ตะวัน แบม : การอดอาหารประท้วงระลอก 3 ของนักกิจกรรมผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์

@TLHR2014

ที่มาของภาพ, @TLHR2014

การประกาศอดอาหารและน้ำประท้วงในเรือนจำของสองนักกิจกรรมทางการเมืองผู้ถูกกล่าวหาคดีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อเรียกร้องการประกันตัวของนักโทษทางการเมืองทั้งหมด นับเป็นการอดอาหารประท้วงของกลุ่มนักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นสถาบันกษัตริย์ระลอกที่ 3 นับตั้งแต่ปี 2563

ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ นักกิจกรรมหญิงทั้ง 2 ราย เพิ่งกลับเข้าไปในเรือนจำจากการยื่นถอนประกันตัวเองเมื่อ 16 ม.ค. เพื่อประท้วงเรียกร้องต่อศาลให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง รวมถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง เรียกร้องทุกพรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา 112 และข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

ต่อมาเมื่อคืนวันที่ 18 ม.ค. เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Tawan Tantawan เผยแพร่คลิปของทานตะวัน และอรวรรณ ว่าหากกลุ่มนักโทษคดีทางการเมืองยังไม่ได้รับการประกันตัวครบทุกคนและข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ยังไม่ได้รับการตอบรับ จะยกระดับด้วยการอดอาหารและน้ำ

"ยังขอยืนยันอย่างหนักแน่นเหมือนเดิมว่า ต่อให้พวกเราจะอดอาหารและน้ำก็ตาม เราจะไม่มีวันที่จะยื่นประกันตัวเองจนกว่าเพื่อนของเราทุกคนจะได้ออกมาและข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นไปตามผล เราพร้อมที่จะแลกชีวิตกับการต่อสู้ครั้งนี้" ตะวัน กล่าว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บันทึกข้อมูลคดีไว้ว่า จนถึงวันที่ 18 ม.ค. 2566 มีผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีอย่างน้อย 16 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 8 คน นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้วและต้องถูกคุมขังในฐานะนักโทษเด็ดขาด อย่างน้อย 6 ราย

สำหรับผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังขณะนี้ ไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวในระดับแกนนำ แต่เป็นนักกิจกรรมอย่างเช่น กลุ่มทะลุวัง นักศึกษารามคำแหงกลุ่ม "ทะลุราม" กรณีโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก พนักงานที่แชร์โพสต์จากเฟซบุ๊ก “KTUK – คนไทยยูเค”

ส่วนผู้ต้องหาคดีการเมืองอื่น ๆ ได้แก่ คดีมีระเบิดไว้ในครอบครอง ขณะเดินทางเข้าร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง คดีถูกจับกุมในช่วงระหว่างการประชุมเอเปคเมื่อเดือน พ.ย. 2565

ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า มีนักกิจกรรมถูกคุมขังเพิ่มอีก 4 ราย ข้อกล่าวหาหลักเป็นคดีอาญามาตรา 112 และเกี่ยวข้องกับการเพิกถอนประกันตัว

นับตั้งแต่ 24 พ.ย. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 227 คน ใน 245 คดี

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน: บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่มาจากภายนอก

สิ้นสุด Twitter โพสต์

กระแสเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่หายไป

การชุมนุมทางการเมืองที่มีข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็น 1 ใน ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ นอกจากการเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และการเริ่มต้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เกิดเป็นกระแสสูงสุดในช่วงปี 2563 เกิดการชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในช่วงเดือน มิ.ย. ก่อนจัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรกในเดือน ก.ค. ของกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเรียกร้องให้คนไทยสำนึกในพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงไม่ให้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือกฎหมายอาญามาตรา 112 มาดำเนินคดีกับผู้ที่ล่วงละเมิดสถาบัน

ต่อมา เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เสนอข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ถูกเรียกว่า "ทะลุเพดาน"

หลังจากมีการชุมนุมยกระดับและเกิดบทสนทนาประเด็นว่าด้วยสถาบันกษัตริย์อย่างกว้างขวางหลายเดือนโดยกลุ่ม "ราษฎร" การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาปรากฏอีกครั้ง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563

WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

หลังจากนั้นกลุ่มแกนนำของ "ราษฎร" เริ่มถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากการชุมนุมปราศรัยก่อนหน้านี้ โดยคดีของแกนนำและนักกิจกรรม "ราษฎร" 4 คน จากการชุมนุม "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร" ที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ถูกอัยการสั่งฟ้อง ในข้อหาหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นคดีแรก

ปี 2564 เป็นปีที่บรรดาแกนนำถูกดำเนินคดีหลายต่อหลายคน และถูกปฏิเสธการให้ประกันตัว นอกจากนี้ ยังเป็นปีที่เกิดการชุมนุมรูปแบบใหม่ คือ การชุมนุม "คาร์ม็อบ" และปรากฏการชุมนุมของกลุ่มมวลชนอิสระที่บริเวณแยกดินแดงในช่วงครึ่งปีหลังและยุติลงในเดือน พ.ย.

คดี 112 ในปี 2565 ทำโพลล์ที่พารากอน-ไลฟ์สดที่ขบวนเสด็จ

นักกิจกรรมที่ใช้ชื่อว่ากลุ่ม "ทะลุวัง" จัดกิจกรรมบริเวณลานหน้าห้างสยามพารากอน เมื่อ 8 ก.พ. 2565 โดยถือป้ายซึ่งเป็นกระดาษแข็งที่มีข้อความสอบถามความคิดเห็นด้วยข้อความว่า "คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่" แล้วให้ประชาชนร่วมติดสติ๊กเกอร์ แสดงความคิดเห็นในช่องที่มีให้เลือก ระหว่างเดือดร้อน และไม่เดือดร้อน

นักกิจกรรมทั้ง 6 คน ถูกตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 ข้อหาขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 และข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ "แบม" อรวรรณ ถูกกล่าวหาตามคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  จากคดีข้างต้น โดย ทานตะวัน ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อีกกรณีหนึ่ง จากการไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กก่อนมีขบวนเสด็จที่ถนนราชดำเนินนอกเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 ตั้งคำถามถึงขบวนเสด็จที่ขณะนั้นมีการย้ายผู้ชุมนุมกลุ่มชาวนาบริเวณใกล้เคียงกับอาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ

"ด้อยค่าพระมหากษัตริย์" คือ คำบรรยายพฤติการณ์ที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง กล่าวหา จากการไลฟ์สดที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะให้คนทั่วไปชมได้

ปฏิกิริยาแกนนำ "ราษฎร"

การอดอาหารประท้วงในเรือนจำของนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของ ตะวัน และ อรวรรณ นับเป็นระลอกที่ 3 ของการอดอาหารประท้วงของผู้ต้องหาคดีมาตรา 112

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บันทึกการอดอาหารของนักกิจกรรมการเมือง ซึ่งปรากฏในช่วงการชุมนุมปฏิรูปสถาบันฯ เกิดขึ้นมาแล้ว 2 ระลอก

ปี 2564 แกนนำและนักกิจกรรม รวม  8 คน เช่น 

  • เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ อดอาหาร 58 วัน ตั้งแต่ 15 มีนาคม - 11 พฤษภาคม 2564,
  • รุ้ง - ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อดอาหาร 37 วัน (31 มี.ค. - 6 พ.ค. 2564),
  • ฟ้า-พรหมศร วีระธรรมจารี อดอาหาร 43 วัน จาก 3 ครั้ง (มี.ค.- ส.ค. 2564)

ปี 2565 นักกิจกรรม 6 คน เช่น

  • ตะวัน - ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อดอาหาร 37 วัน (20 เม.ย. - 26 พ.ค. 2565), 
  • บุ้ง และ ใบปอ อดอาหาร 48 วัน (1 มิ.ย. -18 ก.ค.),
  • เก็ท - โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง อดอาหาร 20 วัน (5-24 พ.ค. 2565)

อานนท์ นำภา แกนนำกลุ่ม "ราษฎร" โพสต์บนเฟซบุ๊กถึงการอดอาหารประท้วงของตะวัน และอรวรรณว่า หากเสียงของทั้งสองคนถูกขานรับ พวกเธออาจไม่ต้องเจอจุดจบอย่างที่เคยปรากฏกับ สืบ นาคะเสถียร นวมทอง ไพรวัลย์ แท็กซี่ผู้ผูกคอตายเพื่อประท้วงการรัฐประหาร 2549 หรือการยิงตัวตายของผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ที่ยิงตัวเองเสียชีวิตเมื่อเดือน ต.ค. 2563

 "เชื่อว่าคนที่รักความเป็นธรรมไม่ได้นิ่งเฉยกับเรื่องความอยุติธรรม  ทว่าเราจะทำอย่างไร จะสู้อย่างไร จะขานรับอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่ต้องช่วยกันคิดในเวลาที่จำกัด"

