8 ปี (กว่า) บนเก้าอี้นายกฯ : เทียบ 8 เรื่องของ พล.อ. ประยุทธ์ กับ พล.อ. เปรม

เปรม ประยุทธ์

ที่มาของภาพ, The Nation

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังจะสร้างสถิติใหม่ในทำเนียบผู้นำรัฐบาล แซงหน้า พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ในวันที่ 26 ม.ค. นี้ ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานเป็นอันดับที่ 3 นับแต่ปฏิวัติสยาม 2475 รองจาก “2 จอมพล”

พล.อ. ประยุทธ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อ 24 ส.ค. 2557 และเป็นนายกฯ ติดต่อกัน 2 สมัย หากนับจนถึงวันนี้ (25 ม.ค. 2566) เขานั่งเก้าอี้มาแล้ว 8 ปี 154 วัน เท่ากับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ รวม 3 สมัยของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯ คนที่ 16 (3 มี.ค. 2523-4 ส.ค. 2531)

ขณะที่ผู้นำฝ่ายบริหารที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดคือ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกฯ คนที่ 3 ดำรงตำแหน่ง 8 สมัย รวมเวลา 15 ปี 25 วัน รองลงมาคือ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกฯ คนที่ 10 ดำรงตำแหน่ง 4 สมัย รวมเวลา 9 ปี 205 วัน

วาระในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ. ประยุทธ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตีความอย่างกว้างขวางก่อนถึงเดือน ส.ค. 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่นายกฯ คนที่ 29 นั่งบริหารราชการแผ่นดินครบ 8 ปี เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ห้ามไม่ให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อ 30 ก.ย. 2565 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ยังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ เนื่องจากดำรงตำแหน่งยังไม่ครบ 8 ปี พร้อมระบุว่า “เรื่องระยะเวลา 8 ปี ต้องเริ่มนับทันทีนับแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลใช้บังคับ” นั่นหมายความว่า พล.อ.  พล.อ. ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 นับตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 อันเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560

บีบีซีไทยรวบรวมบริบทการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของ 2 ยุค ในวันที่ พล.อ. ประยุทธ์กำลังทุบสถิติ พล.อ. เปรม ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ยาวนาน 3,076 วัน

ป๋า กับ ตู่

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, "นายกฯ คนนี้จะนำความสุขกลับมาให้คนไทย” พล.อ. เปรมกล่าวกับ พล.อ. ประยุทธ์ ภายหลังนำ ครม. เข้ารดน้ำดำหัวในเทศกาลสงกรานต์เมื่อปี 2560 ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์

1. ทหารม้า กับ ทหารเสือ

ก่อนดำรงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 16 และนายกฯ คนที่ 29 เวลาเกินกว่าครึ่งชีวิตของ พล.อ. เปรม และ พล.อ. ประยุทธ์ ถูกใช้ที่กองทัพบก เริ่มจากนายทหารชั้นผู้น้อย ก่อนไต่ระดับขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ทว่าความแตกต่างคือ พล.อ. เปรมเติบโตจากเหล่าทหารม้า ส่วน พล.อ. ประยุทธ์เติบโตจากเหล่าทหารเสือ

คำเรียกขานว่า "ป๋าเปรม" เกิดขึ้นระหว่างเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้านาน 5 ปี (2511-2516) จากธรรมเนียมการดูแลลูกน้องแบบ พ่อม้า-ลูกม้า โดย พล.อ. เปรม (ขณะนั้นยศ พล.ต.) มักเรียกแทนตัวเองต่อผู้อ่อนอาวุโสกว่าว่า "ป๋า" และเรียกคู่สนทนาที่ผู้อาวุโสน้อยกว่าว่า "ลูก" กลายเป็นที่มาของคำว่า “ป๋าเปรม” และ “ลูกป๋า”

เปรม

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พล.อ. เปรม แต่งเครื่องแบบทหารเมื่อปี 2526

ครั้งหนึ่งเมื่อประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษได้รับเชิญไปกล่าวบรรยายพิเศษให้แก่นักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) เมื่อ ก.ค. 2549 เขาเปรียบเปรยทหารเป็นม้า พร้อมออกตัวว่า “เป็นทหารม้า ถึงรู้เรื่องม้าดี”

