ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ชี้มี “ขบวนการสร้างข่าวปลอม” ยุคโควิด-19 กับวาทะล่าสุด “ยังไม่มีใครต้องติดคุกเพราะไปด่ารัฐบาล”

รมว.ดีอีเอสอยากให้ดาราร่วมมือกันสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนมากกว่าโพสต์โจมตีรัฐบาล

ที่มาของภาพ, DES

คำบรรยายภาพ, รมว.ดีอีเอสอยากให้ดาราร่วมมือกันสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนมากกว่าโพสต์โจมตีรัฐบาล
  • Author, เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • Role, วิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง ผู้สื่อข่าววิดีโอ

นักการเมืองชายวัย 49 ปี ปรากฏตัวในชุดเสื้อแจ็กเก็ตสีดำซึ่งมีตราสัญลักษณ์ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งชาติ (Anti-Fake News Center Thailand) ปักอยู่ที่อกซ้าย ส่วนอกขวา ประทับชื่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) หน่วยงานที่เขาเป็นผู้บริหารสูงสุด เมื่อต้องทำ "ภารกิจสำคัญ"

นอกจากเอกสารสรุปข้อมูลไม่กี่แผ่นที่วางอยู่บนโต๊ะ ข้างกายของ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส มักมีตำรวจชั้นนายพลนั่งประกอบฉาก เพิ่มความหนักแน่นให้กับเนื้อหาที่เขาเตรียมมาสื่อสารต่อสาธารณะ

"ขอความกรุณาอย่าใช้สิ่งเหล่านี้เคลื่อนไหวทางการเมืองโจมตีรัฐบาล เพราะสิ่งที่ทำเป็นการบิดเบือนข้อมูล เป็นการสร้างเฟกนิวส์ (ข่าวปลอม) ขึ้นในระบบโซเชียลมีเดีย" รมว.ดีอีเอส แถลงเมื่อ 20 ก.ค. ท่ามกลางปรากฏการณ์ศิลปิน ดารา และผู้ทรงอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ออกมาแสดงความเห็นต่อการบริหารวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล หรือคอลเอาต์ (call out)

ชัยวุฒิยอมรับกับบีบีซีไทยว่า "หวั่นใจ" กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จึงออกมาเตือนคนบันเทิงให้ "เป็นกลาง" และ "มองความจริงรอบด้าน"

"ผมเชื่อว่าดาราเป็นคนที่มีคนรัก คนศรัทธา มีคนชื่นชอบ ท่านพูดไปก็มีคนเชื่อท่าน ดังนั้นก็อยากให้ระมัดระวัง อย่าใช้สิ่งเหล่านี้ไปในทางที่ผิด อย่าตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะผมก็ทราบว่าการเคลื่อนไหวของดาราก็มีเบื้องหลัง เราพยายามติดตามอยู่ว่ามันมาจากดารากลุ่มหนึ่ง มาจากบริษัทกลุ่มหนึ่ง ค่าย ๆ หนึ่ง พูดง่าย ๆ ว่ามันมีไม่กี่ค่ายไม่กี่บริษัทที่มีดาราอยู่ในมือเยอะ ๆ แล้วเขาก็สั่งให้ดาราลงมาเคลื่อนไหวเหล่านี้ มันเป็นขบวนการ" รัฐมนตรีสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยสมมติฐานในใจ

ดนุภา คณาธีรกุล หรือมิลลิ นักร้องแร็ปเปอร์สาว ถูกตำรวจเปรียบเทียบปรับ 2,000 บาท หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อ 22 ก.ค. คดีดูหมิ่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จากการโพสต์วิจารณ์รัฐบาล

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, ดนุภา คณาธีรกุล หรือมิลลิ นักร้องแร็ปเปอร์สาว ถูกตำรวจเปรียบเทียบปรับ 2,000 บาท หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อ 22 ก.ค. คดีดูหมิ่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จากการโพสต์วิจารณ์รัฐบาล

