Anne Frank : จากบันทึกลับสู่หนังสือโปรดของนักอ่านไทย

  • ฐิติพล ปัญญาลิมปนันท์
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
แอนน์ แฟรงค์: จากบันทึกในห้องลับสู่หนังสือโปรดของนักอ่านไทย

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

วันที่ 12 มิ.ย. 1942 แอนน์ แฟรงค์ เด็กหญิงชาวยิววัย 13 ปี ได้รับสมุดบันทึกเป็นของขวัญวันเกิดจากพ่อของเธอ แอนน์ตั้งชื่อมันว่า คิตตี้ และเริ่มแบ่งปันประสบการณ์ของเธอกับสมุดสีแดงขาวเล่มนี้เรื่อยมา

"ออกจะแปลกไม่น้อยที่คนอย่างฉันเขียนสมุดบันทึก ไม่ใช่เพราะฉันไม่เคยทำ แต่รู้สึกว่าแม้แต่ตัวฉันหรือใครก็ตามคงไม่สนใจเรื่องความในใจของเด็กผู้หญิงอายุ 13 ปี" เธอเขียนในบันทึก 8 วันหลังจากนั้น

ไม่มีใครคาดคิดในวันนั้นว่า สมุดบันทึกของเธอจะกลายมาเป็นหนังสือที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์และประทับใจผู้อ่านทั่วโลกที่ได้รับการแปลแล้วมากกว่า 70 ภาษาและมียอดขายมากกว่า 30 ล้านเล่ม

หากยังมีชีวิตอยู่ แอนน์ แฟรงค์ จะมีอายุครบ 89 ปี ในวันเกิดปีนี้

เกิดอะไรขึ้นกับแอนน์ แฟรงค์ ?

แอนน์ แฟรงค์ เกิดที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ของเยอรมนี ในปี 1929 ต่อมาในปี 1933 เหตุวางเพลิงอาคารรัฐสภาของเยอรมนี ช่วยให้รัฐบาลพรรคนาซีของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่เพิ่งเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สามารถออกกฎหมายเพิ่มอำนาจเบ็ดเสร็จให้ตัวเอง และเดินหน้านโยบายต่าง ๆ ภายใต้อุดมการณ์ต่อต้านยิวและคอมมิวนิสต์ เพื่อจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและกวาดล้างชาวยิวในประเทศ

แอนน์ แฟรงค์

ที่มาของภาพ, ANNE FRANK MUSEUM

ท่ามกลางการจับกุมและลงโทษชาวยิวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในเยอรมนี ฤดูร้อนปีนั้นครอบครัวของแอนน์ตัดสินใจย้ายไปยังกรุงอัมสเตอร์ดัม ของเนเธอร์แลนด์ แต่แล้วในปี 1940 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเยอรมันได้บุกเข้ายึดเนเธอร์แลนด์ พร้อมกับออกกฎหมายแบ่งแยกเชื้อชาติ ซึ่งรวมถึงการประกาศเคอร์ฟิวสำหรับชาวยิวและบังคับให้พวกเขาติดสัญลักษณ์ดาวหกแฉกไว้บนเสื้อ

ไม่กี่สัปดาห์หลังจากวันเกิดปีที่ 13 ของแอนน์ พี่สาวของเธอได้รับจดหมายให้เข้ารายงานตัวเพื่อกลับไปทำงานที่ค่ายกักกันในเยอรมนี ครอบครัวแฟรงค์จึงตัดสินใจเข้าซ่อนตัวที่ห้องลับในบริษัทของ อ็อตโต แฟรงค์ พ่อของแอนน์ เพื่อความปลอดภัย

พวกเขาอาศัยในห้องลับร่วมกับชาวยิวอีกหลายคนอย่างลำบากเป็นเวลากว่า 2 ปี ซึ่งแอนน์ยังคงบันทึกเรื่องราวของเธอลงในสมุดอยู่เสมอ

บันทึกหน้าสุดท้ายของแอนน์ลงวันที่ 1 ส.ค. 1942 ไม่กี่วันต่อจากนั้นที่ซ่อนของพวกเขาถูกค้นพบโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

อ็อตโต แฟรงค์ พ่อของแอนน์ กับประตูลับที่เขาและครอบครัวเคยซ่อนอยู่ข้างหลังนานกว่า 2 ปี

ที่มาของภาพ, Bettmann/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

อ็อตโต แฟรงค์ พ่อของแอนน์ กับประตูลับที่เขาและครอบครัวเคยซ่อนอยู่ข้างหลังนานกว่า 2 ปี

