มาตรา 112 : ย้อน 6 อันดับผู้รับโทษสูงสุดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

tnp

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, ในการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม "ราษฎร" เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 ได้ชูข้อเสนอยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112

หลังศาลจังหวัดเชียงรายมีคำพิพากษาจำคุก 28 ปี "บัสบาส" มงคล ถิระโคตร วัย 29 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา หลายคนมีคำถามว่านักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายรายนี้ได้รับโทษสูงสุดจากความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่

บีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลไปที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ส่งทนายของศูนย์ไปทำหน้าที่เป็นทนายจำเลย และเก็บรวมรวมข้อมูลในคดีเหล่านี้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา และข้อมูลจากแหล่งข่าวสาธารณะอื่น ๆ พบว่า โทษที่มงคลได้รับนั้น ยังจัดอยู่เพียงอันดับ 4 ของผู้กระทำความผิดในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยผู้ที่ได้รับโทษสูงสุดมากเป็นอันดับ 1 คือ อดีตข้าราชการหญิงวัยเกษียณที่ต้องโทษจําคุก 43 ปี 6 เดือน

บีบีซีไทย ขอเรียงลำดับบุคคลที่ไดรับโทษ สูงสุด 6 อันดับ จากน้อยไปมาก จนถึง 27 ม.ค. 2566 ดังนี้

ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษา ให้จำคุก 3 ปี น.ส.จตุพร แซ่อึง หรือนิว ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการถูกกล่าวหาว่าแต่งกายเลียนแบบพระราชินี เมื่อปี 2563

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, 12 ก.ย. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษา ให้จำคุก 3 ปี น.ส.จตุพร แซ่อึง หรือนิว ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการถูกกล่าวหาว่าแต่งกายเลียนแบบพระราชินี เมื่อปี 2563

อันดับ 6 ชายวัย 58 กับโทษที่ลดเหลือ 25 ปี

เธียรสุธรรม (สงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี ถูกตำรวจจับกุมที่บ้านเมื่อ 18 ธ.ค. 2557 ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ "ใหญ่ แดงเดือด" โพสต์วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงการพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ทั้งหมด 5 โพสต์

เมื่อ 31 มี.ค. 2558 ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาว่า เขามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากความผิด 5 กระทง ๆ ละ 10 ปี ลงโทษจำคุกรวม 50 ปี แต่ลดลงกึ่งหนึ่ง เนื่องจากจำเลยรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ส่วนที่จำเลยถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา 7 วัน ไม่นับเป็นวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวระหว่างการดำเนินคดี

2 เม.ย. 2558 ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 60 พรรษา ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีการลดโทษของเธียรสุธรรมเหลือ 21 ปี 10 เดือน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ที่มาของภาพ, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

คำบรรยายภาพ, "บัสบาส" มงคล ถิระโคตร

อันดับ 5 ชายวัย 29 กับ โทษที่ลดเหลือ 28 ปี

"บัสบาส" มงคล ถิระโคตร ถูกฟ้องจากโพสต์เฟซบุ๊ก 27 ข้อความ ซึ่งศาลจังหวัดเชียงรายเห็นว่ามีความผิด 14 ข้อความ ศาลเห็นว่าเป็นการกระทำเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามบทที่หนักที่สุด คือตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และให้เรียงโทษเป็นกระทงความผิดไป รวม 14 กระทง จึงพิพากษาเมื่อ 26 ม.ค. 2566 จำคุกกรรมละ 3 ปี รวมจำคุก 42 ปี

จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้เหลือกระทงละ 2 ปี รวมโทษจำคุก 28 ปี ทั้งนี้ศาลไม่ได้อ่านโทษเต็ม ก่อนลดโทษให้ เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา หลังอ่านคำพิพากษา บัสบาสได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังห้องขังของศาล และทนายความได้ยื่นขอประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี

ก่อนหน้านี้ จำเลยได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดีในศาลชั้นต้น เนื่องจากเป็นคดีที่เกิดยุคหลังปี 2563

ในวันเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งให้ประกัน "บัสบาส" โดยพิจารณาแล้วเห็นว่าระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยไม่เคยผิดสัญญาประกันตัว จึงอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ด้วยวงเงิน 300,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว 2 ประการ คือ ห้ามกระทำการที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ในชั้นสั่งฟ้องคดีต่อศาล นายประกันได้วางหลักทรัพย์ประกันตัวไว้แล้วคดีละ 150,000 บาท รวมสองคดีเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว 300,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทำให้ไม่ต้องวางหลักประกันตัวเพิ่มเติมอีกในชั้นอุทธรณ์คดีนี้

ศศิพิมล

ที่มาของภาพ, ศศิพิมล

คำบรรยายภาพ, แม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกสาว 2 คน

อันดับ 4 แม่เลี้ยงเดี่ยววัย 27 กับโทษที่ลดเหลือ 28 ปี

เช้าของปลายเดือน ก.ย. 2557 ตำรวจนอกเครื่องแบบมาที่บ้านเช่าของ ศศิพิมล แม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกสาว 2 คน ในเชียงใหม่ พร้อมหมายค้นในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นำของกลาง และตัวเธอไปโรงพัก

หลังการสอบสวนของตำรวจ เธอถูกอัยการทหารสั่งฟ้อง จนถึง 7 ส.ค. 2558 ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 เชียงใหม่ ได้ตัดสินจำคุกหญิงชาวจังหวัดเชียงใหม่รายนี้ ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว และไม่เคยมีประวัติเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน เป็นเวลา 56 ปี จาก 7 กรรม ๆ ละ 8 ปี ด้วยความผิดฐานโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันฯ ทางเฟซบุ๊กเช่นกัน แต่ลดให้เหลือ 28 ปี หลังเธอ "รับสารภาพ" แต่ไม่รับฟังคำร้องขอความเมตตาในเรื่องที่เธอยังมีลูกตัวเล็ก ๆ 2 คนที่ต้องเลี้ยงดู และมีแม่อีกคนที่ป่วยกระเสาะกระแสะอยู่ที่บ้าน

ผู้สื่อข่าวของบีบีซีได้ไปเยี่ยมศศิพิมลที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่พร้อมกับลูกสาวทั้งสองและแม่ของเธอ พวกเขาไม่ได้มาเยี่ยมเธอบ่อยนัก แม้ทางเรือนจำจะไม่ได้เข้มงวดเรื่องการพบญาติจนเกินไป แต่ลูกสาวสองคนของเธอต้องไปโรงเรียน ส่วนแม่ของเธอคือนางสุชิน กองบุญ นั้นแทบจะไม่สามารถลาหยุดงานในหน้าที่พนักงานทำความสะอาดของโรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ มาได้เลย อย่างดีที่สุดครอบครัวของศศิพิมลจะมาเยี่ยมเธอได้ในราวทุกหนึ่งหรือสองสัปดาห์เท่านั้น

ศศิพิมลอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า สามีเก่าของเธอเป็นช่างยนต์ แต่ต่อมาเขาทิ้งเธอไปมีหญิงคนใหม่ เพื่อนที่เธอรู้จักสมัยที่เคยทำงานในร้านอาหารแนะให้เธอแก้เผ็ดหญิงคนนั้น ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวของศศิพิมลที่บ้าน สร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมที่ใช้ชื่อบัญชีเป็นชื่อของหญิงคนดังกล่าว และเพื่อนได้โพสต์ความเห็นทิ้งไว้

ในตอนแรก เธอไม่ได้ดูว่าความเห็นนั้นเป็นข้อความอะไร มาทราบว่าเป็นข้อความหมิ่นสถาบันฯ ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่นำภาพบันทึกหน้าจอมาให้ดู ต่อมาเพื่อนคนดังกล่าวก็ได้หายตัวไป

หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษหลายครั้ง เธอได้รับการปล่อยตัว 15 ก.ย. 2563 รวมคุมขัง 5 ปี 7 เดือน

ผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" ถือป้ายเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หลังจากเดินขบวนจากสามย่านมาถึงสถานทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" ถือป้ายเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หลังจากเดินขบวนจากสามย่านมาถึงสถานทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563

