เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ พล.อ. ประยุทธ์ ไปต่อ ด้วยมติ 6:3 ชี้เป็นนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี

ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาอ่านคำวินิจฉัยคดีนี้เพียง 24 นาที โดยมีตุลาการ 3 คนสลับกันอ่าน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาอ่านคำวินิจฉัยคดีนี้เพียง 24 นาที โดยมีตุลาการ 3 คนสลับกันอ่าน

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งยังไม่ครบ 8 ปี

เวลา 15.04 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัยคดีนี้ โดยให้เริ่มนับความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 อันเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

ส่วนการดำรงตำแหน่งนายกฯ ในช่วงก่อนหน้านั้น ศาลชี้ว่า “ไม่ใช่นายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560” ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร/ที่ประชุมร่วมสองสภา

“เมื่อผู้ถูกร้อง (พล.อ. ประยุทธ์) ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 นับตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 ถึงวันที่ 24 ส.ค. 2565 ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่ง

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาถือเป็นการยุติข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในหมู่นักกฎหมายและนักการเมือง ซึ่งตีความเอาไว้ 3 แนวทาง นั่นทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ วัย 68 ปี ดำรงตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว 5 ปี 4 เดือนตามการตีความของศาล และยังมีอายุทางการเมืองเหลืออยู่อีก 2 ปี 8 เดือน

สื่อ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, สื่อมวลชนร่วมเกาะติดการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 30 ก.ย. โดยถือเป็นคดีที่เกี่ยวกับ พล.อ. ประยุทธ์ คดีที่ 4 ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล

สำหรับ 3 แนวทางการตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย

แนวทางแรก เริ่มนับวาระในวันได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ สมัยแรก เมื่อ 24 ส.ค. 2557 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 (พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ)

แนวทางที่สอง เริ่มนับวาระตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560

แนวทางที่สาม เริ่มนับวาระในวันได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ สมัยสอง เมื่อ 9 มิ.ย. 2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 (พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา)

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ห้ามไม่ให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี

มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง"

คดีนี้ ส.ส. ฝ่ายค้านยื่นคำร้องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ โดยฝ่ายค้านเห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ 8 ปีแล้ว นับจากได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ครั้งแรกเมื่อ 24 ส.ค. 2557

ต่อมา 24 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9:0 รับคำร้องนี้ไว้พิจารณา และมีมติเสียงข้างมาก 5:4 ให้ พล.อ. ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ทั้งนี้ในช่วง 37 วันที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ รมว.กลาโหม เพียงตำแหน่งเดียว โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีลำดับ 1 รับหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี

ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ กลับมามีอำนาจเต็มในฐานะนายกฯ คนที่ 29 อีกครั้ง เขาสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างช้าเดือน พ.ค. 2566

ถึงขณะนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดประกาศเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2557 และดำรงตำแหน่งนายกฯ มา 2 สมัย ให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมือง

สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาอ่านคำวินิจฉัยเพียง 24 นาที โดย พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้เดินทางมาที่ศาลเอง แต่มอบหมายให้ พล.ต. วิระ โรจนวาศ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนมารับฟังคำวินิจฉัย เช่นเดียวกับประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มอบหมายให้นายเจษ อนุกูลโภคารัตน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร มารับฟังคำวินิจฉัย

ที่ปรึกษานายกฯ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.ต. วิระ โรจนวาศ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนมารับฟังการอ่านคำวนิจฉัยคดี “นายกฯ 8 ปี” โดยเขาคือมือจัดทำคำชี้แจงของนายกฯ ราว 30 หน้าส่งให้ศาลก่อนหน้านี้

บีบีซีไทยสรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไว้ ดังนี้

1. ศาลเห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดวิธีได้มาซึ่งนายกฯ ไว้ตามมาตรา 159 (ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯ จากผู้มีคุณสมบัติ, ไม่มีลักษณะต้องห้าม, มีชื่ออยู่ในบัญชีของพรรคการเมืองที่แจ้งไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง, เป็นแคนดิเดตของพรรคที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5% ของสภา) ประกอบมาตรา 272 (ในช่วง 5 ปีแรกของรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การเลือกนายกฯ ให้ใช้มติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา)

“เมื่อผู้ถูกร้อง (พล.อ. ประยุทธ์) ได้รับการเสนอชื่อตามมาตรา 272 และดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 172 เมื่อ 9 มิ.ย. 2562 แล้ว ผู้ถูกร้องจึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยบริบูรณ์”

2. พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เมื่อ 24 ส.ค. 2557 ซึ่งพระกษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สนช. มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำ

“เห็นได้ว่า ผู้ถูกร้อง (พล.อ. ประยุทธ์) ไม่ใช่นายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งต้องมีที่มาตามมาตรา 158 วรรคสอง กล่าวคือ ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร”

3. อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่า ครม. ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่ง ครม. ด้วยโดยอนุโลม

มีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า จะถือว่า ครม. ที่มีผู้ถูกร้องเป็นนายกฯ บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 (ครม. “ประยุทธ์ 1”)  เป็น ครม. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยหรือไม่

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 264 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติซึ่งมีความมุ่งหมาย 2 ประการ

  • เพื่อยืนยันหลักความต่อเนื่องของ ครม. แม้ ครม. “ประยุทธ์ 1” เป็น ครม. ตามรัฐธรรมนูญอื่นอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้เมื่อ 6 เม.ย. 2560 ต้องถือว่าเป็น ครม. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 เป็นต้นไป
  • เพื่อนำกฎเกณฑ์ประกาศใช้บังคับใหม่มาใช้บังคับกับ ครม. ที่อยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามหลักทั่วไป ครม. ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนหน้าต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ประกาศขึ้นมาใหม่ทุกประการทันที เว้นแต่บทเฉพาะกาลยกเว้นเอาไว้

“เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับเมื่อ 6 เม.ย. 2560 ย่อมมีความหมายว่าทุกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญย่อมมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป... ไม่ว่ากรณีใดตามรัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ ทุกอย่างต้องเริ่มนับทันที กรณีเป็นไปตามมาตรา 158 วรรคสี่ เรื่องระยะเวลา 8 ปี จึงต้องเริ่มนับทันทีนับแต่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น วินิจฉัยได้ว่าผู้ถูกร้อง (พล.อ. ประยุทธ์) เป็นนายกฯ บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นนายกฯตามมาตรา 158 วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญนี้ด้วย”

ศาล รธน.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้พื้นที่ศาลที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เป็นพื้นที่ควบคุม เพื่อรองรับการอ่านคำวินิจฉัยคดี “นายกฯ 8 ปี”

4. ข้อความที่อ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2550 และคำวินิจฉัยที่ 4/2564 เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังนั้น ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นกรณีพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง เป็นเหตุให้ถูกยุบพรรค และทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง รวมถึงมีลักษณะต้องห้ามเป็น ส.ส. อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลง ซึ่ง 2 กรณีนี้มีบทบัญญัติเขียนไว้ชัดเจนว่ามีผลย้อนหลังได้ เพราะกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย หรือขาดคุณสมบัติแต่แรก แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้บัญญัติกรณีดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญ ให้มีผลย้อนหลัง  คำวินิจฉัย 2 ดังกล่าวจึงเป็นคนละกรณีข้อเท็จจริง ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้

5. ข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 เมื่อ 7 ก.ย. 2561 ระบุเจตนารมณ์จำกัดการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ชัดเจน ประกอบการประชุมดังกล่าว ประธาน กรธ. (นายมีชัย ฤชุพันธุ์) และรองประธาน กรธ. คนที่ 1 (นายสุพจน์ ไข่มุกด์) ให้ความเห็นว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ สามารถนับรวมการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ เมื่อรวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่เกิน 8 ปีนั้น

ศาลเห็นว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาความมุ่งหมาย และคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเพียงการอธิบายแนวความคิดของ กรธ. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญมาตราต่าง ๆ ว่ามีความมุ่งหมายอย่างไร แต่การพิจารณาภายหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับเป็นเวลาถึง 1 ปี 5 เดือน ประกอบความเห็นประธาน กรธ. และรองประธาน กรธ. คนที่ 1 ที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง มิได้นำไประบุไว้ในความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158

นอกจากนี้ ตามบันทึกการประชุม กรธ. ที่พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ไม่ปรากฏประเด็นการพิจารณา หรืออภิปรายการนับระยะเวลาดำรงตำแหนงว่าสามารถนับรวมการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับด้วย

6. การกำหนดเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ มีความหมายเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ครม. ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็น ครม. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ต้องถือว่าวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ เป็นวันเริ่มต้นรับตำแหน่ง

“เมื่อผู้ถูกร้อง (พล.อ. ประยุทธ์) ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 นับตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 ถึงวันที่ 24 ส.ค. 2565 ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรี ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่”

“อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง (พล.อ. ประยุทธ์) ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย