อภิปรายไม่ไว้วางใจ : ฝ่ายค้านอัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ "เหมือนโรยทรายไปชายหาด" กล่าวหารัฐบาลทำ "ประชาชนไม่มั่นคง แต่เจ้าสัวมั่งคั่ง"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

อภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลวันแรก (24 ก.พ.) ฝ่ายค้านระดมพลฝีปากกล้าโจมตีนโยบายบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มุ่งเอื้อประโยชน์ "เจ้าสัว" ไม่กี่คนของประเทศ และ ธุรกิจขนาดใหญ่ไม่กี่กลุ่ม อีกทั้งวิจารณ์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาว่าไร้ประสิทธิภาพ "เหมือนโรยทรายไปชายหาด"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม คือ เป้าหมายแรก ที่ฝ่ายค้านเปิดฉากโจมตี โดยฝ่ายค้านระบุว่าจะใช้เวลา 2 วันเต็มเพื่อซักฟอกนายกฯ เนื่องจากมีผู้ลงชื่อ "จองกฐิน" เขาไว้ถึง "ครึ่งหนึ่ง" จาก ส.ส. ที่แจ้งความจำนงขออภิปรายทั้งหมด 42 คน

การอภิปรายในช่วงบ่ายและค่ำวันจันทร์ ส.ส. หน้าใหม่ของฝ่ายค้าน อภิปรายโจมตีนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์อย่างเข้มข้น สลับกับการลุกขึ้นชี้แจงของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

พิธา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากอดีตพรรคอนาคตใหม่

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากอดีตพรรคอนาคตใหม่ เปิดฉากด้วยการแนะนำตัวว่ามาจาก "พรรคที่มีประชาชน 6.3 ล้านคนเลือกเข้ามา แต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ 7 ท่านยุบไปครับ

นายพิธากล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจของนายกฯ เป็นระบบที่เรียกว่า "ของนายทุน โดยนายทุน เพื่อนายทุน"

เขายกตัวอย่างวิกฤติน้ำท่วมปี 2554 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยตกต่ำ ซึ่งเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันภายใต้การดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมีสภาพแย่พอกัน เช่นเดียวกับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (2550-2551) มีตัวเลขว่างงานแล้วขอใช้สิทธิประกันสังคม 140,000 คน แต่ปัจจุบันมีจำนวนคนตกงานที่ขอใช้สิทธิสูงถึง 170,000 คน แย่ยิ่งกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ

"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" นับเป็นคำสัญญาที่อยู่ในนโยบายของรัฐบาลยั่งยืน นายพิธาจึงทวงถามหาสัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยให้ไว้โดยตั้งคำถาม 3 ข้อถึงรัฐบาล และการทำงานของทีมเศรษฐกิจ คือ 1.ใครบ้างที่ยังรู้สึกมั่นคงในประเทศไทย 2. ใครมั่งคั่งมากขึ้น 3.ใครยั่งยืน

"เหมือนเอายาพาราไปให้คนเป็นมะเร็ง" นายพิธาเปรียบเทียบนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ ที่ทำได้เพียงบรรเทา แต่ไม่สามารถแก้ไขในระยะยาวได้ ด้วยนโยบายบัตรประชารัฐ หรือชิมช็อปใช้

นายพิธาอ้างถึงสื่อต่างประเทศ ที่ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อเอาความมั่งคั่งของ 5 ตระกูลเจ้าสัวไทยมารวมกัน จะมีมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน ที่มีมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท

"คน 99% ของประเทศนี้ไม่มั่นคง 1% เท่านั้นที่มั่งคั่ง และการพัฒนาไม่มีอะไรที่ยั่งยืน"

จุลพันธ์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย

"จากไข้หวัดใหญ่สู่มะเร็ง"

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เปิดการอภิปรายโดยกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ว่าบริหารราชการแผ่นดินโดยขาดความรู้ความสามารถ ล้มเหลวในการแก้ปัญหา ทำอาการป่วยทางเศรษฐกิจของประเทศเลวร้ายลงจาก "ไข้หวัดใหญ่เป็นมะเร็ง" ซึ่งทางแก้ไขมีได้อย่างเดียวคือ การเปลี่ยนตัวนายกฯ

"เศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นมะเร็งอย่างที่บอก ขั้น 2 ขั้น 3 แล้ว ถ้าปล่อยท่านบริหารต่อไปอีกหน่อยเป็นขั้น 4 เอาหมอเทวดามาช่วยก็รักษาไม่ทัน" นายจุลพันธ์กล่าวหลังยกตัวอย่างภาพข่าวหลายกรณีที่ประชาชนฆ่าตัวตายโดยอ้างเหตุผลจากปัญหาเศรษฐกิจ ตกงาน โดยยกสถิติจากกรมสุขภาพจิตว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นสาเหตุฆ่าตัวตาย 18.3% และยกดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ ม.ค. ปีนี้ว่า ต่ำสุดในรอบ 69 เดือน เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นว่ารายได้จะดีขึ้น นักลงทุนก็ไม่เชื่อมั่นในผู้นำทางเศรษฐกิจ

นายจุลพันธ์เปรียบเทียบนโยบายกระตุ้นทางเศรษฐกิจว่า "เหมือนโรยทรายไปชายหาด" และเรียกร้องรัฐบาลให้ความสนใจกับเทคโนโลยีมากขึ้น

"วันนี้ทั้งโลกเขาคุยกันเรื่องบล็อกเชน เอไอ โรโบติก นายกฯ ของเรากำลังหัดเรียนการใช้กูเกิล นี่ไงครับสาเหตุที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์มันโตไม่ได้"

สมคิด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สมคิดบอก "เจ้าสัวเหรอไม่ต้องเอื้อเขาหรอก แค่หุ้นขึ้นเขาก็สบายแล้ว"

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ลุกขึ้นชี้แจงว่าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) เป็นชิ้นงานสำคัญของรัฐบาล และเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับประเทศนี้ในอนาคตข้างหน้า จะเป็นตัวที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มกับผลผลิตของไทยในอนาคต และไม่ใช่แค่เกษตร ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรม แต่รวมการท่องเที่ยวเลย

นายสมคิดกล่าวว่ารากเหง้าของความเหลื่อมล้ำ มาจากความไม่จริงจังกับการปฏิรูปเกษตรกรรมของรัฐบาลในอดีต มีโครงการรับจำนำ-ประกันราคา เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐช่วย แต่เป็นการจัดการที่ผลผลิต ไม่ใช่เกษตรกรในชุมชน จึงยังไม่สามารถขจัดความยากจนได้ เพราะเกษตรกรแต่ละคนมีศักยภาพไม่เท่ากัน

นายสมคิดพูดถึงนโนบายท่องเที่ยวเมืองรอง ที่ออกมาแรก ๆ ถูกหัวเราะ แต่ก็เป็นนโยบายที่ดี ทำให้เข้าถึงคนในชุมชนจริง เช่นเดียวกับนโยบายชิมช็อปใช้ ที่ไม่ได้ทำเพื่อความสนุก แต่เพื่อดึงคนกรุง ที่มีอำนาจซื้อเข้าไปสู่ชนบท แต่ก็ยอมรับว่าออกมามีจุดอ่อน แต่ก็แก้ไข

นายสมคิดตั้งคำถามว่า รัฐบาลนี้ไม่มีผลงานจริงหรือ ทั้งที่ปีนี้เศรษฐกิจไทยโต 3 ล้านล้าน ตอนที่เข้ามาปี 2558 ขึ้นมา 1.7 ล้านล้านบาท

"เจ้าสัวเหรอไม่ต้องเอื้อเขาหรอก แค่หุ้นขึ้นเขาก็สบายแล้ว" นายสมคิดกล่าว

อภิปรายไม่ไว้วางใจ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

นายยุทธพงษ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่ดินพ่อ กับ บุญคุณเจ้าสัว

ประเด็นที่สภาใช้เวลายาวนานที่สุด และเกิดการประท้วงมากที่สุดในวันแรก คือ การขายที่ดินย่านบางบอน จำนวน 9 แปลง 50 ไร่ ของ พ.อ.ประพัฒน์ จันทร์โอชา บิดาของนายกฯ ให้แก่บริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในมูลค่า 600 ล้านบาท อภิปรายโดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ว่ากระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และมีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ

นายยุทธพงศ์ระบุว่า ในวันซื้อขายที่ดิน บิดาของนายกฯ ได้มอบเงิน 540 ล้านบาทให้ พล.อ.ประยุทธ์ดูแลจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องตามที่เห็นสมควรต่อไป ขณะที่ข้อมูลจากบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคราวเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรกเมื่อ 24 ส.ค. 2557 แจ้งว่า มีรายได้ 128.6 ล้านบาท แต่กลับมีรายจ่ายถึง 466.4 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีรายการมอบเงินให้แก่ลูกสาว 198 ล้านบาท ซึ่งนายยุทธพงศ์ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเงินที่ได้จากการซื้อขายที่ดินของบิดาหรือไม่

เปิดพิรุธขาย "ที่ดินบ่อปลา" ของพ่อนายกฯ

นายยุทธพงศ์ชี้ให้เห็นถึงการทำธุรกรรมที่น่าสงสัยในหลายประการ ได้แก่

  • บริษัทผู้ซื้อที่ดินก่อตั้งเมื่อ 2 พ.ค. 2556 ก่อนวันทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับบิดาของนายกฯ เพียง 7 วัน
  • สำนักข่าวอิศราเดินทางไปยังบริษัทผู้ซื้อที่ดิน พบว่ามีสภาพเป็นทาวน์เฮาส์เก่า ประเมินแล้วมีมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาท แต่กลับมีเงินซื้อที่ดินถึง 600 ล้านบาท
  • ข้อมูลจากหลักฐานการจดทะเบียนบริษัทกับกรมธุรกิจการค้าแจ้งวัตถุประสงค์เอาไว้ว่า "เพาะพันธุ์ปลาจำหน่าย"
  • เขาตรวจสอบพบว่ามีบริษัทอีกแห่งที่จดทะเบียนในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน และเชื่อว่าเป็นนอมินีของ "เจ้าสัว" รายหนึ่ง เป็นผู้เพิ่มทุนให้บริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
  • จงใจซื้อที่ดินในมูลค่าสูงกว่าราคาประเมิน ณ เวลานั้นที่ 200 ล้านบาท
  • ปัจจุบัน บริษัทผู้ซื้อที่ดินยังไม่ได้ลงทุนทำอสังหาริมทรัพย์ตามที่กล่าวอ้าง
ประชุมสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

"การซื้อขายที่ดินแปลงนี้ไม่ใช่ที่ดิน แต่เป็นบ่อตกปลา วิญญูชนทั่วไป ใครจะซื้อ สภาต้องพิสูจน์ว่าเงินนี้เป็นเงินบริสุทธิ์หรือไม่" นายยุทธพงศ์กล่าวระหว่างแสดงให้เห็นภาพที่ดินมูลค่า 600 ล้านบาท ที่มีหญ้าขึ้นสูงและมีคูน้ำอยู่ตรงกลาง

เขาจึงตั้งข้อสังเกตว่าการขายที่ดินแปลงนี้ มีการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้ "เจ้าสัว" ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ หรือไม่ โดยหยิบยกกรณีต่อสัญญาเช่าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 50 ปี ตามมติ ครม. เมื่อ 17 ม.ค. 2560 ชนิดไม่มีการเปิดประมูลแข่งขัน และเป็นสัญญาเช่าที่นานที่สุด มาสนับสนุนข้อกล่าวหาของตัวเอง

สำหรับสัญญาเช่าในครั้งนี้ กำหนดให้ผู้ได้รับสัญญาต้องสร้างโรงแรมมาตรฐาน 4-5 ดาว จำนวน 400 ห้อง มีที่จอดรถ 3,000 คัน แต่เจ้าสัวที่ประมูลได้ในครั้งแรก ไม่ได้ดำเนินการ ซ้ำยังได้รับโอกาสในการต่อสัญญาในรอบที่ 2 ถึงครึ่งทศวรรษ จึงถือเป็นความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลชุดนี้ และสะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ละเลยการตรวจสอบรายละเอียด ทั้งที่มีข้อทักท้วงจากอัยการสูงสุด (อสส.) ถึง 10 ข้อเกี่ยวกับตัวสัญญาที่รัฐทำกับเอกชน

ประชุมสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ประยุทธ์ปัดเอื้อประโยชน์ "เจ้าสัว"