พวกเขาทั้งหมดถูกจับกุมและส่งตัวไปยังค่ายกักกัน โดยแอนน์ถูกส่งไปยังค่ายเอาชวิทซ์ ในโปแลนด์ ก่อนจะถูกย้ายมายังค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซิน ในเยอรมนี ที่ที่เธอเสียชีวิตลงด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ หรือ Typhus ในเวลาต่อมา ด้วยวัย 15 ปี

อ็อตโต แฟรงค์ เป็นคนเดียวในครอบครัวที่รอดชีวิตจากช่วงเวลานั้น เขาเดินทางกลับไปที่เนเธอร์แลนด์และได้พบกับ เมียป กีส์ ผู้ช่วยเหลือครอบครัวของเขาระหว่างการซ่อนตัว เมียปมอบไดอารี่ของแอนน์ที่เก็บไว้ได้ให้กับเขา ก่อนที่สมุดบันทึกเล่มนี้จะถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี 1947 และได้รับความสนใจจากทั่วโลกจนทุกวันนี้

ป้ายหลุมศพของแอนน์ แฟรงค์ และ มาร์กอต พี่สาวของเธอที่ค่ายกักกันเบอร์เกน-เบลเซน
คำบรรยายภาพ,

ป้ายหลุมศพของแอนน์ แฟรงค์ และ มาร์กอต พี่สาวของเธอที่ค่ายกักกันเบอร์เกน-เบลเซน

แอนน์ แฟรงค์ ในสายตานักอ่านไทย

ศศิวิมล วอนยิน นักศึกษาสาขาการบัญชีวัย 21 ปี รู้จักแอนน์ แฟรงค์ ครั้งแรกผ่านหนังสือการ์ตูนชุด "บุคคลสำคัญของโลก" ตั้งแต่สมัยอยู่ชั้นประถม ก่อนที่จะอ่านบันทึกของแอนน์ แฟรงค์ ฉบับเต็มเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

เธอกล่าวว่าเรื่องของแอนน์มีส่วนทำให้เธอมองโลกเปลี่ยนไป

"เราก็คิดว่าสงครามมันโหดร้าย ซึ่งเขาต้องเอาตัวรอดด้วยการไปหลบซ่อนอยู่ในที่ลับ และในขณะเดียวกันเขาก็ยังรู้สึกผิดต่อชาวยิวคนอื่น ๆ และเพื่อนของเขา ขณะที่ต้องเห็นคนอื่นต้องถูกจับไป" เธอกล่าวถึงแอนน์ แฟรงค์ กับบีบีซีไทย

ถึงแม้จะยังอ่านไม่จบทั้งเล่ม เธอกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้ทำให้เธอตั้งคำถามว่าทำไมเหตุการณ์แบบนี้ถึงเกิดขึ้น และทำให้สนใจเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และประวัติศาสตร์มากขึ้น

"ไม่ว่าจะเผ่าพันธุ์ไหน ก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่สงครามมันทำให้เราฆ่าล้างคนกันเอง ขณะที่คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงก็ถูกทำลายไปด้วย" นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นกล่าว

ข้าม Twitter โพสต์ , 1
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

สิ้นสุด Twitter โพสต์, 1

ภันทิลา ปลื้มวิทยาภรณ์ วัย 32 ปี เป็นอีกคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยหลังมีเพื่อนแนะนำให้อ่าน เธอจำได้ว่ามีความรู้สึกที่ปะปนกันเกี่ยวกับเรื่องของแอนน์ แฟรงค์

"เศร้าด้วย โกรธด้วย แล้วก็รู้สึกสงสาร แต่ว่าพออ่านบางตอนก็มีการให้กำลังใจ" ภัณทิลา ซึ่งปัจจุบันทำงานด้านการเงินกล่าว

บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ กลายเป็นหนึ่งในหนังสือที่เธอประทับใจ และเธอเชื่อว่าอายุของผู้อ่านนั้นมีผลต่อสิ่งที่คน ๆ นั้นจะเรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้

"มันไม่เด็กนะ แต่บางที่จะเห็นจัดไว้อยู่ในหมวดวรรณกรรมสำหรับเด็ก ๆ ถ้าเด็กอ่านจะไม่รู้สึกแบบเดียวกัน เพราะอาจจะยังอ่านได้ละเอียดไม่พอ ถ้าผู้ใหญ่อ่าน จะหาจุดอื่น ๆ ในหนังสือได้ นอกจากความเศร้าและเกลียดฮิตเลอร์"

ชาวยิวราว 9 แสนคนถูกฆ่าเมื่อเดินทางมาถึงค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ในโปแลนด์

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ,

ชาวยิวราว 9 แสนคนถูกฆ่าเมื่อเดินทางมาถึงค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ในโปแลนด์

