รัฐประหารเมียนมา : กองทัพประกาศหยุดยิง 1 เดือน แต่จะตอบโต้ผู้ที่ “ขัดขวาง”

ทหารของ KNU ยืนคุ้มกันในวันครบรอบ 70 ปี วันปฏิวัติแห่งชาติกะเหรียงในเมืองกอว์ ตู เลย รัฐกะยิน 31 ม.ค. 2019 (แฟ้มภาพ)

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ทหารเคเอ็นยูยืนรักษาการในวันครบรอบ 70 ปี วันปฏิวัติแห่งชาติกะเหรียง ในรัฐกะเหรี่ยง 31 ม.ค. 2019

รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวนาน 1 เดือน แต่จะตอบโต้ "การกระทำที่เป็นการขัดขวางความมั่นคงและการบริหารงานของรัฐบาล" ด้านกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยูไม่เชื่อ เตรียมพร้อมรับการโจมตีรอบใหม่

นอกจากนี้คณะรัฐประหารเมียนมาได้เปิดโอกาสให้ทีมข่าวจากซีเอ็นเอ็นเข้าไปรายงานข่าวในนครย่างกุ้ง ท่ามกลางการอารักขาอย่างแน่นหนาของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของทางการ

สถานีโทรทัศน์ MRTV ของทางการเมียนมาได้อ่านแถลงการณ์นี้ เมื่อคืน 31 มี.ค. เรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่าง ๆ "รักษาสันติภาพ" และระบุว่า กองทัพจะ "ระงับปฏิบัติการต่าง ๆ เพียงฝ่ายเดียวตั้งแต่ 1-30 เม.ย." แต่ยกเว้นผู้ที่ "ขัดขวาง" ความมั่นคงของรัฐบาล

การแถลงนี้ มีขึ้น 1 วันหลังกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู แถลงเมื่อ 30 มี.ค. แสดงความกังวลว่าจะเกิดการปะทะครั้งใหญ่กับทหารของรัฐบาลเมียนมา หลังการโจมตีทางอากาศเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ชาวกะเหรี่ยงนับพันคนต้องอพยพข้ามมาฝั่งไทย

ผู้แทนของเคเอ็นยู เชื่อว่า แถลงการณ์นี้เป็นเรื่องของการปรับกำลังตามแนวชายแดนมากกว่าการหยุดยิงจริง

Karen humanitarian group handout

ที่มาของภาพ, Karen humanitarian group handout

คำบรรยายภาพ, กลุ่มผู้อพยพกะเหรี่ยงที่หนีภัยการโจมตีทางอากาศโดยทหารเมียนมาในเขตรัฐกะเหรี่ยง เมื่อต้นสัปดาห์มุ่งหน้าเข้ามาหลบภัยในไทย

เว็บไซต์แชนแนลนิวส์เอเชีย รายงานว่า ยังไม่มีการประกาศจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เกี่ยวกับการหยุดยิงของกองทัพ โดยกลุ่มสำคัญหลายกลุ่มรวมถึง กลุ่มคะฉิ่นทางตอนเหนือ กลุ่มกะเหรี่ยงทางตะวันออก และกองทัพอาระกันของยะไข่ทางตะวันตกของเมียนมา ต่างประณามรัฐประหารและเคยระบุก่อนหน้านี้ว่า พวกเขาจะปกป้องผู้ประท้วงในดินแดนที่ตัวเองควบคุมอยู่

แชนแนลนิวส์เอเชียรายงานโดยอ้างสื่อท้องถิ่นสองแห่งว่า กองทัพเพื่อเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army) ได้โจมตีสถานีตำรวจในเมืองเชวกูของรัฐคะฉิ่นก่อนรุ่งเช้าวันที่ 31 มี.ค. มีรายงานว่า ผู้ก่อเหตุสามารถยึดอาวุธและเสบียงไปได้ นอกจากนี้ยังทำให้ตำรวจบาดเจ็บ 1 นาย

ด้านพันเอกเนอดา เมียะ ผู้บัญชาการกองกกล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน จ.แม่ฮ่ฮงสอน และ จ.ตาก ว่า การโจมตีที่มั่นของเคเอ็นยูในพื้นที่กองพลที่ 5 โดยทหารเมียนมา นั้น ฝ่ายทหารกะเหรี่ยงไม่ได้รับอันตราย และทุกคนต่อสู้เพื่อเอกราช เพื่อเสรีภาพของกะเหรี่ยง รวมทั้งอุดมการณ์ที่มีมานานแล้ว ถ้าหากฝ่ายเมียนมาไม่หยุดโจมตีฝ่ายกะเหรี่ยง จะทำให้กำลังของกองพลอื่น ๆ ต้องตอบโต้ฝ่ายทหารเมียนมาอย่างแน่นอน และเท่าที่ทำได้

