เกาหลีเหนือ : อดีตพันเอกผู้แปรพักตร์เผยความลับอันดำมืดใต้การปกครองของตระกูลคิม

North Korean defector
คำบรรยายภาพ, คิม กุก-ซอง ใช้เวลา 30 ปีในการไต่เต้าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในหน่วยงานสายลับอันทรงอิทธิพลของเกาหลีเหนือ
  • Author, ลอรา บิคเกอร์
  • Role, บีบีซี นิวส์, โซล

คิม กุก-ซอง ยังคงไม่ทิ้งนิสัยเดิมที่มักทำตัวลึกลับซับซ้อน

ทีมข่าวบีบีซีต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการหารือเพื่อขอสัมภาษณ์อดีตเจ้าที่ระดับสูงของหน่วยสายลับเกาหลีเหนือผู้นี้ ซึ่งเขายังคงมีท่าทางกังวลว่าจะมีคนแอบดักฟัง เขาสวมแว่นตาดำเมื่ออยู่หน้ากล้อง และมีเพียงทีมงานของบีบีซีเพียง 2 คนเท่านั้น ที่รู้ชื่อจริงของเขา

นายคิม ใช้เวลา 30 ปีในการไต่เต้าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในหน่วยงานสายลับอันทรงอิทธิพลของเกาหลีเหนือ เขากล่าวว่า หน่วยงานเหล่านี้ถือเป็น "ตา หู และสมองของท่านผู้นำสูงสุด"

เขาอ้างว่าตัวเองคือผู้กุมความลับของหน่วยงานเหล่านี้ เป็นผู้ส่งนักฆ่าไปลอบสังหารนักวิจารณ์ฝ่ายตรงข้าม และแม้แต่สร้างห้องแล็บผลิตยาเสพติดเพื่อช่วยหาเงินทุน "เพื่อการปฏิวัติ"

ตอนนี้ อดีตพันเอกชาวเกาหลีเหนือได้ตัดสินใจบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองกับบีบีซี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่นายทหารระดับสูงจากกรุงเปียงยางให้สัมภาษณ์กับสื่อรายใหญ่ของโลก

ในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซี นายทหารผู้แปรพักตร์คนนี้บอกว่าตนเองเป็นคน "แดงเข้มที่สุดในบรรดาสีแดงทั้งปวง" เป็นผู้รับใช้ที่จงรักภักดีต่อลัทธิคอมมิวนิสต์

ทว่ายศตำแหน่งและความจงรักภักดีก็ไม่อาจรับประกันความปลอดภัยในเกาหลีเหนือได้

เขาหลบหนีออกมาในปี 2014 และนับแต่นั้นก็อาศัยอยู่ในกรุงโซล โดยทำงานให้หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้

นายคิมเล่าว่า คณะผู้นำเกาหลีเหนือพยายามที่จะหาเงินเข้าประเทศด้วยสารพัดวิธี ตั้งแต่ค้ายาเสพติดไปจนถึงอาวุธให้ชาติในตะวันออกกลางและแอฟริกา

เขายังเผยกับบีบีซีถึงยุทธศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจต่าง ๆ ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ รวมทั้งการโจมตีเกาหลีใต้ และคำกล่าวอ้างว่าสายลับและเครือข่ายทางไซเบอร์ของเกาหลีเหนือได้ปฏิบัติภารกิจไปทั่วทุกมุมโลก

แม้บีบีซีจะไม่สามารถหาแหล่งข้อมูลอิสระในการยืนยันคำกล่าวอ้างเหล่านี้ได้แน่ชัด แต่ก็สามารถยืนยันตัวตนของนายคิม และพบหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างต่าง ๆ ของเขา

บีบีซีได้ติดต่อไปยังสถานทูตเกาหลีเหนือในกรุงลอนดอน และคณะทูตในนครนิวยอร์กเพื่อขอความคิดเห็น แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับใด ๆ

North Korean leader Kim Jong Un waves as he attends a photo session with participants during Youth Day celebrations, in Pyongyang, North Korea, in this image supplied by North Korea"s Korean Central News Agency on August 31, 2021

ที่มาของภาพ, Reuters

"กองกำลังก่อการร้าย"

นายคิมเล่าว่า การทำงานช่วงไม่กี่ปีสุดท้ายในหน่วยข่าวกรองชั้นนำของเกาหลีเหนือทำให้เขาได้เห็นนายคิม จอง-อึน ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ในเส้นทางการเป็นผู้นำสูงสุดของเขา