ทว่ายังไม่ทันได้ขยายความว่าใครคือผู้บงการขบวนการที่เขากล่าวอ้าง ชัยวุฒิคนเดิม สวมเสื้อตัวเดิม ขอปรับคำพูดใหม่ในระหว่างสื่อสารทางเดียวกับประชาชนผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กของรัฐมนตรี ซึ่งมีผู้ติดตามราว 2.6 หมื่นคน

"เท่าที่ได้ดูการคอลเอาต์ ออกมาเรียกร้องต่าง ๆ ของดารายังไม่เข้าข่ายความผิด เป็นการเรียกร้องถึงปัญหาความไม่พอใจต่าง ๆ ที่มีต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาของโควิด เราก็เข้าใจ" คลิปวิดีโอของ รมว.ดีอีเอส ถูกเผยแพร่เมื่อ 22 ก.ค. ระบุไว้ตอนหนึ่ง

แม้ร่วมวงคณะรัฐมนตรี (ครม.) "ประยุทธ์ 2/4" มา 4 เดือนเต็ม แต่เชื่อว่าไม่มีครั้งใดที่ชื่อ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ จะถูกพูดถึงและค้นหาอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ จนติดอันดับเทรนด์ยอดนิยมประเทศไทยตามการเก็บข้อมูลของเว็บไซด์กูเกิลเมื่อ 21 ก.ค. ด้วยยอดสืบค้นกว่า 5 พันครั้งภายในเวลา 24 ชม.

รมต. ผู้ไม่คอยเฝ้าหน้าจอ เผยกลไกใครสร้างข่าวปลอม

ชัยวุฒิโลดแล่นอยู่ในแวดวงธุรกิจ-การเมืองมา 20 ปี ภายใต้ต้นสังกัด 3 พรรคการเมือง ออกหาเสียงครั้งแรกตั้งแต่อายุ 27 ปี ก่อนถึงฝั่งฝันบนเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นหนแรกของชีวิตเมื่อ 23 มี.ค. 2564

เสนาบดีหน้าใหม่ได้รับคำสั่งให้ "เข้าไปช่วยดูแลเรื่องเฟกนิวส์"

"มันเลยเหมือนผมเล่นแต่เรื่องนี้ เพราะเป็นภารกิจสำคัญ ถ้าเราแก้ปัญหาโควิด แก้ปัญหาเฟกนิวส์ไม่ได้ ประเทศก็เดินหน้าได้ยาก" เขาแจกแจง

นายกฯ สั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือนประจำกระทรวง ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ที่มาของภาพ, DES

คำบรรยายภาพ, นายกฯ สั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือนประจำกระทรวง ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

แต่ถึงกระนั้น เจ้ากระทรวงผู้กำกับดูแลงานด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารของประเทศเล่าว่า เขาไม่ใช่คนที่คอยเฝ้าหน้าจอคอมพิวเตอร์/สมาร์ทโฟน เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย แต่เสพข้อมูลข่าวสารผ่านวิทยุและโทรทัศน์เป็นหลัก ทว่าหากมีข้อมูลสำคัญ ๆ ที่จำเป็นต้องรู้ เพื่อนฝูงและทีมงานก็จะส่งมาให้ดู

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ลุกลามบานปลายกลายเป็นวิกฤตศรัทธาต่อรัฐบาล ได้เกิดสงครามข้อมูลข่าวสารคู่ขนานกันไป เมื่อประชาชนบางส่วนไม่เชื่อมั่นในข้อมูลของภาครัฐและพยายามแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง ขณะที่ 1 ใน 36 รัฐมนตรี อ้างว่ามี "ขบวนการสร้างข่าวปลอม" ซึ่งมีเป้าหมายทางการเมืองแอบแฝง

ในระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซีไทย ชัยวุฒิไล่เรียงเส้นทางของขบวนการเฟกนิวส์ โดยเปรียบเทียบกับ 4 องค์ประกอบตามทฤษฎีสื่อสาร ผู้ส่งสาร-สาร-ช่องทางการสื่อสาร-ผู้รับสาร

