ยาฟาวิพิราเวียร์ : เพียง 3 เดือนของวิกฤตโควิด-19 ไทยต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มขึ้น 20 เท่า

  • ธันยพร บัวทอง
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
tnp

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, สปสช. เริ่มทดลองระบบตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการตรวจรู้ผลด่วนใน 30 นาที (Antigen test kit) เมื่อพบว่าติดเชื้อได้แจกยาฟาวิพิราเวียร์ทันที ซึ่งนับเป็นการนำร่องระบบนี้เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีการจ่ายยาฟ้าทะลายโจรแคปซูล และจัดรถส่งกลับบ้านให้ผู้ติดเชื้อ ลดความเสี่ยงคุมระบบแพร่ระบาด การนำระบบนี้มาใช้เริ่มเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา

ถ้ามีผู้ติดเชื่อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อวันวันละ 20,000 คน ความจำเป็นของการใช้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้กับผู้ป่วยในประเทศไทยจะอยู่ที่ราว 30 ล้านเม็ดต่อเดือน ตัวเลขนี้คือการประเมินที่ตรงกันของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาเภสัชกรรม

เมื่อเดือน พ.ค. ชมรมแพทย์ชนบทประเมินว่า ประเทศไทยใช้ยาฟาวิพิราเวียร์วันละ 40,000-50,000 เม็ด ทว่าตัวเลขล่าสุดจากสภาเภสัชกรรมและ สปสช. ต้องใช้ยาชนิดนี้สูงถึงวันละ 1 ล้านเม็ด

ความต้องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์จึงสูงขึ้น 20 เท่า ในช่วงระยะเวลาเพียง 3 เดือน ตามยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นถึงระดับ 20,000 รายต่อวันเป็นวันแรก ในวันที่ 4 ส.ค.

ล่าสุดองค์การเภสัชกรรมเปิดเผยเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ว่าได้มีการปรับแผนเพิ่มการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ รองรับการรักษาที่จ่ายยาเร็วขึ้น จนถึงสิ้นปีจะมีฟาพิราเวียร์สำรองในระบบ 300 ล้านเม็ด

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า จะมีการเพิ่มการสำรองทั้งจากยาที่ อภ. ผลิตเองและจัดหาจากต่างประเทศ โดยเดือน ส.ค.- ก.ย. รวม 2 เดือน จำนวน 120 ล้านเม็ด และเดือน ต.ค. -ธ.ค. เพิ่มอีกเดือนละ 100 ล้านเม็ด รวมจำนวน 300 ล้านเม็ด

การปรับเปลี่ยนล่าสุดนี้ ทำให้ในช่วงสองเดือนนี้ หมายความว่าประเทศไทยอาจจะต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ถึงเดือนละ 60 ล้านเม็ด มากกว่าที่ สปสช. และสภาเภสัชกรรม ได้ให้ข้อมูลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สภาเภสัชกรรม ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 ก.ค. เร่งรัดให้รัฐมีนโยบายที่ชัดเจนในการเร่งผลิตยาชนิดนี้อย่างเร่งด่วนแทนการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อความมั่นคงทางยา โดยการจ้างโรงงานอุตสาหกรรมยาภายในประเทศช่วยผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ขององค์การเภสัชกรรมที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้ว

นอกจากสภาเภสัชกรรมแล้ว ยังมีแถลงการณ์ในเนื้อหาเดียวกันจากชมรมเภสัชชนบท โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ที่แสดงความกังวลว่ายากต้านไวรัสชนิดนี้จะขาดในเดือน ส.ค. ทำให้ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ชี้แจงในวันที่ 2 ส.ค. ว่าการจัดหาจากต่างประเทศนั้นในเดือน ก.ค. 2564 ได้มีการจัดหาเข้ามาแล้วจำนวน 13 ล้านเม็ด และในเดือน ส.ค. จะเข้ามาเพิ่มอีก 43.1 ล้านเม็ด

ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ที่ อภ. วิจัย พัฒนา ผลิตเองและผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับยาจาก อย. แล้ว ในเดือน ส.ค. จะดำเนินการผลิตแบบบรรจุแผง จำนวน 2.5 ล้านเม็ด ในเดือน ก.ย. จะผลิตยาได้ จำนวน 23 ล้านเม็ด และตั้งแต่เดือน ต.ค. นี้เป็นต้นไปจะสามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านเม็ดต่อเดือน

