รัฐประหารเมียนมา : กระบอกเสียงกองทัพยืนยัน ผบ. สูงสุด เข้ารักษาอำนาจรัฐแล้ว

Aung San Suu Kyi, seen here at a coronavirus vaccination clinic in January, Naypyitaw, Myanmar

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, นางออง ซาน ซู จี ปรากฏตัวที่คลินิกแห่งหนึ่งเมื่อ ม.ค. ที่ผ่านมา

สำนักข่าวเมียวดี สื่อกระบอกเสียงของกองทัพรายงานว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้เข้ารักษาอำนาจรัฐแล้ว

แถลงการณ์ระบุด้วยว่าการควบคุมตัวบุคคลเกิดจากความไม่มั่นคงทางการเมือง หลังพบความผิดปกติในการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในระหว่างการเลือกตั้งทั่วไป

กองทัพยังประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี และแต่งตั้ง พล.อ. มิน ส่วย รองประธานาธิบดี เป็นประธานาธิบดีชั่วคราว

สำหรับ พล.อ. มินต์ ส่วย เป็นพันธมิตรคนสำคัญของ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้น ไม่กี่ชั่วโมงหลักโฆษกของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี - NLD) เปิดเผยกับบีบีซีว่า นางออง ซาน ซู จี ผู้นำของพรรคถูกจับตัวไปท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง รัฐบาลพลเรือนและกองทัพ

คำบรรยายวิดีโอ, สรุปเหตุการณ์ 1 ก.พ. กองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาลออง ซาน ซู จี
ในแถลงการณ์ของกองทัพเมียนมาอ้างว่าสื่อบางสำนักตีความคำกล่าวของ พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา เรื่อง "จำเป็นต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ" ผิดไป

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ในแถลงการณ์ของกองทัพเมียนมาอ้างว่าสื่อบางสำนักตีความคำกล่าวของ พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา เรื่อง "จำเป็นต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ" ผิดไป

พรรคเอ็นแอลดี ภายใต้การนำของนางซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ กำชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อ 8 พ.ย. 2563 อย่างถล่มทลาย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่ 2 โดยคว้าที่นั่งในสภาไปถึง 346 ที่นั่ง แบ่งเป็น สภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง 258 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง) และสภาชนชาติ หรือสภาสูง 138 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง) ยัดเยียดสถานะฝ่ายค้านให้แก่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี - USDP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนของกองทัพอีกหน โดยยูเอสดีพีมีเสียงในสภาล่าง 26 ที่นั่ง และสภาชนชาติ 7 ที่นั่ง (ลดลงจากเดิมสภาละ 4 ที่นั่ง)

แต่กองทัพระบุว่า มีการทุจริตการเลือกตั้งและเรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนการเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ที่นัดไว้วันที่ 1 ก.พ. ออกไปก่อน

เมียว ยุ้นต์ กล่าวกับ บีบีซีว่า นางซู จี ประธานาธิบดี วิน มินต์ และผู้นำรัฐบาลอีกหลายคน "ถูกนำตัวไป" ตั้งแต่ช่วงเริ่มวันใหม่ของวันจันทร์ที่ 1 ก.พ.

โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานว่า มีทหารอยู่ตามท้องถนนในกรุงเนปิดอว์ และเมืองหลวงเก่า คือ นครย่างกุ้ง

บีบีซีแผนกภาษาพม่ารายงานว่า การสื่อสารทางโทรศัพท์และอินเทอร์เนตถูกตัดขาด และอ้างสมาชิกครอบครัวของรัฐมนตรีหลายคนที่ดูแลแต่ละภูมิภาคว่า มีทหารมาพาตัวนักการเมืองเหล่านั้นไปจากบ้านพัก

กกต. ระบุว่ามีผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 27 ล้านคน แม้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, กกต. ระบุว่ามีผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 27 ล้านคน แม้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม

เมื่อ 30 ม.ค. กองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์สยบข่าวลือการก่อรัฐประหารที่ดังหนาหูตลอดสัปดาห์ โดยยืนยันว่าจะมุ่งมั่น "ปกป้องรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด"

แถลงการณ์ของกองทัพเมียนมาถูกเผยแพร่สองวันก่อนการประชุมรัฐสภาเมียนมาชุดใหม่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ก.พ.