ผู้ส่งสาร: ชัยวุฒิระบุว่ามีผู้ร่วมขบวนการ 3 กลุ่มหลัก

  • กลุ่มที่อยากไล่รัฐบาลเพื่อที่ตัวเองจะได้มาเป็นรัฐบาล
  • กลุ่มที่อยากเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในทางที่เขาต้องการ
  • กลุ่มคึกคะนอง หิวแสง อยากดัง
แนวร่วมกลุ่ม "ราษฎร" เดินขบวนจากแยกอุรุพงษ์ไปทำเนียบฯ เมื่อ 2 ก.ค. เพื่อขับไล่รัฐบาล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, แนวร่วมกลุ่ม "ราษฎร" เดินขบวนขับไล่รัฐบาลเมื่อ 2 ก.ค. ทั้งนี้ข้อความ "เห็นน้ำตาประชาชนบ้างไหม" เป็นแฮชแท็กยอดนิยมในทวิตเตอร์ หลังนักเขียนคนดังโพสต์ตั้งคำถามต่อการบริหารจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล

เขาอธิบายว่า คนแต่ละกลุ่มใน "แถวหนึ่ง" จะมีต้นโพสต์มาก่อน คิดประเด็นและวางแผนว่าจะโพสต์เรื่องนี้ จากนั้นจะมีเครือข่าย "แถวสอง" รับหน้าที่กระจายข้อมูลต่อ โดยอาจมี 10, 20, 30 คน ตามด้วย "แถวสาม" ซึ่งมีจำนวนเป็น 100 คนแล้วรอรับข้อมูลอีกทอดก่อนกระจายต่อไปยัง "แถวสี่" จากนั้นก็กระจายไปทั่วระบบ สุดท้ายประชาชนก็เป็นเหยื่อเอาเฟกนิวส์ไปแชร์ต่อ ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลาราว 1 ชม.

"เรามีระบบติดตามได้แล้วว่าใครคือต้นโพสต์ ใครคือคนแชร์คนแรก เราก็จะพยายามเข้าไปบล็อก หรือเข้าไปดำเนินคดีกับคนเหล่านี้" ชัยวุฒิกล่าว

อย่างไรก็ตาม รมว.ดีอีเอส ไม่ขอเปิดเผยยอด "แถวหนึ่ง" ที่ตกเป็นเป้าหมายถูกจับตามองเป็นพิเศษ โดยบอกใบ้เพียงว่ามีทั้งคนที่อยู่ต่างประเทศซึ่ง "ลี้ภัยไปแล้ว และทิ้งปัญหาให้คนไทยเอาไว้ พอคนไปแชร์/โพสต์ต่อ เราไปจับ ก็เหมือนกับเขาเป็นเหยื่อ" นอกจากนี้ยังมีคนหน้าใหม่สับเปลี่ยนมาเป็นต้นโพสต์บ้าง แต่บางครั้งก็เป็นชาวบ้านธรรมดาซึ่งเชื่อว่า "โดนหลอกใช้มาอีกทอดหนึ่ง"

ชัยวุฒิยังประกาศหาช่องทางตามกฎหมายจัดการกับเหล่า "อวตาร" หรือผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่สร้างบัญชีลวง ไม่เปิดเผยตัวตนและข้อมูลส่วนตัว หลังพบว่าข้อความรุนแรง/ผิดกฎหมายส่วนใหญ่ มีอวตารเป็นต้นโพสต์

"ถ้าเราสามารถบล็อกไม่ให้มีอวตารในระบบได้ โพสต์ที่ผิดกฎหมายก็จะหายไป" เขาให้ความเห็น

ไอโอไทย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ส.ส. พรรคก้าวไกล เปิดคลิปฝึกอบรมเหล่าไอโอของ ทบ. ในระหว่างอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อ ก.พ. 2564 ก่อนที่ รมช.กลาโหม จะยอมรับว่า "มีการฝึกอบรมให้ความรู้แก่กำลังพล เพื่อใช้สื่อโซเชียลอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์" แต่ปฏิเสธว่าไม่มีนโยบายให้ร้ายบุคคล

ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากอวตารที่ชัยวุฒิบอกว่าเป็นต้นโพสต์ข่าวปลอม ยังมีอวตารภาครัฐ อันหมายถึงเครือข่ายปฏิบัติการด้านข่าวสาร (Information Operation : IO) ที่คอย "ปั่นแท็ก" สร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวกให้แก่กองทัพและสถาบันฯ และ "ด้อยค่า" ผู้เห็นต่างทางการเมือง ตามการเปิดเผยข้อมูลของนักการเมืองฝ่ายค้านกลางสภาในหลายครั้งหลายหน หรือแม้แต่ทวิตเตอร์ก็ระงับการใช้งานบัญชี 926 บัญชีที่เชื่อว่าเป็นเครือข่ายไอโอของกองทัพบก (ทบ.) เมื่อ ต.ค. 2563

หากกระทรวงดีอีเอสประกาศจัดการอวตาร จะกระทบต่อการทำงานของบรรดาไอโอด้วยหรือไม่

"ผมไม่ทราบเหมือนกันนะ เพราะผมไม่ได้ทำ ไม่รู้" ชัยวุฒิยิ้มเล็ก ๆ ขณะตอบคำถามนี้

ส่งคนสอดแนมในคลับเฮาส์-งดตีความโพสต์แบบไหนเป็นเฟกนิวส์

สาร: ในขณะที่ชัยวุฒิออกโรงปรามเหล่าคนดังให้ระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้คนต่างพากันตั้งคำถามว่าโพสต์แบบไหนที่เข้าข่ายเฟกนิวส์ มีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 หรือโพสต์แบบไหนเป็น "ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว" มีความผิดตามข้อกำหนดฉบับที่ 27 ออกตามความในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ม็อบ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

รมว.ดีอีเอส ไม่ขอตีความหรือยกตัวอย่างใด ๆ โดยให้เหตุผลว่าลงรายละเอียดยาก แล้วแต่กรณี เขาเพียงแต่อธิบายหลักการในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากมุมของรัฐบาลว่าอยากให้บ้านเมืองสงบสุข อยากควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาให้ได้ นั่นหมายความว่าประชาชนต้องให้ความร่วมมือกับรัฐเวลามีมาตรการใด ๆ ออกมา

"ถ้าสื่อทีวี วิทยุ ออนไลน์ไปให้ข้อมูลที่ทำให้ประชาชนไม่กล้าให้ความร่วมมือกับรัฐ โจมตีโน่นนี่นั่นมาก ๆ พอประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ เราก็ควบคุมการแพร่ระบาดยาก เราถึงออก (ข้อกำหนด) มาว่าขอให้สื่อร่วมมือ.. ก็ต้องคิดว่าอะไรที่เป็นข่าวออกไปแล้วทำให้คนตื่นตระหนก ไม่ปฏิบัติตามมาตรการโควิด ก็ไม่ควรสื่อออกไป" รัฐมนตรีผู้กำกับดูแลศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมกล่าว

ช่องทางการสื่อสาร: แพลตฟอร์มหลักที่ถูกใช้เป็นช่องทางการผลิตและเผยแพร่ข่าวปลอม หนีไม่พ้น เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และยูทิวบ์ ซึ่งชัยวุฒิยอมรับว่าการที่เจ้าของแพลตฟอร์มเป็นบริษัทต่างชาติ ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย 100% ทำให้กระบวนการเคลื่อนไหวมีความต่อเนื่องและสกัดกั้นได้ยาก โดยเฉพาะในทวิตภพที่รัฐไม่ค่อยทันต่อความไวของมือทวีต/รีทวีต นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ใหม่ ๆ อย่างแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ ซึ่งดีอีเอสต้องส่ง "หน่วยสอดแนม" เข้าไปหาข่าว

"เขาใช้คลับเฮาส์ในการระดมคน ในการนัดหมาย ผมทราบว่าเรามีการส่งคน ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ อาจเป็นสมาชิกคอยรายงานเราว่ามีการทำอะไรยังไง เพื่อจะได้ป้องปรามและแก้ไขสถานการณ์ได้" ชัยวุฒิกล่าว

ไอโอไทย

ที่มาของภาพ, Reuters

รมว.ดีอีเอสระบุว่า ทุกครั้งที่มีการชุมนุมทางการเมือง จะมีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ ตั้งแต่เชิญชวนคนเข้าร่วมชุมนุม ปั่นกระแสให้คนเกลียดชังรัฐบาลเพื่อจะได้ออกไปชุมนุม ซึ่งกระทรวงดีอีเอสและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ร่วมกันตั้งทีมติดตามและรวบรวมหลักฐานไว้ทั้งหมดแล้ว

