4 ปี ส.ว. ชุด “เฉพาะกาล” รับรอง/ปัดตก ตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระ-ศาล เกือบร้อย

WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ส.ว. ชุด "เฉพาะกาล" ซึ่งมีวาระ 5 ปี มีอำนาจโหวตนายกฯ อย่างน้อย 2 สมัย

การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเดือน พ.ค. 2566 นอกจากการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีจะอยู่ที่การรวบรวมเสียงข้างมากของ ส.ส. แล้ว ยังเป็นสมัยที่สองที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจในการร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560

ส.ว. จำนวน 250 คน หรือที่เรียกว่าชุด "เฉพาะกาล" มีที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งสิ้น ไม่ว่าจากการคัดเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพที่ คสช. เป็นผู้เคาะขั้นสุดท้าย กลุ่มที่มาจากการสรรหาของ คสช. โดยตรง และ ส.ว. ที่เป็นโดยตำแหน่ง

การลงมติโหวตนายกรัฐมนตรีของรัฐสภา ซึ่งเป็นการลงมติร่วมกันครั้งแรกระหว่างสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ส.ว. จากการแต่งตั้งของ คสช. ต่างร่วมกันโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร แบบ "ไม่แตกแถว" จากจำนวน ส.ว. 250 เสียง 249 เสียง โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ โดยที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ส.ว. ในฐานะ รองประธานรัฐสภา งดออกเสียง

อำนาจของ ส.ว. ชุดปัจจุบัน มีทั้งเหมือนและต่างจาก ส.ว. ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่มีบางส่วนที่เพิ่มขึ้นมาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้อย่างน้อย 2 สมัย นับจากได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2562

ส.ว. ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งและการสรรหา มีอำนาจพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าทำหน้าที่ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ตามหลักการที่ให้ ส.ว. ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร และมีอำนาจถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ ได้

ส่วน ส.ว. ชุดปัจจุบัน ซึ่งแต่งตั้งจาก คสช. มีอำนาจพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าทำหน้าที่ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอื่นตามกฎหมายเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ แต่ไม่มีอำนาจถอดถอนบุคคลในตำแหน่งต่าง ๆ

WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรากฏชื่อเป็น ส.ว. ลำดับที่ 108 และร่วมลงมติเห็นชอบให้พี่ชายเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2562

ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ให้อำนาจของ ส.ว. ลงมติให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และตำแหน่งสำคัญที่ถูกเขียนไว้ในกฎหมายอื่นของแต่ละองค์กร อาทิ ศาล อัยการสูงสุด องค์กรอิสระ รวมทั้งสิ้น 13 องค์กร ได้แก่

องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

1. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

2. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.)

3. ผู้ตรวจการแผ่นดิน

4. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

5. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

6. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

องค์กรอื่นตามกฎหมายบัญญัติ

7. อัยการสูงสุด

8. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

9. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.)

10. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)

11. ประธานศาลปกครองสูงสุด

12. ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

13. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

ในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา ส.ว. ชุดนี้ ให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ 68 คน และปัดตกไม่ให้ความเห็นชอบ 15 คน แม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะผ่านคณะกรรมการสรรหาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายแล้วก็ตาม

สำหรับมติไม่เห็นชอบต่อบุคคลผู้ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรศาลที่น่าสนใจ ได้แก่ กรณีของนายรัชนันท์ ธนานันท์ ที่คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เสนอชื่อไปยัง ส.ว. แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดทั้ง 2 ครั้ง ในปี 2563 และ 2564

บีบีซีไทยรวบรวมผลการลงมติของ ส.ว. ที่เกี่ยวข้องกับการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ ตั้งแต่ ก.ย. 2562 ถึงการลงมติล่าสุดเมื่อ 23 พ.ค. 2566 ดังนี้

ผู้ถูกเสนอชื่อในองค์กรอิสระ/ศาล 15 คน ที่ ส.ว. ปัดตก

จำนวนองค์กรอิสระที่ ส.ว. ชุดปัจจุบันปัดตก

เห็นชอบ 68 คน

ในการทำหน้าที่ "ให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง" ของ ส.ว. ชุดเฉพาะกาล ช่วง 4 ปีนี้ มีการให้ความเห็นชอบบุคคลในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์กรตามกฎหมายอื่นไปแล้ว 68 คน จาก 12 องค์กร ยกเว้น กกต. ที่ถูกแต่งตั้งโดย สนช. ก่อนเลือกตั้ง 2562 ได้แก่ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, อัยการสูงสุด, ประธานศาลปกครองสูงสุด, ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์

ในที่นี้ปรากฏผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรที่สามารถพิจารณาวินิจฉัยในคดีทางการเมือง การตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม เช่น อัยการสูงสุด 3 คน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 2 คน และตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี 5 คนได้ร่วมนั่งบัลลังก์วินิจฉัยปมนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือน ต.ค. 2565 โดยในจำนวนนี้ 4 คน เป็นตุลาการเสียงข้างมากที่วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ยังไม่ครบ 8 ปี

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คน

  • อุดม สิทธิวิรัชธรรม / ส.ว. เห็นชอบ 11 ก.พ. 2563 (มติสำคัญ ให้ประยุทธ์ อยู่ต่อ ปมนายกฯ 8 ปี)
  • วิรุฬห์ แสงเทียน / ส.ว. เห็นชอบ 11 ก.พ. 2563 (มติสำคัญ ให้ประยุทธ์ อยู่ต่อ ปมนายกฯ 8 ปี)
  • จิรนิติ หะวานนท์ / ส.ว. เห็นชอบ 11 ก.พ. 2563 (มติสำคัญ ให้ประยุทธ์ อยู่ต่อ ปมนายกฯ 8 ปี)
  • นภดล เทพพิทักษ์ / ส.ว. เห็นชอบ 11 ก.พ. 2563 (มติสำคัญ เสียงข้างน้อย ให้ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง ปมนายกฯ 8 ปี)
  • บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ / 13 ก.ค. 2563 (มติสำคัญ ให้ประยุทธ์ อยู่ต่อ ปมนายกฯ 8 ปี)
  • ศ.อุดม รัฐอมฤต / ส.ว. เห็นชอบ 26 ธ.ค. 2565

อัยการสูงสุด 3 คน

  • วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ / ส.ว. เห็นชอบ 3 ก.ย. 2562
  • สิงห์ชัย ทนินซ้อน / ส.ว. เห็นชอบ 31 ส.ค. 2564
  • นารี ตัณฑเสถียร / ส.ว. เห็นชอบ 29 ส.ค. 2565

กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 2 คน

  • ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อดีตผู้ตรวจอัยการและอัยการอาวุโส
  • สุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ คสช. แต่งตั้ง

ในการร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค. นี้ จึงเป็นที่น่าจับตาว่าทิศทางการลงมติของ ส.ว. จะออกเสียงอย่างไรให้กับแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาลและแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองที่มีสิทธิเสนอชื่อในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา