป็นผู้จัดทำการตัดต่อภาพโพสต์และสร้างลิงก์ปลอมแปลงขึ้นมาเพื่อนำเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด หากตรวจสอบพบทางพรรคจะแจ้งความดำเนินคดีจนถึงที่สุดกับผู้ที่กระทำการดังกล่าวต่อไป

โดยโพสต์ดังกล่าวที่นายไพบูลย์กล่าวอ้างว่าไม่ได้มาจากทางพรรค เป็นโยบายหาเสียงในเรื่องของ การผลักดันค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400-425 บาท, เพิ่มเงินเดือน ป.ตรี เริ่ม 20,000 บาท และเงินเดือนอาชีวะเริ่ม 18,000 บาท, เสนอยกเว้นภาษีเด็กจบใหม่ 5 ปี, เสนอยกเว้นภาษีพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ 2 ปี และลดภาษีบุคคลธรรมดา 10%

ก่อนหน้านี้หลังจากที่เกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนัก นายไพบูลย์ได้ออกมาชี้แจ้งในเบื้องต้นว่าการลบนโยบายในเพจของพรรคพลังประชารัฐเป็นการทำไปเพื่อปรับปรุงระบบสื่อสังคมออนไลน์ และเป็นการเตรียมเลือกตั้งใหญ่ในครั้งหน้า นอกจากนี้เขายังกล่าวเสริมว่าโยบายดังกล่าวควรจะถูกลบออกไปนานแล้ว

กองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ

ที่มาของภาพ, กองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ

"ผู้บริหารพรรคมีมติจะปรับปรุงระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กครั้งใหญ่ของพรรคให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด" คือคำอธิบายจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาตอบคำถามสื่อมวลชนที่รัฐสภาหลัง มีกระแสถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการลบนโยบายในเพจของพรรค

เรื่องดังกล่าวเกิดจากการที่สื่อสังคมออนไลน์พากันแชร์เรื่องที่นโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปี 2562 ถูกลบออกจากเพจพรรคพลังประชารัฐ จากที่เคยโพสต์เอาไว้เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2562 จนเกิดกระแส "ลบไม่ช่วยให้ลืม" เกิดขึ้น

โพสต์ดังกล่าวระบุถึง "เซอร์ไพรส์นโยบายพลังประชารัฐ" ไม่ว่าจะเป็น ผลักดันค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400-425 บาท, เงินเดือน ป.ตรี เริ่ม 20,000 บาท และเงินเดือนอาชีวะเริ่ม 18,000 บาท, เสนอยกเว้นภาษีเด็กจบใหม่ 5 ปี, เสนอยกเว้นภาษีพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ 2 ปี และลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% เป็นต้น

นายไพบูลย์อธิบายเพิ่มเติมว่าเหตุผลที่ลบโพสต์ออกเพราะเป็นการเตรียมเลือกตั้งใหญ่ในครั้งหน้า และโยบายดังกล่าวควรจะถูกลบออกไปนานแล้ว โดยอธิบายเพิ่มเติมว่านโยบายที่ผ่านมา บางนโยบายที่ทำไม่ได้ เพราะทางพรรคไม่ได้ดูและกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนั้น ๆ

ไม่มีผลทางกฎหมาย

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายไว้ว่าการที่พรรคพลังประชารัฐนำเอานโยบายหาเสียงออกจากเพจ ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพราะการกำหนดนโยบายในช่วงหาเสียงของพรรคการเมือง ไม่ได้มีกฎหมายข้อไหนระบุว่าจะต้องทำตามนโยบาย

"กฎหมายระบุไว้เพียงว่าการหาเสียงเลือกตั้งนั้นต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการเลือกตั้ง เช่นการไม่มีการซื้อเสียง ต้องไม่ใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย รุนแรง หรือทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง เป็นต้น ไม่ได้มีกฎข้อใดระบุว่าพรรคการเมืองนั้น ๆ ต้องทำตามนโยบาย" รศ.ดร.พวงทอง อธิบาย