ยาฟาวิพิราเวียร์ต่อผู้ป่วย 1 คนที่ตรวจพบเชื้อ ต้องใช้ยาชนิดนี้ 50-70 เม็ดต่อคน และความต้องการเพิ่มขึ้นเมื่อขณะนี้มีแนวทางการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) ที่โรงพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยต้องเป็นผู้จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้คนไข้ตามการประเมินของแพทย์

องค์การเภสัชกรรม

ที่มาของภาพ, องค์การเภสัชกรรม

คำบรรยายภาพ, ก่อนหน้านี้ประเทศไทยนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์เพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบัน อภ. ได้สิทธิบัตรในการนำมาวิจัยพัฒนา และผลิตเองได้แล้ว และขึ้นทะเบียนกับ อย. เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

กรมควบคุมโรคประเมินตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่จากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ SEIR ว่า หากมาตรการล็อกดาวน์ทำได้มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อได้ 20% เป็นเวลานาน 1 เดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะลดลงจากเกิน 40,000 กว่าราย เหลือ 30,000 กว่าราย จุดสูงสุดอยู่ที่ต้นเดือน ต.ค. หากล็อกดาวน์นาน 2 เดือนและมีประสิทธิภาพ 20% จะทำให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 20,000 กว่าราย จาก 40,000 กว่าราย หากไม่ทำอะไรเลย

สถานการณ์ยาฟาวิพิราเวียร์ขณะนี้เป็นอย่างไร และจะมีเพียงพอหรือไม่ หากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 20,000-30,000 ตามแบบจำลองดังกล่าว บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลจากแต่ละด้าน

เปิดตัวเลขใครจัดหายาฟาวิพิราเวียร์บ้าง

หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ คือ องค์การเภสัชกรรม (อภ.)

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยนำเข้าเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบัน อภ. ได้สิทธิบัตรในการนำมาวิจัยพัฒนา และผลิตเองได้แล้ว และขึ้นทะเบียนกับ อย. เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา แต่กำลังการผลิตของเดือน ส.ค. อยู่ที่ 2.5 ล้านเม็ด

อย่างไรก็ตาม อภ. ได้ระบุว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตด้วยการเปิดสายการผลิตที่ 5 โรงงานผลิตยาขององค์การเภสัชกรรมเองที่คลอง 10 อีกแห่ง จะทำให้ผลิตได้เดือนละไม่น้อยกว่า 160 ล้านเม็ดต่อเดือน

องค์การเภสัชกรรม

ที่มาของภาพ, องค์การเภสัชกรรม

คำบรรยายภาพ, ไทม์ไลน์การผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ที่องค์การเภสัชกรรมผลิตและกระจายให้กับกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนหน่วยงานที่นำยาไปใช้รักษาผู้ป่วย คือ กระทรวงสาธารณสุขที่จัดซื้อทาง อภ.อีกต่อหนึ่ง ก่อนกระจายให้โรงพยาบาลในสังกัดต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชน ตามคำอธิบายของ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่บอกกับบีบีซีไทย

นพ.จเด็จ บอกว่า สถานการณ์ช่วงนี้มีการปรับให้จ่ายยาหาวิพิราเวียร์เร็วขึ้นเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่อาการหนักรวมกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่สูงขึ้น ทางบอร์ดของ สปสช. จึงมีมติเข้าไปช่วยทำหน้าที่ในการสั่งยา หรือซื้อยาเพื่อกระจายให้กับหน่วยบริการในระบบ ที่เสริมกับกลไกของกระทรวงสาธาณสุขอีกส่วนหนึ่ง

"ที่ผ่านมาพบว่ามีความต้องการใช้มากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้นและก็มีข้อแนะนำให้ใช้เร็วขึ้น แต่ก่อนต้องมีอาการปอดบวม พิสูจน์ก่อน ถึงจะให้ใช้ แต่ตอนหลังพอเริ่มมีอาการก็ให้ได้ ตอนนี้มาถึงจุดที่ว่า ตรวจพบแล้วควรจะให้เลย ดังนั้น ความต้องการจึงสูงขึ้น"

ตามข้อมูลของ เลขาธิการ สปสช. ระบุกับบีบีซีไทยว่า ตัวเลขที่ สธ.จัดซื้อมาอยู่ที่ราว 40 ล้านเม็ด ในเดือน ส.ค. และ ก.ย. และ สปสช. จะจัดซื้อจาก อภ.อีกทางหนึ่งประมาณเดือนละ 16 ล้านเม็ด ซึ่งจะทำให้มียาฟาวิพิราเวียร์ในระบบราว 32 ล้านเม็ด ต่อเดือน ในช่วงเดือน ส.ค. และ ก.ย.