"รัฐบาลก็เหมือนกับจ็อกกี้ คือเข้ามาดูแลทหาร ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลเข้ามาดูแล แต่กำหนดใช้พวกเราตามที่ประกาศนโยบายไว้ต่อรัฐสภา เด็กขี่ม้าบางคนก็ขี่ดี ขี่เก่ง บางคนก็ขี่ไม่ดี ขี่ไม่เก่ง รัฐบาลก็เหมือนกัน บางรัฐบาลก็ทำงานดี ทำงานเก่ง บางรัฐบาลทำงานไม่ดี ไม่เก่ง ก็มี นี่เป็นเรื่องจริง ที่พูดนี่เพื่อให้นักเรียนเข้าใจว่าเราเป็นทหารของชาติ เป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พล.อ. เปรมกล่าวเมื่อ 14 ก.ค. 2549 ก่อนที่อีก 2 เดือนต่อมา จะเกิดรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร

ในขณะที่ พล.อ. เปรมขึ้นชื่อว่าผูกพันกับทหารม้ามาก พล.อ. ประยุทธ์ก็ภาคภูมิใจในความเป็นทหารเสือแบบสุด ๆ ด้วยเพราะเคยรับราชการที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) หรือที่รู้จักในชื่อ "ทหารเสือราชีนี" เริ่มจากตำแหน่งผู้บังคับกองพัน ขยับเป็นผู้บังคับการกรม ก่อนโยกไปขึ้นแท่นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์

แม้แต่ในวันที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิต  จากการตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแบบตลอดชีพกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เมื่อ 9 ม.ค. พล.อ. ประยุทธ์มิลืมสะท้อนตัวตนในฐานะอดีตทหารเสือ

“ผมเป็นทหารเสือราชินี มีเครื่องหมายเสือสองตัว หัวใจตรงกลางถามว่าทำไมหัวใจสีม่วง ไม่ใช่สีแดง เพราะผู้บังคับบัญชาต้องมีหัวใจแห่งความซื่อสัตย์ สีม่วงเป็นหัวใจคนใกล้ตาย ต้องไม่โกหก คนใกล้ตายต้องไม่โกหก” พล.อ. ประยุทธ์กล่าวเมื่อ 9 ม.ค. 2566

แม้ต่างเหล่า แต่สิ่งที่ 2 นายทหารที่กลายเป็นนักการเมืองพูดตรงกันอยู่บ่อย ๆ คือ “ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์" และ “การตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”

ป้อม-ตู่

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ สมัยเป็น ผบ.ทบ. กับ พล.อ.ประวิตร สมัยเป็น รมว.กลาโหมของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

2. เส้นทางขึ้นสู่อำนาจ

พล.อ. เปรม และ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งแม้แต่ครั้งเดียว แต่ทั้งคู่ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหาร โดย พล.อ. เปรมเคยชิมลาง-ร่วมวงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นาน 2 ปี 4 เดือน ในฐานะ รมช.มหาดไทย (12 พ.ย. 2520-12 พ.ค. 2522) และ รมว.กลาโหม (24 พ.ค. 2522-3 มี.ค. 2523 - ขณะนั้นเป็น ผบ.ทบ. ด้วย) ก่อนขยับชั้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจาก พล.อ. เกรียงศักดิ์ที่ลาออกจากตำแหน่งหลังเกิดการขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา ทั้งนี้ในการลงมติเลือกนายกฯ พล.อ. เปรมได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาด้วยคะแนนเสียง 395 จากสมาชิกทั้งหมด 526 คน (ส.ส. 195 คน และ ส.ว. 200 คน) ชนะขาดนายกฯ คนที่ 15 พล.อ. เกรียงศักดิ์ ที่ได้คะแนนเพียง 5 เสียงเท่านั้น เช่นเดียวกับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ในสมัยที่ 2 และสมัยที่ 3 ที่ พล.อ. เปรมหวนคืนสู่ทำเนียบรัฐบาลด้วยแรงสนับสนุนจากสภา