"แต่กฎหมายได้กำหนดบทลงโทษในกรณีที่นโยบายนั้นไม่ได้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เช่นไม่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง หรือการเป็นภาระทางงบประมาณต่อประเทศในระยะยาว ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สร้างขึ้นมาในรัฐธรรมนูญปี 2560 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งดูก็รู้แล้วว่าเป็นแผนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเล่นงานพรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นที่ถูกใจของกลุ่มอนุรักษ์นิยม"

พรรคพลังประชารัฐ

ที่มาของภาพ, พรรคพลังประชารัฐ Facebook

ถึงแม้การไม่ทำตามนโยบายที่ให้ไว้ในช่วงที่หาเสียงจะมีผลทางด้านกฎหมาย แต่ รศ.ดร.พวงทอง เห็นว่าการกระทำแบบนี้มีผลกระทบทางจิตวิทยาของประชาชนในแง่ที่ว่าพรรคการเมืองนี้ไม่ทำตามสัญญา

"ถ้าถามว่าพรรคพลังประชารัฐสนใจหรือไม่ ก็คงบางส่วน แต่เขาเชื่อมั่นว่าด้วยกลไกหลาย ๆ อย่างที่เขาจัดวางไว้ ทั้งเรื่องของรัฐธรรมนูญ สมาชิกวุฒิสภา หรือวิธีการนับคะแนนเสียง ก็จะทำให้พวกเขากลับมามีอำนาจได้โดยไม่ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนของประชาชนเท่านั้น"

รศ.ดร.พวงทอง กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำงบประมาณต่าง ๆ มาซื้อใจประชาชน เช่นโครงการประชารัฐต่าง ๆ และกลไกข้าราชการที่ซื้อใจให้ประชาชนมาเลือกเขา และเชื่อว่าสามารถเข้าสู่อำนาจได้โดยอาศัยกลไกที่วางเอาไว้ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ซึ่งเชื่อว่าเขาใช้วิธีคิดแบบนี้เช่นกันกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

กลับไปสู่การเมืองแบบในอดีต

ในอดีต นักการเมืองไทยที่หาเสียงในช่วงเลือกตั้งและชนะการเลือกตั้ง มักจะไม่ทำตามที่สัญญาเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายกับการเมืองและนักการเมือง เพราะไม่รู้สึกว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากการเมือง โดย รศ.ดร.พวงทอง กล่าวว่านี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการซื้อสิทธิ์ขายเสียงของประชาชน เพราะประชาชนเชื่อว่านักการเมืองคนไหนเข้ามาก็เหมือนกันหมด สัญญาอะไรเอาไว้ก็ไม่ทำ

แต่สภาพการเมืองแบบเก่า ๆ เปลี่ยนไปเมื่อเกิดมีรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร เกิดขึ้น เพราะเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็สามารถทำตามนโยบายหาเสียงได้หลายอย่าง จึงเป็นเหตุให้เขาได้รับความนิยมจากประชาชนกลุ่มคนรากหญ้า ซึ่งจะจำได้ว่าพรรคไหนสัญญาอะไรไว้ และบอกได้ว่าพรรคไหนทำอะไรบ้างหรือไม่ทำ ในคณะที่คนชั้นกลางไม่ค่อยติดตามว่าพรรคการเมืองมีสัญญาอะไรไว้ เพราะพวกเขาเลือกที่ตัวพรรค ไม่ใช่จากนโยบาย แต่รัฐประหารปี 2557 นำการเมืองแบบเก่าเข้ามา โดยเฉพาะในกลุ่มนักการเมืองในปีกของทหาร มองว่าตัวเองเข้าสู่อำนาจได้โดยไม่ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนของประชาชน

"ประชาชนเองก็ไม่สามารถร้องเรียนในเรื่องที่พรรคการเมืองไม่ทำตามนโยบายที่ตนหาเสียงเอาไว้ เพราะไม่มีหน่วยงานไหนรับร้องเรียนในเรื่องแบบนี้ เพราะไม่เคยมีการกำหนดเอาไว้ตามกฎหมาย แต่ถึงแม้จะมีหน่วยงานที่รับร้องเรียน แต่ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2562 มา หน่วยงานรัฐต่าง ๆ ก็ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนรัฐบาลมาตลอด"

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้า พปชร. ตั้งแต่ 27 มิ.ย. 2563

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้า พปชร. ตั้งแต่ 27 มิ.ย. 2563

กฎหมายที่ไม่เคยถูกตีความ

ผศ. ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคพลังประชารัฐว่า ไม่เคยมีการหยิบยกมาพูดหรือตีความกันว่าการไม่ทำตามนโยบายหาเสียงผิดกฎหมายหรือไม่

"ในกรณีนี้เราไม่เคยพูดถึงอย่างจริงจัง โดยตัวกฎหมายการเลือกตั้งแล้วมีกำหนดว่าห้ามไม่ให้มีการจูงใจให้มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือห้ามไม่ให้มีการซื้อเสียง ที่ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งจริง ๆ แต่เรื่องการตีความการไม่ทำตามนโยบาย ไม่เคยมีใครหยิบยกมาตีความ" ผศ. ดร.พรสันต์อธิบาย

"แบบนี้ก็ไม่แตกต่างอะไรกับการไปซื้อเสียงในทางวิชาการ เพราะสิ่งที่คุณทำคือการไปนำเสนอนโยบายอะไรก็ได้ และไปทำให้คนที่จะไปลงคะแนนเสียงไขว้เขวมันก็เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของผู้เลือก"

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าช่วงเวลาในการหาเสียงจะมีบรรยากาศที่จะทำให้คนคล้อยตามได้ง่าย เช่นการที่ประเทศชาติอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี พอพรรคการเมืองเสนอนโยบายที่สอดคล้อง ก็กลายเป็นให้ความหวังกับประชาชน ก็เลยเลือก แต่ทีหลังมาบอกว่าทำไม่ได้

ประยุทธ์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai.

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรากฏตัวที่เวทีปราศรัยของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อ 22 มี.ค. 2562 ประกาศ "ผมจะยอมตายเพื่อแผ่นดินผืนนี้"

"เข้ามาทำได้หรือไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อย ๆ ต้องมีความพยายามในการทำ เรื่องการขึ้นค่าแรงไม่ใช่ไม่เคยมีการพูดถึงกัน แต่อย่างน้อยควรผลักดันให้ได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ควรมีการสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้"

ผศ. ดร.พรสันต์เห็นว่าการทำตามที่สัญญาไว้ไม่ได้มีผลทางการเมือง เพราะทำให้ประชาชนรู้ว่าพรรคการเมืองไหนไม่ได้ทำตามสิ่งที่พวกเขาพูดเอาไว้ และอาจจะมีผลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

รัฐธรรมนูญปัจจุบันมีบทบัญญัติใหม่ในเรื่องของการกำหนดบทบาทหน้าที่และกรอบหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีต้องกระทำ โดยมีการกำหนดว่าก่อนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเข้ามาบริหารแผ่นดินจะต้องมีการแถลงนโยบายกับรัฐสภา และเมื่อมีการแถลงนโยบายกับทางรัฐสภา นโยบายดังกล่าวจะมีผลผูกพันที่ทำให้ ครม. ชุดนั้นต้องปฏิบัติตาม

"หมายความว่าคณะ ครม. ต้องรับผิดชอบร่วมกันในการปฏิตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จะมีกลไกทางการเมืองมาจัดการ เช่นการตั้งกระทู้ถามหรือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ" ผศ. ดร.พรสันต์กล่าว และเสริมว่า ภาคประชาชนสามารถไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการในสภาได้ ว่าเดือนร้อนอย่างไรกับนโยบายของภาครัฐ และกระทรวงต่าง ๆ