เลือกตั้งซ่อม กทม. : แคมเปญ-เดิมพัน-จุดชี้ขาดชัยชนะ ส.ส.กทม. เขต 9

การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 กำลังจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 30 ม.ค. ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 กำลังจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 30 ม.ค. ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

เหลือเวลาอีกเพียง 3 วัน ประชาชนชาวหลักสี่-จตุจักร ราว 1.7 แสนคน จะมีโอกาสเข้าคูหาเพื่อเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขต 9 ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดของผู้สมัครจาก 8 พรรคการเมือง โดยแต่ละขั้วการเมืองต่างมีคนต่างค่ายลงตัดแต้มกันเอง

แม้การเลือกตั้ง 30 ม.ค. นี้ ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างฉับพลัน ไม่ว่าใครแพ้-ใครชนะ นายกรัฐมนตรีก็ยังชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังเดิม

ทว่าในช่วงโค้งสุดท้าย บางพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านได้รณรงค์หาเสียงโดยอ้างถึงชื่อของนายกฯ คนที่ 29 คนรักต้องเลือกเบอร์หนึ่ง ส่วนคนชังต้องกาเลือกอีกเบอร์หนึ่ง เพราะหวังใช้ผลการเลือกตั้งในสนามย่อยไปต่อยอด-ทำแคมเปญในสนามใหญ่ต่อไป

ขณะเดียวกันยังมีพรรคการเมืองที่อ้อนขอคะแนนจากมวลชนของพรรคที่ไม่ได้ส่งผู้สมัคร เพราะหมายแปรฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นคะแนนของพรรคตัวเอง

sira

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ, ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. ของนายสิระสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ

การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 เป็นผลสืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 22 ธ.ค. 2564 ให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายสิระ เจนจาคะ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา หรือคดีฉ้อโกง เมื่อปี 2538 ทำให้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน โดยมีนายสิระเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งซ่อมทั้งหมด

ผู้สมัครแต่ละคนมีเวลาหาเสียงเพียง 25 วันนับจากจับสลากได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร เมื่อ 6 ม.ค. ในการลงพื้นที่พบปะประชาชนในชุมชน บ้านมีรั้ว แฟลตตำรวจ รวมถึงเข้าค่ายทหาร

บีบีซีไทยสรุปแคมเปญหาเสียง กลยุทธ์ขอคะแนน และสำรวจเดิมพันการเมืองของแต่ละพรรคในศึกเลือกตั้งซ่อมวันอาทิตย์นี้

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ผู้สมัคร: นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ หรือ "มาดามหลี" ภรรยาของนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม. พปชร. เจ้าของพื้นที่เดิม

แคมเปญเปิดตัว: "ขอโอกาสสานงานต่อ" ทั้งงานในพื้นที่-งานสภา ถึงขนาดที่นายสิระออกมาประกาศให้ภรรยาเป็นผู้สืบทอดภารกิจ "องครักษ์พิทักษ์ลุงตู่" ในสภา

กลยุทธ์หาเสียง: ขึ้นป้ายแนะนำผู้สมัคร, เดินเคาะประตูบ้าน, ขึ้นรถแห่ และระดมผู้บริหารและ ส.ส. ของพรรคลงพื้นที่ โดยเน้นตอกย้ำความเป็น "เจ้าของพื้นที่มาหลายปี และดูแลพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง"

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า พปชร. หาเสียงช่วยลูกพรรค

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า พปชร. หาเสียงช่วยลูกพรรค

เวทีปราศรัยใหญ่: ไม่มี จากเดิมเคยกำหนดว่าจะมีปราศรัยใหญ่ 2 ครั้ง ในวันที่ 24 และ 28 ม.ค. ทว่าหลังความพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งซ่อมภาคใต้ทั้ง 2 สนามของ พปชร. ทางพรรคได้พับเวที-ปรับแผนเป็นให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค นำทีมเดินเท้าพบปะประชาชนตามชุมชน แจกแจงผลงานรัฐบาล พร้อมรับฟังเรื่องราวร้องทุกข์ของคนในพื้นที่แทน

"การลงพื้นที่ของ พล.อ. ประวิตรในแต่ละครั้งได้รับฟังปัญหาจากประชาชนอย่างใกล้ชิด ท่านพูดคุยอย่างเป็นกันเอง และได้รับไปแก้ไขให้ทุกครั้ง จึงมีประโยชน์กว่าการตั้งเวทีปราศรัยที่ได้แต่พูดฝ่ายเดียว" นางสรัลรัศมิ์แจกแจงเหตุผลที่พรรคแกนนำรัฐบาลงดเปิดปราศรัยเพื่อขอคะแนนเสียงให้เธอ