หลังรับฟังนานเกือบ 3 ชม. พล.อ.ประยุทธ์ได้ลุกขึ้นชี้แจงทันทีว่าที่ดินที่ถูกอภิปรายเป็นโฉนดตั้งแต่ปี 2482 ก่อนตกมาเป็นของปู่ย่าของเขาในปี 2495 และมาถึงมือบิดาของเขาในปี 2535 แม้มีช่วงที่ราคาที่ดินขึ้น แต่บิดาก็ยังไม่ได้ขายเพราะเป็นห่วงลูกหลาน ก่อนมาติดป้ายขายในปี 2554-2555 แต่มาขายได้จริง ๆ ในปี 2556 และย้ำว่าเรื่องการซื้อขายเป็นข้อตกลงระหว่างคนขายกับคนซื้อ และบริษัทที่มาซื้อจะพัฒนาทำอะไร เขาก็ไม่ทราบด้วย

"วันนั้นผมเป็น ผบ.ทบ. ผมไม่รู้จักใคร ไม่รู้ด้วยว่าจะเอื้อประโยชน์กับใคร... แล้วผมจะไปสัญญากับเขาได้ไหมว่าผมจะเป็นนายกฯ ในวันนี้" พล.อ.ประยุทธ์ตั้งคำถาม

เขาบอกต่อไปว่า "ส่วนที่ผู้อภิปรายเรียกว่า 'บ่อเลี้ยงปลา' นั่นเขาเรียกกันว่า 'คลองหนามแดง' รู้จักไหม เอาไว้เป็นพื้นที่ปลูกพืช" และยังเปิดเผยราคาประเมินที่ดินของบิดาในช่วงปี 2556 อยู่ที่ 609 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 819 ล้าน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ตรงกับที่ฝ่ายค้านอภิปราย

วิษณุแฉกลับรัฐบาลยิ่งลักษณ์คือ "ผู้ชี้ขาดตัวจริง"

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เอกสารท้วงติงของ อสส. เรื่องการเช่าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ "เคยมีอยู่จริง" แต่ได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้วหลังจากนั้น โดยศูนย์สิริกิติ์เกิดขึ้นในปี 2539 ต่อมามีกฎหมายที่ทางราชการออกมาภายหลังคือ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างปี 2542 และ พ.ร.บ.การใช้ประโยชน์ที่ดินปี 2546 ซึ่งห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 23 เมตร ทำให้การเนรมิตโรงแรม 5 ดาวเป็นไปไม่ได้ โดยรัฐบาลในขณะนั้นจึงได้ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ก่อนได้รับคำตอบว่า "เลิกสัญญาไม่ได้ แต่แก้ไขได้ แล้วก็ให้เปลี่ยนสัญญาเป็นการเช่าแทน" โดยที่กฤษฎีกาบอกว่าหากเป็นเอกชนรายเดิมไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แค่แก้สัญญา

แต่กลุ่มคนที่นายวิษณุบอกว่าเป็น "ผู้ชี้ขาดตัวจริง" คือคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มี รมว.คลัง เป็นประธาน ซึ่งมีมติเมื่อ 28 มี.ค. 2557 อนุมัติให้บริษัทเอกชนเช่าที่ราชพัสดุเพื่อบริหารดำเนินงานศูนย์ประชุมสิริกิติ์ 50 ปี ตามกฎหมายเช่าที่อสังหาริมทรัพย์และพาณิชยกรรม "นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนรัฐบาล คสช. จะเข้ามา เป็นรัฐบาลชุดไหนก็ลองนึกดู" จากนั้นเมื่อจะแก้ไขสัญญา รัฐบาลก็ส่งร่างสัญญาให้ อสส. ตรวจดู มีข้อท้วงติงมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไข ส่งกลับให้ อสส. ตรวจ จนสุดท้ายก็แก้ไขตามคำแนะนำของ อสส. เรียบร้อย

"ทั้งหมดนี้จะบอกว่าเอื้อไม่เอื้อ ต้องไปดูว่าจริง ๆ เอื้อกันมาตั้งแต่รัฐบาลชุดไหน และก็ต้องพูดต่อไปว่าเอื้อกันแล้วไม่สำเร็จหรืออย่างไร และทั้งหมดนี้ข้อเท็จจริงล่าสุดพัฒนากันอย่างไร จนกลายเป็นการลงนามในสัญญาปัจจุบัน" รองนายกฯ กล่าว

ประชุมสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เขต 8 เชียงใหม่ ที่ถูกขับจากพรรคอนาคตใหม่ ย้ายมาอยู่พรรคภูมิใจไทย