พันเอกเนอดา เมียะ (หน้าสุด) ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์แห่งชาติกะเหรี่ยงซึ่งอยู่ภายใต้ KNU

ที่มาของภาพ, KNU handout

คำบรรยายภาพ, พันเอกเนอดา เมียะ (หน้าสุด) ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์แห่งชาติกะเหรี่ยงซึ่งอยู่ภายใต้เคเอ็นยู

ส่วนการที่รัฐบาลเมียนมาประกาศหยุดปฏับัติการทางทหาร 1 เดือนกับชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม เว้นแต่กลุ่มที่ไปโจมตีทหารเมียนมาเท่านั้น ที่ฝ่ายทหารเมียนมาจะดำเนินตอบโต้ พันเอกเนอดา เชื่อว่า ทหารเมียนมาไม่มีความจริงใจ การหยุดยิงน่าจะเป็นการปรับกำลัง และหาทางส่งเสบียงอาหารให้ทหารมากกว่า

ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. กองทัพเมียนมาพยายามเจรจากับเคเอ็นยูเพื่อขอให้เปิดทางให้กองทัพส่งเสบียงไปให้ทหารเมียนมา แต่เคเอ็นยูไม่ยอม และไปโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพเมียนมาในช่วงเช้าตรู่ของวันกองทัพเมียนมา 27 มี.ค. กองทัพเมียนมาตอบโต้ด้วยการส่งฝูงบินไปบินถล่มในหลายพื้นที่ใน รัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญ หลายครั้งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 20 ราย

แหล่งข่าวจากเคเอ็นยูระบุว่า ล่าสุดกองพลที่ 5 ของเคเอ็นยูยังคงไม่ยอมเปิดทางให้ทหารเมียนมา ที่มีความพยายามจะไปส่งเสบียงอาหารให้ทหารตามฐานที่มั่นริมฝั่งสาละวิน

ทหารเมียนมาจ้างล็อบบี้ยิสต์เชิญซีเอ็นเอ็นเข้าไปทำข่าว

นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันถึงกรณีที่สื่อระดับโลกอย่างซีเอ็นเอ็นของสหรัฐฯ ได้รับอภิสิทธิ์ในการเข้าไปรายงานข่าวประเทศเมียนมา

รอยเตอร์รายงานว่า ประชาชนในนครย่างกุ้งของเมียนมาพากันเคาะหม้อและกระทะเมื่อวันพุธ (31 มี.ค.) เพื่อแสดงการต่อต้านการปกครองของทหารระหว่างที่ทีมข่าวของซีเอ็นเอ็นเดินทางเข้าไปยังนครย่างกุ้งพร้อมกับขบวนรถที่มีการติดอาวุธหนัก

"โทรศัพท์เก็บเสียงได้ไม่ดีนัก แต่ประชาชนกำลังเคาะหม้อและกระทะ ขณะที่ขบวนรถติดวุธหนักของเราขับผ่าน" คลาริสซา วอร์ด หัวหน้าผู้สื่อข่าวประจำต่างประเทศของซีเอ็นเอ็น โพสต์ทางโซเชียลมีเดีย

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์

ขณะนี้โฆษกของรัฐบาลทหารยังไม่แสดงความเห็น ด้านอารี เบน-เมนาเช นักเจรจาต่อรองชาวแคนาดาเชื้อสายอิสราเอล ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวกับรอยเตอร์ว่า เขาได้จัดการเรื่องการเดินทางเข้ามานครย่างกุ้งของซีเอ็นเอ็น และทีมข่าวซีเอ็นเอ็นจะมีอิสระในการรายงานในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

ด้านซีเอ็นเอ็น ยังไม่ได้ยืนยันกับทางรอยเตอร์ว่า นายอารี เบน-เมนาเช เป็นผู้จัดการการเยือนดังกล่าวจริงหรือไม่ และผู้สื่อข่าวของซีเอ็นเอ็นจะสามารถนำเสนอภาพได้อย่างเต็มที่หรือไม่

BBC Thai stringer

ที่มาของภาพ, BBC Thai stringer

คำบรรยายภาพ, ภาพทีมข่าวซีเอ็นเอ็นพูดคุยกับประชาชนในนครย่างกุ้ง โดยมีรถของเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้

