ประธานาธิบดีจีนเตือนโจ ไบเดน อย่า "เล่นกับไฟ" กรณีไต้หวัน

สี จิ้นผิง เตือนไบเดน "อย่าเล่นกับไฟ เพราะอาจถูกแผดเผา"

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, สี จิ้นผิง เตือนไบเดน "อย่าเล่นกับไฟ เพราะอาจถูกแผดเผา"

ผู้นำสหรัฐฯ และจีน ออกโรงเตือนอีกฝ่ายถึงประเด็นตึงเครียดว่าด้วยไต้หวัน ระหว่างการหารือสายตรงทางโทรศัพท์ที่ยาวนานกว่า 2 ชั่วโมง พร้อมส่งสัญญาณจัดการประชุมแบบต่อหน้า

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ บอกกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ว่าสหรัฐฯ ต่อต้านการเคลื่อนไหวใด ๆ ของจีนที่เป็นการกระทำฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนสถานะที่มีอยู่ปัจจุบันของไต้หวัน พร้อมย้ำว่า นโยบายของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลง

ด้านสี จิ้นผิง เตือนให้ไบเดนยึดมั่นตามหลักการจีนเดียว เพราะ “ใครก็ตามที่เล่นกับไฟ จะต้องถูกแผดเผา”

การหารือทางโทรศัพท์ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 5 แล้ว นับแต่ไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อ 1 ปีครึ่งที่แล้ว

ความตึงเครียดกรณีไต้หวันได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังมีข่าวลือถึงแผนการเดินทางเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครต แนนซี เพโลซี แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่า เพโลซีไม่ได้ประกาศแผนการเดินทางไปไต้หวันเลยก็ตาม

ขณะที่รัฐบาลจีนเตือนถึง “ผลลัพธ์ที่ร้ายแรง” หากเพโลซี เดินหน้าเยือนไต้หวันจริง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีไบเดนบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “กองทัพเองก็มองว่านั่นไม่ใช่ความคิดที่ดี” ขณะที่ทำเนียบขาวมองวาทกรรมของจีนต่อเรื่องนี้ว่า “ไม่เป็นประโยชน์อะไร และไม่จำเป็นเอาเสียเลย”

อย่างไรก็ดี หากเพโลซีเดินทางเยือนไต้หวัน จะถือเป็นนักการเมืองอเมริกันที่มีตำแหน่งอาวุโสสุดที่เยือนไต้หวัน นับแต่ปี 1997

ประเด็นไต้หวัน จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหาร ?
คำบรรยายภาพ, ประเด็นไต้หวัน จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหาร ?

ไบเดน-สี คุยอะไรกันบ้าง

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวระบุว่า การหารือเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา และ “ซื่อสัตย์” โดยประธานาธิบดีไบเดน และสี จิ้นผิง ได้หารือกันในหลายประเด็น รวมถึงพิจารณาการประชุมทวิภาคีแบบต่อหน้าด้วย

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า “ผู้นำทั้งสองเห็นถึงความสำคัญของการหารือแบบต่อหน้า และเห็นพ้องที่จะให้ทีมงานประสานงานกันถึงช่วงเวลาที่ลงตัวของทั้งสองฝ่าย” แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียด และกรอบเวลาที่ชัดเจน

ในช่วงที่ไบเดนดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี เขาเคยให้การต้อนรับสี จิ้นผิง ระหว่างเยือนสหรัฐฯ เมื่อปี 2015 มาแล้ว แต่เขายังไม่เคยพบกับสี จิ้นผิง แบบต่อหน้า นับแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นอกจากประเด็นไต้หวัน และเรื่องการหารือทวิภาคีแบบต่อหน้าแล้ว ทำเนียบขาวระบุว่า ผู้นำทั้งสองได้หารือกันถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางสุขภาพ

แต่อีกประเด็นที่ผู้สังเกตการณ์จับตา อย่างการยกเลิกกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ที่บังคับใช้มาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์นั้น ไบเดนไม่ได้หารือถึงเรื่องนี้ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ เคยระบุว่า การยกเลิกกำแพงภาษีดังกล่าวในเวลานี้ จะช่วยบรรเทาภาวะเงินเฟ้อที่กำลังพุ่งสูงในตอนนี้ได้

จุดยืนเรื่องไต้หวันของจีนและสหรัฐฯ

จีนมองว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งที่แยกตัวออกมา และต้องการให้ไต้หวันกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนอีกครั้ง พร้อมไม่ปฏิเสธว่า อาจต้องใช้กำลังทางทหารเพื่อบรรลุเป้าหมาย

ส่วนสหรัฐฯ ที่ยึดถือในหลักการจีนเดียวมาโดยตลอด แม้จะไม่ได้ยอมรับไต้หวันอย่างเป็นทางการในทางการทูต แต่ก็จำหน่ายอาวุธให้ไต้หวัน เพื่อให้คุ้มครองตัวเองได้ โดยเฉพาะจากภัยคุกคามของจีน

บาร์บารา เพลต อุชเชอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รายงานว่า นักวิเคราะห์เชื่อว่า ทั้งโจ ไบเดน และสี จิ้นผิง ต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเด็นนี้ กลายเป็นความขัดแย้ง ที่รุนแรงถึงขั้นการปะทะทางทหาร แต่ทั้งสองฝ่ายก็ดูจะไม่พยายามลดวาทกรรมต่อเรื่องนี้ลงเลย

ยกตัวอย่าง แถลงการณ์ของสองประเทศถึงการหารือทางโทรศัพท์ครั้งนี้ ทำเนียบขาวระบุว่า นี่เป็นความพยายามไกล่เกลี่ยความเห็นต่าง และทำงานร่วมกันในส่วนที่สองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกัน ส่วนรัฐบาลจีนออกแถลงการณ์ว่า สหรัฐฯ และจีนมีผลประโยชน์ที่สอดคล้องกันหลายจุด แต่กล่าวหาสหรัฐฯ ว่า เป็นฝ่ายที่บั่นทอนความสัมพันธ์ และวิจารณ์รัฐบาลไบเดนที่มองจีนเป็น “คู่แข่งหลัก” และ “ความท้าทายระยะยาวที่น่าวิตกที่สุด”

“เล่นกับไฟ” ผู้นำจีนพูดแรงไปไหม

คำกล่าวที่สี จิ้นผิง ใช้เตือนโจ ไบเดน ว่า “ใครก็ตามที่เล่นกับไฟ จะต้องถูกแผดเผา” เป็นวาทกรรมที่ดูรุนแรงก็จริง แต่รูเพิร์ต วิงฟิลด์-เฮเยส ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำไต้หวันมองว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่นัก

กระทรวงการต่างประเทศจีนใช้ประโยคดังกล่าวในบริบทเดียวกันมาแล้ว เมื่อครั้งที่กลุ่มสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ​เดินทางเยือนไต้หวัน ในช่วงปีที่ผ่านมา และก่อนหน้านั้น เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงกลาโหมจีนก็ใช้คำเตือนเดียวกันอีกต่อประเด็นไต้หวัน

แต่การที่ประโยคนี้ออกมาจากปากของผู้นำจีน น้ำหนักมันต่างกันมาก แต่ก็ยังไม่ถึงจุดที่หมายความว่า จีนเตรียมดำเนินการทางการทหารต่อประเด็นไต้หวัน หากเพโลซีเดินทางเยือนไต้หวันจริง

การใช้ประโยคเตือนนี้ของผู้นำจีน เป็นการบอกกับผู้นำสหรัฐฯ ว่า หากสหรัฐฯ ยังดำเนินการตามทิศทางนี้ต่อไป นั่นอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้