ช่วงปีที่ผ่านในประเทศไทย บันทึกของแอนน์ แฟรงค์ กลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง หลังจากนักร้องชื่อดังอย่าง ผลิตโชค อายนบุตร หรือ "เป๊ก ผลิตโชค" ยกให้หนังสือเล่มนี้เป็น "เล่มโปรดในดวงใจ" เช่นเดียวกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่กล่าวว่าบันทึกลับของ แอนน์ แฟรงค์ เป็นหนังสือที่อยากแนะนำให้คนไทยอ่าน

"บทเรียนที่เราได้จากหนังสือ คือ การเคารพซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน การยอมรับซึ่งความแตกต่าง ทั้งความคิดและทางกายภาพ" นายธนาธรเขียนผ่านเฟซบุ๊ก

ข้าม Twitter โพสต์ , 2
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

สิ้นสุด Twitter โพสต์, 2

บันทึกลับฉบับภาษาไทย

นักอ่านชาวไทยส่วนใหญ่รู้จักหนังสือเล่มนี้ในฉบับภาษาไทยในชื่อ บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ หนังสือซึ่งแปลโดย สังวรณ์ ไกรฤกษ์ และตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

"เราถอยหลังกลับไปดูว่ามีสมบัติอะไรบ้างของโลกนี้ ที่เราไม่เคยเอามาให้คนของเราอ่าน เมื่อฉบับสมบูรณ์ยังไม่มีใครทำ เราก็เลยคิดว่าจำเป็นจะต้องทำ เพราะว่าคนไทยควรจะต้องได้อ่าน" มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ กล่าวถึงการตัดสินใจตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้กับบีบีซีไทย

สำนักพิมพ์ใช้เวลาหลายปีในการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ซึ่ง ณ เวลานั้นในภาษาไทยมีแต่ฉบับย่อ มกุฏเล่าว่าบันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ เป็นการแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษซึ่งได้รับการรับรองจากเมียป กีส์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลต้นฉบับทั้งหมดในตอนนั้น

อย่างไรก็ตาม บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ ไม่ได้รับความนิยมนักในการตีพิมพ์ครั้งแรก

"ไม่ดีครับ เป็นเรื่องธรรมดาที่สุด ขายไม่ดีเลย เราก็พยายามทุกวิถีทาง เปลี่ยนปกบ้างอะไรบ้าง" เขากล่าว

มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการหนังสือ บันทึกลับของ แอนน์ แฟรงค์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการหนังสือ บันทึกลับของ แอนน์ แฟรงค์

มกุฏวางหนังสือบันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ เรียงกันให้เห็นถึงหน้าตาของหนังสือที่ถูกปรับปรุงหลายครั้ง จากความพยายามให้หนังสือขายดีขึ้น และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าหนังสือเล่มนี้จะกลายที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งนับจนถึงวันนี้ได้ถูกตีพิมพ์ทั้งปกอ่อนและปกแข็งรวมทั้งสิ้น 11 ครั้ง

"ถ้าถอยหลังกลับไปมาก ๆ คนไทยไม่ค่อยสนใจเรื่องสงครามและประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือที่เกี่ยวกับการบันทึก คนไทยยิ่งไม่สนใจเลย ก่อนหน้านั้นเราเคยพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นบันทึกลับของภรรยานักการทูตฯ ญี่ปุ่น เรื่อง '4 ปีนรกในเขมร' เราเลยได้คิดถึงแอนน์ แฟรงค์ ซึ่งเป็นการเขียนบันทึกลับเหมือนกัน" มกุฏกล่าว

เขากล่าวว่าเด็กทั่วโลกเรียนจากแอนน์ แฟรงค์ รู้ถึงความอดทน ความหมั่นเพียร และผลกระทบจากสงคราม ขณะที่ผู้ใหญ่เองสามารถเรียนรู้อะไรได้อีกมากเกี่ยวกับเด็กผ่านหนังสือเล่มเดียวกันนี้

ชาวยิวประมาณ 6 ล้านคนเสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
คำบรรยายภาพ,

ชาวยิวประมาณ 6 ล้านคนเสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

"ผมคิดว่าสาระสำคัญของประวัติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งของ สาระสำคัญของประวัติศาสตร์คือมนุษย์ มันเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์ และมันส่งผลต่อมนุษย์ในช่วงเวลาต่อมาอย่างไร" เขากล่าว

"เราลืมไปนะครับว่า เวลาเรานึกถึงการเปลี่ยนแปลง การพัฒนา หรือความเป็นอยู่ของสังคมโลก เราลืมไปว่าเราต้องนึกถึงเด็กให้มากเป็นพิเศษ … จิตใจของเด็กนั้นละเอียดอ่อน เขามีความนึกคิดที่ละเอียดอ่อน เพราะฉะนั้นเราละเลยไม่ได้"

