เซ็นทรัลกรุ๊ปจับมือบริษัทออสเตรีย ปิดดีล 1.8 แสนล้านซื้อห้างหรูของ "เซลฟริดเจส" 18 แห่งในยุโรป

ห้างเซลฟริดเจส

ที่มาของภาพ, Getty Images

ไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากมีรายงานข่าวว่าตระกูลจิราธิวัฒน์ ครอบครัวมหาเศรษฐีอันดับ 4 ของไทยเข้าซื้อห้างสรรพสินค้าหรู "เซลฟริดเจส" (Selfridges) ของอังกฤษ จากครอบครัวมหาเศรษฐีชาวแคนาดา ล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

รอยเตอร์รายงานว่าเมื่อวานนี้ (23 ธ.ค.) เซ็นทรัลกรุ๊ปและซิกนากรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์สัญชาติออสเตรียได้บรรลุข้อตกลงในสัญญาซื้อห้างสรรพสินค้าของกลุ่มเซลฟริดเจส 18 แห่ง จากครอบครัวเวสตัน ตระกูลมหาเศรษฐีของแคนาดา

แหล่งข่าวระบุว่าสัญญานี้มีมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านปอนด์ หรือราว 1.8 แสนล้านบาท โดยเซ็นทรัลและซิกนามีแผนจะสร้างโรงแรมหรูใกล้ ๆ กับห้างเซลฟริดเจสบนถนนอ็อกซ์ฟอร์ดในกรุงลอนดอนด้วย

เซ็นทรัลและซิกนาทำธุรกิจร่วมกันมาก่อนหน้านี้แล้ว และปัจจุบันได้ร่วมกันเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในหลายเมืองใหญ่ของยุโรป การซื้อกิจการของกลุ่มเซลฟริดเจสในครั้งนี้จะทำให้เซ็นทรัลและซิกนาเป็นการขยายอาณาจักรธุรกิจห้างหรูในยุโรปของทั้งสองบริษัท

วันเดียวกันนี้ เซ็นทรัล ซิกนาและเซลฟริดเจสกรุ๊ป ได้ออกแถลงการณ์ร่วมประกาศความสำเร็จของการซื้อขายกิจการโดยระบุว่าเป็น "ดีลประวัติศาสตร์"

"กลุ่มเซ็นทรัลและซิกนาลงนามสัญญาเข้าซื้อกิจการกลุ่มเซลฟริดเจส ซึ่งประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้าในประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และไอร์แลนด์ รวม 18 แห่ง อสังหาริมทรัพย์ 7 แห่ง และดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งหมด...การลงทุนครั้งนี้จะทำให้กลุ่มบริษัทเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจห้างสรรพสินค้าลักชัวรี่ในรูปแบบออมนิแชแนลระดับโลก" แถลงการณ์ร่วมระบุ

แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า กลุ่มเซลฟริดเจสจะเข้ามาเสริมทัพห้างสรรพสินค้าหรูในประเทศท่องเที่ยวชั้นนำ ที่กลุ่มเซ็นทรัลและซิกนาดำเนินธุรกิจอยู่ รีนาเชนเต (อิตาลี) อิลลุม (เดนมาร์ก) โกลบุส (สวิตเซอร์แลนด์) กลุ่มคาเดเวในเยอรมนีและออสเตรีย เป็นต้น

การรวมธุรกิจใหม่นี้คาดว่าจะทำให้กลุ่มบริษัทมียอดขายเติบโตถึง 7 พันล้านยูโรในปี 2024 หรือในปี 2024 จาก 8 ประเทศ และ 35 เมืองสำคัญในยุโรป

รอยเตอร์รายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มเซลฟริดเจสมีห้างสรรพสินค้าทั้งหมด 25 แห่งในอังกฤษ ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์และแคนาดา มีพนักงานราว 10,000 คน อย่างการซื้อขายกิจการครั้งนี้ไม่รวมห้างสรรพสินค้า 7 แห่งในแคนาดา

ทศ จิราธิวัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 3

ที่มาของภาพ, LightRocket/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ทศ จิราธิวัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของกลุ่มเซ็นทรัล

"ดีลประวัติศาสตร์"

แถลงการณ์ร่วมระบุว่าการลงทุนในกลุ่มเซลฟริดเจสครั้งนี้เป็นการร่วมทุน 50/50 ระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลกับซิกนา

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มเซ็นทรัลว่า กลุ่มเซ็นทรัลรู้สึกตื่นเต้น ยินดี และเป็นเกียรติ ที่ได้มีโอกาสลงทุนในกลุ่มเซลฟริดเจส ซึ่งรวมไปถึงที่ดินและอาคารห้างเซลฟริดเจสบนถนนออกซ์ฟอร์ด ที่อยู่ในจุดศูนย์กลางบนถนนช็อปปิงของกรุงลอนดอนมากว่า 100 ปี

นายทศระบุในแถลงการณ์ร่วมด้วยว่า กลุ่มเซ็นทรัลและซิกนาเป็นธุรกิจครอบครัวที่ "มุ่งเน้นการลงทุนเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมและแตกต่าง ทั้งภายในห้างและช่องทางดิจิทัลต่างๆ สำหรับลูกค้าทั้งที่อยู่ในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปของกลุ่มเซลฟริดเจสในอีก 100 ปีข้างหน้า พวกเราพร้อมที่จะทำงานกับผู้บริหารและเพื่อนพนักงานของกลุ่มเซลฟริดเจส เพื่อมุ่งมั่นสู่การเป็นบริษัทรีเทลชั้นนำเป็นเลิศระดับโลก"

ดีเทอร์ เบอร์นิงเฮาส์ ประธานและคณะกรรมการบริหารของกลุ่มซิกนากล่าวว่า "เรารู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัลในการเข้าซื้อกิจการกลุ่มเซลฟริดเจสในครั้งนี้ เราได้วางแผนที่จะทำงานกับนักออกแบบชั้นนำของโลกในการปรับโฉมของห้าง โดยคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมการรักษาไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมดั้งเดิม เติมเต็มวิสัยทัศน์ของ เกเล็น เวสตัน ในการสร้างประสบการณ์รีเทลชั้นนำเพื่อลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจของเรา"

ขณะที่อลานา เวสตัน ประธานของกลุ่มเซลฟริดเจสบอกว่า "ภูมิใจที่ได้ส่งต่อกิจการไปยังเจ้าของใหม่ซึ่งมีรากฐานจากธุรกิจครอบครัวที่มีความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจในระยะยาว"

เซลฟริดเจส ห้างหรู อายุ 113 ปี

เซลฟริดเจส ก่อตั้งโดยนักธุรกิจชาวอเมริกัน นายแฮร์รี กอร์ดอน เซลฟริดจ์ ในปี ค.ศ. 1908 (ปี พ.ศ. 2451) จึงถือเป็นกิจการเก่าแก่ที่มีอายุถึง 113 ปีแล้ว

จากริ่เริ่มก่อตั้งสาขาแรกบนถนนอ็อกซ์ฟอร์ด ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อเป็นแหล่งชอปปิงสินค้าแบรนด์เนม ปัจจุบันได้ขยายไปจนมี 25 สาขาทั่วโลก รวมทั้งไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และแคนาดา

ในอดีต เซลฟริดเจสเคยเป็นห้างใหญ่อันดับ 2 ของกรุงลอนดอน รองจากห้างดังที่เป็นสัญลักษณ์ของลอนดอน คือ แฮร์รอดส์ (Harrods)

คนไทยที่เป็น "นักช็อป" แทบไม่มีใครไม่รู้จักห้างนี้ ซึ่งขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในห้าง "ดูดทรัพย์" ของคนไทยที่ไปเที่ยวลอนดอน

ห้าง

ที่มาของภาพ, Nopporn Wong-ANan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ห้างเซลฟริดเจสในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตกแต่งหน้าร้านต้อนรับบรรยากาศนับถอยหลังสู่วันคริสต์มาสและเทศกาลขึ้นปีใหม่

สารคดีเรื่อง "Secret of Selfridges" หรือความลับของเซลฟริดเจส ที่ฉายทางเน็ตฟลิกซ์ บอกเล่าความเป็นมาของห้างเก่าแก่ว่า นายเซลฟริดจ์มีความตั้งใจจะพลิกโฉมประสบการณ์การช็อปปิงของคนอังกฤษ จากเดิมที่การออกไปซื้อของเป็นกิจวัตรส่วนหนึ่งของงานบ้านที่น่าเบื่อ ให้กลายเป็นกิจกรรมสันทนาการที่ผู้คนได้รับความรื่นรมย์จากการจับจ่ายใช้สอย

