รถถัง Oplot: 5 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับรถถังยูเครนที่ไทยสั่งซื้อ

ชื่อของรถถัง Oplot มีความหมายว่า "ฐานที่มั่น"

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ชื่อของรถถัง Oplot มีความหมายว่า "ฐานที่มั่น"

สื่อยูเครนรายงานว่า ยูโครโบรอนพรอม (Ukroboronprom) รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ของยูเครนเตรียมส่งมอบรถถัง Oplot-T ล็อตสุดท้ายให้กับกองทัพไทยภายในเมษายน หลังผิดนัดมาหลายครั้ง

เคียฟโพสต์ รายงานว่า การส่งมอบรถถังล็อตสุดท้ายนี้ เป็นไปตามสัญญามูลค่า 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 7.2 พันล้านบาท) ที่รัฐบาลไทยลงนามกับยูเครนเพื่อซื้อ รถถัง Oplot-T จำนวน 49 คันเมื่อปี 2554

นายพาฟโล บูกิน ผู้อำนวยการของ ยูโครโบรอนพรอม กล่าวกับ เคียฟโพสต์ ว่าจะสามารถจัดส่งรถถังได้ตามสัญญาได้ภายในปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนนี้

มาทำความรู้จักรถถังรุ่นนี้ผ่าน 5 ข้อเท็จจริง

1. จัดซื้อสมัย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผบ. ทบ.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เมื่อปี 2554 ระหว่างเกิดความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เมื่อปี 2554 ระหว่างเกิดความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา

กองทัพบกไทยเซ็นสัญญามูลค่า 7.2 พันล้านบาท เมื่อปี 2554 เพื่อซื้อรถถัง Oplot-T จำนวน 49 คัน พร้อมกับยานยนต์สนับสนุน จากรัฐบาลยูเครน ในสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก

ไทยรัฐ รายงานว่า คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อโครงการนี้ถูกเสนอเข้า ครม. ว่าการจัดซื้อรถถังนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากองทัพ

"ขอร้องอย่าไปมองว่าทำไมช่วงนี้ถึงมีการจัดซื้อเยอะ เหมาจ่ายให้ทหารหรือเปล่า อย่าไปมองอย่างนั้น ถ้าพูดอย่างนี้เดี๋ยวทหารจะเสียใจ เพราะการจัดซื้อเป็นการวางแผนระยะยาว 10 ปี ที่ผ่านมาอยู่ในแผนพัฒนากองทัพอะไรที่เก่าต้องซื้อทดแทน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ณ ตอนนั้น ระบุว่าโครงการซื้อรถถังจากยูเครนเป็นการจัดซื้อแบบจีทูจี หรือ รัฐต่อรัฐ โดยกองทัพได้ส่งกำลังพลส่วนหนึ่งไปเข้ารับการศึกษาอยู่ที่ประเทศยูเครนอีกด้วย

ผ่านไป 7 ปี พร้อมกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปีที่ 4 ของ ของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่การส่งมอบยังไม่เสร็จสิ้น เลื่อนการจัดส่งหลายครั้ง

2.เหตุใดจึงล่าช้า

นายทหารยูเครน ยืนคู่กับรถถัง Oplot ในกรุงเคียฟ เมื่อปี 2552

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายทหารยูเครน ยืนคู่กับรถถัง Oplot ในกรุงเคียฟ เมื่อปี 2552

ตามสัญญาการจัดซื้อเดิม ยูโครโบรอนพรอม จะผลิตและจัดส่งรถถังทั้งหมดภายในปี 2558 แต่ผ่านกำหนดมาแล้วกว่า 3 ปี รถถังเดินทางมาถึงไทยไม่ครบจำนวน

ยูโครโบรอนพรอม ให้เหตุผลในการจัดส่งรถถังได้อย่างล้าช้าว่าเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจในยูเครนและสงครามในดอนบัสส์ ทางตะวันออกของประเทศ ทำให้ขาดเงินทุนในการผลิตรถถัง

ในการสัมภาษณ์กับ เคียฟโพสต์ นายพาฟโล บูกิน ผู้อำนวยการของ ยูโครโบรอนพรอม กล่าวขอบคุณพันธมิตรทางธุรกิจในไทยสำหรับความเข้าใจ

เขากล่าวว่าจะส่งรถถังให้ได้ตามสัญญาอย่างแน่นอน ถึงแม้ที่ผ่านมาจะต้องเผชิญกับ "การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมและการรุกรานทางทหารจากรัสเซีย"

อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าดังกล่าวทำให้กองทัพไทยหันไปซื้อรถถัง VT-4 จากประเทศจีน จำนวน 28 คัน ราคารวม 5.02 พันล้านบาท ซึ่งไทยเป็นลูกค้ารายแรก และยังมีแผนจะซื้อเพิ่มในปีต่อ ๆ ไป

3. ไทยมีรถถัง Oplot มากกว่ากองทัพยูเครน

เด็กไทยปีนขึ้นบนรถถังในงานวันเด็กแห่งชาติปี 2561

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, เด็กไทยปีนขึ้นบนรถถังในงานวันเด็กแห่งชาติปี 2561