อันดับ 3 อดีไกด์ชายวัย 47 กับโทษที่ลดเหลือ 30 ปี

นายพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง ชาว จ.กาญจนบุรี มีอาชีพตัวแทนบริษัทนำเที่ยว เคยมีชื่อในคำสั่งเรียกบุคคลรายงานตัวของ คสช. ฉบับที่ 58/2557 แต่ไม่ได้ไปรายงานตัวตามกำหนด ก่อนหน้าคดีนี้ พงษ์ศักดิ์เคยถูกดำเนินคดีฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. มาแล้ว ซึ่งศาลทหารพิพากษาให้ จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท รอลงอาญา 2 ปี

ต่อมาเขาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้เมื่อ 30 ธ.ค. 2557 โดยคำฟ้องของอัยการทหารระบุว่า นายพงษ์ศักดิ์ เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ "Sam Parr" โพสต์ข้อความเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ทั้งหมด 6 ครั้ง ซึ่ง 4 ครั้งเป็นการโพสต์ในเดือน ก.ย. 2556 และอีก 2 ครั้งในเดือน พ.ย. 2557

เมื่อ 7 ส.ค. 2558 ศาลทหารกรุงเทพอ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยแถลงรับสารภาพ จึงพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จำนวน 6 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 10 ปี รวมทั้งหมด 60 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 30 ปี

ต่อมาเขาได้รับการปล่อยตัวช่วงปลายปี 2563 รวมเวลาคุมขังประมาณ 5 ปี 6 เดือน

Thai anti-government protesters flashe three-finger salute with a message "No 112" of lese majeste law as they gather to protest against the lese majeste law in Bangkok, Thailand, 31 October 2021

ที่มาของภาพ, EPA

อันดับ 2 ชายวัย 33 กับโทษลดเหลือ "30 ปี 60 เดือน"

9 มิ.ย. 2560 ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำพิพากษา คดีที่นายวิชัย (สงวนนามสกุล) พนักงานขายของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการปลอมเฟซบุ๊กแล้วโพสต์ข้อความ 10 ข้อความ

ศาลทหารพิพากษาว่านายวิชัยกระทำความผิดตามมาตรา 112 จริง การโพสต์ข้อความจำนวน 10 ข้อความนับเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ ศาลพิพากษาให้ลงโทษวิชัยกรรมละ 7 ปี นับโทษรวมเป็น 70 ปี

เเต่เนื่องจากวิชัยให้การรับสารภาพในชั้นศาลอันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้เหลือกรรมละ 3 ปี 6 เดือน รวมโทษที่วิชัยต้องรับทั้งหมดจากการกระทำความผิดทั้งหมด 10 กรรม เป็น 30 ปี 60 เดือน (35 ปี)

ส่วนการกระทำอีก 1 กรรม ที่คำฟ้องของอัยการทหารระบุว่านายวิชัยได้ทำการปลอมแปลงเฟซบุ๊กเป็นบุคคลอื่นในการโพสต์ข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท ศาลเห็นว่าการกระทำของนายวิชัยไม่ครบตามองค์ประกอบความผิดในมาตรา 14 (1) ซึ่งแก้ไขตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ศาลพิพากษายกฟ้องในข้อหานี้

เขาได้รับการปล่อยตัวช่วงปี 2564 รวมถูกคุมขังประมาณ 6 ปี เศษ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ที่มาของภาพ, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

คำบรรยายภาพ, อัญชัญ ปรีเลิศ

อันดับ 1 หญิงเสื้อแดงวัยใกล้เกษียณ กับโทษ 29 ปี 174 เดือน

อัญชัญ ปรีเลิศ ข้าราชการที่ใกล้เกษียณอายุ ในช่วงรัฐประหารโดย คสช. คือหนึ่งในคนที่ร่วมการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง อัญชัญ ชอบฟังรายการวิเคราะห์การเมืองของ "บรรพต" ในเว็บไซต์ ก่อนที่โซเชียลมีเดียจะแพร่หลาย ก่อนกลายเป็นผู้ถูกดำเนินคดีจากการแชร์รายการของบรรพต ด้วยการถูกจำคุกถึง 43.6 ปี

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่า อัญชัญ ปรีเลิศ ถูกจับกุมในเดือน ม.ค. 2558 และถูกควบคุมตัวในค่ายทหารที่ จ. กาญจนบุรี เป็นเวลา 5 วันในช่วงแรก ด้วยคดี 112 ซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของ "ศาลทหาร" เดิมพันแรกระหว่างอิสรภาพและเสรีภาพในการแสดงออกจึงอยู่บนความไม่แน่นอนของการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อโทษสูงสุดที่เธออาจได้รับ คือ 15 ปี x 29 กรรม เท่ากับว่าเธอจะถูกจำคุก 435 ปี จากคลิปทั้งหมด 29 คลิป ในความผิดทั้งหมดตามมาตรา 112 ทำให้เธอกลายเป็นผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเป็นจำนวนมากที่สุดในเครือข่ายคนที่ทางการไทยกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเครือข่ายบรรพต และเป็นคดีมาตรา 112 ที่โทษหนักที่สุดนับแต่รัฐประหารปี 2557

อัญชัญตัดสินใจต่อสู้คดี ทว่าขณะนั้นคำยื่นขอประกันตัวของเธอถูกปฏิเสธซ้ำหลายครั้ง ทำให้เธอต้องถูกคุมขังเป็นเวลาทั้งสิ้น 3 ปี กับอีก 281 วัน ก่อนจะถูกปล่อยชั่วคราวในวันที่ 2 พ.ย. 2561 ด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท

คดีของเธออยู่ภายใต้ศาลทหารจนกระทั่งเดือน ก.ค. 2562 เมื่อมีประกาศจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้ย้ายคดีที่พลเรือนถูกพิจารณาคดีในศาลทหารไปยังศาลยุติธรรม เธอจึงถูกย้ายมาพิจารณาคดีที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก

19 ม.ค. 2564 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกตามฟ้องว่าอัปโหลดและแชร์คลิปเสียงของรายการ "บรรพต" ทั้งหมด 29 ครั้ง กรรมละ 3 ปี รวม 29 กรรม รวมจำคุก 87 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษครึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 29 ปี 174 เดือน หรือ 43 ปี 6 เดือน

หลังคำพิพากษา หลายหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนพยายามดำเนินการคืนความยุติธรรมให้กับอัญชัญ โดยสมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights - FIDH) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นคำร้องต่อคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (United Nations Working Group on Arbitrary Detention - UN WGAD) เพื่อให้มีการปล่อยตัวอัญชัญ ผู้ต้องโทษจำคุกที่ยาวนานที่สุดภายใต้มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทกษัตริย์) ที่ขณะนี้กำลังถูกจองจำอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางในกรุงเทพฯ

ตั้งแต่ 12 ก.ค. 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมเขียนจดหมายให้กำลังใจอัญชัญ บนช่องทางออนไลน์ รวมถึงร่วมถ่ายภาพกับดอกอัญชัญ เพื่อส่งกำลังใจให้เธอ ผ่านแฮชแท็ก #มองจากลูกกรงนั้นเจ็บปวด

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ที่มาของภาพ, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

คำบรรยายภาพ, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมเขียนจดหมายให้กำลังใจอัญชัญ บนช่องทางออนไลน์

ต่อมา WGAD เรียกร้องทางการไทยให้ปล่อยตัวอัญชัญ ผู้ต้องขังหมิ่นประมาทกษัตริย์โดยทันที เรียกร้องในหนังสือความเห็นที่รับรองเมื่อ 17 พ.ย. 2564 และเผยแพร่เมื่อ 20 ธ.ค. 2564

"ความเห็นของสหประชาชาติเกี่ยวกับกรณีของอัญชัญตอกย้ำถึงความอยุติธรรมสูงสุดที่เธอได้รับและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดจากการบังคับใช้มาตรา 112 ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะทําลายวงจรการจับกุม การดําเนินคดี และการคุมขัง พร้อมรับฟังเสียงเรียกร้องจากทั้งในประเทศและนานาชาติให้มีการปฏิรูปมาตรา 112" อดีล ราห์เมน คาน เลขาธิการใหญ่แห่ง FIDH กล่าว