เขาบรรยายถึงนายคิม จอง-อึน ว่า เป็นเด็กหนุ่มที่มุ่งมั่นจะพิสูจน์ตัวเองในฐานะ "นักรบ"

เกาหลีเหนือก่อตั้งหน่วยสายลับที่ชื่อว่า Reconnaissance General Bureau (RGB) ในปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงที่นายคิม จอง-อึน กำลังถูกเตรียมความพร้อมให้สืบทอดตำแหน่งผู้นำต่อจากบิดา ซึ่งขณะนั้นกำลังป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

หน่วยงานดังกล่าวมีนายคิม ยอง-โชล ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่ผู้นำเกาหลีเหนือไว้วางใจมากที่สุด

นายคิม กุก-ซอง ระบุว่า ในเดือน พ.ค.ปี 2009 มีคำสั่งลงมาตามสายบังคับบัญชาให้ก่อตั้ง "หน่วยก่อการร้าย" เพื่อสังหารเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายเกาหลีใต้

"สำหรับคิม จอง-อึน นี่คือการกระทำที่สร้างความพึงพอใจให้ท่านผู้นำสูงสุด (บิดาของเขา)" นายคิม กล่าว

"หน่วยก่อการร้าย"ถูกตั้งขึ้นเพื่อลอบสังหารนายฮวาง จาง-ย็อป อย่างลับ ๆ ซึ่งผมเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการด้วยตัวเอง"

North Korean leader Kim Jong-il (L) walks in front of his youngest son Kim Jong-un as they watch a parade to commemorate the 65th anniversary of the founding of the Workers" Party of Korea in Pyongyang in this October 10, 2010

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, นายคิม จอง-อิล อดีตผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือกับนายคิม จอง-อึน บุตรชาย

นายฮวาง จาง-ย็อป เคยเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดของเกาหลีเหนือ เขาเป็นบุคคลสำคัญในการวางแนวนโยบายของประเทศ การที่เขาแปรพักตร์ไปอยู่เกาหลีใต้เมื่อปี 1997 ไม่เคยได้รับการให้อภัยจากเกาหลีเหนือ และเป็นบุคคลที่ตระกูลคิมต้องการล้างแค้น เพราะเมื่ออยู่ในกรุงโซลเขาได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเกาหลีเหนืออย่างรุนแรง

ทว่าแผนการลอบสังหารได้เกิดความผิดพลาด และพันตรีเกาหลีเหนือ 2 นายยังคงรับโทษจำคุก 10 ปีในกรุงโซลจากแผนการนี้ ขณะที่รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ปฏิเสธส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมอ้างว่าเกาหลีใต้จัดฉากแผนลอบสังหารนี้ขึ้น

แต่คำบอกเล่าของนายคิมได้เผยข้อมูลตรงกันข้าม

เขาเล่าถึงเรื่องนี้ว่า "ในเกาหลีเหนือ การก่อการร้ายถือเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปกป้องเกียรติของนายคิม จอง-อิล และนายคิม จอง-อึน...มันเป็นของขวัญที่แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อทายาทของผู้นำสูงสุด"

หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี คือในปี 2010 ได้เกิดเหตุเรือรบ "โชนัน" ของเกาหลีใต้อัปปางลง หลังถูกโจมตีจากจากตอร์ปิโดของเกาหลีเหนือ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 46 คน แต่รัฐบาลเกาหลีเหนือปฏิเสธส่วนเกี่ยวข้องมาโดยตลอด

จากนั้นในเดือน พ.ย.ปีเดียวกัน ก็มีกระสุนปืนใหญ่ของเกาหลีเหนือหลายสิบลูกถล่มเกาะยอนพยองของเกาหลีใต้ คร่าชีวิตทหาร 2 นาย และพลเรือนอีก 2 คน

มีข้อถกเถียงมากมายว่าใครเป็นผู้สั่งการเหตุโจมตีครั้งนี้ แต่นายคิมบอกว่า เขา "ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับปฏิบัติการโจมตีเรือรบโชนัน หรือการถล่มเกาะยอนพยอง" แต่ระบุว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นที่รู้กันดีในหมู่เจ้าหน้าที่ RGB ในฐานะภารกิจอันน่าภาคภูมิใจ

นายคิมชี้ว่า ปฏิบัติการเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีคำสั่งจากเบื้องบน

"ในเกาหลีเหนือ แม้แต่การสร้างถนน ก็ไม่อาจทำได้หากไม่มีคำอนุมัติโดยตรงจากผู้นำสูงสุด การจมเรือรบโชนัน และการยิงถล่มเกาะยอนพยอง เป็นเรื่องที่ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่สามารถทำได้เองโดยพลการ"

"ปฏิบัติการทางทหารแบบนี้ถูกออกแบบและใช้งาน โดยคำสั่งพิเศษของนายคิม จอง-อึน..." นายคิมบอก

คำบรรยายวิดีโอ, ทหารเกาหลีเหนือโชว์พลังคนเหล็กข่มขวัญศัตรู

สายลับในทำเนียบ ปธน. เกาหลีใต้

นายคิมเล่าว่า หนึ่งในงานที่เขารับผิดชอบคือการพัฒนากลยุทธ์ในการรับมือกับเกาหลีใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นต่อทางการเมือง

ภารกิจนี้รวมถึงการส่งสายลับเข้าไปแทรกซึมในทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นายคิมเล่าว่ามีหลายครั้งที่เขาได้สั่งการโดยตรงให้สายลับเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ พร้อมกับยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่น่าทึ่ง

"มีกรณีหนึ่งที่สายลับเกาหลีเหนือถูกส่งเข้าไปทำงานที่ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ แล้วกลับสู่เกาหลีเหนือได้อย่างปลอดภัย ตอนนั้นเป็นช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 หลังจากทำงานในบลูเฮาส์ (ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้) มาเป็นเวลา 5-6 ปี เขาก็เดินทางกลับมาอย่างปลอดภัย แล้วเข้าทำงานที่สำนักประสานงาน 314 ของพรรคแรงงาน"

"ผมบอกคุณได้เลยว่ามีสายลับเกาหลีเหนือที่แฝงตัวอยู่ในองค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่ง รวมทั้งสถาบันสำคัญ ๆ ในเกาหลีใต้"

บีบีซีไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงคำกล่าวอ้างนี้ได้

North Korea leader Kim Jong Un attends a paramilitary parade held to mark the 73rd founding anniversary of the republic at Kim Il Sung square in Pyongyang in this undated image supplied by North Korea"s Korean Central News Agency on September 9, 2021.

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, คิม กุก-ซอง บอกว่า "เงินทั้งหมดในเกาหลีเหนือเป็นของผู้นำสูงสุด"

ทว่าที่ผ่านมา ทีมข่าวบีบีซีได้พูดคุยกับอดีตสายลับเกาหลีเหนือหลายคนที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ ขณะที่นายแชด โอ คาร์โรล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ NK News ที่ให้บริการข่าวสารเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ระบุในหลายบทความว่า ครั้งหนึ่งคุกในเกาหลีใต้เคยเต็มไปด้วยสายลับเกาหลีเหนือที่ถูกจับกุมฐานเข้าไปล้วงความลับในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ข้อมูลล่าจาก NK News ระบุว่า นับแต่ปี 2017 เกาหลีใต้จับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการเป็นสายลับลดลง เพราะเกาหลีเหนือได้หันไปใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเก็บข้อมูลข่าวกรอง มากกว่าการสอดแนมแบบดั้งเดิม

แม้เกาหลีเหนือจะเป็นหนึ่งในประเทศยากจน และโดดเดี่ยวที่สุดในโลก แต่ผู้แปรพักตร์ชื่อดังในอดีตเตือนว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ก่อตั้งกองทัพแฮ็กเกอร์ที่มีผู้เชี่ยวชาญ 6,000 คน

นายคิมเล่าว่า นายคิม จอง-อิล ผู้นำคนก่อนของเกาหลีเหนือ ได้สั่งการให้ฝึกฝนเจ้าหน้าที่ใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เพื่อ "เตรียมทำสงครามไซเบอร์"

"มหาวิทยาลัยโมรันบงจะคัดเลือกนักศึกษาหัวกะทิที่สุดจากทั่วประเทศ แล้วจัดให้พวกเขาได้รับการศึกษาหลักสูตรพิเศษเป็นเวลา 6 ปี" นายคิม กล่าว

เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของอังกฤษเชื่อว่า หน่วยงานของเกาหลีเหนือที่ชื่อว่า Lazarus Group อยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์ที่สร้างความเสียหายให้สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ และองค์กรอื่น ๆ ทั่วโลกเมื่อปี 2017 นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหน่วยงานเดียวกันนี้ยังโจมตีบริษัทโซนี่พิคเจอร์ส ในการเจาะระบบครั้งใหญ่เมื่อปี 2014 ด้วย

นายคิมบอกว่าหน่วยงานนี้มีชื่อว่า สำนักประสานงาน 414 ซึ่งมีชื่อเรียกภายในว่า "ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของคิม จอง-อิล" และมีสายตรงในการติดต่อกับผู้นำเกาหลีเหนือ

"ผู้คนพูดว่าสายลับเหล่านี้อยู่ในจีน รัสเซีย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พวกเขายังปฏิบัติงานในเกาหลีเหนือด้วย โดยสำนักงานนี้ดูแลเรื่องการสื่อสารระหว่างสายลับเกาหลีเหนือ"

North Korea leader Kim Jong Un (C) attends a paramilitary parade held to mark the 73rd founding anniversary of the republic at Kim Il Sung square in Pyongyang in this undated image supplied by North Korea"s Korean Central News Agency on September 9, 2021

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, นายคิม จอง-อึน ร่วมชมการสวนสนามทางทหารในกรุงเปียงยาง เนื่องในวาระ 73 ปีการก่อตั้งเกาหลีเหนือ เมื่อ 9 ก.ย. 2021

การค้ายาเสพติดและอาวุธ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายคิม จอง-อึน ได้ประกาศว่าเกาหลีเหนือกำลังเผชิญกับ "วิกฤต" รอบใหม่ โดยเมื่อเดือน เม.ย.เขาได้ขอให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือกับ "ทุพภิกขภัย" กันอีกครั้ง ซึ่งคำเรียกนี้หมายถึงวิกฤตขาดแคลนอาหารครั้งรุนแรงของเกาหลีเหนือ (Arduous March) ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ในสมัยของนายคิม จอง-อิล

ตอนนั้นนายคิมทำงานอยู่ในหน่วยปฏิบัติการ ซึ่งได้รับคำสั่งให้ระดม "เงินทุนเพื่อการปฏิวัติ" ให้แก่ผู้นำสูงสุด ซึ่งนายคิมหมายถึงการค้ายาเสพติดที่ผิดกฎหมาย

เขาเล่าว่า "การผลิตยาเสพติดในยุคของ คิม จอง-อิล พุ่งสูงสุดในช่วงที่เกิดทุพภิกขภัย...ในตอนนั้นหน่วยปฏิบัติการไม่เหลือเงินทุนเพื่อการปฏิวัติให้แก่ผู้นำสูงสุด

"หลังจากได้รับมอบหมายภารกิจ ผมพาชาวต่างชาติ 3 คนเข้ามาในเกาหลีเหนือ เพื่อสร้างฐานการผลิตยาเสพติดที่ศูนย์ฝึกของสำนักประสานงาน 715 ของพรรคแรงงาน และผลิตยาเสพติด"

"มันคือยาไอซ์ จากนั้นเราก็ขายเป็นเงินดอลลาร์แล้วนำไปมอบให้ คิม จอง-อิล"

คำบอกเล่าของนายคิมครั้งนี้ฟังดูมีน้ำหนัก เพราะเกาหลีเหนือมีประวัติการผลิตยาเสพติดมายาวนาน ส่วนใหญ่เป็นเฮโรอีน และฝิ่น โดยนายแท ยอง-โฮ อดีตนักการทูตเกาหลีเหนือประจำสหราชอาณาจักรที่ต่อมาได้แปรพักตร์ เผยในที่ประชุม Oslo Freedom Forum เมื่อปี 2019 ว่าเกาหลีเหนือทำธุรกิจค้ายาเสพติดโดยที่รัฐให้การสนับสนุน และพยายามแก้ปัญหาประชากรในประเทศติดยาเสพติดอย่างแพร่หลาย

บีบีซีถามนายคิมว่า ในท้ายที่สุดแล้ว เงินจากการค้ายาเสพติดที่ได้ไปอยู่ที่ไหน และมันได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนหรือไม่