ในแถลงการณ์ฉบับนี้ยังอ้างถึงถ้อยแถลงของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยชี้ว่าการกล่าวหากองทัพว่าต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญ เป็นข้อสันนิษฐานที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงขององค์กรบางแห่งและสื่อบางสำนัก

ด้านรัฐบาลพลเรือนเมียนมาก็ออกแถลงการณ์เช่นกัน โดยระบุเพียงว่า "ท่าทีของกองทัพคือคำอธิบายที่เหมาะสม"

คำบรรยายวิดีโอ, ออง ซาน ซู จี : จากสัญลักษณ์แห่งสันติภาพกลับกลายเป็นผู้แก้ต่างคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ทว่า เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 31 ม.ค. กองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้บรรดานักการทูตต่างชาติในเมียนมาอย่าเพิ่งคาดเดาอะไรเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และขอให้นานาชาติอย่ายอมรับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า "เป็นเรื่องปกติ" โดยไม่เข้าใจถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และไม่ตรวจสอบตัวเลข และบัญชีต่าง ๆ ซึ่งกองทัพได้เปิดเผยไว้ให้สื่อในประเทศและต่างชาติได้ตรวจสอบเมื่อ 26 ม.ค. ศกนี้

"กองทัพคือผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้ยึดตามแนวทางประชาธิปไตย และขอร้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และรัฐบาลที่มีพรรคเอ็นแอลดีเป็นแกนนำให้แสดงผลนับคะแนนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดย กกต. ทว่าจนถึงบัดนี้ พวกเขาก็ยังไม่ออกมา กองทัพขอปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าไม่ได้ขัดขวางกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางประชาธิปไตย แท้จริงแล้วพวกเราคือผู้ที่กำหนดเส้นทางให้ประเทศเดินหน้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยตั้งแต่ที่เราร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2008 (2551) ซึ่งได้วางแนวทางการปฏิรูปอย่างเป็นขั้นตอน และการเปลี่ยนผ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่การปกครอง ระบอบประชาธิปไตย" แถลงการณ์ระบุ

Myanmar Army

ที่มาของภาพ, Myanmar Army

กองทัพเมียนมาระบุว่า ในการเรียกร้องต่อกกต. และรัฐบาลที่มีพรรคเอ็นแอลดีเป็นแกนนำ สิ่งที่กองทัพคัดค้าน ไม่ใช่ผลของการเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้ ทำไมรัฐบาลของ ฯพณฯ เต็ง เส่ง จึงยอมรับต่อผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2015 ที่ พรรคเอ็นแอลดีมีชัยอย่างท่วมท้น กองทัพเห็นว่า "กระบวนการ"การเลือกตั้งปี 2020 ไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องด้วยมีความน่าเชื่อได้ว่ามีการโกงคะแนนกว่า 10.5 ล้านเสียง เสียงเหล่านี้มาจากผู้มีสิทธิ์ที่ไม่มีตัวตนจริง จะมีประเทศไหนในโลกของบรรดาทูตานุทูตในเมียนมาจะยอมรับการโกงครั้งมโหฬารเช่นนี้หรือ

"เห็นอย่างชัดเจนว่า มีคณะทูตบางประเทศในเมียนมาออกแถลงการณ์โดยไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งกองทัพขอเรียกร้องพวกท่านให้พิจารณาข้อเท็จจริงอีกครั้ง ทบทวนข้อมูล และผลที่ตามมาของแถลงการณ์นี้ กองทัพจะทำทุกอย่างที่เป็นไปได้ในการยึดมั่นต่อแนวทางปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตยของการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2008 ทั้งนี้ก็เพื่อ สันติภาพที่ยั่งยืน การกินดีอยู่ดี และความผาสุกของประชาชนเมียนมาทุกคน"

ผู้ชุมนุมประท้วง กกต. เดินขบวนกลางนครย่างกุ้ง เมื่อ 29 พ.ย.

ที่มาของภาพ, MPA/BBC Burma

คำบรรยายภาพ, ผู้ชุมนุมประท้วง กกต. เดินขบวนกลางนครย่างกุ้ง เมื่อ 29 พ.ย.
เส้นสีเทา

