โหราศาสตร์ : ทำไมคนยุคใหม่ไทยเข้าหาหมอดูมากกว่าจิตแพทย์

  • เรื่องและวิดีโอ โดย นภสินธุ์ สามแก้วแจ่ม
  • ผู้สื่อข่าววิดีโอบีบีซีไทย
ไพ่ทาโรต์

ที่มาของภาพ, NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, หมอดู หรือ จิตแพทย์...เวลาอยากปรึกษา คุณไปหาใคร ?

ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์เป็นของคู่สังคมไทยมายาวนาน โหราศาสตร์อยู่ในพิธีการสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะดูฤกษ์งามยามดี หรือเสริมความเป็นสิริมงคลตามแต่ใครก็ตามที่เชื่อและศรัทธา

โหราศาสตร์เข้ามามีบทบาทแทบในทุกย่างก้าวสำคัญของชีวิตไม่ว่าจะเป็น การแต่งงาน การซื้อรถ วันคลอดลูก ไปจนถึงเรื่องสำคัญของประเทศอย่าง พิธีแรกนาขวัญ และพิธีสำคัญต่าง ๆ ที่ต้องใช้ฤกษ์เป็นตัวกำหนด โหราศาสตร์ที่ใกล้ตัวคนไทยที่สุด หนีไม่พ้นการดูดวงที่คนไทยเกือบทุกคนต้องเคยผ่านมาแล้วอย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง

กว่า 2 ปีที่โลกต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่กระทบต่อผู้คนในการดำรงชีวิตทุก ๆ ด้าน ผู้คนล้มตาย เศรษฐกิจตกต่ำ หลายคนตกงาน บริษัทปิดไปหลายแห่ง ทว่าธุรกิจดูดวงกลับมีคนใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และคนที่ใช้บริการมักจะเป็นวัยหนุ่มสาว และคนวัยทำงาน

"เราหรือว่าคนรุ่นเรารู้สึกขาดความหวังอย่างรุนแรง และหมอดูก็เป็นสิ่งที่จะช่วยบรรเทาความรู้สึกนั้น" ชนสรณ์ มาเขียว ผู้ใช้บริการดูดวงวัย 24 ปี อธิบายกับบีบีซีไทยถึงเหตุผลที่เธอเลือกดูดวง

คำบรรยายวิดีโอ, จิตแพทย์ในคราบหมอดู เมื่อคนยุคใหม่เข้าหาหมอดูมากกว่าจิตแพทย์

ทำไมถึงดูดวง

"การดูดวงมันทำให้เราสบายใจขึ้น แม้คำตอบหมอดูอาจจะไม่ได้ช่วยให้เราหาคำตอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันทำให้เรารู้ว่าเราควรจะวางตัวยังไง หรือจัดการกับความรู้สึกของตัวเองยังไง เพื่อให้ผ่านเรื่องนี้ไปได้" ชนสรณ์ อธิบาย

เธอเสริมว่า คนรุ่นราวคราวเดียวกับเธอนิยมดูดวงมากขึ้น เพราะรู้สึกขาดความหวังและหลงทาง จากสภาพเศรษฐกิจและสังคมในตอนนี้ ที่ไม่ได้เอื้อให้ชีวิตคนดำรงไปอย่างง่ายดายนัก การหาหมอดูเพื่อถามถึงอนาคต การทำงาน หรือเรื่องอื่น ๆ จึงเหมือนการให้ความหวังว่ามีบางสิ่งบางอย่างรอพวกเขาอยู่ เพื่อให้พวกเขาผ่านตรงนั้นไปได้

"จริง ๆ หมอดูเป็นเหมือนคนที่คอยให้คำปรึกษา มากกว่าทำนายอนาคต เหมือนเป็นจิตแพทย์คนหนึ่ง"

ชนสรณ์ มาเขียว

ที่มาของภาพ, NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, คนรุ่นใหม่หลายคนหันมาดูดวงกันมากขึ้น

บรรณวิฑิต วิลาวรรณ นักพยากรณ์ไพ่ทาโรต์ เพจ UN BUN TAROT บอกกับบีบีซีไทยว่า มีคนเข้ามาดูดวงเยอะขึ้นเพราะเครียดจากสภาวะสังคม ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความไม่มั่นคงทางการงาน การเงิน ต้องการหาเครื่องยืนยันทางจิตใจบางอย่างว่าทำแบบไหนถึงจะถูกต้อง และสร้างความเชื่อมั่นในชีวิต

"ประเทศเราไม่ได้มีพื้นที่ให้คนได้ออกมาระบายความรู้สึก ระบายอารมณ์มากขนาดนั้น การที่คนมาดูดวงหรือมาคุยกับหมอดูเพราะคนต้องการที่พึ่งทางใจ ต้องการคนรับฟัง"

หากฟังจากลูกค้าที่มาใช้บริการและหมอดูข้างต้น ลักษณะของหมอดูได้ถูกเปลี่ยนจาก "คนทำนายอนาคต" มาเป็น "คนคอยรับฟังปัญหา" และ "การดูดวง" กลายเป็น "การบำบัด" ไปแล้วสำหรับยุคนี้

คำถามต่อไปคือหากต้องการคนรับฟัง ต้องการระบายปัญหา หรือหาทางออกทางจิตใจ ทำไมคนถึงไม่เลือกไปปรึกษาผู้ประกอบอาชีพนี้โดยตรงอย่างนักบำบัดหรือจิตแพทย์ แต่กลับเลือกเข้าหาหมอดู

