โคโรนา : ทั่วโลกคิดค้นวัคซีน-ยาต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ คืบหน้าถึงไหนแล้ว

ไวรัส

ที่มาของภาพ, Getty Images

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส 2019-nCoV เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ แต่ความพยายามคิดค้นวัคซีนและยาต้านทานเชื้ออุบัติใหม่ตัวนี้ก็เริ่มขึ้นอย่างฉับไวไม่แพ้กัน ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังทางการจีนเผยข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แก่ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ในวันที่ 10 ม.ค. 2563 การทำงานแข่งกับเวลาอย่างเร่งรีบก็เริ่มขึ้นทันที

ในขณะนี้สถาบันวิจัยและห้องปฏิบัติการของบริษัทยาหลายแห่งทั่วโลก กำลังระดมสมองค้นหาวิธีป้องกันและรักษาไข้ปอดอักเสบจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่กันอย่างเต็มที่ โดยแต่ละแห่งมุ่งศึกษาและพัฒนาเทคนิคยับยั้งไวรัสที่ต่างกันออกไป

ศาสตราจารย์โจนาธาน บอลล์ นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมของสหราชอาณาจักร กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับวารสาร New Scientist ว่า "ในขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสยังคงไม่เบาบางลง การเร่งคิดค้นและผลิตวัคซีนป้องกันให้ได้โดยเร็วที่สุด จะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการทุ่มสรรพกำลังค้นหายาต้านไวรัส"

"แต่กระบวนการการคิดค้นและทดสอบวัคซีนจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งปีหรือมากกว่า ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นสถานการณ์การระบาดน่าจะบรรเทาความรุนแรงลงหรือสิ้นสุดไปแล้วก็เป็นได้"

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่โลกต้องรอการคิดค้นวัคซีนชนิดใหม่อยู่ สถานการณ์ก็อาจไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก เนื่องจากมีรายงานว่ายารักษาโรคที่ใช้กันทั่วไปอยู่แล้วบางชนิด มีสรรพคุณต้านทานไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ ส่วนการคิดค้นและทดสอบยาต้านไวรัสตัวใหม่ของห้องปฏิบัติการบางแห่ง อาจใช้เวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น

สองวิธีหยุดยั้งการติดเชื้อไวรัส

การพัฒนายาต้านไวรัสขนานใหม่ อาจทำได้จากสองแนวทางหลักด้วยกัน โดยวิธีแรกคือการค้นหาโมเลกุลขนาดเล็กที่มีความเหมาะสมต่อการยับยั้งไวรัสไม่ให้เพิ่มจำนวนขึ้นในร่างกายมนุษย์ โดยโมเลกุลนี้จะไปขัดขวางแทรกแซงการทำงานของโปรตีนไวรัส

ไวรัส

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, แอนติบอดีจะจับเข้ากับตัวรับบนหนามของไวรัส และกระตุ้นให้ไวรัสถูกทำลาย

ยาชนิดนี้สามารถจะผลิตออกมาในรูปของยาเม็ดได้ง่าย ซึ่งเป็นข้อดีอย่างหนึ่งสำหรับการผลิตปริมาณมากระดับอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมากลับมีปัญหาว่า โครงการพัฒนายาต้านไวรัสจากโมเลกุลขนาดเล็กประสบความล้มเหลวไปถึง 99% ซึ่งแสดงว่าการคิดค้นยาต้านไวรัสชนิดใหม่ด้วยวิธีนี้ไม่ง่ายนัก และจะต้องกินเวลาอีกนานหลายปี

มีอีกวิธีหนึ่งในการต้านทานเชื้อไวรัส นั่นก็คือการใช้แอนติบอดี (antibodies) ซึ่งเป็นอาวุธแบบเดียวกับที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายคนเราใช้อยู่

แอนติบอดีคือโปรตีนขนาดใหญ่หลากหลายชนิด ที่สามารถจับเข้ากับตัวรับ (receptor) ของไวรัสแต่ละสายพันธุ์ และกระตุ้นให้เกิดการทำลายไวรัสได้

ตามปกติแล้วเมื่อคนเราติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่ที่ร่างกายไม่เคยรู้จักมาก่อน ระบบภูมิคุ้มกันอาจต้องใช้เวลาถึงสองสัปดาห์ในการผลิตแอนติบอดีขึ้นมาในปริมาณที่เพียงพอจะต่อสู้กำจัดไวรัสได้ แต่ในระหว่างนั้น หากฉีดยาแอนติบอดีที่ได้จากเซลล์ของสัตว์ซึ่งเพาะขึ้นในโรงงานที่ผลิตได้ครั้งละมาก ๆ ก็จะช่วยควบคุมจำนวนไวรัสในร่างกายไม่ให้เพิ่มขึ้น ก่อนที่ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจะแข็งแกร่งเต็มที่และเข้ามาจัดการไวรัสจนหมดไปในที่สุด

ยาฉีดแอนติบอดีนั้นมีแนวโน้มว่าจะมีผลข้างเคียงน้อย เมื่อเทียบกับยาต้านไวรัสที่ทำจากโมเลกุลขนาดเล็ก เพราะมีความจำเพาะเจาะจงในการเข้าจับกับตัวรับของไวรัสแต่ละชนิดมากกว่า ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการค้นหาแอนติบอดีที่จำเพาะกับไวรัส 2019-nCoV นั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก แต่ปัญหาอยู่ที่การผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการปริมาณมาก ภายในระยะเวลาอันสั้น

ความหวังสู่การรักษา

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของจีน นำโดย ดร. ยิ่ง เทียนเล่ย จากมหาวิทยาลัยฟู่ตันบอกว่า ขณะนี้ได้ค้นพบแอนติบอดีที่มีความจำเพาะกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้ว แต่จะต้องใช้เวลาอีก 1-2 เดือน เพื่อผลิตให้มีปริมาณเพียงพอต่อการทดลองในสัตว์และคนตามลำดับ

หวูซี ไบโอลอจิกส์ (WuXi Biologics) บริษัทยาและเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของจีนแถลงว่า ได้ตั้งทีมนักวิจัย 100 คน เพื่อค้นหาแอนติบอดีที่ต่อต้านไวรัส 2019-nCoV ให้ได้โดยเร็วที่สุด พวกเขามีความมั่นใจว่าจะสามารถเริ่มการผลิตยาจากแอนติบอดีได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 4-5 เดือนข้างหน้า แม้โดยทั่วไปแล้วกระบวนการดังกล่าวมักจะต้องกินเวลามากกว่านั้นอีกหลายเดือน

ไวรัส

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, คณะแพทย์ในเมืองอู่ฮั่นเริ่มทดสอบใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้ว

ด้านทีมนักวิจัยของบริษัท RenBio ในสหรัฐฯ หันมาพัฒนาวิธีลัดในการผลิตยาจากแอนติบอดี โดยไม่ต้องผลิตจากเซลล์ของสัตว์ที่เพาะในถังอุตสาหกรรมซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร พวกเขาใช้การฉีดสารพันธุกรรมที่จำเพาะเจาะจงต่อไวรัสเข้าที่กล้ามเนื้อขา และปล่อยให้ร่างกายของผู้ติดเชื้อผลิตแอนติบอดีขึ้นเองโดยตรงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือน ทำให้ยาฉีดชนิดนี้เป็นได้ทั้งยาต้านไวรัสและวัคซีนป้องกันไวรัสไปด้วยในตัว แต่ขณะนี้ยาเพิ่งอยู่ในขั้นผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลองไปเท่านั้น

นอกจากยาฉีดแอนติบอดีแล้ว ยังมีสิ่งที่เป็นความหวังในการรักษาจากยาต้านไวรัสแบบโมเลกุลขนาดเล็กกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นยาที่ผ่านการทดสอบและใช้รักษาโรคอื่น ๆ กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว เช่นยาต้านไวรัสเอชไอวี 2 ตัว คือริโทนาเวียร์ (Ritonavir) และโลปินาเวียร์ (Lopinavir) โดยคณะแพทย์ในเมืองอู่ฮั่นได้เริ่มทดสอบใช้ยากลุ่มนี้รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในพื้นที่ต้นกำเนิดการระบาดแล้ว

ส่วนคณะนักวิจัยสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร และสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ก็กำลังขออนุมัติใช้ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ที่เคยใช้รักษาโรคอีโบลา รวมทั้งยาคลอโรควิน (Chloroquine) ที่ใช้รักษาไข้มาลาเรีย เพื่อนำมารักษาผู้ป่วยไข้ปอดอักเสบจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ด้วย เนื่องจากพบว่าสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้