  • สมัยที่ 1 (3 มี.ค. 2523-29 เม.ย. 2526) ครม. ชุดที่ 42 สิ้นสุดลงเพราะนายกฯ ประกาศยุบสภา 19 มี.ค. 2526 เนื่องจากสภาไม่เห็นชอบกับการเสนอให้ยืดอายุการใช้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2521 โดยมีการเลือกตั้งทั่วไป 18 เม.ย. 2526
  • สมัยที่ 2 (30 เม.ย. 2526-4 ส.ค. 2529) ครม. ชุดที่ 43 สิ้นสุดลงเพราะนายกฯ ประกาศยุบสภา 1 พ.ค. 2529 เนื่องจากรัฐบาลแพ้โหวตกลางสภาในระหว่างพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การขนส่งทางบก โดยมีการเลือกตั้งทั่วไป 27 ก.ค. 2529
  • สมัยที่ 3 (5 ส.ค. 2529-3 ส.ค. 2531) ครม. ชุดที่ 44 สิ้นสุดลงเพราะนายกฯ ประกาศยุบสภา 29 เม.ย. 2531 ภายหลังร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลิขสิทธิ์ถูกตีตกกลางสภา เนื่องจาก ส.ส. กลุ่ม “10 มกรา” สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ลงมติไม่สนับสนุน ต่อมา ปชป. แสดงความรับผิดชอบด้วยการถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก่อนที่ พล.อ. เปรมจะประกาศยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งทั่วไป 24 ก.ค. 2531

ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ยังไม่ทันลุกจากเก้าอี้ ผบ.ทบ. ก็ได้ควบเก้าอี้นายกฯ ภายหลังนำ ผบ.เหล่าทัพ เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 พ.ค. 2557 ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์เป็นหัวหน้า มีมติเป็นเอกฉันท์ 249 เสียง (ประธานงดออกเสียง) เห็นชอบให้ พล.อ. ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 29 และได้ยืดอำนาจต่อไปเป็นสมัยที่ 2 ด้วยมติของสมาชิกรัฐสภา 500 เสียง จากสมาชิกที่ร่วมประชุม 747 คน (ส.ส. 251 คน และ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. 249 คน โดยประธานวุฒิสภางดออกเสียง)

  • สมัยที่ 1 (24 ส.ค. 2557-5 มิ.ย. 2562) ครม. ชุดที่ 61 สิ้นสุดลง หลังรัฐบาล คสช. กำหนดให้จัดการเลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค. 2562 ภายหลังเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งมาหลายครั้ง
  • สมัยที่ 2 (9 มิ.ย. 2562-ปัจจุบัน) ครม. ชุดที่ 62

3. ขุมข่ายพลังที่บ้านสี่เสาฯ และ มูลนิธิป่ารอยต่อฯ

ด้วยเพราะเป็น “ทหารเก่า” เมื่อเข้ามามีอำนาจทางการเมือง นายพล “2 ป.” จึงวางใจ-เลือกใช้บริการเทคโนแครตเป็นมือไม้ทำงาน

ในสมัย ป.เปรม นักวิชาการหลากหลายสาขาที่จบด็อกเตอร์จากต่างประเทศ แล้วเข้ามาช่วยงานรัฐบาล ไม่ว่าร่วม ครม. หรือเป็นคณะที่ปรึกษา ถูกมองว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ โดยที่คนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “ลูกป๋า”

พล.อ. เปรมมักใช้บ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งเขาพักอาศัยตั้งแต่สมัยเป็น ผบ.ทบ. เป็นสถานที่ปรึกษาข้อราชการ และจัดทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร หรือที่เรียกกันว่า "โผทหาร"

ขณะเดียวกันบ้านสี่เสาฯ ยังกลายเป็นสถานที่จัด “อีเวนท์การเมือง” ที่สำคัญไม่ว่าในวันคล้ายวันเกิดของ พล.อ. เปรม, วันขึ้นปีใหม่ หรือวันสงกรานต์ ต้องมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักการเมือง นักธุรกิจบางส่วน รวมถึงบรรดา “ลูกป๋า” ตบเท้าเข้าอวยพรและรับพรจากเจ้าของบ้านอยู่เสมอ และกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกระทั่งวาระท้าย ๆ ของชีวิต โดย พล.อ. เปรมมักทิ้งวรรคทองเกี่ยวกับเหตุบ้านการเมือง และกลายเป็นข่าวหน้า 1 อยู่เสมอ

บ้านสี่เสา

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ขณะที่ศูนย์กลางอำนาจยุค พล.อ. ประยุทธ์ อยู่ที่พี่น้อง “3 ป.” ตามที่สื่อมวลชนตั้งให้ อันหมายถึง "บิ๊กป้อม" พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) "บิ๊กป๊อก" พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ "บิ๊กตู่" พล.อ. ประยุทธ์

ทว่าศูนย์บัญชาการหลัก หาได้อยู่ที่บ้านพักของนายกฯ ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ไม่ หากแต่ไปอยู่ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ภายใน ร.1 รอ. ซึ่งมี พล.อ. ประวิตร เป็นประธาน ซึ่งเป็นที่รับรู้กันในหมู่นักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการ และบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ว่าหากมีปัญหาต้องวิ่งไปปรึกษา “ลุงป้อม” ที่มูลนิธิดังกล่าว ถึงขั้นที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  เคยหยิบยกไปอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อ ก.พ. 2563 ว่าเป็น “เครือข่ายผลประโยชน์ที่เชื่อมระหว่างกองทัพกับกลุ่มทุนใหญ่” ก่อนที่นักการเมืองฝ่ายค้านรายนี้จะถูกฟ้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท โดยที่ พล.อ. ประวิตรปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน

4. “กบฏ” ในยุคเปรม-ประยุทธ์

แม้เป็นประมุขฝ่ายบริหาร และมีการจัดวางฐานอำนาจไว้อย่างดีผ่านกลไกราชการและระบบการเมือง แต่ทั้ง พล.อ. เปรม และ พล.อ. ประยุทธ์ ต่างเคยถูก “คนกันเอง” เขย่าอำนาจอย่างหนัก โดยมีความพยายามก่อรัฐประหารรัฐบาลเปรมถึง 3 ครั้ง โดยมีอยู่ 2 ครั้งที่เป็นที่เปิดเผย ทว่าทั้งหมดจบลงด้วยความล้มเหลวของฝ่ายผู้ก่อการ

เหตุการณ์ “กบฏเมษาฮาวาย” หรือ “กบฏยังเติร์ก” โดยนายทหารหนุ่มที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ (จปร.) รุ่นที่ 7 ที่เรียกตัวเองว่า "ยังเติร์ก" ผู้เคยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ "ป๋าเปรม" ขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯ พยายามยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลเปรม เมื่อ 1-3 เม.ย. 2524 โดยมีกำลังทหารเข้าร่วม 42 กองพัน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์

เหตุการณ์ “กบฏ 9 กันยา” หรือ “กบฏสองพี่น้อง” โดยนายทหารนอกประจำการคณะหนึ่ง อาทิ พ.อ. มนูญกฤต รูปขจร (ขณะนั้นใช้ชื่อว่า มนูญ รูปขจร), น.ท. มนัส รูปขจร, พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์,  พล.อ. เสริม ณ นคร และ พล.อ. ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร่วมด้วยทหารประจำการ และพลเรือนบางส่วน พยายามก่อรัฐประหาร เมื่อ 9 ก.ย. 2528 ในขณะที่ พล.อ. เปรมเดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย ส่วน พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ผบ.ทบ. อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจที่ประเทศสวีเดน ที่น่าสนใจคือในรายชื่อผู้ก่อการเคยเป็นเจ้านาย เพื่อน และลูกน้องของ พล.อ. เปรม มาก่อน

ธรรมนัส

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ, ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการ พปชร. นั่งกลางวงพูดคุยกับหัวหน้าพรรคการเมืองเล็กหลังห้องประชุมสภา เมื่อ 31 ส.ค. 2564 ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ขณะที่ยุค พล.อ. ประยุทธ์ ได้เกิดความเคลื่อนไหวใต้ดินจากบางกลุ่มก้อนภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กดดันให้มีการปรับ ครม. หลังเสร็จศึกซักฟอก และอาจไปไกลถึงขั้นเปลี่ยนตัวนายกฯ โดยปรากฏกระแสข่าวเรื่องการรวบรวมเสียงของ ส.ส. เพื่อโหวตคว่ำนายกฯ กลางสภา ในช่วงที่ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และ 5 รัฐมนตรี ระหว่าง 31 ส.ค.-3 ก.ย. 2564 ก่อนที่เวลาต่อมา ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า จะถูก "ปลดฟ้าผ่า" พ้นจากเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมกับนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน หลังถูกเชื่อมโยงว่าอยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวในขบวนการโหวตล้มนายกฯ

ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภายกให้ "แผนกบฏการเมืองล้มนายกรัฐมนตรี" เป็นเหตุการณ์เด่นแห่งปี 2564 โดยให้เหตุผลว่า "ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ลูกพรรคเดินเกมล็อบบี้ ส.ส. ในพรรคของตัวเอง เพื่อโค่นล้มนายกรัฐมนตรี"

ตลอด 8 ปี 5 เดือน พล.อ. ประยุทธ์รอดจากการตรวจสอบถ่วงดุลในสมัยแรกของการเป็นนายกฯ เนื่องจาก สนช. ที่เขาแต่งตั้งมากับมือไม่เคยซักฟอกเขา ต่อมาในช่วงรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” เขาถูก ส.ส. ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกปี แต่ก็ชนะโหวตกลางสภาได้ทั้ง 4 ครั้ง แม้มีคะแนนไว้วางใจต่ำกว่ารัฐมนตรีรายอื่น ๆ ก็ตาม ขณะที่ พล.อ. เปรม ไม่เคยโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจแม้แต่ครั้งเดียวตลอดช่วงที่บริหารราชการแผ่นดิน

5. บริบทสังคมการเมือง: ปรากฏการณ์ “ป่าแตก” กับ “ทะลุเพดาน”

ในยุค พล.อ. เปรม ได้ออกนโยบาย-ปรับท่าทีใหม่ในการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ จนนำไปสู่ปรากฏการณ์ “ป่าแตก” ภายหลังมีการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 นิรโทษกรรมคดี 6 ตุลา 2519 ทำให้บรรดานักศึกษาและประชาชนที่หลบหนีเข้าป่า-เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ทยอยออกจากป่า และกลายเป็น "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย"

ในยุคหลังรัฐประหารโดย พล.อ. ประยุทธ์ มีประชาชนตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ และกลายเป็น “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” นอกจากนี้ยังมีประชาชนถูกตั้งข้อหาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ขัดต่อประกาศและคำสั่ง คสช. รวมถึงกฎหมายด้านความมั่นคง รวมหลายร้อยคนก่อนสิ้นยุค คสช. ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดาสิทธิมนุษยชนว่ามุ่งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง

ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” หนีไม่พ้น ปรากฏการณ์ “ทะลุเพดาน” โดยถือเป็นครั้งแรกที่ข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกพูดถึงในพื้นที่สาธารณะ ในระหว่างการชุมนุมการเมืองปี 2563-2564 ก่อนมีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ เดือน ธ.ค. 2565 พบว่า มีผู้ถูกกล่าวหาคดี 112 อย่างน้อย 225 คน ในจำนวน 243 คดี

ราษฎร

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, กลุ่มผู้เรียกตัวเองว่า "ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112" จัดชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เปิดรณรงค์ล่ารายชื่อประชาชน เพื่อเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564

6. บริบทเศรษฐกิจ: ยุค “โชติช่วงชัชวาล” กับ “ติดลบ”

ในช่วง 8 ปี 5 เดือนของรัฐบาลเปรมได้พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย จากเคยอิงอยู่กับภาคเกษตรกรรม ก็ย้ายไปวางอยู่บนฐานอุตสาหกรรมมากขึ้น สะท้อนผ่านมูลค่าผลผลิตของภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมที่ขยับใกล้เคียงกันมากขึ้น

ช่วงแรกของรัฐบาลเปรม ระหว่างปี 2523-2527 ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำมันแพงและขาดแคลน ไทยอยู่ในภาวะแทบจะมืดทั้งประเทศ แต่ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ มีการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและสามารถนำก๊าซมาใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า ทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการพึ่งพาพลังงานด้วยตัวเอง คำว่า “โชติช่วงชัชวาล” จึงถูกนำมาใช้หลายโอกาส อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวเลขสองหลักต่อเนื่องหลายปี