อย่างในการชุมนุมขับไล่รัฐบาลเมื่อ 18 ก.ค. ศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การชุมนุมและใช้โซเชียลมีเดีย กระทรวงดีอีเอส รายงานว่า พบการโพสต์/แชร์ข้อความผิดกฎหมายหรือเข้าข่ายต้องตรวจสอบทั้งหมด 67 เรื่อง แบ่งเป็น จากเฟซบุ๊ก 52 เรื่อง, ทวิตเตอร์ 6 เรื่อง, ยูทิวบ์ 6 เรื่อง, เว็บบอร์ด 2 เรื่อง และคลับเฮาส์ 1 เรื่อง ในจำนวนนี้มีอยู่ 4 เรื่องที่เข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

"ยังไม่มีใครต้องติดคุกเพราะไปด่ารัฐบาล"

ผู้รับสาร: ชัยวุฒิประเมินว่าประชาชนในฐานะผู้รับสารตอบสนองต่อ "ข่าวไม่ดี" มากขึ้น ท่ามกลางภาวะยากลำบาก-วิตกกังวลจากการระบาดโควิด-19 ระลอกสาม ที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวสะสม ภาคธุรกิจยังไม่ฟื้นหรืออาจถึงขั้นสายป่านขาดไปแล้ว

"เวลามีข่าวไม่ดี ข่าวที่ทำให้เขาสะใจ เขาก็จะมีความเห็นร่วม มีความรู้สึกเชื่อฟังเชื่อมั่นสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเยอะ เพราะเขามีความวิตกกังวลอยู่ก่อนแล้ว แต่อีกส่วนก็เป็นเรื่องของรัฐบาลด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าในภาวะวิกฤต ต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือวิธีการอยู่ตลอด เพราะมันเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเชื้อก็กลายพันธุ์อีก ดังนั้นมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐออกมาก็จะมีการปรับเปลี่ยนไป อาจทำให้พี่น้องประชาชนบางกลุ่มรู้สึกสับสนหรือขาดความเชื่อมั่น" รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

คำบรรยายวิดีโอ, ข่าวปลอมในมุมมอง รมว.ดีอีเอส

ในยุค "ไทยแลนด์ 4.0" เหล่าคนดังและคนทั่วไปย่อมมีสิทธิเปิดหู-เปิดตารับข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างจาก "ความจริงของรัฐบาล" ก่อนนำมาคิด วิเคราะห์ แยกแยก โดยที่บางส่วนได้เปิดหน้า-เปิดปากวิพากษ์วิจารณ์การบริหารวิกฤตของรัฐบาล แล้วจะตีความได้อย่างไรว่าเป็นการบิดเบือน/สร้างข่าวปลอม

ชัยวุฒิเห็นด้วยว่าข้อมูลมีหลากหลาย แต่เวลาจะโพสต์อะไร ก็ต้องศึกษาให้รอบด้าน เพราะปัญหาบางอย่างไม่ได้เกิดจากสิ่งที่รัฐบาลทำอย่างเดียว

"ต่อให้ท่านคิดว่าคอลเอาต์ ให้เปลี่ยนนั่น เปลี่ยนนี่ ให้เปลี่ยนรัฐบาล แต่บางทีปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล การแพร่ระบาดของโควิดเป็นปัญหาของทั้งโลก ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทย" และ "ประเทศที่โควิดระบาดหนัก ๆ มันก็มีปัญหา มีคนเสียชีวิตทั้งนั้น มันไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลอย่างเดียว มันเป็นความผิดของเชื้อกลายพันธุ์ที่มันแพร่ระบาดรุนแรง ต้องมองถึงจุดนี้ด้วย"

ถ้าเช่นนั้น เส้นแบ่งระหว่างการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ กับการต้องตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาเพราะวิจารณ์ผู้มีอำนาจ อยู่ตรงไหนอย่างไร

คำตอบของรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมคือข้อเท็จจริงและเจตนา หากเป็นข้อเท็จจริง อย่างไรก็แสดงความคิดเห็นได้ และต้องมีเจตนาที่บริสุทธิ์

ผู้ใช้แรงงานร่วมกิจกรรม "คาร์ม็อบ" โดยชูป้ายทวงถามการเยียวยาจากรัฐบาล หลังมีคำสั่งปิดแคมป์คนงานในกรุงเทพฯ 30 วัน เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ผู้ใช้แรงงานร่วมกิจกรรม "คาร์ม็อบ" โดยชูป้ายทวงถามการเยียวยาจากรัฐบาล หลังมีคำสั่งปิดแคมป์คนงานในกรุงเทพฯ 30 วัน เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19

เขาปฏิเสธด้วยว่า ไม่เคยคิดใช้กฎหมายฟ้องปิดปากประชาชนในฐานะผู้รับสาร ที่ผันตัวมาเป็น ผู้ส่งเสียง

"จริง ๆ ผมว่าคนไทยได้ระบายกันเยอะนะ ผมยังไม่เห็นใครไม่ได้ระบายอารมณ์เลย ก็ใส่กันมาเต็มที่ทั้งนั้นนะครับ และยังไม่มีใครถูกดำเนินคดี ต้องติดคุกเพราะไปด่ารัฐบาลเลยนะ แต่ทางผมก็ทำหน้าที่ป้องปรามประชาชน อยากรักษาบรรยากาศของการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินของประเทศให้ราบรื่น เพื่อจะได้แก้ปัญหาโควิดได้" รมว.ดีอีเอสกล่าว

เปลี่ยนนายกฯ ไม่ทำให้ได้วัคซีนใหม่-ผลิตหมอได้เพิ่ม

ย้อนกลับไปเมื่อ ต.ค. 2563 ชัยวุฒิในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เคยวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยและให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในระหว่างการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติเพื่อหาทางออกของประเทศจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง

ในวันนั้น ชัยวุฒิบอกว่าหากนายกฯ ลาออกตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม เท่ากับเป็นการ "ยอมแพ้" และ "ยอมรับแล้วว่าท่านจะให้มีการเปลี่ยนแปลง"

9 เดือนผ่านไป แรงกดดันทางการเมืองยังอยู่ และดูเหมือนความไม่พอใจต่อรัฐบาลจะทวีความรุนแรงขึ้น-ขยายวงไปสู่ผู้คนในแวดวงใหม่ ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายแก้วิกฤตโควิดและการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล แต่ถึงนาทีนี้ชัยวุฒิไม่เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดขึ้นในเร็ววัน

"ในการบริหารราชการแผ่นดิน มันจะเปลี่ยนนายกฯ หรือไม่เปลี่ยนนายกฯ ไม่ได้ทำให้การแก้โควิดดีขึ้นเลย ผมมองว่าสิ่งที่รัฐบาลทำเพื่อแก้โควิด มันก็ทำดีที่สุดแล้ว"

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกของแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อ 16 มี.ค. โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข และบรรดา ครม. ร่วมให้กำลังใจ

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกของแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อ 16 มี.ค. โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และบรรดา ครม. ร่วมให้กำลังใจ

รัฐมนตรีพรรคแกนนำรัฐบาลกล่าวต่อไปว่า ต่อให้มีรัฐบาลชุดใหม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีวัคซีนใหม่ที่ใครหลายคนต้องการเข้ามา เพราะรัฐบาลนี้ได้เจรจาทุกยี่ห้อแล้ว มีกำหนดส่งมอบแล้ว และเป็นไปตามแผนงาน หรือต่อให้มีรัฐบาลชุดใหม่ ก็ไม่สามารถผลิตหมอมาเพิ่มได้ในเวลา 2-3 เดือนข้างหน้า ในภาวะงานล้นมือของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ดังนั้นมีวิธีเดียวคือต้องบริหารจัดการสิ่งที่มีอยู่ให้ดีที่สุด

"มีคนพยายามดึงเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องการเมืองเพื่อล้มรัฐบาล เพราะเป็นโอกาสที่เขาจะได้ดิสเครดิตรัฐบาล แล้วตัวเองจะได้กลับมาสู่อำนาจได้" ชัยวุฒิย้ำประโยคนี้หลายครั้งในระหว่างสนทนากับบีบีซีไทย

สยบข่าวลือยุบสภา-ลาออก-เปลี่ยนตัวนายกฯ

แม้เป็น 1 ใน 36 นักการเมืองที่ได้ร่วมวงฝ่ายบริหารประเทศ และเป็น 1 ใน 26 กรรมการบริหาร พปชร. แต่ชัยวุฒิออกตัวว่า "ไม่ทราบ" และ "ไม่ได้คุยเชิงลึกว่าใครจะถอนตัว" หลังสื่อมวลชนหลายสำนักรายงานตรงกันโดยอ้างคำกล่าวของ พล.อ. ประยุทธ์ ในระหว่างการประชุม ครม. เมื่อ 20 ก.ค. ว่า "ถ้าท่านจะออกจากผมก็แล้วแต่ ผมก็จะทำงานของผมต่อไป ผมไม่ทิ้งคุณ พวกคุณจะทิ้งผมก็ตามใจ"

ข้อวิเคราะห์ของนักการเมืองอาชีพรายนี้คือ ขณะนี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่จะมาถอนตัวแล้วล้มรัฐบาล แต่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องทำงานช่วยเหลือประชาชน แล้วทำให้บ้านเมืองเดินหน้า

"ผมไม่เชื่อว่าการถอนตัวของพรรคร่วมรัฐบาลคือทางออกของประเทศ ผมว่ามันจะสร้างปัญหาใหม่ที่หนักกว่า" รัฐมนตรีวัยครึ่งร้อยให้ความเห็น

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ เคลื่อนแรลลี่ "คาร์ม็อบ" ไปยังที่ทำการพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อ 10 ก.ค. เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี 48 เสียงในสภา ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายสมบัติ บุญงามอนงค์ เคลื่อนแรลลี่ "คาร์ม็อบ" ไปยังที่ทำการพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อ 10 ก.ค. เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี 48 เสียงในสภา ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล

แกนนำ พปชร. ยังยก 2 เหตุผลขึ้นสนับสนุนสมมติฐานการเมืองของตัวเอง พร้อมสยบทุกข่าวลือว่าด้วยการยุบสภา-ลาออก-เปลี่ยนตัวนายกฯ

  • ภายใต้วิกฤตโควิด ชัยวุฒิไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นได้ หากจัดการเลือกตั้ง สถานการณ์การระบาดจะยิ่งหนักขึ้นเป็น 10 เท่า เพราะผู้สมัครต้องเดินหาเสียง และประชาชนต้องกลับบ้านไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
  • ภายใต้โครงสร้างการเมืองแบบปัจจุบัน ชัยวุฒิไม่เชื่อว่าจะจัดรัฐบาลผสมชุดใหม่ที่เข้มแข็งได้ ด้วยจำนวน ส.ส. ที่มีอยู่ จะเกิดการต่อรองตำแหน่งกันใหม่ ดังนั้น "โดยโครงสร้างทางการเมืองของพรรคร่วมฯ ยังมีความลงตัวในการประสานงาน ส่วนในเรื่องที่มีไอ้ลูกพรรคไปแซวกันมั่ง นั่นเป็นสิทธิส่วนบุคคลเขา บางคนก็หิวแสงบ้าง อยากดังบ้าง อยากเล่นกระแส มันเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่เรื่องของพรรค"
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้า ปชป. แสดงความเห็นใจนายก เพราะทำงานหนักและต้องแบกรับทุกปัญหา หลังทิ้งวาทะกลาง ครม. "จะทิ้งผมก็ตามใจ"

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้า ปชป. แสดงความเห็นใจนายก เพราะทำงานหนักและต้องแบกรับทุกปัญหา หลังทิ้งวาทะกลาง ครม. "จะทิ้งผมก็ตามใจ"