ตัวเลขนี้สอดคล้องกับ การเปิดเผยของ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุเมื่อวันที่ 30 ก.ค. ว่าสธ. ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ตามเกณฑ์โดยเร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันสำรองยาในเดือน ส.ค. 40 ล้านเม็ด และเดือน ก.ย.อีก 40 ล้านเม็ด มีจำนวนมากพอสมควรและส่งไปยังภูมิภาค

50 เม็ดต่อคน ตรวจ ATK ผลเป็นบวก จ่ายยาทันที

การจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ เริ่มนำร่องจ่ายยาให้ผู้ป่วยที่ตรวจเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) แล้วผลเป็นบวก ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากเริ่มระบบการรักษาตัวที่บ้านหรือ HI

นพ.จเด็จ กล่าวว่าในการตรวจเชิงรุกที่อาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ได้ทดลองการให้ยาทันที โดยปริมาณอยู่ที่คนละ 50 เม็ด ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ป่วย โดยเป็นยากินสำหรับ 5 วัน

ขณะเดียวกันจากการสำรวจของบีบีซีไทย พบว่าผู้ป่วยที่โทรรายงานเข้าระบบรักษาตัวที่บ้านไปผ่านสายด่วน 1330 ก็ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์มารับประทานที่บ้าน

"เฉลี่ยแล้ว ประมาณ 50 เม็ด อยู่ได้ประมาณ 5 วัน ส่วนใหญ่ได้เป็น เช้า เย็น วันแรกจะเยอะอยู่ที่ 18 เม็ด มื้อละ 9 เม็ด และหลังจากนั้น มื้อละประมาณ 4 เม็ด เช้าเย็น" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

องค์การเภสัชกรรม

ที่มาของภาพ, องค์การเภสัชกรรม

นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่าจากการติดตามผู้ป่วยจากเจ้าหน้าที่หน้างานที่ติดตามระบบ HI พบว่าได้ผลดี สอดคล้องกับทิศทางนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่แนะนำให้หน่วยบริการช่วยให้ยาเร็วขึ้น

"ถ้าเริ่มมีอาการเราให้ยาไปสัก 2 วัน คนไข้จะบอกว่าโล่งขึ้น... เท่าที่ฟังจากคนที่อยู่หน้างานเช็กดูเป็นอย่างนั้น"

แนวทางนี้กรมการแพทย์ได้ สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรัฐทุกสังกัดและโรงพยาบาลเอกชน แล้วเช่นกัน ว่า หากผล ATK เป็นบวก เรียกว่า ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย สามารถรับยาและเข้ารับการรักษาแบบโฮม ไอโซเลชั่นได้ทันที แต่หากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในลักษณะคอมมูนิตี้ โฮม ไอโซเลชัน หรือในสถานพยาบาล ผู้ติดเชื้อเข้าข่ายควรได้รับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR คู่ขนาน

สถานการณ์ในขณะนี้คืออะไร

จากการรวบรวมของบีบีซีไทย ประเด็นยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นปัญหาการ "ขาดช่วง" ของยาที่ส่งไปยังโรงพยาบาลและการจ่ายยาให้ผู้ป่วยในระบบรักษาตัวที่บ้าน

ภาวะขาดช่วงนี้เห็นได้จากความกังวลของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ที่ระบุผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า "ภายในสัปดาห์หน้า ประเทศจะขาดยาฟาวิพิราเวียร์อย่างแน่นอน" และข้อมูลจาก ฐิตินบ โกมลนิมิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารสุขภาพและสังคม ที่เปิดเผยเมื่อ 4 ส.ค.ว่า "ยาฟาวิพิราเวียร์ในคลังองค์การเภสัชกรรมคงไม่หมด รอพรุ่งนี้ (5 ส.ค.) ยาถึงจะเข้ามาอีก 4 ล้านเม็ด แต่ละโรงพยาบาลขณะนี้ หวงแหนยาไว้สำหรับผู้ป่วยสีเหลืองเข้มถึงแดง"

tnp

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, ประชาชนเข้ารับการตรวจเชิงรุกคัดกรองโรคโควิด-19 ด้วยวิธี rapid testing หรือ antigen test kit ที่ วัดหนังราชวรวิหาร เขตจอมทอง จากทีมแพทย์ของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งจะคัดกรองแบบ walk in วันละ 5,000 คน ในโครงการแพทย์ชนบทบุกกรุง ครั้งที่ 3 ร่วมกับทีมแพทย์จากจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศรวม 40 ทีม ระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค. 2564