อดีตนายทหารยศพันเอกผู้นี้ตอบว่า "เพื่อช่วยให้คุณได้เข้าใจ เงินทั้งหมดในเกาหลีเหนือเป็นของผู้นำเกาหลีเหนือ...เขาเอาเงินเหล่านั้นไปสร้างคฤหาสน์ ซื้อรถยนต์ อาหาร เสื้อผ้า และใช้ชีวิตอย่างหรูหรา"

ประเมินกันว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากทุพภิกขภัยในเกาหลีเหนือในช่วงทศวรรษที่ 1990 อยู่ที่หลายแสนคนไปถึง 1 ล้านคน

North Korea"s leader Kim Jong Un speaks to officials next to military weapons and vehicles on display, including the country"s intercontinental ballistic missiles (ICBMs), at the Defence Development Exhibition, in Pyongyang, North Korea, in this undated photo released on October 12, 2021 by North Korea"s Korean Central News Agency (KCNA)

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, แม้เกาหลีเหนือจะประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและวิกฤตขาดแคลนอาหาร แต่ก็เดินหน้าโครงการพัฒนาอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงเรื่อยมา

นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังมีแหล่งรายได้จากทางอื่นด้วย ซึ่งนายคิมบอกว่า มาจากการค้าอาวุธผิดกฎหมายให้แก่อิหร่าน ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยปฏิบัติการที่เขาเคยทำงานอยู่นั่นเอง

"มีเรือดำน้ำขนาดเล็กพิเศษ และเรือกึ่งดำน้ำ ซึ่งเกาหลีเหนือมีความเชี่ยวชาญมากในการสร้างอุปกรณ์ล้ำสมัยเช่นนี้" นายคิมกล่าว

นี่อาจเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือ เพราะเรือดำน้ำของประเทศนี้มีเสียงดัง และใช้เครื่องยนต์ดีเซล

แต่นายคิมอ้างว่า ข้อตกลงขายเรือดำน้ำให้อิหร่านประสบความสำเร็จมาก ถึงขนาดที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีเหนือในอิหร่านมักคุยโวว่าสามารถเรียกคนอิหร่านไปทำข้อตกลงซื้อขายกันที่สระว่ายน้ำของเขาได้

ศาสตราจารย์แอนเดร ลันคอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือชั้นแนวหน้าของโลก ระบุว่า ข้อตกลงซื้อขายอาวุธ ซึ่งรวมถึงขีปนาวุธข้ามทวีป ระหว่างเกาหลีเหนือและอิหร่านเป็นเรื่องที่รู้กันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 แล้ว

แม้ประเทศประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและวิกฤตขาดแคลนอาหาร แต่ก็เดินหน้าโครงการพัฒนาอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงเรื่อยมา ซึ่งนายคิมบอกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีเหนือได้ขายอาวุธและเทคโนโลยีด้านนี้ให้แก่ประเทศที่ทำสงครามกลางเมืองหลายแห่ง

องค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวหาเกาหลีเหนือว่า ขายอาวุธให้ซีเรีย เมียนมา ลิเบีย และซูดาน พร้อมเตือนว่าอาวุธเหล่านี้อาจตกไปอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาการสู้รบทั่วทุกมุมโลก

คำบรรยายวิดีโอ, หนังสารคดีเปิดโปงเกาหลีเหนือ “ค้ายาและอาวุธ” เมินนานาชาติคว่ำบาตร

ผู้รับใช้ที่ถูกหักหลัง

นายคิมเคยมีชีวิตอย่างสุขสบายในเกาหลีเหนือ เขาอ้างว่าได้รับรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ จากอาสาวของนายคิม จอง-อึน และได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้อย่างอิสระเพื่อหาเงินให้แก่ผู้นำเกาหลีเหนือ เขาบอกว่าได้ขายแร่โลหะหายากและถ่านหิน แลกกับเงินสดหลายล้านดอลลาร์ ซึ่งจะถูกใส่กระเป๋าเดินทางนำกลับเข้าไปในเกาหลีเหนือ

การมีเส้นสายทางการเมืองผ่านการสมรส ช่วยให้นายคิมได้ย้ายไปทำงานตามหน่วยงานข่าวกรองต่าง ๆ แต่เขาบอกว่า เส้นสายเหล่านี้ยังทำให้ครอบครัวของเขาต้องตกอยู่ในอันตรายด้วย