นอกจากนี้ เขาเชื่อว่าคงจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย หากเด็กไทยเริ่มจดบันทึกเช่นกัน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาริเริ่มโครงการ สมุดบันทึกวัยเยาว์ ที่ให้เยาวชนส่งจดหมายมายังสำนักพิมพ์เพื่อแลกกับสมุดบันทึก เมื่อราว 3 ปีก่อน

สมุดบันทึกของแอนน์ แฟรงค์

ที่มาของภาพ, Heritage Images/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

สมุดบันทึกของแอนน์ แฟรงค์

มีเด็กมากกว่า 1 พันคนเขาร่วมโครงการในปีนั้น และในจำนวนนั้นมีหลายคนได้ตีพิมพ์ผลงานกับทางสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เช่น "ซายูริ" ของ เด็กหญิงซายูริ ซากาโมโตะ วัย 9 ขวบ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในหนังสือที่ได้รับความนิยมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

เด็กหญิงอีกหนึ่งคนที่เริ่มเขียนสมุดบันทึกจากโครงการนี้เมื่อ 3 ปีก่อน คือ เรไร สุวีรานนท์ หรือ น้องต้นหลิว วัย 9 ขวบ

เรไรเขียนบันทึกทุกวันมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ด้วยการสนับสนุนจากแม่ของเธอ ซึ่งกล่าวว่านอกจากเห็นลูกสาวพัฒนาด้านความอดทนในการรวบรวมสมาธิเพื่อจับปากกาเขียนบันทึกทุกวันแล้ว ยังเห็นได้ถึงพัฒนาการทางความคิดอีกด้วย โดยเฉพาะเวลาที่ลูกขอให้ซื้อของให้

"มันช่วยพัฒนาเรื่องของความคิด ให้มีระบบระเบียบ เมื่อก่อนบอกได้แต่ว่าชอบอันนี้ ชอบที่สุด ซื้อให้หน่อย แต่เดี๋ยวนี้จะชักแม่น้ำทั้ง 5 เป็น มีตรรกะมีเหตุมีผล ทำให้แม่เชื่อว่าไม่ว่าจะไปเรียนหรือไปทำอะไรในชีวิต เขาทำได้หมด" ชนิดา สุวีรานนท์ แม่ของเรไรกล่าว

ข้าม Facebook โพสต์ , 1

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์, 1

ปกติแล้ว เรไรจะเขียนสมุดบันทึกช่วงเย็นหลังกลับจากโรงเรียน และมักจะเขียนเรื่องราวที่พบมาในวันนั้น ซึ่งบางครั้งอาจมีมากกว่าเรื่องเดียว

"เราก็ต้องเลือกหนึ่งเรื่อง ถ้าหนูเลือกทุกเรื่องที่อยากเขียน หนูคงเมื่อยมือมากเลย" เด็กหญิงที่กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 บอกกับบีบีซีไทย

"บางวันหนูเจอเรื่องเศร้าบ้าง แต่ไม่ได้เขียนทุกวัน กลัวว่าโตไปกลับมาอ่าน แล้วจะเศร้า"

นอกจากหนังสือเล่มโปรดอย่าง บ้านเล็กในป่าใหญ่ หรือ แมงมุมเพื่อนรัก เรไรยังชอบอ่านบันทึกของเพื่อนวัยเดียวกันเพราะ "อ่านแล้วมีความสุข" ขณะที่ปัจจุบัน บันทึกของเธอมีผู้ติดตามผ่านหน้าเฟซบุ๊กชื่อ "เรไรรายวัน" กว่า 2 แสนคน

"รู้สึกดีใจที่มีคนชอบเรื่องที่เราเขียน หนูว่าจะเขียนไปจนกว่าหนูจะเขียนไม่ไหว เขียนไปจนแก่" เรไรกล่าว

เรไรชอบถามแม่และยายของเธอว่าตัวเองตอนเด็ก ๆ เป็นอย่างไร แต่บางครั้งพบว่าคำตอบของแม่และยายไม่ตรงกัน เรไร จึงคิดว่าหากเธอเขียนบันทึกไว้ก็จะสามารถกลับมาอ่านเรื่องของตัวเองได้เมื่อโตขึ้น

"ตอนนั้นก็อาจจะแก่แล้ว อาจจะคิดว่า เขียนได้ไงเนี่ย เขียนเยอะจะตาย เขียนไปได้ยังไง" เรไรกล่าวเสียงสูง