โคกหนองนา (1): วิวัฒน์ ศัลยกำธร เล่าเรื่องโครงการพระราชทานของ ร.10 จากเรือนจำสู่วังดุสิต

facebook/โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน

ที่มาของภาพ, facebook/โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน

คำบรรยายภาพ, 7 เม.ย. 2564 เพจเฟซบุ๊ก โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน เชิญพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีบวงสรวงพื้นที่โคก หนอง นา ณ บริเวณพระตำหนักเรือนต้น พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564
  • Author, ธันยพร บัวทอง
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

เป็นเวลาเกือบ 3 ปี ของการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 โครงการ "จิตอาสาพระราชทาน" และ "โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง" เป็นพระราชกรณียกิจสำคัญที่อยู่ในความรับรู้ของสาธารณชน

ภาพวาดฝีพระหัตถ์ "โคกหนองนา" ตลอดจนภาพพระราชทานที่ทรงลงแปลงขุดดินภายในพื้นที่พระราชวังดุสิต สะท้อนพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชบิดา

"โคกหนองนา ชาวบ้านทำมานานแล้ว ส่วน 'แห่งน้ำใจและความหวัง' เป็นคำของรัชกาลที่ 10 ท่านบอกว่าโคกหนองนา ความหมายดีอยู่แล้ว เป็นความหมายที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงดำริให้อย่าทิ้งภูมิปัญญาชาวบ้าน" วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ถวายงานโครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กล่าวกับบีบีซีไทย

"โคกหนองนาน้ำใจแห่งความหวัง" ปรากฏครั้งแรก เมื่อกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เผยแพร่ภาพวาดฝีพระหัตถ์ในเดือน ส.ค. 2563 เวลานั้นบนท้องถนนมีการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน ก.ค. โดยมีข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อันมีประเด็นการตรวจสอบการใช้งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ร่วมอยู่ด้วย

ต่อมาในเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน กรมราชทัณฑ์ได้เริ่มทำโครงการนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หนังสือเผยแพร่โครงการของกรมราชทัณฑ์ระบุว่า เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ได้น้อมนำพระราโชบายมาสู่การลงมือทำด้วยตนเอง "ปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา บนพื้นที่ขนาดเล็ก พร้อมกับผู้ต้องขังชาวไทยและชาวต่างชาติ 80 คน"

จากเรือนจำที่ทัณฑสถานหญิงกลาง โครงการถูกขยายไปยังเรือนจำทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบ่มเพาะสร้างหลักอาชีพให้แก่นักโทษนับแสนให้มีชีวิตที่มั่นคงหลังพ้นโทษ

หลังจากนั้นในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชดำริจัดทำโคกหนองนาขึ้นภายในพระที่นั่งวิมานเมฆ ในเขตพระราชวังดุสิต

เฟซบุ๊กโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน เผยแพร่พระราชดำรัสเกี่ยวกับโคกหนองนาที่พระราชวังดุสิตว่า "เป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างมากที่เราได้มีการคิด ริเริ่มที่จะมีโคกหนองนาในพระราชวังดุสิต ในเขตนี้ของพระราชวังดุสิต คือ พระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งเป็นที่ประวัติศาสตร์ เพราะเคยเป็นที่ประทับของเจ้านายต่าง ๆ หลายพระองค์ แล้วเราก็มาพัฒนาพื้นที่ ของเดิมคือเป็นพระราชวังดุสิต"

ข้าราชบริพารในรัชกาลที่ 9 สู่รัชกาลที่ 10

วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือที่คนในแวดวงการเกษตรเรียกว่า "อาจารย์ยักษ์" ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เป็นอดีตบุคลากรสำคัญในสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ที่ถวายงานในหลวง ร.9 มาตั้งแต่ปี 2524 ก่อนที่เขาจะลาออกจากราชการเพื่อมาขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาในภาคประชาชนอย่างเต็มตัว

วิวัฒน์บรรยายถึงความรู้สึกเมื่อได้ถวายงานเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ร.10 เป็นครั้งแรกที่ทัณฑสถานหญิงเมื่อปี 2563 ว่า "ตื่นเต้น" และไม่คิดว่ามาก่อนว่า เมื่อเปลี่ยนรัชสมัยจะได้มีโอกาสถวายงานพระมหากษัตริย์อีกรัชกาลหนึ่ง

"จบภารกิจรัชกาลที่ 9 แล้ว ก็คิดว่าเสร็จภารกิจจะไปบวช ผมก็อายุมากแล้ว 64-65 แล้ว ผมก็คิดว่าผมคงไม่มีโอกาส" วิวัฒน์บอกกับบีบีซีไทย