ทำไมคนถึงเลือก หมอดู มากกว่า จิตแพทย์

"ถ้าเป็นต่างประเทศ คนไปพบจิตแพทย์ถือเป็นเรื่องปกติ เขาจะไม่ได้คิดว่าเขาป่วยหรือต้องรู้สึกอับอาย" อาจารย์ปรินนี่ นักพยากรณ์โหราศาสตร์ตะวันตกและไพ่ทาโรต์ ผู้มีผู้ติดตามในยูทิวบ์กว่า 3 แสนคน บอกกับบีบีซีไทย

"สมมติว่าคู่สามีภรรยาทะเลาะกันเป็นประจำ ไม่สามารถเข้าใจกันได้ เขาก็พบจิตแพทย์ เพื่อจะได้มานั่งคุยกัน มาปรับความเข้าใจปัญหาซึ่งกันและกัน แต่คนไทยไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ด้วยวัฒนธรรม ด้วยนิสัยที่ขี้อาย การพบจิตแพทย์เหมือนกับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา การเข้าถึงหมอดูมันง่ายกว่าและมีเยอะมาก เขาก็จะเลือกคนที่เขาไว้ใจ"

อาจารย์ปรินนี่

ที่มาของภาพ, NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, การเข้าพบจิตแพทย์เป็นเรื่องยากในสังคมไทย

"จริง ๆ เราเคยไปหาจิตแพทย์มาแล้วทั้งชีวิต 2 คน แล้วเรารู้สึกว่ามันไม่เวิร์คสำหรับเรา แต่ไม่ได้แปลว่าจิตแพทย์คนนั้นไม่ดี หรือไม่ได้แปลว่าเราเชื่อหมอดูมากกว่าจิตแพทย์ แต่มันแปลว่าเรารู้สึกว่าประเทศนี้การเข้าถึงจิตแพทย์มันค่อนข้างยากมาก ราคามันค่อนข้างแพง และมันใช้เวลาค่อนข้างนาน บางทีกว่าเราจะไปเจอเขาอาการเราก็ดีขึ้นแล้ว"

ชนสรณ์เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ไปพบกับจิตแพทย์ และเห็นว่าระบบการเข้าถึงจิตแพทย์ในไทยยังไม่เอื้ออำนวยให้คนเท่าที่ควร ทั้งเวลาในการเข้ารับบริการที่ต้องรอนาน การคุยกับจิตแพทย์ใช้เวลาแค่เพียงไม่นาน

แต่เธอเสริมว่าท้ายที่สุดจิตแพทย์กับหมอดูไม่เหมือนกัน ทำหน้าที่ต่างกัน ที่เธอเลือกคุยกับหมอดูมากกว่าเพราะเธอไม่ได้มีปัญหารุนแรงถึงกับต้องเข้าพบจิตแพทย์ หากเธอรู้สึกว่าเมื่อมีปัญหาที่เธอควบคุมไม่ได้หรือเกินความรู้สึกไปแล้ว ถึงจุดนั้นเธอก็จะเลือกจิตแพทย์

สอดคล้องกับบรรณวิฑิตที่ยืนยันว่า การดูดวงทดแทนการไปหาแพทย์จริง ๆ ไม่ได้ แต่การดูดวงในยุคปัจจุบันสะดวกมากขึ้น คนเข้าหาง่ายขึ้น หากรู้สึกไม่สบายใจก็สามารถนัดหมอดูได้เลย และสามารถดูออนไลน์ได้ไม่ต้องเจอตัวกัน ต่างกับการเข้าพบแพทย์ที่ผ่านระบบนัด และใช้เวลานานกว่า

บรรณวิฑิต วิลาวรรณ

ที่มาของภาพ, NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ควรมีพื้นที่ให้คนได้ออกมาระบายความรู้สึก

ฝากอะไรถึงคนดูดวง

"บางทีมันเป็นดาบสองคม บางครั้งเราฟังแล้วเราอาจจะทุกข์ใจเพิ่มขึ้นก็ได้ ฉะนั้น ควรใช้วิจารณญาณในการรับฟัง หมอดูที่ได้รับการอบรมที่ดีเขาจะไม่พูดให้คุณทุกข์ เพราะเขารู้ว่าคุณทุกข์อยู่แล้ว อะไรที่ไม่ดีก็ไม่ต้องไปเชื่อ" อาจารย์ปรินนี่ กล่าว

"การดูดวงช่วยให้เราคิด ไตร่ตรอง ตัดสินใจกับสิ่งรอบตัวได้ แต่สุดท้ายคนที่ต้องจัดการมันคือตัวเราเองอยู่ดี คนที่รู้ปัญหาทั้งหมดไม่ใช่หมอดู มันคือตัวเราเอง" ชนสรณ์ กล่าว

บรรณวิฑิตมองว่า สถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลาย และบรรยากาศในกรุงเทพฯ ที่เริ่มมีกิจกรรมมากขึ้นเป็นสิ่งที่ดีต่อสภาพจิตใจของผู้คน

"มนุษย์มันคือการที่ต้องเจอมนุษย์เพื่อรับฟังปัญหาหรือระบายเรื่องอะไรออกมา คิดว่าถ้ามีพื้นที่ให้คนได้เข้าไประบายความรู้สึกของตัวเองได้ และพื้นที่ให้คนได้มารับฟังปัญหากันมากขึ้น มันก็น่าจะดีเหมือนกัน"