การพบแหล่งพลังงานในอ่าวไทย ส่งผลให้มีโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program: ESB) ทำให้เกิดนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือน้ำลึก นอกจากนี้รัฐบาลยังออกสารพัดมาตรการส่งเสริมการส่งออก,  เปิดให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.), สร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.), ตัดสินใจลดค่าเงินบาท 3 ครั้ง เมื่อปี 2542 และ 2527 รวมถึงปรับนโยบายบริหารอัตราแลกเปลี่ยน จาก ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เป็นระบบตระกร้าเงิน ทำให้ค่าเงินบาทยืดหยุ่นขึ้น ส่งผลให้ภาคการส่งออกฟื้นตัว

ส่วนรัฐบาลประยุทธ์ เริ่มต้นบริหารประเทศด้วยการฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเมืองหลังการ “ปิดประเทศ” ไปหลายเดือนของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

เมื่อการประท้วงหายไปจากท้องถนน นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเที่ยวประเทศไทย จนทำสถิติสูงสุดถึงเกือบ 40 ล้านคน เมื่อปี 2562

อีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน ลดความน่าสนใจในสายตานักลงทุนต่างชาติ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จึงชูเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าไม่ทันสมัยกับการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมกับพยายามต่อยอดโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เรียกว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) เพื่อส่งเสริมการลงทุนยกระดับนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากตามที่รัฐบาลหวัง

พ่อค้า

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พ่อค้าแม่ค้าขาดรายได้ เป็นสภาพที่เห็นได้ทั่วไปในระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2563

พอเข้าปี 2563 การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกชะงักงัน นานาชาติล้วนปิดพรมแดน เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพิงรายการจากการท่องเที่ยวมาก ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้รัฐบาลประยุทธ์ใช้เวลา ¼ ของเวลาที่เหลือแก้ปัญหา ตั้งแต่ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 ทว่านั่นทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้น จาก 42.5% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่า 5.53 ล้านล้านบาท ณ เดือน พ.ค. 2557 ที่ พล.อ. ประยุทธ์เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ขยับเป็น 60.41% ต่อจีดีพี คิดเป็นยอดหนี้รวม 10.37 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งปี 2563 โต -6.1%, ปี 2564 โต 1.6% และปี 2565 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 3.2%

สำหรับผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ที่ “โดนใจ” ประชาชนตามการสำรวจของสำนักวิจัยต่าง ๆ อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”

7. ระบอบเปรมาธิปไตย กับ ระบอบประยุทธ์

การครองอำนาจต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ทั้งนายกฯ คนที่ 16 และนายกฯ คนที่ 29 มีส่วนสำคัญในการสถาปนาลักษณะการเมืองใหม่ตามความเห็นของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หลายคน โดยสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบเปรมาธิปไตย” กับ “ระบอบประยุทธ์”  มีทั้งความเหมือนและแตกต่างกัน

บีบีซีไทยสรุปจากข้อเขียนของ ศ.ดร. อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้

เปรมาธิปไตย

  • เป็นเครือข่ายอุปถัมภ์พิเศษของ พล.อ. เปรม ถูกร้อยรัดด้วยระบบการเมือง ประชาธิปไตยครึ่งใบ (Semi-Democracy) ที่ให้อำนาจแก่ข้าราชการประจำมากกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
  • อยู่ได้ด้วยช่องว่างทางอำนาจจากความอ่อนแอของ 2 พลังหลักทางการเมืองยุคนั้นคือ ทหาร และพรรคการเมือง
  • สถานะอดีต ผบ.ทบ. และนายกฯ ทำให้ พล.อ. เปรมเป็นส่วนสำคัญของระบอบเปรมาธิปไตย แต่ในเวลาเดียวกันได้บั่นเซาะความแข็งแกร่งและความชอบธรรมทางการเมืองของตนเองไปในตัว เพราะตัวเขาปิดโอกาสของผู้นำทหารและนักการเมืองคนอื่น ๆ