Wasawat Lukharang/BBC Thai

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

วิวัฒน์เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการถวายงานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มจากการได้รับคัดเลือกเข้าไปเป็นครูสอนในหลักสูตรของโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน ซึ่งในการคัดเลือกบุคลากรนี้ วิวัฒน์บอกว่า "ท่านคัดครูเองหมด" โดยผู้ที่จะเข้าไปเป็นครูในโรงเรียนจิตอาสาฯ ต้องส่งประวัติและผลงานในอดีตไปยังกองเลขานุการของโรงเรียนจิตอาสา

นักเรียนของโรงเรียนจิตอาสา 3 รุ่นแรก ได้เข้ามาฝึกอบรมทฤษฎี เรียนรู้แนวคิดศาสตร์พระราชาว่าด้วยการเกษตร และลงมือทำโคกหนองนา โดยวิวัฒน์บอกว่านักเรียน 2 รุ่นแรก "เป็นคนของท่าน" ที่เข้ามาฝึกอบรม อันได้แก่ ทหารหน่วยราชองครักษ์ 904

ต่อมาเขาได้ออกแบบโครงการโคกหนองนาที่ดำเนินการบนพื้นที่กว่า 200 ไร่ ภายในกรมทหารราบที่ 11 เขตบางเขน เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมอีกแห่งในกรุงเทพฯ

ดำริจากเรือนจำ

โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรมราชทัณฑ์ เอกสารเผยแพร่ของกรมราชทัณฑ์พิมพ์ระบุว่าเป็น "โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"

โครงการนี้เป็นหลักสูตรในการเตรียมความพร้อมให้กลุ่มนักโทษเด็ดขาดที่จะได้รับการปล่อยตัวหลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2563 ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 ก.ค. 2563 และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธ.ค. 2563

YouTube/สํานักข่าวไทย TNAMCOT

ที่มาของภาพ, YouTube/สํานักข่าวไทย TNAMCOT

คำบรรยายภาพ, วิวัฒน์ ขณะถวายงาน ภาพจากสารคดีเฉลิมพระเกียรติ โคกหนองนา น้ำใจแห่งความหวัง ตอน รอยยิ้มในเรือนจำ ความยาวรวมประมาณ 13 นาที เผยแพร่ในข่าวพระราชสำนัก เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564

วิวัฒน์เล่าว่า เขามีส่วนร่วมในการออกแบบ "หลักสูตรการอบรมโคกหนองนา" สำหรับกลุ่มนักโทษรุ่นแรกกว่า 80 คน ในจำนวนนี้มีนักโทษชาวต่างชาติ 27 คน โดยการอบรมจัดขึ้นที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

"ขนดินจากนอกคุก มาปั้นบนซีเมนต์...การใช้มือปั้นดินเหนียว มันช่วยพัฒนาความคิดและ maturity (วุฒิภาวะ) ของนักโทษ ให้มีสติมั่นคง เราใช้งานปั้นเป็นศิลปะบำบัด ใช้ปั้นโคกหนองนานี่แหล่ะ (นำดินมาปั้นเป็นโคก คันนา และสร้างเป็นบ่อ) ปั้นกัน 14 วัน ปั้นแล้วก็แต่ง แล้วก็ปรับ แล้วก็ปลูก เชื่อไหม 7 วัน 10 วัน เขาเริ่มได้กิน เขาเริ่มทึ่งมาก"

YouTube/สํานักข่าวไทย TNAMCOT

ที่มาของภาพ, YouTube/สํานักข่าวไทย TNAMCOT

คำบรรยายภาพ, ภาพจากสารคดีเฉลิมพระเกียรติ โคกหนองนา น้ำใจแห่งความหวัง ตอน รอยยิ้มในเรือนจำ ความยาวรวมประมาณ 13 นาที เผยแพร่ในข่าวพระราชสำนัก เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564

เมื่อการดำเนินโครงการภายในทัณฑสถานหญิงกลางเสร็จ ในหลวง ร.10 เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมโครงการด้วยพระองค์เอง

"ท่านเสด็จเข้าไปในเรือนจำ ชีวิตผมไม่เคยเข้าดูเรือนจำทุกแดน ผมตามหลังพระองค์ท่านไปก็เห็นทุกแดนเลย เป็นครั้งแรกในชีวิต ท่านก็ทรงสนพระทัย ไหนกบ เขียด ปลาอยู่ตรงไหน ชอบมากเลย โปรดมาก"