"องครักษ์" ประท้วงวุ่น เพื่อไทยไม่ยอมเรียก "พล.อ." ประยุทธ์

ในระหว่างที่นายยุทธพงศ์อภิปรายได้ถูก ส.ส.รัฐบาลลุกขึ้นประท้วงเป็นระยะ ๆ เนื่องจากเขาจงใจใช้สรรพนามเรียกนายกฯ ว่า "คุณประยุทธ์" โดยให้เหตุผลว่า "ผมต้องเรียกคุณ เพราะมาไล่ ถ้าเรียก ฯพณฯ แกจะไปหรือ"

ส.ส. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต่างพากันประท้วงนายยุทธพงศ์ที่ไม่ยอมเรียกยศ "พล.อ." ทั้งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทาน อีกทั้งข้อบังคับการประชุมสภายังห้ามเอ่ยชื่อบุคคลโดยไม่จำเป็น ควรเรียกชื่อตำแหน่งแทน

ทำให้นายชวน หลีกภัย ประธานที่ประชุม ต้องวินิจฉัยเรื่องนี้ซ้ำอยู่หลายครั้ง โดยระบุว่ากิริยามารยาทแต่ละคนไม่เหมือนกัน ประธานไม่มีสิทธิก้าวล่วงว่าต้องเรียกอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะข้อบังคับห้ามใช้วาจาไม่สุภาพ เสียดสี ใส่ร้าย คำว่า "คุณประยุทธ์" จะบอกว่าไม่สุภาพไม่ได้ แต่อะไรไม่เหมาะสม ประชาชนจะจับตาอยู่ มารยาทของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

เช่นเดียวกับการใช้เรียกที่ดินแปลงดังกล่าวว่า "บ่อตกปลา" ซึ่งทำให้ "ทีมองครักษ์" นายกฯ ประท้วงอย่างต่อเนื่อง จนประธานสภาต้องออกปากเตือนนายยุทธพงศ์ว่าการอภิปรายเข้าข่าย "วนเวียน ซ้ำซาก อยู่ในแอ่งนี้ เมื่อไรจะขึ้นมาจากน้ำสักทีครับ"

ประชุมสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ผู้นำฝ่ายค้านยอมรับ "ไม่มีทางชนะในสภา" แต่ให้ ปชช. ตัดสิน

เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และยังเป็นครั้งแรกสำหรับนายกฯ คนที่ 29 ที่ต้องเข้าสู่กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา กล่าวยอมรับว่า "เราไม่มีทางชนะ เราไม่ได้ถือเรื่องการยกมือแพ้-ชนะในสภา แต่คนตัดสินคือประชาชนที่ฟังอยู่ และอาจแชร์ความรู้สึกว่าบ้านเมืองอยู่ในช่วงกลียุคจริง ๆ"

พรรคฝ่ายค้านต้องสูญเสียที่นั่งในสภาไป 11 เสียง หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และตัดสิทธิการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรค เมื่อ 3 วันก่อน

ขณะนี้เสียงในสภาของฝ่ายค้านเหลือ 224 เสียง ต่อรัฐบาล 263 เสียง ทว่ามติ "ไม่ไว้วางใจ" ต้องใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือ 244 เสียง จาก ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 487 คน นั่นหมายความว่าคะแนนเสียงของฝ่ายค้านขาดไป 20 เสียง

อย่างไรก็ตามนายสมพงษ์ย้ำว่า ฝ่ายค้านจะไม่ไปใช้เงินซื้อ "งูเห่า" เพื่อให้โหวตชนะในสภาอย่างแน่นอน

กราฟิกเสียงในสภา

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ในวันแรกสิ้นสุดลงเมื่อ 0:46 น. ของ วันที่ 25 ก.พ. หลังผ่านไป 12 ชั่วโมง โดยประธานที่ประชุมสั่งพักการประชุม และให้ประชุมต่อในเวลา 9:00 น. จากนั้นในวันที่ 26-27 ก.พ. จึงเป็นคิวซักฟอก 5 รัฐมนตรีที่เหลือ โดยฝ่ายค้านจัดลำดับไว้ ดังนี้ 1) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ 2) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 3) นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ 4) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ 5) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

ข้อตกลงร่วมกันของประธานสภา วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้านคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องเสร็จสิ้นลงในเวลา 21.00 น. ของวันที่ 27 ก.พ. เพื่อให้สมาชิกสภาล่างได้ลงมติไว้วางใจ/ไม่ไว้วางใจ ในวันที่ 28 ก.พ. เวลา 09.30 น.