ไม่นานหลังจากเข้าสืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุดต่อจากบิดา นายคิม จอง-อึน ได้ตัดสินใจจะขจัดบุคคลที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามเขา ซึ่งรวมถึงนายจาง ซอง-แท็ก อาเขย ที่ถูกมองว่าเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของเกาหลีเหนือในช่วงที่สุขภาพของนายคิม จอง-อิล ทรุดโทรมลง

นายคิมบอกว่า ชื่อเสียงของนายจาง ซอง-แท็ก เริ่มเป็นที่รู้จักมากกว่าชื่อของนายคิม จอง-อึน

"นี่คือตอนที่ผมรู้สึกว่าจาง ซอง-แท็ก จะอยู่ได้อีกไม่นาน ผมรู้สึกว่าเขาจะถูกเนรเทศไปอยู่ชนบท" เขาเล่า

People visit the statues of late North Korean leaders Kim Il Sung and Kim Jong Il on the occasion of the 79th birth anniversary of Kim Jong Il, known as the 'Day of the Shining Star', at Mansu Hill in Pyongyang on February 16, 2021.

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ชาวเกาหลีเหนือทำความเคารพอนุสาวรีย์อดีตผู้นำสูงสุด นายคิม อิล-ซุง และนายคิม จอง-อิล เดือน ก.พ. 2021

ทว่านายคิมต้องช็อก เมื่อสื่อเกาหลีเหนือรายงานเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2013 ว่า นายจาง ซอง-แท็ก ถูกประหารชีวิต

"ผมรู้สึกทันทีถึงอันตรายต่อชีวิต ผมรู้ว่าผมไม่อาจจะอยู่ในเกาหลีเหนือได้อีกต่อไป"

ตอนที่ทราบเรื่องดังกล่าว นายคิมอยู่ในต่างประเทศ และตัดสินใจพาครอบครัวหนีไปอยู่เกาหลีใต้

"การละทิ้งประเทศชาติ ซึ่งมีสุสานบรรพบุรุษและครอบครัวของผมอยู่ และการหนีไปเกาหลีใต้ ซึ่งสำหรับผมถือเป็นดินแดนต่างชาตินั้น เป็นการตัดสินใจที่น่าเศร้าและสร้างความทุกข์ให้อย่างที่สุด" นายคิมบอก แว่นตาดำที่เขาสวมอยู่ไม่อาจปกปิดความรู้สึกสะเทือนใจเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ได้

คำถามหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวบีบีซีพยายามถามนายคิมในการสัมภาษณ์หลายครั้ง ที่กินเวลารวมกันหลายชั่วโมงก็คือ ทำไมเขาจึงตัดสินใจออกมาพูดกับสื่อในตอนนี้

อดีตสายลับผู้นี้ตอบว่า "นี่คือภาระหน้าที่เดียวที่ผมสามารถทำได้...ผมจะออกมาพูดมากขึ้นนับจากนี้ เพื่อปลดปล่อยพี่น้องชาวเกาหลีเหนือจากเงื้อมมือเผด็จการ และช่วยให้พวกเขาได้ดื่มด่ำกับเสรีภาพอย่างแท้จริง"

ปัจจุบันมีชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์อยู่ในเกาหลีใต้กว่า 30,000 คน แต่มีเพียงไม่กี่คนที่กล้าออกมาพูดกับสื่อ และยิ่งบุคคลนั้นเคยทำงานในตำแหน่งสูงเท่าไหร่ ครอบครัวของพวกเขาก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ ห้วงเวลาที่นายคิมออกมาให้สัมภาษณ์ก็ยังน่าสนใจ เพราะนายคิม จอง-อึน ส่งสัญญาณว่าอาจยินดีกลับมาเจรจากับเกาหลีใต้อีกครั้งในอนาคตอันใกล้ หากอีกฝ่ายทำตามเงื่อนไขบางอย่าง

อย่างไรก็ตาม นายคิมมีคำเตือนสำหรับเรื่องนี้

"เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ผมมาอยู่ที่นี่ (เกาหลีใต้) แต่เกาหลีเหนือยังไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อย" เขากล่าว

"ยุทธศาสตร์ที่เราวางไว้ยังดำเนินต่อไป สิ่งที่คุณต้องรู้เอาไว้ก็คือ เกาหลีเหนือไม่เคยเปลี่ยนไปแม้แต่ 0.01%"