ชลน่าน ศรีแก้ว ลาออกหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตาม “สัจจะ” แต่ไม่ทิ้งตำแหน่ง สส.-ว่าที่ รมว.สาธารณสุข

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, "ผมต้องรับผิดชอบในเรื่องที่ตนเองประกาศไว้" นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ประกาศทำตาม “สัจจะ” ที่เคยลั่นวาจาไว้ก่อนการเลือกตั้ง ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้เสร็จสิ้นภารกิจ “จัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย” เรียบร้อยแล้ว

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) น่าน 6 สมัย และอดีต “ดาวสภาปี 2552” ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หลังรับตำแหน่งได้รวม 1 ปี 10 เดือนกับ 2 วัน (671 วัน) นับแต่ขึ้นรับตำแหน่งเมื่อ 28 ต.ค. 2564

“ผม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ขอทำตามที่เคยประกาศไว้ เป็นสัจจะที่ผมเคยลั่นวาจาว่า ‘ถ้าพรรคเพื่อไทย... จัดตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ จับมือกับลุงป้อม’ ผมในฐานะหัวหน้าพรรคพร้อมจะลาออก” นพ.ชลน่าน ทวนถึง “สัจจะ” ที่เขาเคยประกาศบนเวทีดีเบต เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566

และวันนี้ เมื่อภารกิจจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย ถึงจุดที่เสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรี เตรียมขึ้นทูลเกล้าฯ “ภารกิจสำเร็จแล้ว... ผมต้องรับผิดชอบในเรื่องที่ตนเองประกาศไว้ โดยเฉพาะเรื่องของการรักษาคำพูด”

อย่างไรก็ดี เมื่อสื่อมวลชนสอบถามว่า เขาจะลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย สส.น่าน และว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในโควตาของเพื่อไทยหรือไม่ นพ.ชลน่าน ตอบว่า “มันไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ผมประกาศไว้”

ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการ พท. อธิบายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ว่า รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะขึ้นรักษาการหัวหน้าพรรคแทน นพ.ชลน่าน ส่วนคณะกรรมการบริหารพรรคที่เหลือ นอกจาก นพ.ชลน่าน จะรักษาการต่อไป

และภายใน 60 วันนับจากนี้ จะมีการสรรหาและเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต่อไป

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว วัย 62 ปี สส.น่าน ต่อเนื่องหลายสมัย เป็นดาวสภาปี 2552 และอดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำงานการเมืองมาตั้งแต่ปี 2544 เขาขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อ 28 ต.ค. 2564 แทนนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ที่ลาออกเปิดทางให้คนรุ่นใหม่

การก้าวสู่ตำแหน่งหัวหน้า พท. ของ นพ.ชลน่าน ตรงกับโอกาสทำงานการเมืองครบ 20 ปีพอดี ไต่เต้าจาก สส. สู่หัวหน้าพรรคใหญ่ และในขวบปีการเมืองที่ 21 ก้าวสู่ปีที่ 22 เขาก็ประกาศลาออกตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับมหาชน ช่วงก่อนการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค จะขึ้นรักษาการหัวหน้า พท.

สำหรับความรู้สึกในวันสุดท้าย ในฐานะหัวหน้าพรรค พท. นพ.ชลน่าน ตอบสั้น ๆ ว่า “ผมทำงานในตำแหน่งนี้ด้วยความสุข และภาคภูมิใจ” ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย คือ

“พรรคเพื่อไทยต้องเป็นสถาบันการเมืองของพี่น้องประชาชน ซึ่งผมก็พยายามทำอย่างดีที่สุด”

ลาออกไปรับตำแหน่ง รมว. ?

ก่อนหน้านี้ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เตรียมลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่า ถือเป็นการตัดสินใจของ นพ.ชลน่าน

เขาเชื่อว่า การที่ นพ.ชลน่าน ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อ เป็นเพียงความพยายามลดแรงเสียดทานของสังคมหรือไม่ เพราะไม่ใช่การลาออก “ให้ตัวเปล่าเล่าเปลือย”

“คำว่า ลาออก ในมุมมองประชาชน คือการลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่ลาออกเพื่อไปรับตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น” วิโรจน์ กล่าว

นพ.ชลน่าน ได้ให้ความกระจ่างระหว่างการแถลงข่าวว่า เขาเพียงลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเท่านั้น ไม่รวมตำแหน่ง สส. สมาชิกพรรคเพื่อไทย และว่าที่ รมว.สาธารณสุข ในโควตาเพื่อไทย

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, “มันไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ผมประกาศไว้” อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อสื่อมวลชนสอบถามว่า หากในช่วงการสรรหาหัวหน้าพรรค พท. คนใหม่ มีการเสนอชื่อ นพ.ชลน่าน เป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง เขาก็ยังไม่ตัดความเป็นไปได้ โดยตอบเพียงว่า “ต้องนำเรื่องนี้ไปพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อน”

กว่า 21 ปี บนเส้นทางการเมือง

นพ.ชลน่าน พื้นเพเป็นคน อ.เวียงสา จ.น่าน ฐานข้อมูลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าเขาจบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต สาขาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และจบปริญญาโท คณะรัฐประศาสนาศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์