อานนท์ ระบุด้วยว่า "การอดทั้งข้าวและน้ำ น่าจะอยู่ได้ไม่เกิน 7 วัน มากกว่านั้นคงไม่เกิน 10" และ "ไม่ควรมีใครเสียชีวิตเพื่อการต่อสู้ครั้งนี้ การเสียสละชีวิตของทั้งสองมันมีค่าเกินกว่าบัวใต้ตมที่จะสำนึก"

ด้าน "รุ้ง" ปนัสยา กล่าวบนเฟซบุ๊กของตัวเองว่า เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก่อนที่ตะวันและ อรวรรณ จะถึงจุดวิกฤติจากการอดอาหารและน้ำ พร้อมทิ้งทิ้ายข้อความว่า "โปรดสนใจเรื่องนี้"

พรรคการเมือง คิดอย่างไรกับมาตรา 112

จนถึงขณะนี้ มีไม่กี่พรรคการเมืองที่พูดถึงเรื่อง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

เมื่อ 15 ต.ค. 2565 พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดตัวนโยบายชุดแรกที่ชื่อว่า “การเมืองไทยก้าวหน้า” หนึ่งในนั้นคือการผลักดันให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังมีประชาชนนับร้อยคนถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

ชาวก้าวไกลมองว่าเป็น “กฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน” และยืนยันว่า “การแก้มาตรา 112 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กระทบต่อพระราชสถานะองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของประเทศ”

ส่วนพรรคเพื่อไทย (พ.ท.) แม้จะเคยการกล่าวถึงการนำกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสภา เพื่อตรวจสอบ "ระบบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม" เมื่อเดือน พ.ย. 2564 แต่เมื่อปีที่แล้วแกนนำพรรคอย่าง นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคก้าวไกล เปิดนโยบายผลักดันแก้ไขมาตรา 112 ว่าเป็นจุดยืนของแต่ละพรรคไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ สำหรับเพื่อไทยทำนโยบายทุกด้าน แต่ให้ความสำคัญเร่งด่วนกับเรื่องปากท้องเศรษฐกิจ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของพรรคการเมือง กลับกลายเป็นมาจากพรรคไทยภักดี เมื่อ 18 ม.ค. นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี พร้อมด้วย นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ และคณะ ได้ยื่นเรื่องเกี่ยวกับการรวบรวมรายชื่อเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมการคุ้มครองกฎหมายตามมาตรา 112 ต่อประธานรัฐสภา แต่เป็นการให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมในข้อความ "สถาบันพระมหากษัตริย์" คุ้มครองอดีตพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ และคุ้มครองพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป

นอกจากนี้ พรรคไทยภักดีระบุว่า ได้เห็นปัญหาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปประกันตัวผู้กระทำความผิดมาตรา 112 จึงมีแนวคิดห้ามมิให้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ประกันตัวผู้กระทำความผิดในคดีดังกล่าว และจะได้นำเสนอแก้ไขประมวลจริยธรรม ส.ส. เมื่อพรรคไทยภักดีมี ส.ส. ในสภาต่อไป

ชุมนุมให้ปล่อยตัว

23 ม.ค. คณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล ร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังหลังตะวัน และแบมอดอาหารและนำ้มานานหลายวันแล้ว มีผู้เข้าร่วมจาก คณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล ได้แก่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, พรรณิการ์ วานิช, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ชัยธวัช ตุลาธน และ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

ก้าวไกล/ก้าวหน้า

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ส่งตัวรักษาโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ

ช่วงเย็นของ 24 ม.ค. กรมราชทัณฑ์เผยแพร่เอกสารข่าวแก่สื่อมวลชน อ้างถ้อยแถลงของนายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ว่า เมื่อเวลา 17.41 น. ของ 24 ม.ค. ได้รับการตอบรับจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ในการรับตัว ตะวัน และแบม เข้ารับการรักษาตัวตามประสงค์ของทั้งคู่แล้ว และอยู่ระหว่างการส่งตัว

เอกสารข่าวของกรมระบุว่า ผู้ต้องหาทั้งสองงดน้ำและอาหาร ตั้งแต่ช่วงเย็น 18 ม.ค. ที่ผ่านมา และถูกส่งตัวไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อ 20 ม.ค. ซึ่งทั้งคู่ยืนยันปฏิเสธการรักษา และแจ้งความประสงค์ที่จะรับการรักษาจากโรงพยาบาลภายนอก