ประเด็นยาฟาวิพิราเวียร์ในช่วงที่ผู้ติดเชื้อกำลังจะเข้าสู่ช่วงสูงสุด เลขาธิการ สปสช. ได้ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยว่า ทรัพยากรยาสำคัญที่ต้องเตรียมไว้ก่อน เผื่อ ๆ ไว้ เพราะว่าการไม่มีแล้วขาด เป็นเรื่องที่ ประชาชนหรือหน่วยงานรัฐเองก็ไม่สบายใจ การสำรองด้วยการซื้อไว้ในระบบจึงเป็นแนวทางที่ควรทำ

"ซื้อมาเผื่อนิดนึง แม้อาจจะยังไม่ได้ใช้ แต่ดูเหมือนจะเป็นทิศทางที่น่าจะทำมากกว่า" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

"ที่ผ่านมา มีสถานการณ์ที่ว่าคนรู้สึกว่า ยาเราขาดหรือเปล่า ยาเราไม่พอหรือเปล่า เพราะเวลาถามพวกนี้ออกไป ก็เกิดกลไกในการแย่งชิงทรัพยากร ชาวบ้านโดยเฉพาะคนยากไร้ก็ไปหาทางดิ้นรน ก็เปลืองค่าใช้จ่ายจนเป็นความวุ่นวาย เราก็ต้องสร้างความมั่นใจให้ตัวผู้ป่วยด้วย"

ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ อภ. ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้เอง ในเดือน ส.ค. เพียง 2.5 ล้านเม็ด จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าเข้ามาใช้ก่อน 43.1 ล้านเม็ด

นพ. จเด็จ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการจัดหาจาก อภ. "อาจจะต้องช่วยหาแหล่งที่จะซื้อ หรือแนะนำ" ซึ่งในระยะหลัง นพ.จเด็จ กล่าวว่าเท่าที่มีข้อมูลเป็นการนำเข้าจากอินเดียเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม หลายประเทศทั่วโลก ไม่ได้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ทุกที่ น่าจะมีโอกาสที่ไทยจะจัดซื้อเข้ามาได้

กลไกเบิกจ่ายตามระบบราชการ ทำให้ยาถึงผู้ป่วยช้า

นพ. จเด็จ กล่าวว่า สปสช ไม่ได้มีบทบาทในการกระจายยา แต่หน่วยบริการทั้งหมดต่างหากที่ ต้องเป็นผู้จ่ายยาให้ผู้ป่วย แต่เนื่องจากหน่วยบริการหลายแห่ง ระบบการเบิกจ่ายไปถึงกรมการแพทย์ไปถึง สธ อาจจะยังไม่คล่องตัว หรือยังมีระบบราชการอยู่ สปสช. จึงช่วยประสานให้มันเกิดความคล่องแคล่วขึ้น เมื่อคล่องขึ้น สปสช. ก็จะส่งถ่ายหรือกระจายตรงนี้ไปยังหน่วยบริการ

thai news pix

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, การตรวจด้วยแอนติเจน เทสต์ คิท เมื่อพบว่าผลเป็นบวก ก็จ่ายยาทันที ในผู้ป่วยที่มีอาการมากจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ในภาพนี้เป็นภาพที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เมื่อ 27 ก.ค.

"หน่วยบริการหลายแห่ง ระบบการเบิกจ่ายไปถึงกรมการแพทย์ไปถึงกระทรวง อาจจะยังไม่คล่องตัว หรือยังมีระบบราชการอยู่ เราก็ช่วยประสานให้มันเกิดความคล่องแคล่วขึ้น ถ้าคล่องขึ้นเราก็จะส่งถ่ายหรือกระจาย ตรงนี้ไปยังหน่วยบริการเช่นเดิม" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สปสช. ได้ช่วยกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ไปแล้วราว 2-3 แสนเม็ด และในสัปดาห์นี้มีการดำเนินการอีก 2 แสนเม็ด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วย ขณะเดียวกันบอร์ด สปสช. ได้อนุมัติการจัดซื้อยาเข้ามาเสริมกับกระทรวงสาธารณสุขด้วยวงเงิน 891 ล้านบาท