นพ.ชลน่าน เคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล 3 แห่งใน จ.น่าน คือ รพ.นาหมื่น รพ.นาน้อย และ รพ.สมเด็จพระยุพราช

ปี 2544 เขาเป็น สส.สมัยแรก เป็นปีเดียวกับที่ ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกเหนือจากตำแหน่ง สส. ที่ชนะต่อเนื่องติดต่อกัน 6 สมัย เขาเคยเป็นผู้ช่วยเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว. สธ.) เมื่อปี 2547 เป็น เลขา รมว.สธ. ปี 2548 และรัฐมนตรีช่วย สธ. ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สำหรับชีวิตส่วนตัว นพ.ชลน่าน สมรสกับ พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ซึ่งพบกันตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนแพทย์ ภรรยาของเขาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ผลงานของสามีอย่างขยันขันแข็งผ่านเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นช่องทางเผยแพร่มุมเบา ๆ สบาย ๆ และเวลาส่วนตัวของ นพ.ชลน่านกับครอบครัว

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เจ้าของคำพูด “ดีลรัก” และ “เทคนิคหาเสียง”

นพ.ชลน่าน ไม่เพียงเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่เป็นด่านหน้าบนโต๊ะแถลงข่าวทุกครั้ง หลังการเลือกตั้งปี 2566 ที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง และ พท. ได้คะแนนนำมาเป็นอันดับ 2

ภาพความเป็นมิตร ใกล้ชิด อบอุ่น ระหว่างเขากับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในสมัย พท. อยู่ในพันธมิตร 8 พรรค 312 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลนำโดย ก.ก. กลายเป็นภาพที่สื่อมวลชนหลายสำนักของไทย เผยแพร่ โดยเฉพาะกลางกระแสข่าว “ดีลลับ” ในเวลานั้นว่า เพื่อไทยซุ่มจับมือพรรคการเมือง “ขั้วเดิม”

และเป็น นพ.ชลน่าน ที่ออกมาปฏิเสธในหลายกรรมหลายวาระ และขอเปลี่ยน “ดีลลับ” เป็น “ดีลรัก” พร้อมทำท่าประกบมือเป็นรูปหัวใจกับหัวหน้าพรรค ก.ก. เมื่อ 30 พ.ค. 2566

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

.

เวลาผ่านไปไม่กี่เดือน เมื่อพรรคก้าวไกลเลือกนายกฯ ไม่สำเร็จ และต้องส่งไม้ต่อให้เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และประกาศแยกทางกับ ก.ก. เมื่อ 2 ส.ค. 2566 เพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ “ขั้วเดิม” ภาพ “ดีลรัก” ดังกล่าว กลายเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนนำมาเสียดสี รวมถึงรายการ “กรรมกรข่าวคุยนอกจอ” ที่นำมาโปรโมทละคร “เกมรักคนทรยศ”

ไม่เพียง “ดีลลับ” ที่กลายเป็นจริง เพราะท้ายสุด พท. ก็จับมือกับพรรค “2 ลุง” คือ พลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ แต่พรรคเพื่อไทย ที่เคยประกาศแคมเปญ “ไล่หนูตีงูเห่า” ก็จับมือกับพรรคภูมิใจไทยด้วยเช่นกัน ซึ่ง นพ.ชลน่าน ชี้แจงว่า

“เราไม่เคยประกาศว่าเราเป็นศัตรูกับใคร เราเป็นคู่แข่งกันจริง เทคนิคการหาเสียงต่างฝ่ายต่างมี เพื่อไทยไม่เคยคิดว่าเป็นศัตรูกับใคร” แต่ทุกพรรคเป็นคู่แข่งทางการเมือง และยุติลงหลังประชาชนตัดสินใจว่ามอบอำนาจให้ใครผ่านการเลือกตั้ง

สำหรับ “หนู” เป็นชื่อเล่นของหัวหน้าพรรค ภท. ส่วน “งูเห่า” คือคำเรียกขานบรรดา สส. ที่ไม่ปฏิบัติตามมติพรรค

นพ.ชลน่าน ทิ้งท้ายถึงประชาชนในเรื่องของการเสพข้อมูลบนสังคมออนไลน์ กระแสข่าว และวาทกรรมต่าง ๆ ว่า กระแสด้านลบที่เกิดขึ้นกับตัวเขา และพรรคเพื่อไทย เป็น “มิติทางการเมืองที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม... เป็นเรื่องธรรมดา อยู่ที่ว่าเรารับได้หรือไม่”

แต่ “อยากให้พวกเราโดยเฉพาะพี่น้องประชาชน... เสพข้อมูล ตอบสนองต่อข้อมูล อาจต้องระมัดระวัง ต้องมีความรอบคอบพอควร”

“เราคงไม่สามารถตอบสนองความพึงพอใจของคนทุกคนได้ คงได้ระดับหนึ่ง” อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อายุงาน 1 ปี 10 เดือน กล่าว