รอยเท้าดิจิทัล : ฝ่ายบุคคลเตือน ตัวตนและความคิดเห็นในโลกออนไลน์มีผลต่อการสมัครงาน

โซเชียลมีเดีย

ที่มาของภาพ, Getty Images

  • Author, ศิริกร เอื้อไพจิตร
  • Role, ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซีไทย

รอยเท้าดิจิทัล หรือ digital footprint กำลังมีบทบาทมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สิ่งที่เคยโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ไม่เพียงถูก "ขุด" มาใช้วิพากษ์วิจารณ์ผู้มีชื่อเสียงอย่างนักการเมืองหรือดารา แต่อดีตในโลกออนไลน์ยังส่งผลกระทบต่อบุคคลธรรมดาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในการสมัครงาน

ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ปัจจุบันองค์กรธุรกิจจำนวนมากใช้ข้อมูลจากโซเชียลมีเดียประกอบการพิจารณารับบุคคลเข้าทำงาน นอกเหนือจากการสัมภาษณ์และการทดสอบความสามารถ ดังนั้นคนในตลาดแรงงานจึงควรระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและความคิดเห็นในโลกออนไลน์ เพราะมันอาจส่งผลกระทบต่อการสมัครงาน

ขณะที่นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์แสดงความกังวลว่า การนำรอยเท้าดิจิทัลมาใช้ในการโจมตีกัน จะผลักดันให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งการ "เซ็นเซอร์ตัวเอง" เพราะทุกคนรู้สึกว่าโดนจับตามองอยู่ตลอดจึง "ไม่กล้าพูดอะไรมากนอกจากโพสต์รูปแมว รูปท่องเที่ยวไปวัน ๆ"

รอยเท้าดิจิทัลคืออะไร

เว็บไซต์ techterms.com นิยามรอยเท้าดิจิทัลว่า คือ ร่องรอยที่บุคคลทิ้งไว้ขณะท่องอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ที่เปิด อีเมลที่ส่งหรือข้อมูลส่วนบุคคลที่ป้อนเข้าสู่ระบบบริการออนไลน์ รอยเท้าดิจิทัลมี 2 ประเภทคือ

  • รอยเท้าดิจิทัลที่เกิดโดยไม่เจตนา (passive digital footprint) คือ ข้อมูลผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ถูกบันทึกไว้โดยไม่ตั้งใจ เช่น IP address ที่เว็บเซิร์ฟเวอร์บันทึกไว้เมื่อเราเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ ประวัติการค้นหาออนไลน์ที่ถูกบันทึกไว้โดยโปรแกรมค้นหา (search engines)
กูเกิ้ล

ที่มาของภาพ, Getty Images

  • รอยเท้าดิจิทัลที่เกิดโดยเจตนา (active digital footprint) คือ ข้อมูลที่ผู้ใช้จงใจบันทึกลงในระบบ เช่น อีเมล การเขียนบล็อก การโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ทุกข้อความที่ทวีต ทุกสเตตัสที่โพสต์หรือกดไลก์ในเฟซบุ๊ก ทุกรูปที่โพสต์ลงบนอินสตาแกรมล้วนกลายเป็นรอยเท้าดิจิทัลของเรา ยิ่งเราเล่นโซเชียลมีเดียมากเท่าไหร่ รอยเท้าดิจิทัลของเราก็ยิ่งโตขึ้นเท่านั้น เมื่อข้อมูลดิจิทัลถูกเผยแพร่ไปแล้ว ก็ยากที่จะนำมันออกจากระบบ แม้ว่าเราจะลบเนื้อหาที่โพสต์ในโซเชียลมีเดียไปแล้วก็ตาม

เอกชนรับ "ส่อง" โซเชียลมีเดียผู้สมัครงาน

ดร.บวรนันท์ นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลฯ กลาวว่า ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจให้ความสนใจรอยเท้าดิจิทัลของผู้สมัครงานมากขึ้น โดยตรวจสอบจากเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ของผู้สมัคร

"โซเชียลมีเดียเหล่านี้เก็บข้อมูลของบุคคลได้ทั้งหมด ทำให้ฝ่ายบุคคลวิเคราะห์ผู้สมัครได้ง่าย และได้ผลมากกว่าการนั่งสัมภาษณ์แบบเดิม ๆ เพราะเราจะรู้ได้ว่าเขาให้ความสำคัญกับเรื่องไหนในชีวิต ทัศนคติ วิธีบ่น วิธีคิด" ดร.บวรนันท์กล่าว และยอมรับว่าแนวโน้มนี้นับเป็นเรื่องที่คนที่ในตลาดแรงงานควรตระหนัก