ตามข้อมูลจาก เคียฟโพสต์ และ Military Today กองทัพบกไทยเป็นลูกค้ารายแรกและรายใหญ่ที่สุดของรถถังสัญชาติยูเครนรุ่น Oplot-M

รถถัง Oplot-M เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2551 และเป็นรุ่นปรับปรุงจากรถถัง Oplot รุ่นเก่าซึ่งกองทัพยูเครนมีอยู่ทั้งหมด 10 คันและไม่เคยใช้งานพวกมันในสนามรบ

ถึงแม้รถถัง Oplot-M ได้ผ่านการทดสอบโดยกองทัพยูเครน แต่สุดท้ายกองทัพก็ไม่ได้สั่งซื้อรถถังเนื่องจากปัญหาด้านเงินทุน

อย่างไรก็ตาม ยูโครโบรอนพรอม ได้ระบุว่า สัญญาขายรถถังให้ไทยครั้งนี้ช่วยให้ ยูโครโบรอนพรอม มีเงินทุนสำหรับการผลิตรถถังต่อไป ซึ่งรวมถึงการผลิตรถถังให้กับกองทัพของยูเครนเอง

นอกจากไทยแล้ว เมื่อเดือนที่ผ่านมา มีรายงานว่าสหรัฐฯ ได้ซื้อรถถัง Oplot-M จำนวน 1 คัน เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาทางยุทโธปกรณ์

4. รถถัง Oplot ทำอะไรได้บ้าง?

การฝึก คอบร้าโกลด์ 2561 เมื่อเดือน ก.พ. จัดขึ้นโดยกองทัพไทยและกองบัญชาการประจำภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, การฝึก คอบร้าโกลด์ 2561 เมื่อเดือน ก.พ. จัดขึ้นโดยกองทัพไทยและกองบัญชาการประจำภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ

รถถังรุ่น Oplot-T ที่กองทัพบกไทยสั่งซื้อเป็นรถถังรุ่นส่งออกของรถถังยูเครนรุ่น Oplot-M โดยมีการปรับเปลี่ยนส่วนประกอบ เช่น เครื่องมือวิทยุสื่อสาร และระบบปรับอากาศ เพื่อให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของไทยที่แตกต่างจากยูเครน

แหล่งข่าวในกองทัพไทยบอกกับบีบีซีไทยว่า รถถังทั้งสองรุ่นจากยูเครนและจีน จัดเป็นรถถัง "เจเนอเรชั่น 4" ที่ต่างก็มีประสิทธิภาพสูง

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Military Today และ armyrecognition ระบุว่า รถถัง Oplot-M เป็นรถถังขนาดบรรทุก 3 คน มีน้ำหนัก 51 ตันและขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 1,200 แรงม้า พร้อมกับปืนใหญ่รถถังมีขนาด 125 มม. ที่มีระบบบรรจุกระสุนแบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีระบบเกราะ และระบบป้องกันตนเองต่าง ๆ จากการโจมตีก่อนที่จรวดจะมาถึงตัวรถถัง

แม้ว่ามันจะยังไม่เคยถูกใช้งานในสนามรบจริง ยูโครโบรอนพรอม ระบุว่ารถถัง Oplot-M เป็นหนึ่งในรถถังรุ่นที่มีสมรรถภาพและความทนทานที่สุดในโลก

คำบรรยายวิดีโอ, กองทัพบกจัดการทดสอบสมรรถนะของรถถัง VT-4 สัญชาติจีน

เปรียบเทียบรถถังทั้ง 2 รุ่น

ที่มา: Military Today และกองทัพบกไทย

5. ไทยนำรถถังไปใช้งานอะไร

รถถัง

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, รถถังถูกนำมาประจำการใน จ.สุรินทร์ เมื่อครั้งเกิดความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ปี 2554

แหล่งข่าวในกองทัพไทย บอกกับบีบีซีไทยว่า รถถัง ถือเป็นยุทโธปกรณ์หลักของกองทัพไทย ซึ่งยังมีการใช้งานในการตรึงกำลังตามยุทธศาสตร์ เช่น ในกรณีที่มีข้อพิพาทระหว่างประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องมีรถถังประจำการในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ การจัดซื้อใหม่เป็นไปเพื่อทดแทนรถเก่า ที่ใช้งานมาเป็นเวลานานแล้ว

ทั้งนี้กองทัพไทยได้นำรถถัง Oplot-T ออกซ้อมรบประจำปีที่ จ.จันทบุรี เมื่อปีที่ผ่านมาด้วย

นอกจากนี้ เว็บไซต์ด้านข่าวการทหาร เจนส์ ดีเฟนส์ ยังระบุด้วยว่าภายในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า กองทัพไทยต้องการจะทดแทนรถถัง M41 ของสหรัฐฯ ซึ่งถูกใช้งานมานานกว่า 50 ปีจำนวนทั้งหมด 150 คัน