นายเซลฟริดจ์ใช้ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้เป็นที่เผยแพร่ประสบการณ์การช็อปปิงแบบชาวอเมริกันเข้ามาในอังกฤษ ห้างเซลฟริดเจสเป็นห้างแรกที่นำสินค้ามาจัดแสดงไว้ตามชั้นเพื่อให้ลูกค้าได้เข้ามาหยิบจับและทดลองใช้ได้ด้วยตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ โดยไม่ต้องผ่านพนักงานขาย เหมือนร้านขายของทั่วไปในยุคนั้น

นักธุรกิจผู้นี้ยังมีแนวคิดล้ำสมัยในด้านของสิทธิความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยเซลฟริดเจสเป็นห้างแรกในอังกฤษที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีพื้นที่สาธารณะในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสบายใจและตามใจตัวเองได้อย่างถูกกฎหมาย นอกจากนี้ยังเป็นห้างแรกที่จัดให้มีแผนกสินค้าประเภทน้ำหอม เครื่องสำอาง และของใช้ของผู้หญิงมาตั้งอยู่ที่บริเวณด้านหน้าและโถงกลางชั้น 1 ของห้าง ซึ่งเป็นแนวคิดการจัดแผนกห้างที่ทั่วโลกนำไปใช้หลังจากนั้น รวมถึงห้างสรรพสินค้าในไทยด้วย

วิสัยทัศน์ของนายเซลฟริดจ์ที่ต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ของการมาห้างสรรพสินค้า จากเดิมที่ผู้คนมาซื้อของแล้วรีบกลับบ้าน ให้เป็นสถานที่ที่ผู้คนมาใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจ เขาจึงจัดพื้นที่ชั้น 6 ซึ่งเป็นชั้นบนสุดของห้างเซลฟริดเจสให้เป็นพื้นที่สำหรับร้านอาหาร ร้านจิบชายามบ่าย รวมถึงมีกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ เช่น สนามไดร์ฟกอล์ฟขนาดย่อม ไปจนถึงชมรมยิงปืนสำหรับผู้หญิง

ห้าง

ที่มาของภาพ, BBC Thai

นอกจากชื่อเสียงในฐานะที่เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงของวงการห้างสรรพสินค้าในอังกฤษแล้ว ห้างเซลฟริดเจสยังได้รับการจดจำจากการเป็นสถานที่หลบภัยจากการทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพนักงานของห้างเซลฟริดเจสจะสลับกันเป็นเป็นผู้สังเกตการณ์ว่าจะมีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดตอนไหน และเมื่อมีสัญญาณว่าจะเกิดการโจมตีทางอากาศ ทางห้างก็จะเปิดพื้นที่บริเวณชั้นใต้ดินให้เป็นที่หลบภัย

ในสมัยนั้น ชั้นใต้ดินของห้างเซลฟริดเจสยังถูกใช้เป็นที่ติดตั้งเครื่องมือป้องกันการถูกดักฟังที่ชื่อว่า SIGSALY ที่กลุ่มประเทศพันธมิตรใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นับเป็นสถานที่แห่งที่ 2 ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์นี้ โดยเครื่องแรกตั้งอยู่ที่อาคารเพนตากอนในประเทศสหรัฐอเมริกา

ต่อมา เกเล็น เวสตัน (Galen Weston) ได้เข้าซื้อกิจการห้างดังเซลฟริดเจสเมื่อปี 2003 และได้ก่อตั้งกลุ่มเซลฟริดเจสขึ้นในปี 2010 โดยการรวบรวมแบรนด์ห้างสรรพสินค้าชั้นนำไว้ด้วยกัน นำแนวคิดริเริ่มใหม่ ๆ ด้านดีไซน์ ประสบการณ์ลูกค้า การพัฒนาดิจิทัลและออมนิแชแนลแพลตฟอร์ม ตลอดจนบริการต่าง ๆ มาใช้