การดำเนินการในปีแรกคือปี 2563 มีการอบรมนักโทษไป 8 รุ่น กว่า 100,000 คน

วิวัฒน์กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการนี้ว่า "ในช่วงวิกฤตโควิด คนธรรมดายังหางานไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นนักโทษยิ่งจะหางานไม่ได้ เพราะฉะนั้นโอกาสที่เขาจะกลับไปทำแบบเดิมซึ่งส่วนใหญ่คือค้ายาเสพติดน่าจะสูงกว่า 20-30% ปรากฏว่าผ่านไป 1 ปี การกระทำความผิดซ้ำลดลงเหลือแค่ 6% อันนี้มหัศจรรย์มากเลย อธิบดี (กรมราชทัณฑ์) ยังทึ่งเลย เพราะว่าเขามีโครงการเยอะ เป็นสิบ ๆ โครงการ เรียกว่านักโทษคนนึงกว่าจะจบใช้เวลาหลายปี แต่ของพระองค์ท่านแค่ 14 วัน ก็เปลี่ยนไป"

ในสารคดี รอยยิ้มในเรือนจำ ที่ฉายในข่าวพระราชสำนัก เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ทรงร่วมขุดดินปั้นโคก หนอง นา ร่วมกับ ผู้ต้องขัง

ที่มาของภาพ, YouTube/สํานักข่าวไทย TNAMCOT

คำบรรยายภาพ, ในสารคดี รอยยิ้มในเรือนจำ ที่ฉายในข่าวพระราชสำนัก เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ทรงร่วมขุดดินปั้นโคก หนอง นา ร่วมกับ ผู้ต้องขัง
เพจกลุ่มรัก "พลตรีหญิง เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี"

ที่มาของภาพ, เพจกลุ่มรัก "พลตรีหญิง เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลย

คำบรรยายภาพ, 9 ม.ค. 2564 เพจกลุ่มรัก "พลตรีหญิง เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี" ได้โพสต์ข้อความระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ไปทรงตรวจเยี่ยมโครงการพระราชทาน โคก หนอง นาแห่งน้ำใจและความหวัง ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง เขตจตุจักร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 และเรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563

ประกาศนียบัตรพร้อม "ลายเซ็น" พระมหากษัตริย์

โครงการโคกหนองนาในเรือนจำรุ่นถัดมาเกิดขึ้นที่เรือนจำกลางคลองเปรม ช่วงปลายปี 2563 หลังจากนั้นก็เปิดหลักสูตรฝึกอบรมขยายไปยัง 137 เรือนจำทั่วประเทศ

วิวัฒน์บอกว่านักโทษที่ผ่านการฝึกอบรมโคกหนองนาจะได้รับพระราชทานเสื้อ ประกาศนียบัตรและทุนทรัพย์จำนวนหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่เขาประทับใจมากเป็นพิเศษคือประกาศนียบัตรที่มีพระปรมาภิไธยพิมพ์และลายพระหัตถ์พิมพ์ไว้ด้านบนทุกใบ

"ตั้งแต่ผมเกิดมาอายุ 68 ปี แล้ว ผมเพิ่งเห็นว่าประกาศนียบัตรฝึกอบรมมีลายเซ็นพระมหากษัตริย์ ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน"

วิวัฒน์เล่าว่าตลอดเวลา 14 วันของการฝึกอบรมนักโทษ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดเลี้ยงอาหารให้นักโทษและทีมวิทยากร โดยทรงมีพระราชดำรัสแก่ข้าราชบริพารว่าไม่ให้รบกวนเงินงบประมาณแผ่นดิน เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในเวลานั้น

"พระราชทานเลี้ยงอาหารทุกมื้อ แล้วก็รับสั่งด้วยว่า ห้ามไปเขียนโครงการขอเงินรัฐบาล เพราะรัฐบาลกำลังลำบากอยู่ ต้องไปกู้เงินเขามา แล้วโควิดก็หนักแล้ว เงินให้มาขอท่าน ท่านก็พระราชทานให้...พระราชทานเลี้ยงให้ทุกมื้อเลย ให้โครงการนี้กินอิ่มหนำสำราญ จะได้มีสมอง มีแรงฝึก" วิวัฒน์กล่าว

ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์นี้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "พระลาน" ซึ่งเป็นช่องทางเผยแพร่พระราชกรณียกิจ จัดทำโดยกรมประชาสัมพันธ์ โดยเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ได้โพสต์ข้อความว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 89,720,326 บาท ให้ผู้ต้องราชทัณฑ์ในเรือนจำฝึกอบรมโครงการพระราชทาน โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง

"อย่าใกล้เกลือกินด่าง"

หลังจากมีการขยายโครงการในเรือนจำทั่วประเทศแล้ว ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำโคกหนองนาขึ้นบนพื้นที่ราว 4 ไร่ ของพระที่นั่งวิมานเมฆ ในเขตพระราชวังดุสิต ซึ่งวิวัฒน์ ได้เข้าไปสอนข้าราชบริพารประมาณ 40 คน ให้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติ

"ท่านก็อยากให้ข้าราชบริพารได้เรียนและเป็นโครงการกตัญญูต่อ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง ให้ข้าราชบริพารช่วยกันทำและเอาความรู้ไปทำที่บ้านเกิดตัวเอง เพื่อเป็นต้นแบบแก่ชาวบ้าน แล้วตรัสด้วยคำพูดแรง ๆ ว่า อย่าใกล้เกลือกินด่าง...นั่นเป็นเหตุให้ท่านทรงมาเรียนด้วยพระองค์เอง ให้เป็นต้นแบบแก่ข้าราชบริพารว่าแม้แต่พระองค์ท่านก็ยังทำ พระองค์ท่านทรงขุดดินด้วยพระองค์เอง ขุดจริง ๆ ไม่ได้ทำแค่พระราชพิธี"

7 เม.ย. 2564 เพจเฟซบุ๊ก โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน เชิญพระบรมฉายาลักษณ์

ที่มาของภาพ, facebook/โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน

คำบรรยายภาพ, 7 เม.ย. 2564 เพจเฟซบุ๊ก โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน เชิญพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีบวงสรวงพื้นที่โคก หนอง นา ณ บริเวณพระตำหนักเรือนต้น พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564

ก่อนการลงแปลงขุดโคกหนองนา วิวัฒน์ ได้ถวายพระอักษรวิชาโคกหนองนาแด่ในหลวง ร.10 ณ วังอัมพร ซึ่งเขายังจดจำและประทับใจในความสนพระราชหฤทัยของในหลวงได้เป็นอย่างดี

"ท่านให้รอเสร็จพระราชกรณียกิจ...ประมาณสี่ทุ่มครึ่ง ท่านก็มาเปลี่ยนชุดกีฬาสบาย ๆ มานั่งเรียน เรียนจนตีหนึ่งครึ่งกว่าจะเลิก ก็สนุก ท่านสนพระทัยมาก"

ในชั้นเรียนที่มีการนำเสนอแผนการปั้นโคกหนองนา ตอนหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับคำว่า "อารยเกษตร" อันสื่อถึงวัฒนธรรมของประเทศไทยที่เหนือกว่าประเทศอื่น

"ตะวันตกสู้เราไม่ได้ บ้านเมืองเรามีศีลธรรม ธรรมะ มีศาสนาหลายศาสนา นี่แหละคือวัฒนธรรมที่เราเหนือกว่าโลกตะวันตก ไม่เหมือนโลกตะวันตก ไม่มีอารยธรรม มีแต่หายนะธรรม มีแต่แหล่งอบายมุข มีแต่เรื่องเห็นแก่ตัว คุณจะไปกินฟรีนอนฟรีเหมือนเมืองไทยไม่ได้ อยู่เมืองไทย กินนอนไม่ต้องจ่ายตังค์ นี่คือความเหนือกว่าคนทั้งโลก ซึ่งเรื่องนี้ท่านตั้งคำถามกับคนของท่าน ในห้องเรียนของท่าน"

ภาพวาดฝีพระหัตถ์พระราชทานจากในหลวง ร.10 ซึ่งทรงวาดโคก หนอง นา ปรากฏพระอักษร VOR KOR หรือ "วก." และ AJ YAK'S CLASS หรือ ชั้นเรียนอาจารย์ยักษ์ อันเป็นชื่อเล่น ของ วิวัฒน์ ศัลยกำธร และเวลา 22.00 น. ของวันที่ 29 ม.ค. 2564 หน่วยงานในพระองค์เผยแพร่ภาพนี้เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2564

เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์

ที่มาของภาพ, เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์

คำบรรยายภาพ, ภาพวาดฝีพระหัตถ์พระราชทานจากในหลวง ร.10 ซึ่งทรงวาดโคก หนอง นา ปรากฏพระอักษร VOR KOR หรือ "วก." และ AJ YAK'S CLASS หรือ ชั้นเรียนอาจารย์ยักษ์ อันเป็นชื่อเล่น ของ วิวัฒน์ ศัลยกำธร และเวลา 22.00 น. ของวันที่ 29 ม.ค. 2564 เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์เผยแพร่ภาพนี้เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2564
เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์

ที่มาของภาพ, เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์

คำบรรยายภาพ, เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ เผยแพร่วิดีทัศน์ โครงการโคก หนอง นา พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต ที่ข้าราชบริภารในพระองค์ ลงมือสร้างโคกหนองนา ในคลิปมีการให้สัมภาษณ์ของตำรวจ ทหาร ยศ ร.อ. ร.ต.ต. พ.ต.อ.