แนวโน้มนี้ได้รับการยืนยันจากการสำรวจของสมาคมการจัดการงานบุคคลฯ เรื่องกระบวนการรับสมัครงานของบริษัทเอกชน 350 แห่ง ซึ่งจัดทำเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

"ผลการสำรวจพบว่า 41.19 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรที่สำรวจ ดูโซเชียลมีเดียของผู้สมัครประกอบการพิจารณาคุณสมบัติเพื่อตัดสินใจรับเข้าทำงาน" ดร.บวรนันท์กล่าว

โซเชียลมีเดีย

ที่มาของภาพ, Getty Images

นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลฯ อธิบายว่าการดูข้อมูลในโซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเพราะดูเฉพาะข้อมูลที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะ

ดร.บวรนันท์เตือนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้โซเชียลมีเดียมากและกำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานว่า ควรตระหนักถึงสิ่งที่ทำบนโซเชียลมีเดียเพราะสิ่งที่โพสต์อาจส่งผลต่อตัวเองได้ในอนาคต แต่ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลจนเกินไปเพราะโดยทั่วไปเรื่องที่เป็นสิทธิส่วนบุคคล เช่น การนับถือศาสนาหรือทัศนคติทางการเมืองจะไม่ถูกนำมาประกอบการพิจารณารับเข้าทำงาน

"ความน่าเชื่อถือของบุคคลเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นการใช้โซเชียลมีเดียต้องไตร่ตรองให้ดี อย่าลืมมองถึงผลกระทบ เราโพสต์ครั้งหนึ่งแต่มันติดตัวไปทั้งชีวิต ในยุคเทคโนโลยีก้าวหน้าแบบนี้ ทุกคนมีอำนาจอยู่ที่ปลายนิ้ว อยู่ที่ว่าจะใช้อำนาจนั้นให้เป็นประโยชน์กับตัวเรามากน้อยขนาดไหน"

รอยเท้าดิจิทัลของคนมีชื่อเสียง

คนที่เป็นที่รู้จักในสังคม เช่น ดารา นักการเมืองหรือเน็ตไอดอลดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากรอยเท้าดิจิทัลของตัวเองมากที่สุด ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมามีหลายคนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากรอยเท้าดิจิทัลของตัวเอง

  • พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคอนาคตใหม่ พรรณิการ์ต้องออกมาขอโทษหลังจากมีการเผยแพร่ภาพที่เธอโพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นภาพเธอสวมชุดครุยรับปริญญา ถูกวิจารณ์ว่าเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม ขณะที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ตรวจสอบว่าภาพดังกล่าวเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่
  • อมิตา ทาทา ยัง และ "พีท" พล นพวิชัย นักร้องชื่อดัง รวมถึงผู้มีชื่อเสียงหลายคนได้แสดงความคิดเห็นในโพสต์ของบัญชีผู้ใช้อินสตาแกรมชื่อ a_adisorn ที่โพสต์ขู่ทำร้าย น.ส.พรรณิการ์ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. โดยทาทาและพีทเขียนความเห็นในลักษณะที่สนับสนุนการ "ดักตบ" ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และผู้คนจำนวนมากได้แสดงความคิดเห็นทำให้แฮชแท็ก #ทาทายัง และ #พีทพล ขึ้นเทรนด์ในทวิตเตอร์ภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งจากการตรวจสอบล่าสุดพบว่าเจ้าของบัญชีผู้ใช้อินสตาแกรมดังกล่าวได้ลบโพสต์ไปแล้ว
  • "ลูกกอล์ฟ" คณาธิป สุนทรรักษ์ ติวเตอร์ภาษาอังกฤษชื่อดังโดนตามร่องรอยจากทวิตเตอร์ที่เคยโพสต์ไว้เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ทำให้คณาธิปต้องออกมาโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์แสดงความ "สำนึกผิด" เขาระบุว่า "มีช่วงหนึ่งในชีวิต ที่พี่มีความคิดที่น่ารังเกียจ ไม่มีอะไรจะแก้ตัว ทุกอย่างที่เราแชร์ไป เราต้องรับผิดชอบ พี่ขอรับผิดชอบกับความคิดที่น่ารังเกียจของพี่ทั้งหมด พี่ขอโทษ อ่านข้อความของตัวเองในวันนั้น ยังเกลียดตัวเองเลย พี่กลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่พี่ขอทำให้ปัจจุบันดีขึ้นแล้วกันนะคะ"
  • "วิว" ชนัญญา เตชจักรเสมา เจ้าของช่องยูทิวบ์ Point of view ที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ วรรณคดี ภาษา ถูกคนโลกออนไลน์ขุดข้อความที่เธอโพสต์ในทวิตเตอร์ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองไว้มากมายในอดีต จนเกิดกระแสโจมตีอย่างรุนแรงส่งผลให้ #pointofview ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ ซึ่งต่อมาชนัญญาได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ระบุว่า "รู้สึกผิดกับสิ่งที่กระทำลงไปในอดีต" พร้อมกับชี้แจงว่าบางข้อความเป็นข้อความเท็จที่เธอไม่ได้เป็นผู้เขียน และกำลังดำเนินคดีกับผู้ที่ตัดต่อข้อความดังกล่าว
ข้าม Facebook โพสต์