ย้อนเส้นทางเซ็นทรัล "ยักษ์ค้าปลีกไทย" บุกตลาดห้างหรูในยุโรป

เครือเซ็นทรัล ถือเป็นบริษัทดำเนินธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยเริ่มเปิดห้างสรรพสินค้าครั้งแรกในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2508 ปัจจุบันได้ขยายกิจการ จนมีห้างร้านถึง 3,700 สถานที่/สาขาทั่วโลก มีฐานลูกค้าสมาชิกกว่า 21 ล้านคน จากซูเปอร์มาร์เก็ต ขยายไปสู่โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ และห้างสรรพสินค้าในยุโรป จนก้าวขึ้นสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจห้างหรูระดับโลก

ปี 2554 เซ็นทรัลบุกตลาดยุโรปครั้งแรก โดยทุ่มเงิน 260 ล้านยูโร (คิดเป็น 11,000 ล้านบาท) เข้าซื้อกิจการห้างหรูสัญชาติอิตาลีอย่าง ลา รินาเซนเต (La Rinascente) แบบ 100% ทั้งนี้ CRC บริษัทในเครือเซ็นทรัลเป็นเจ้าเดียวที่ติดต่อขอซื้อห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ที่ก่อตั้งในปี 2408 ซึ่งได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าตลาดบนแห่งนี้ ก่อนเข้าบริหาร ลา รินาเซนเต ที่มีทั้งหมด 11 สาขา กระจายตัวอยู่ตามเมืองสำคัญ ๆ ของอิตาลี

ห้าง

ที่มาของภาพ, LightRocket/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ห้างเซ็นทรัล ชิดลม เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2516 ถูกมองว่าเป็น "หัวใจการบริหารงานของห้างเซ็นทรัล"

ปี 2556 เซ็นทรัลซื้อกิจการห้างเก่าแก่ที่สุดของประเทศเดนมาร์ก ที่ชื่อว่าห้าง อิลลุม (Illum) ก่อตั้งในปี 2468 ที่กรุงโคเปนเฮเกน

ปี 2558 เซ็นทรัลจับมือกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของยุโรป "ซิกนา" (SIGNA) เข้าซื้อกิจการห้างระดับพรีเมียมและลักชัวรีในประเทศเยอรมนี 3 แห่ง ที่อยู่ใน 3 เมืองใหญ่ ได้แก่ ห้างคาเดเว (KaDeWe) เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2450, ห้างอัลสแตร์เฮาส์ (Alsterhaus) เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2440 และห้างโอเบอร์โพลลิงเกอร์ (Oberpollinger) เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2448 ทั้งนี้กลุ่มบริษัทเซ็นทรัลได้เข้าถือหุ้นของกลุ่มคาเดเว ซึ่งเป็นเจ้าของห้างทั้ง 3 แห่ง ในสัดส่วน 50.1% ส่วนอีก 49.9% อยู่ในความครอบครองของซิกนาเป็นผู้ครอบครอง

ปี 2563 เซ็นทรัลร่วมกับซิกนาอีกครั้ง ทุ่มเงินกว่า 1 พันล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 31,000 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการห้าง โกลบัส (Globus) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีอยู่ 18 สาขา จากบริษัท Migros-Genossenschafts-Bund (MGB) โดยมีสัดส่วนการร่วมทุน 50:50 ทั้งนี้โกลบัสถือเป็นอีกห้างเก่าแก่ที่มีอายุ 129 ปี (เปิดให้บริการปี 2435) ที่เครือเซ็นทรัลเข้าไปลงทุน

การเข้าซื้อกิจการห้างเซลฟริดเจส จึงถือเป็นการเติมพอร์ตห้างระดับไฮเอนด์ของเครือเซ็นทรัล

ครอบครัวจิราธิวัฒน์ มหาเศรษฐีอันดับ 4 ของไทย

เครือเซ็นทรัลเป็นของตระกูลจิราธิวัฒน์ ซึ่งปัจจุบันมีนายทศ จิราธิวัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 3 เป็นประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเซ็นทรัล

20 ก.พ. 2563 ครอบครัวจิราธิวัฒน์ได้นำ "เซ็นทรัล รีเทล" เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยระดมทุนได้ถึง 7.8 หมื่นล้านบาท จากการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering - IPO) ที่มีมูลค่าสูงสุดของประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย

ตระกูลจิราธิวัฒน์ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 4 ของไทย ประจำปี 2564 จัดโดยนิตยสารฟอร์บส์ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.64 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.6 หมื่นล้านบาท