ผักหนึ่งตะกร้าจากพระเจ้าอยู่หัว

5 เดือนผ่านไป พืชผลที่ปลูกที่โคกหนองนาในพระที่นั่งวิมานเมฆเจริญงอกงามดี วิวัฒน์เล่าว่าในหลวงทรงนำผลผลิตที่ได้ไปถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และยังพระราชทานแก่ข้าราชบริพารผู้รดน้ำพรวนดินอีกด้วย

"พระพันปีหลวงฯ โปรดมาก นอกจากผัก ท่านโปรดกล้วยน้ำว้าสุก ดอกบัวผันสีเหลือง ๆ ...เก็บบัวผันที่ลูกชายปลูกไปถวาย"

"ผมได้รับพระราชทานผักตะกร้าหนึ่งด้วยให้เอามากิน คนเก็บ นายสิบ นายดาบ ที่เก็บดูแล รดน้ำ ท่านแบ่งทั่วหมดเลย น่ารักมาก แล้วก็ไม่ให้ขาย ไม่เน้นหาเงิน เน้นแจกจ่ายทำบุญทำทาน กระจายไปวังนี้วังโน้น"

หน่วยราชการในพระองค์

ที่มาของภาพ, เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์

ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นของโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง ที่ถูกถ่ายทอดสู่ข้าราชบริพารและนักโทษนับแสนคนให้มีความรู้ความสามารถในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ หวังให้พวกเขาพึ่งพาตัวเองได้หลังได้รับอิสรภาพ

ขณะนี้โครงการโคกหนองนาได้รับการต่อยอดไปยังหน่วยราชการอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากแก่ประชาชนทั่วประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

line

โคกหนองนาโมเดลคืออะไร

หนังสือโครงการพระราชทาน "โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง" ของกรมราชทัณฑ์ ได้อธิบายถึงโคกหนองนาโมเดล ว่าเป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่หลากหลายทฤษฎีของรัชกาลท 9 สู่การปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ลงในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยมีการประยุกต์ใช้อย่างน้อย 15 ทฤษฎี ได้แก่ เกษตรทฤษฎีใหม่ แฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ฝายชะลอความชุ่มชื้น คลองก้างปลา คลองไส้ไก่ กังหันน้ำชัยพัฒนา การห่มดิน ปุ๋ยพืชสด เลี้ยงดินให้พืช หลักกสิกรรมธรรมชาติ ปลูกป่าในใจคน ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 5 อย่าง การจัดการพื้นที่เลียนแบบธรรมชาติ เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวทางหลัก ๆ ของโคกหนองนา ปรากฏรายละเอียดอยู่ในเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ อันเป็นระบบการผลิตแบบพอเพียง ที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับที่ประหยัดก่อน และชุมชนต้องร่วมใจช่วยเหลือกันในลักษณะ "ลงแขก" และยังกล่าวถึงการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วน 30:30:30:10 คือ ขุดสระเลี้ยงปลาและปลูกพืชน้ำ 30%, ทำนา 30%, ปลูกพืชไร่ พืชสวน ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก สมุนไพร 30%, และ 10% สุดท้าย เป็นที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ

ส่วนแนวคิดทฤษฎีเรื่องโคกหนองนา เป็นไปตามหลักการจัดการพื้นที่เลียนแบบธรรมชาติ หนังสือของราชทัณฑ์อธิบายว่า เป็น "การขุดหนองเก็บน้ำ นำดินมาทำเป็นโคกเพื่อสร้างระบบไหลเวียนจากที่สูงเลียนแบบภูเขาตามธรรมชาติ สร้างป่าบนโคกเพิ่มฮิวมัสหรือปุ๋ยธรรมชาติเลียนแบบป่าลงสู่ที่นา ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว"

..............................

หมายเหตุ: รายงานนี้เป็นตอนที่ 1 ของรายงานพิเศษชุด "โคกหนองนา สู่ยุคใหม่ของโครงการพระราชดำริสถาบันกษัตริย์" ซึ่งมีทั้งหมด 3 ตอน