ผู้สื่อข่าวเมียนมาต่างตำหนิถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ภายใต้การปกครองของกองทัพ โดยรอยเตอร์รายงานโดยอ้างตัวเลขจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners—AAPP) ว่า มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 48 คนแล้วที่ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาควบคุมตัว นับตั้งแต่มีการโค่นล้มนางออง ซาน ซู จี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของเมียนมา โดยในจำนวนนี้ราว 25 คน ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่

รอยเตอร์รายงานว่า ใบอนุญาตของสำนักข่าวอิสระหลายแห่งถูกยกเลิก หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่หยุดดำเนินการ สื่อถูกสั่งไม่ให้เรียกทางการว่า รัฐบาลทหาร หรือไม่ให้เรียกการยึดอำนาจของกองทัพว่า รัฐประหาร

รอยเตอร์รายงานว่า ผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารได้แสดงความกังวลว่า จะมีการแสดงหลักฐานเท็จต่อทีมข่าวของซีเอ็นเอ็น และทำให้เชื่อว่า ชีวิตของชาวเมียนมากลับสู่ปกติแล้ว

"เราเคาะหม้อและกระทะพร้อมกันตอนเวลาบ่ายโมงเพื่อแสดงให้เธอเห็นอย่างสันติว่า เรากำลังต่อต้านรัฐประหารของกองทัพและเราไม่โอเคจริง ๆ" ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่ใช้ชื่อว่า ซัน ซัน โพสต์ตามการรายงานของรอยเตอร์

เด็กเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 43 คน

เด็กหญิงพม่า

ที่มาของภาพ, Getty Images

องค์การช่วยเหลือเด็กหรือ Save the Children รายงานว่าจำนวนเด็กที่เสียชีวิตจากการที่กองทัพเมียนมาใช้กำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 43 คน ในจำนวนนี้มีเด็กหญิงวัย 7 ขวบถูกยิงภายในบ้าน และเด็กชายวัย 13 ถูกยิงที่ศีรษะ

จำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็กเพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วง 12 วันที่ผ่านมา สหพันธ์พิทักษ์เด็กระบุพร้อมกับอ้างข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองว่าผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของกองทัพเมียนมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. มีจำนวนกว่า 520 คนแล้ว

"นี่เป็นจุดเริ่มต้นของฝันร้าย อนาคตอันสดใสของเด็ก ๆ ถูกทำลายป่นปี้ในพริบตา สมาชิกในครอบครัวรวมทั้งเด็ก ๆ ที่สูญเสียพี่หรือน้องไป ต้องทนทุกข์ทรมานจากความโศกเศร้าที่เกินบรรยาย เด็กจำนวนมากเห็นความรุนแรงและภาพอันสยดสยอง เมียนมาไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ อีกต่อไปแล้ว" องค์การช่วยเหลือเด็กระบุ

ขณะที่วันนี้ (1 เม.ย.) ศาลในกรุงเนปิดอว์มีกำหนดจะเปิดการไต่สวนนางออง ซาน ซู จี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี หลังจากที่เลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง

นางซู จี ตกเป็นจำเลยในหลายข้อหา ทั้งทุจริตคอร์รัปชัน นำเข้ามาในประเทศซึ่งวิทยุสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 เป็นต้น

กต. ยืนยันยังไม่ถึงขั้นอพยพคนไทยกลับ

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ที่กระทรวงการต่างประเทศวันนี้ (1 เม.ย.) เกี่ยวกับสถานการณ์การประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจของรัฐบาลทหารเมียนมาว่า สถานการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยย่อมไม่สบายใจอย่างมากในการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ออกมาชุมนุม จึงอยากขอให้เมียนมาใช้ความอดทนอย่างมากในการดำเนินการใด ๆ และปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมตัวให้มากขึ้น

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุด้วยว่า ขอให้ทุกฝ่ายหาทางออกสู่สันติภาพด้วยการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ ประเทศไทย ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงเมียนมาเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพอย่างยั่งยืน สำหรับประชาชนเมียนมาเพื่อให้กลับสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็วที่สุด

ส่วนการให้ความช่วยเหลือคนไทยในเมียนมา ยืนยันว่าสถานการณ์ "ยังไม่ถึงระดับที่ต้องเตือนให้มีการอพยพกลับไทย" เขาระบุว่า แต่หากสถานการณ์ยกะดับขึ้นอีก ฝ่ายไทยก็มีการเตรียมพร้อมไว้แล้วในทุกขั้นตอนในส่วนของการเตรียมความพร้อมและแผนการอพยพ ที่มีการซักซ้อมร่วมกันกับผู้แทนชุมชนไทยและภาคธุรกิจ

ค่ายทหารเมียนมาบนริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ค่ายทหารเมียนมาบนริมฝั่งแม่น้ำสาละวินมองเห็นได้จากริ่มแม่น้ำฝั่ง จ.แม่ฮ่องสอน ของไทย

ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง ชายแดนไทย-เมียนมา ตกค้างที่ จ.แม่ฮ่องสอน 216 คน

อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยงที่บริเวณชายแดน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่หนีภัยเข้ามาช่วงปลายเดือน มี.ค. ว่าฝ่ายไทยได้ติดตามสถานการณืใกล้ชิดมาโดยตลอดและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

สำหรับผู้หนีภัยสู้รบ นายธานีกล่าวว่า ยังคงเหลือที่ยังไม่เดินทางกลับไปยังเขตเมียนมาเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เด็ก สตรี คนชรา จำนวน 216 คน ซึ่งมีการทยอยเดินทางกลับ ทุกคนแสดงความประสงค์อยากจะกลับ แต่ยังเกรงกลัวภัยจากการถูกโจมตีทางอากาศ ทั้งนี้ หน่วยงานในพื้นที่ได้พูดคุยทำความเข้าใจให้มีความพร้อมและเป็นไปตามประสงค์ของผู้หนีภัย

"ทุกจุดที่รับผู้หนีภัย จะยังคงค้าง เฉพาะผู้ป่วย เด็กและคนแก่ เนื่องจากกลับไม่ทันจะขอกลับในวันรุ่งขึ้น คือ วันนี้"

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังระบุตัวเลขของผู้อพยพหนีภัยชาวกะเหรี่ยง ณ วันที่ 31 มี.ค. ว่ามีจำนวน 2,788 คน เดินทางกลับแล้ว 2,572 คน และเหลือ 216 คน เป็นตัวเลขล่าสุด

นายธานี ย้ำในส่วนนโยบายการรับมือโดยขอให้มั่นใจว่าไทยมีประสบการณ์ในการรับมือผู้หนีภัยการสู้รบจากประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างยาวนาน หากจะมีผูู้หนีภัยเข้ามาจำนวนมาก ฝ่ายความมั่นคงและจังหวัดชายแดน ได้เตรียมความพร้อม ทั้งแนวปฏิบัติและสถานที่รองรับไว้แล้ว รวมถึงแนวปฏิบัติเรื่องมาตรการป้องกันโควิด

กงสุลสหรัฐฯสอบถาม ผวจ.แม่ฮ่องสอน

BBC Thai stringer

ที่มาของภาพ, BBC Thai stringer

1 เม.ย.64 นายแดเนียล เจคอบส์-ณาน หัวหน้าแผนกกงสุล สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่รวม 2 คน เดินทางเข้าพบ นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ ห้องทำงานผู้ว่าราชการจังหวัด

ภายหลังการหารือ นายสิธิชัย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ต้องการทราบแนวทางการปฏิบัติ หากมีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาได้ข้ามมายังฝั่งไทย ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทางสถานกงสุลมีความกังวลใจ อาจจะมีส่วนหนึ่งที่เป็นชาวอเมริกันที่ไปทำงานอยู่ในประเทศเมียนมาหรือคนเมียนมาแต่มีเชื้อชาติอเมริกันปะปนเข้ามาอยู่ด้วยจึงมาขอทราบแนวทางปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้จะทำเป็นอย่างไร ไม่ได้พูดคุยถึงเรื่องรับหรือไม่รับผู้อพยพ

นายสิธิชัย กล่าวชี้แจงว่า ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีมาตรการดูแลประชาชนที่หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาอย่างเป็นระบบตามขั้นตอนต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาลไทย ทุกคนที่ข้ามมาฝั่งไทยก็จะต้องดูแลอย่างดี จากการติดตามสถานการณ์ล่าสุด ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาก็เริ่มทยอยเดินทางกลับออกไปเกือบหมดแล้ว เหลืออยู่ประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่เป็นสตรี เด็ก คนชรา ก็คงจะทยอยกันเดินทางกลับไป

เขาย้ำว่า การจะรับผู้หนีภัยจากการสู้รบนั้น ผู้หนีภัยที่หนีเข้ามาอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์การอพยพ เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่ข้ามฝั่งมาก็เป็นประชาชนชาวเมียนมาที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนอยู่แล้ว การตั้งถิ่นฐานของคนกลุ่มนี้ก็มีหมู่บ้านอยู่ฝั่งตรงข้ามไทยอยู่แล้ว แต่เมื่อมีความกังวลกับสถานการณ์เขาก็เพียงแค่ข้ามฝั่งมาเพื่อให้เกิดความอุ่นใจ มั่นใจ เป็นบางห้วงเวลาเท่านั้นเอง