ฉากทัศน์ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์

จากตัวเลขเฉลี่ยวันละ 1 ล้านเม็ด เลขาธิการ สปสช. คิดคร่าว ๆ ถึงปริมาณยาที่ต้องใช้แต่ละวันคำนวณจากผู้ป่วยใหม่ หากเป็นวันละ 15,000 ราย จ่ายยารายละ 50 เม็ด ต่อวันต้องใช้ยาถึง 750,000 คน เมื่อคำนวณสัดส่วนที่บวกยอดที่ประเมินจริง ทำให้ใน 1 วัน จะใช้ยาสูงถึงวันละ 1 ล้านเม็ด หรือ 1 เดือน "อาจจะใช้อย่างน้อย 30 ล้านเม็ด"

บีบีซีไทยคำนวณจากยอดผู้ป่วยรายใหม่ประจำวันที่ 4 ส.ค. ที่ตัวเลขแตะระดับ 20,000 วันแรก หากใช้สูตรที่กล่าวมา เฉพาะผู้ป่วยใหม่ที่้ต้องจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ต้องใช้ปริมาณยาทั้งสิ้น 1 ล้านเม็ด นี่คือจำนวนที่ไม่นับผู้ป่วยในระบบที่มีอยู่เดิมที่อยู่ระหว่างการรักษาตัว

เลขาธิการ สปสช. ทิ้งท้ายว่า ประเด็นสำคัญในระยะนี้ ค้นพบผู้ป่วยให้เร็วเพื่อให้ได้รับการตรวจและแยกออกมาจากชุมชน

"ถ้าเราทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเข้าถึงยาก มันเป็นอุปสรรค การควบคุมก็จะมีปัญหา ดังนั้น ทำยังไงให้ประชาชน เข้าถึงการตรวจ"

แนวทางของ สธ. ขณะนี้ ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อแบบ PCR ซ้ำ แต่การตรวจยืนยันในกลุ่มกักตัวในชุมชน (Community Isolation) เพื่อเป็นการป้องกันการตรวจที่คลาดเคลื่อนแล้วผู้ติดเชื้อยังปะปนกับชุมชน แต่ทั้งนี้เชื่อว่ากว่า 90% มีความแม่นยำ ขณะเดียวกันการให้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยทันที คิดในเชิงต้นทุนของระบบสาธารณสุขเป็นต้นทุนที่คุ้มค่ากว่า

"การให้ประชาชนวิ่งหาการตรวจแพงกว่าค่ายาอีกครับ เพราะฉะนั้น เมื่อเทรดออฟ ต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว บางทีต้นทุนถูกกว่าเยอะ แล้วอย่างตอนนี้เราใช้หน่วยบริการปฐมภูมิให้ไปตรวจที่บ้านถูกกว่า การนำคนไข้ วิ่งเข้าออกโรงพยาบาลอีก"

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดตัว ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุ

วันนี้ (5 ส.ค.) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เปิดตัวยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ยาต้านเชื้อไวรัสตำรับแรกในประเทศไทย เพื่อใช้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยสูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด โดยเป็นการพัฒนาและคิดค้นสูตรของงานเภสัชกรรมฯ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส

ยาฟาวิพิราเวียร์ชนิดน้ำเชื่อมนี้ เป็นยาน้ำเชื่อมปราศจากน้ำตาล ลักษณะเป็นยาน้ำใส สีส้ม รสราสเบอรี่ มี 2 ขนาด คือ ขนาด 800 มิลลิกรัมใน 60 มิลลิลิตร และ ขนาด 1,800 มิลลิกรัมใน 135 มิลลิลิตร รับประทานยาขณะท้องว่าง วันละ 2 ครั้ง ห่างกันทุก 12 ชั่วโมง รับประทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในขนาดยาที่แตกต่างกัน และขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ป่วย

รจภ. ระบุว่า กรณีที่แพทย์ประสงค์ใช้ยาชนิดน้ำเชื่อมในกลุ่มผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่ให้อาหารทางสายที่มีผลการตรวจ RT- PCR ยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่รักษาในโรงพยาบาลและรักษาที่บ้านหรือโฮม ไอโซเลชั่น สามารถติดต่อขอรับยาที่ รพ.จุฬาภรณ์ ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. เป็นต้นไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระหว่างเดือน ส.ค. และ ก.ย. โดยในช่วงแรกจำกัดตามกำลังผลิตอยู่ที่สัปดาห์ละ 100 ราย