เรื่องน่ารู้ของออง ซาน ซู จี สตรีวัย 75 ปี

  • เธอเป็นลูกสาวของนายพล ออง ซาน วีรบุรุษนักสู้เพื่อเอกราช เขาถูกลอบสังหารเมื่อเธออายุเพียง 2 ขวบ ก่อนเมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1948
  • นางซู จี เคยได้รับการยกย่องว่าเป็น ผู้นำด้านสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวผู้ยึดมั่นในหลักการ ผู้ยอมสูญเสียอิสรภาพ ถูกคุมขังเกือบ 15 ปี ระหว่างปี 1989-2010 เพื่อท้าทายบรรดานายพลผู้ไร้ความปรานีที่ปกครองเมียนมามาหลายทศวรรษ
  • ปี 1991 เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ขณะที่ถูกจองจำในบ้านพักของตัวเองในนครย่างกุ้ง โดยได้รับการเชิดชูว่าเป็น "ตัวอย่างที่โดดเด่นของพลกำลังของคนไร้อำนาจ"
  • พ.ย. 2015 เธอนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี - NLD) ชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลาย ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งทั่วไปที่แข่งกันอย่างเปิดเผยเสรีครั้งแรกในรอบ 25 ปี ทว่า รัฐธรรมนูญของประเทศเขียนห้ามไม่ให้เธอเป็นประธานาธิบดี เพราะเธอมีทายาทที่ถือสัญชาติอื่น ทว่าในทางปฏิบัติ เธอคือผู้นำประเทศตัวจริง
  • หลังเข้าบริหารประเทศ ภาวะผู้นำของเธอถูกท้าทายด้วยปัญหามุสลิมโรฮิงญาที่เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ ในปี 2017 ชาวโรงฮิงญานับแสนคนต้องอพยพไปบังคลาเทศ ภายหลังกองทัพเมียนมาส่งทหารเข้าปราบปรามเพื่อปราบปรามกลุ่มติดอาวุธที่เข้าถล่มสถานีตำรวจหลายแห่งในรัฐยะไข่
  • ผู้สนับสนุนเธอในเวทีนานาชาติในอดีตกล่าวหาเธอว่า ละเลย ไม่ใส่ใจที่จะสกัดกั้นการสังหารและข่มขืนชาวโรฮิงญา ที่เกือบเรียกได้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะเธอปฏิเสธที่จะประณามกองทัพที่ทรงอำนาจ และไม่ยอมรับว่ามีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในประเทศ
  • แต่สำหรับในประเทศแล้ว นางซู จี ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น "สุภาพสตรี" ยังได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ชาวพุทธ ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และแทบไม่ใส่ใจต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญา
Aung San Suu Kyi and Michael Aris with their first-born son Alexander Aris, London, 1973

ที่มาของภาพ, Aris Family Collection/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นางซู จี กับ นายไมเคิล อริส สามี และ อเล็กซานเดอร์ ลูกชาย ถ่ายที่กรุงลอนดอน ปี 1973
เส้นสีเทา

เส้นทางข่าวลือรัฐประหาร กับความพยายามสกัดรถถัง

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองในเมียนมาเข้าสู่ภาวะตึงเครียด ท่ามกลางข่าวลือเรื่องการก่อรัฐประหารของกองทัพ และการจับตามองด้วยความกังวลจากนานาประเทศ

  • 26 ม.ค. โฆษกกองทัพเมียนมาไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่กองทัพจะเข้ายึดอำนาจ เพื่อจัดการกับสิ่งที่เขาเรียกว่า "วิกฤตทางการเมือง"
  • 27 ม.ค. พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา กล่าวในงานให้โอวาทนักเรียนเตรียมทหารแห่งวิทยาลัยป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม ถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกรัฐธรรมนูญของประเทศ โดยบอกว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายแม่ของกฎหมายทั้งปวง แต่ "คงจำเป็นต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ หากคนไม่ปฏิบัติตาม" ทั้งนี้ถ้อยแถลงของ พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เมียวดีฉบับวันรุ่งขึ้นด้วย
  • 28 ม.ค. มีการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับคณะทหาร ที่กรุงเนปิดอว์ ก่อนที่โฆษกพรรคเอ็นแอลดีจะออกมาเปิดเผยกับรอยเตอร์สว่า "ไม่ประสบความสำเร็จ" ในการหาทางออกจากวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น
  • 29 ม.ค. ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคยูเอสดีพีหลายร้อยคนชุมนุมประท้วง กกต. ทั้งที่กรุงเนปิดอว์และกรุงย่างกุ้ง แต่ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีรายงานการใช้ความรุนแรง
  • 1 ก.พ. โฆษกพรรคเอ็นแอลดีกล่าวกับบีบีซีว่า นาง ซู จี และ ผู้นำของพรรคหลายคนถูกพาตัวจากบ้านพักไปตั้งแต่ช่วงรุ่งสาง
ผู้สนับสนุนนางซูจีและพรรคเอ็นแอลดีฉลองชัยชนะหลังทราบผลการเลือกตั้งเมื่อ 8 พ.ย. 2563

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ผู้สนับสนุนนางซูจีและพรรคเอ็นแอลดีฉลองชัยชนะหลังทราบผลการเลือกตั้งเมื่อ 8 พ.ย. 2563

"กองทัพรอต่อไปได้อีก 5 ปี ไม่ได้"

สุภัตรา ภูมิประภาส นักแปลหนังสือด้านการเมืองและประวัติศาสตร์ของเมียนมาหลายเล่ม กล่าวกับ บีบีซีไทยว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่า คะแนนนิยมในตัวนางซู จี และพรคของเธอยังมีอยู่สูง แม้นานาชาติมองว่า คะแนนนิยมในตัวเธอลดลง

"การมีเสียงข้างมากในสภาฯ เป็นสมัยที่ 2 รัฐบาลภายใต้การนำของเอ็นแอลดีสจะเดินหน้าผลักดันกฎหมายเพื่อลดบทบาทของกองทัพต่อไปได้ แะจะทำให้กองทัพอ่อนแอลง กองทัพรอต่อไปได้อีก 5 ปี ไม่ได้" สุภัตรา กล่าว และเสริมว่า การออกมาปฏิเสธข่าวการไม่ทำรัฐประหารก่อนหน้านี้เป็น "การซื้อเวลา"