ส่วนเสียงลือเสียงเล่าอ้างในหมู่คนการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลที่ว่า พล.อ. ประยุทธ์ ไม่อยู่ในสถานะที่มีอิสระในการตัดสินใจทางการเมืองได้เอง จนถูกตีความไปต่าง ๆ นานาถึง "อำนาจพิเศษ" ที่อยู่เบื้องหลังผู้นำรัฐบาลนั้น

รัฐมนตรีสังกัด พปชร. ถอดรหัสว่า พล.อ. ประยุทธ์มาจากการเลือกของสมาชิกรัฐสภา แม้ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค แต่ พปชร. ก็เสนอชื่อและได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมฯ ให้เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง 2562 ซึ่งในการตัดสินใจหรือการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ต้องคุยกับพรรคที่กำกับดูแลกระทรวงนั้น ๆ

"ดังนั้นในทางการเมือง ท่านไม่มีอำนาจเด็ดขาด เพราะมีการทำงานในระบบพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค" ชัยวุฒิชี้ให้เห็นส่วนแบ่งอำนาจของรัฐบาลและว่า ในการบริหารราชการช่วงโควิด การตัดสินใจของนายกฯ ไม่ได้ตัดสินใจคนเดียว แต่มีทีมที่ปรึกษา แพทย์ และนักวิชาการที่นายกฯ เชิญมา ช่วยคิดช่วยให้ข้อมูล

เชื่อคนไทยไม่บ้าตามโซเชียล ประเทศไทยต้องยืนอยู่บน 3 สถาบันหลัก

ท้ายที่สุดเมื่อให้ประเมินความเคลื่อนไหวของขบวนการประท้วงขับไล่รัฐบาล กับข้อเรียกร้องเขย่าระบบโครงสร้างอำนาจหลักของไทย

1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมนำโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เยาวชนปลดแอก" ในการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดเมื่อ 18 ก.ค. คือให้ปรับลดงบประมาณของสถาบันฯ และกองทัพ เพื่อนำงบไปช่วยเหลือประชาชนช่วงการระบาดของโควิด-19

ชัยวุฒิเห็นว่า "เป็นความมุ่งหวังของเขาที่จะดิสเครดิตสิ่งที่เขาไม่ชอบ ก็เป็นเรื่องปกติ นี่เป็นเรื่องความเชื่อทางการเมือง ความคิดเขา ผมก็ไม่อยากวิจารณ์"

เขาตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งงบประมาณให้กองทัพเป็นมีทุกปี และสมัยพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นรัฐบาลก็เสนอตั้งงบจัดซื้ออาวุธเป็นปกติ จึงไม่เข้าใจทำไมถึงมีการปั่นเรื่องนี้ จนไปไกลเกินข้อเท็จจริง

ผู้ชุมนุมกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจบน ถ.ราชดำเนินนอก โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้ทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้าสกัดการชุมนุมเกิน 5 คน ซึ่งผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ผู้ชุมนุมกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจบน ถ.ราชดำเนินนอก โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้ทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้าสกัดการชุมนุมเกิน 5 คน ซึ่งผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ในฐานะที่เล่นการเมืองมาครึ่งชีวิต ผ่านการเป็นผู้แทนฯ 3 สมัย ชัยวุฒิยืนกรานว่าไม่ได้มีแนวคิดแบบฝ่ายอนุรักษนิยม แต่เป็นคนหัวก้าวหน้าที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและอยากทำการเมืองให้ดี

"ผมอยู่มานาน ผมรู้ว่าการเมืองคืออะไร ประชาชนคิดอย่างไร... พวกที่บอกว่าก้าวหน้าในปัจจุบัน ผมว่าเกินขอบเขตที่คนไทยจะเข้าใจ เพราะเขาไม่เข้าใจคนไทย"

"ตอนนี้ประชาชนลำบากเพราะโควิด เขาอาจลำบาก ทุกข์ยาก อยากให้รัฐบาลช่วยเขา แต่สุดท้ายเขาก็ต้องรู้ว่าประเทศไทยเราต้องยืนอยู่บนความเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เราก็ต้องช่วยกัน เขาไม่ได้ไปบ้าตามโซเชียลมีเดียทุกคนหรอก" ชายผู้อยู่ในแวดวงการเมือง 2 ทศวรรษกล่าวทิ้งท้าย