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์

  • "เหมี่ยว" ปวันรัตน์ นาคสุริยะ นักแสดงหญิงที่ได้รับรางวัลพระราชทานบันเทิงเทิดธรรมในงานประกาศรางวัล Nine Entertain Awards 2019 หลังการมอบรางวัลได้มีผู้นำคลิปวิดีโอที่เธอและเพื่อนดาราแสดงความคิดเห็นพาดพิงถึงเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2557 และแสดงความสะใจต่อเหตุยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม นปช. มาเผยแพร่
  • "นก" สินจัย เปล่งพานิช นักแสดงหญิงรุ่นใหญ่โดนขุดรอยเท้าดิจิทัล หลังจากที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย เลือกให้เธอเป็นพรีเซ็นเตอร์ในงานระดมทุนเมื่อเดือน มิ.ย.2562 ข้อความที่ถูกนำกลับมาเผยแพร่มีทั้งข้อความที่สินจัยขับไล่คนที่ต่อต้านรัฐประหารออกนอกประเทศ และข้อความแสดงความเกลียดชัง "กลุ่มคนเสื้อแดง" ส่งผลให้มีคนเข้าไปแสดงความผิดหวังในเฟซบุ๊กของ UNHCR จำนวนมาก หลายคนบอกว่าหาก UNHCR ยังคงร่วมงานกับสินจัยก็จะไม่บริจาคเงินให้อีกต่อไป

ดาบสองคมของรอยเท้าดิจิทัล

ดร. เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตท - ฟูลเลอร์ตัน สหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดียมักจะคิดว่าโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะมีคนจำนวนมากที่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือข้อความที่โพสต์ได้

"สิ่งที่คนลืมไปคือโซเชียลมีเดียเป็นสภาพแบบที่คุณถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลาโดยคนในเครือข่ายคุณ ทีนี้มันเป็นปัญหาเพราะเวลใครพูดอะไรที่ขัดกับสิ่งที่เราคิดว่า 'ดีงาม' ก็จะมีการเอาคนไปรุมถล่ม"

ดร.เพ็ญจันทร์กล่าวว่าเมื่อพูดถึงรอยเท้าดิจิทัล ในสังคมที่ก้าวหน้าจะนำข้อมูลนี้ไปใช้ประโยชน์กล่าวคือ นำรอยเท้าดิจิทัลไปรวบรวมและประมวลเป็น big data ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ดูพฤติกรรมผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การบริหารจัดการความเสี่ยง วางแผนการตลาด หรือแม้แต่กำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศ แต่ในสังคมไทย รอยเท้าดิจิทัลกลับถูกนำมาใช้เพื่อการโจมตีคนที่เห็นต่างหรือการ "ล่าแม่มด"

เฟซบุ๊ก

ที่มาของภาพ, Reuters

"พอเป็นแบบนี้ มันก็มีผลกับเราตรงที่เราก็อาจจะเลือกโพสต์หรือไม่โพสต์อะไร เพราะโดนจับตามองอยู่ตลอด สุดท้ายก็กลายเป็นสังคมที่เราเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่กล้าพูดอะไรมากนอกจากโพสต์รูปแมว รูปท่องเที่ยวไปวัน ๆ แต่เราลืมตั้งคำถามใหญ่คือ ทำไมสังคมไทยเป็นแบบนี้ ทำไมเราใช้เรื่องบางเรื่องในการเล่นงานคนที่คิดต่างจากเรา หรือทำลายคู่แข่งทางการเมือง ทำไมเราไม่เปิดพื้นที่ให้เกิดการตั้งคำถามหรือตรวจสอบผู้มีอำนาจ" ดร.เพ็ญจันทร์ตั้งคำถามทิ้งท้าย