พล.อ.ประวิตร กลับนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค พปชร. ตั้งน้องชาย พัชรวาท เป็น ปธ.ที่ปรึกษาพรรค

AFP/Getty Images

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง หลังจากยื่นหนังสือลาออกในช่วงเช้า โดย พล.อ.ประวิตร มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย เป็นประธานที่ปรึกษาพรรคในวาระเดียวกัน ส่วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รั้งเก้าอี้เลขาธิการพรรคคนใหม่

การประชุมใหญ่สามัญของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ครั้งที่ 3/2566 ในวันนี้ (29 ก.ค.) เริ่มต้นช่วงเช้าโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร. เป็นประธานในที่ประชุม ได้แจ้งต่อสมาชิก พปชร. ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มีหนังสือเพื่อขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแล้ว โดยแจ้งความประสงค์ให้การลาออกมีผลตั้งแต่เวลา 8.30 น. เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ตามข้อบังคับพรรค หากหัวหน้าพรรคลาออก กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ทั้งคณะ จึงต้องพ้นจากตำแหน่งออกไปด้วย ที่ประชุม พปชร. จึงมีการเลือก กก.บห. พรรคทั้งคณะขึ้นใหม่ ซึ่งที่ประชุมได้เสนอให้มี กก.บห. ทั้งสิ้น 21 คน ซึ่งรวมทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ฉะเชิงเทรา ได้เสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค พปชร. อีกครั้ง มีสมาชิกพรรครับรอง 30 คน ซึ่งเป็นการเสนอชื่อเพียงชื่อเดียว หลังจากนั้นเป็นการลงคะแนนลับ

ต่อมาเวลา 11.40 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้แถลงผลการเลือกหัวหน้าพรรคและ กก.บห. ชุดใหม่ว่า พล.อ.ประวิตร ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ด้วยผลคะแนน 383 คะแนน

ส่วนตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค มีทั้งสิ้น 5 คน ได้แก่ นายสันติ พร้อมพัฒน์, นายไพบูลย์ นิติตะวัน, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, นายวิรัช รัตนเศรษฐ์ และ น.ส. ตรีนุช เทียนทอง

ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรค ตกเป็นของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งมีตำแหน่งประธานผู้ประสานงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของพรรค พปชร. อีกตำแหน่งหนึ่ง

นายไพบูลย์แถลงด้วยว่า พล.อ.ประวิตร ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งบุคคลใน พปชร. อีก 2 ตำแหน่ง ได้แก่ แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค พปชร. และแต่งตั้งนายวรากร รัตนเทพ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานพรรค พปชร.

พล.ต.อ.พัชรวาท จาก ผบ.ตร. สู่ประธานที่ปรึกษาพรรค พปชร.

พล.ต.อ.พัชรวาท น้องชายร่วมบิดามารดากับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ระหว่างปี 2551-2552 ภายใต้ผู้บังคับบัญชานายกรัฐมนตรี 3 คน ได้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญที่ พล.ต.อ.พัชรวาท อยู่ร่วมประวัติศาสตร์ระหว่างดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. เหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่บริเวณหน้ารัฐสภา ในวันที่ 7 ต.ค. 2551 ในสมัยรัฐบาลนายสมชาย

การปฏิบัติหน้าที่ ผบ.ตร.ในเวลานั้น ทำให้เขา พร้อมด้วยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดกฎหมายอาญา ม.157 กรณีสลายการชุมนุมของ พธม. เพื่อเปิดทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าประชุมสภาได้ในเช้าวันที่ 7 ต.ค. 2551เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บอีก 471 คน

AFP/GETTY IMAGES

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ขวาสุด) สมัยเป็น ผบ.ตร. ยุครัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

แต่คดีนี้ ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องในเดือน ส.ค. 2560 โดยคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ระบุว่า การชุมนุมปิดล้อมสภา ปลุกระดมมวลชน ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ได้ทำตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบ ไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

นอกจากถูก ป.ป.ช. ฟ้องแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเคยเซ็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีปลด พล.ต.อ.พัชรวาท ออกจากราชการในตำแหน่ง ผบ.ตร. ในปี 2552 จากกรณีสั่งสลายชุมนุมพันธมิตรฯ เหตุการณ์เดียวกัน ทำให้ในเวลาต่อมา พล.ต.อ.พัชรวาท ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษา ยกเลิกคำสั่งปลด พล.ต.อ. พัชรวาท ออกจากราชการช่วงต้นปี 2557

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 93/2557 ยกโทษปลดออกจากราชการตามคําสั่งสํานักนายกฯ ของ พล.ต.อ.พัชรวาท ถือเป็นการเซ็นคำสั่งให้คดีทางปกครองคดีนี้สิ้นสุด