ระบอบประยุทธ์

  • เกิดจากรัฐประหารเพื่อครองอำนาจยาวนาน ไม่ยุติง่าย ๆ แบบรัฐประหารก่อนหน้า และระบอบนี้ไม่ย้อนกลับสู่เปรมาธิปไตยและอำมาตยาธิปไตยที่ระบบราชการทรงพลัง
  • รูปแบบของระบอบประยุทธ์คือ ฝังลึกทหารกับทุนนิยมมีลำดับชั้น (Embedded Military-Hierarchical Capitalism) ทำหน้าที่สรรค์สร้างโครงสร้างเศรษฐกิจไทยระดับมหภาคในระยะยาว ใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีผลักดันและกำกับระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ศ.ดร. อุกฤษฏ์เห็นว่า “โครงสร้างทุนนิยมไทยโฉมใหม่หาใช่ระบอบประยุทธ์”
  • "ระบบการเมืองก็เป็นคุณประยุทธ์ เป็นของ โดย และเพื่อบุคคล ไม่ใช่ระบอบประยุทธ์” บทความของ ศ.ดร. อุกฤษฏ์ระบุ

8. “พอแล้ว” กับ “ไปต่อ”

นายกฯ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประยุทธ์สมัครเป็นสมาชิกพรรค รทสช. เมื่อ 9 ม.ค. 2566 และจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรรคในการเลือกตั้ง 2566

4 ปีก่อน พล.อ. ประยุทธ์ เลือกใช้ “เปรมโมเดล" หรือการบริหารประเทศแบบ "นายกฯ รับเชิญ" มาต้นแบบในการเดินการเมือง แม้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชี พปชร. ในการเลือกตั้ง 2562 แต่เขาไม่ใช่สมาชิกพรรค

ทว่าล่าสุด พล.อ. ประยุทธ์ตัดสินใจสมาชิกพรรค รทสช. และจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคในการเลือกตั้ง 2566 โดยให้เหตุผลว่า “ไม่ใช่ผมอยากเป็นใหญ่ อยากมีอำนาจ... แต่อยากพูดกับทุกคนว่าประเทศไทยต้องไปต่อ”

อย่างไรก็ตามมีประชาชนจำนวนหนึ่งเคลื่อนไหวขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์อย่างต่อเนื่อง โดยครั้งล่าสุดคือช่วงที่นั่งเก้าอี้นายกฯ ครบ 8 ปี

ต่างจาก พล.อ. เปรมที่ตัดสินใจวางมือทางการเมือง-หยุดสถิติไว้ที่ 8 ปีเศษ ซึ่งในช่วงนั้นเริ่มปรากฏกระแสต่อต้านจากปัญญาชนและสื่อมวลชนบางส่วน ทั้งนี้นักวิชาการ 99 คนได้เข้าชื่อถวายฎีกาคัดค้านไม่ให้ พล.อ. เปรมกลับมาเป็นนายกฯ สมัยที่ 4 นำไปสู่การประกาศว่า "ผมพอแล้ว" ต่อสาธารณชนในปี 2531

1 เดือนหลังจากนั้น มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ. เปรมเป็นองคมนตรีเมื่อ 23 ส.ค. 2531 ก่อนได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรีเมื่อ 4 ก.ย. 2541 ในรัชสมัยของในหลวง ร. 9 และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีในรัชสมัยของในหลวง ร. 10 อีกครั้ง จึงถือเป็น “ประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน”

นี่คือประวัติศาสตร์หน้าสุดท้ายที่ พล.อ. เปรม กับ พล.อ. ประยุทธ์ เลือกบันทึกไว้แตกต่างกัน

ในระหว่างที่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นำองคมนตรีที่ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่เข้าเฝ้าฯ ในหลวง ร. 10 มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “ได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว”

ที่มาของภาพ, EPA/ROYAL HOUSEHOLD BUREAU /HANDOUT

คำบรรยายภาพ, ในระหว่างที่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นำองคมนตรีที่ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่เข้าเฝ้าฯ เมื่อ 7 ธ.ค. 2559 ในหลวง ร. 10 มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “ได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว”
line

หมายเหตุ: ที่มาข้อมูลบางส่วนจากบทความ 1. “30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย” (เว็บไซต์ 101, โดย ธนาพล อิ๋วสกุล) 2. “คุณประยุทธ์/โลกทรรศน์” (มติชนสุดสัปดาห์, โดย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์)