ไวรัสโคโรนา : แบงก์ชาติ-กนง. คาดวิกฤตโควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยเลวร้ายกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540

โควิด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของประเทศ มีมติเอกฉันท์เมื่อ 24 มิ.ย. ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% หลังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 "มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้" เป็น -8.1% จากประมาณการเดิม ที่ -5.3%

การปรับคาดการณ์ที่ลดลงมาจากหลายปัจจัยที่เลวร้ายกว่าที่คาดไว้ เช่น มูลค่าการส่งออกจะหดตัวที่ -10.3% จากเดิม -8.8%, ยอดรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 8 ล้านคน จากเดิม 15 ล้านคน, การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวที่ -13% จากเดิม -4.3%, การบริโภคภาคเอกชนหดตัวที่ -3.6% จากเดิมที่ -1.5%

ส่วนข่าวดี คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีหดตัวลง อยู่ที่ -1.7% จากเดิมที่ -1.0% เนื่องจากราคาน้ำมันที่ตกแรงจากการชะลอ ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก และเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว ในไตรมาส 2 ปีนี้ และจะกลับมาขยายตัวได้ในปี 2564 ที่ 5.0% จากประมาณการเดิมที่ 3.0%

โควิด

ที่มาของภาพ, Getty Images

ปรับลงจากเมื่อ 3 เดือนก่อนหน้า

เมื่อ 25 มี.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะหดตัว 5.3% นับเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับแต่วิกฤตเศรษฐกิจของไทยและเอเชียเมื่อปี 2540-2541

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธปท. แถลงเมื่อ 25 มี.ค. ว่า สถานการณ์โรคระบาดไวรัส โควิด-19 กระทบไปทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งด้านตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ภายใต้สถานการณ์ข้างต้น กนง. คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศปีนี้ จะขยายตัวติดลบ 5.3% ในปี 2563 จากเดิมที่คาดว่าขยายตัว 2.8% ก่อนจะกลับมาขยายตัวที่ 3% ในปี 2564

ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากสถานการณ์ของโรคระบาดที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราว60% ในปีนี้ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง หรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ คาดว่าตัวเลขการส่งออกของไทยปีนี้จะหดตัว 8.8% จากเดิมคาดว่าขยายตัว 0.2%

ธนบัตรไทย

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ลดดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้

เมื่อ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา กนง. ได้มีการประชุมนัดพิเศษเพื่อประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและกลไกการทำงานของตลาดการเงินของประเทศ แล้วมีมติ ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.00% เป็น 0.75% ต่อปี ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยให้มีผลในวันที่ 23 มี.ค. เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้วและจะออกมาเพิ่มเติม

ผู้ว่า ธปท. เคยพูดอีกอย่าง

เมื่อ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่า ธปท. ออกมาตรการ 3 ข้อเพื่อเสริมสภาพคล่องตลาดเงิน ยอมรับ "การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่เราคาดไว้" แต่ยืนยันว่าไม่เลวร้ายเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540

"บางคนเปรียบเทียบปัญหาคราวนี้กับวิกฤตต้มยำกุ้งตอนปี 2540 เป็นคนละเรื่องกันเลยนะครับ วันนี้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนที่มั่นคงและมีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่สูง" นายวิรไทกล่าวในการแถลงข่าวเรื่องมาตรการรองรับสถานการณ์โควิด-19 ภายหลังการประชุมร่วมกันระหว่างผู้แทนกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

โควิด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

วิกฤตเศรษฐกิจ 2540/41

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เลิกผูกติดกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ หลังถูกโจมตีค่าเงินอย่างหนักหลายครั้ง การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างหนัก ปริมาณหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยทันที ผลกระทบทางการเงินและเศรษฐกิจในไทยถือเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วเอเชีย

ในครั้งนั้น คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ได้จัดทำรายงานผลการวิเคราะห์และวินิจฉัย ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาทดังกล่าวว่าเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ปัญหาหนี้ต่างประเทศ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด การลงทุนเกินตัว และฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การโจมตีค่าเงินบาท รวมทั้งประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ซึ่งก่อนหน้านั้นในปี 2539 รัฐบาลได้สั่งปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่ง รวมทั้งธนาคารพาณิชย์อีก 3 แห่ง

ในปี 2540 รัฐบาลยังให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อีกหลายแห่ง โดยใช้เงินจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน เข้าช่วยเหลือ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และยังต้องสั่งปิดกิจการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์รวมกันอีกกว่า 50 แห่ง

คำบรรยายวิดีโอ, Thai Econ Financial Crisis Explainer

ตัวเลขย้อนหลัง

จากตาราง เครื่องชี้เศรษฐกิจมหภาคของไทย ของ ธปท. ว่าด้วย ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ แบบปริมาณลูกโซ่ ระหว่างปี 2540-2562 พบว่า ตัวเลข การขยายตัวติดลบ 5.3% ถือว่าเป็นตัวเลขเลวร้ายที่นับแต่วิกฤตเศรษฐกิจของไทยที่ลุกลามไปทั่วเอเชียเมื่อปี 2540-2541

อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 หรือ "มหาอุทกภัย" เริ่มตั้งแต่ปลาย เดือนกรกฎาคม และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นอุทกภัยรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำโขง ประชาชนได้รับผลกระทบเกือบ 13 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท

V ก่อน U ได้ไหม

รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง กล่าวกับบีบีซีไทยว่า จากประมาณการของธปท. ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ติดลบ 5.3% ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียในระหว่างปี 2540-41

"สิ่งที่จะต้องจับตาคือ วิกฤตนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด หากว่าสามารถจบภายในปีนี้ได้ เศรษฐกิจไทยในปีหน้าก็อาจจะเป็นเติบโตในแดนบวกได้ เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ถูกอั้นมานานจะดีดกับมาอีกครั้งในลักษณะกราฟตัววี (V) แต่หากว่าระยะเวลาเนิ่นนานไปถึงสองปี อาจจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่สามารถรับมือกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจทำให้อัตราการเติบโตที่เกิดขึ้นอาจจะอยู่ในลักษณะตัวแอล (L) ซึ่งจะทำให้อัตราการเติบโตติดลบต่อไปอีก" รศ.ดร.สมชายกล่าว

โควิด

ที่มาของภาพ, AFP

* หมายเหตุ รายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเพื่อ 25 มี.ค. 2563 และเพิ่มเติมข้อมูลให้ทันสมัยเมื่อ 2 ก.ค. 2563