ต่อมา ช่วงสายของ 24 ม.ค. ได้รับรายงานจากนายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ว่า ตะวัน และแบม มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปากแห้ง คลื่นไส้ ปัสสาวะได้เพียงเล็กน้อย ซึ่งอาการทั้งหมดเกิดจากการอดน้ำและอาหารต่อเนื่องถึงปัจจุบันเป็นวันที่ 7 และยังคงปฏิเสธยาและสารน้ำทางหลอดเลือด ซึ่งทั้งสองแจ้งว่ารู้สึกไม่ไหว แต่ยังคงยืนยันที่จะอดอาหารและน้ำ และปฏิเสธรับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ .เพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์จึงได้จัดเตรียมเอกสาร เตรียมความพร้อมในการส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลภายนอก และได้รับการตอบรับจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ

ยกระดับการต่อสู้

ตลอดการอดอาหารและน้ำในเรือนจำ จนถึงเข้าพักที่โรงพยาบาล ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าเยี่ยมตะวันและแบมอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด วานนี้ (26 ม.ค.) ทนายความได้เข้าเยี่ยมที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ปรากฎว่าได้ย้ายห้องแล้ว เพราะมีเสียงดัง โดยย้ายไปห้องที่ทั้งคู่นอนอยู่ด้วยกันบนเตียงเดี่ยว และใส่เสื้อหนาวไหมพรม

คำถามแรกของทั้งคู่คือ "ศาลให้ประกันไหม ตกลงมีเพื่อนได้ประกันไหม" ซึ่งทนายตอบว่าไม่มี

สภาพของตะวันและแบม พบว่า ทั้งคู่มีปากแห้ง ใบหน้าขามซีด ลุกไปไหนต้องใช้เครื่องพยุงและต้องใช้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ช่วยพยุง โดยมีอาการเหนื่อยหอบทุกครั้งที่ขยับตัว นอนเฉย ๆ ก็เหนื่อย

ตะวัน มีอาการบวมบริเวณใต้คอ โดยแพทย์ระบุว่า เป็นต่อมน้ำเหลือง ซึ่งหากบวมกว่านี้ต้องตรวจ เนื่องจากเสี่ยงติดเชื้อ

ตะวันและแบม ยังเข้าเกณฑ์เสี่ยงหัวใจหยุดเต้น แต่ยังยืนยันไม่รับน้ำ ไม่รับอาหาร ไม่ต่อสายน้ำเกลือ ไม่รับวิตามินเกลือแร่ ไม่รับน้ำหวาน หรือการให้อาหารทางหลอดใด ๆ และไม่รับการรักษา แม้ว่าแบมจะยอมรับโพแทสเซียมลดกรด

แต่เมื่อได้รับการแจ้งผลการประกันตัวนักโทษทางการเมืองรายอื่น ทั้งคู่แจ้งว่าต้องการยกระดับการต่อสู้ คือ ไม่รับโพแทสเซียมอีกต่อไป

"พวกหนูอยู่ได้ที่พวกหนูทำคือใจล้วน ๆ มันคือส่ิงที่คนข้างบน ไม่มีทางรับรู้ คนข้างบนมีแต่แก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์ แต่พวกหนูทำด้วยใจ ทำเพื่อให้สังคมเปลี่ยนแปลงจริง ๆ"

ทักษิณ ขอให้รัฐเปิดพูดคุย

ช่วงค่ำของ 24 ม.ค. นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ลี้ภัยทางการเมืองในต่างแดน กล่าวผ่านทาง CareTalk x CareClubHouse : มีเรื่องคาใจ ก็ถามมาเลอ ! จากกรุงลอนดอน ในเรื่องนี้ว่า ภาครัฐควรมองการเคลื่อนไหวของเยาวชนเหล่านี่ว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ ที่สู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม รัฐจึงควรเปิดการพูดคุยกับเยาวชนต่อ 3 ข้อเรียกร้องนี้

"ต้องหาข้อยุติ" นายทักษิณ กล่าว

"เด็กไม่มีอาวุธ... อาวุธเขาคือหัวใจ เขาไม่มีรถถังไม่มีปืนใหญ่ เขาสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม"

เขากล่าวด้วยว่า ในฐานะผู้จบปริญญาเอกด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เขามองว่า การคุมตัวผู้ต้องหามาตรา 112 ในขณะนี้ "ผิดหลักรัฐธรรมนูญ และกระบวนการพิจารณาคดีอาญา" ที่สมมติฐานว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ สมควรได้รับการประกันตัว ในคดีที่ไม่คิดว่าพวกเขาจะหลบหนี