แคมเปญโค้งสุดท้าย: "รักลุงตู่ ชอบลุงป้อม กาเบอร์ 7" แคมเปญนี้ปล่อยออกมาเพื่อขอคะแนนเสียงจากผู้สูงอายุในพื้นที่ และสอดคล้องกับจุดลงพื้นที่เคาะประตูบ้านของหัวหน้าพรรค

เดิมพันชัยชนะ: หากนางสรัลรัศมิ์ได้เข้าสภา จะทำให้นายสิระที่ขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัคร ส.ส. ตลอดชีวิต สร้างทายาททางการเมืองได้สำเร็จ และทำให้ พปชร. ได้เสียงในสภากลับคืนมาอีก 1 เสียง ท่ามกลางภาวะระส่ำระสายในพรรค หลังเกิดกรณีขับ 21 ส.ส. กลุ่ม ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากพรรคไป จนเหลือ ส.ส. เพียง 101 คน

แต่ถ้าผลออกมาในทิศทางตรงกันข้าม พปชร. ก็จะกลายเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลที่ "แพ้ 3 สนามรวด" ตั้งแต่ จ.ชุมพร-สงขลา-กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามแกนนำ พปชร. ประเมินว่าความเสียหายไม่น่าจะลุกลามมาถึงตัวนายกฯ โดยตรง เพราะการเลือกตั้งหนนี้ ประชาชนไม่ได้ตัดสินใจเลือกรัฐบาล หรือตัวนายกฯ และ พล.อ. ประยุทธ์ก็ระบุชัดเจนหลายครั้งว่าการเลือกตั้งซ่อมเป็นเรื่องของพรรคการเมือง

พรรคเพื่อไทย (พท.)

ผู้สมัคร: นายสุรชาติ เทียนทอง อดีต ส.ส.กทม. 1 สมัยของ พท.

แคมเปญเปิดตัว: "เลือกคนทำงาน เพื่อคืนศักดิ์ศรีคนหลักสี่-จตุจักร"

กลยุทธ์หาเสียง: ขึ้นป้ายแนะนำผู้สมัคร, เดินเคาะประตูบ้านตามหมู่บ้าน/ชุมชนต่าง ๆ, เข้าไปหาเสียงในค่ายทหาร, ขึ้นรถแห่, ระดมผู้บริหารและ ส.ส. ของพรรคลงพื้นที่ และเปิดปราศรัย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปราศรัยเรียกร้องให้ชาวหลักสี่-จตุจักร สั่งสอน "รัฐบาลที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหาประชาชน"

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปราศรัยเรียกร้องให้ชาวหลักสี่-จตุจักร สั่งสอน "รัฐบาลที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหาประชาชน"

เวทีปราศรัยใหญ่: ลานกีฬาชุมชนเสนานิคม 2 เขตจตุจักร วันที่ 14 ม.ค. และสวนสาธารณะเคหะทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ วันที่ 28 ม.ค.

แคมเปญโค้งสุดท้าย: "เลือกเพื่อไทย เลือกให้ชนะขนาด เลือกสุรชาติ เทียนทอง" แคมเปญนี้ปล่อยออกมาปิดจุดอ่อนจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่ พท. แพ้ พปชร. ไปเพียง 2,792 คะแนน อีกทั้งยังเป็นการชี้ชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นว่าหากเลือกนายสุรชาติคนเดิม มีโอกาสชนะมากกว่าเลือกผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลซึ่งฐานเสียงอยู่ในขั้วเดียวกัน และนี่คือ "การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์" ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปราศรัยไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ พท. ออกแถลงการณ์ว่าการเลือกตั้งซ่อม 30 ม.ค. จะเป็น "หมุดหมายสำคัญ ในการจุดประกายแสงสว่างของการเปลี่ยนการเมืองไทยสู่แนวทางที่ถูกต้องชอบธรรม"

เดิมพันชัยชนะ: หากนายสุรชาติชนะการเลือกตั้ง ไม่เพียงฝ่ายค้านจะได้เพิ่ม 1 เสียงในสภาท่ามกลางภาวะ "เสียงปริ่มน้ำ" ของรัฐบาล แต่ พท. ยังหยิบฉวยเอาชัยชนะไปกล่าวอ้างได้ว่าประชาชนไม่เอารัฐบาลแล้ว หลังส่งแกนนำพรรคหลายคนกล่าวหลายครั้งว่าโหวตให้นายสุรชาติเพื่อบอกว่า "หมดเวลาของ พล.อ. ประยุทธ์แล้ว"

ทว่าเดิมพันสำคัญที่สุดของ พท. คือการใช้สนามเลือกตั้งซ่อมจตุจักร-หลักสี่ เปิดแคมเปญ "แลนด์สไลด์" หรือเลือกให้ชนะอย่างถล่มทลายก่อนการเลือกตั้งทั่วไปจะมาถึง ถึงขั้นกำหนดให้เป็นหนึ่งในหัวข้อปราศรัยปิดเลยทีเดียว เพราะแม้ในการเลือกตั้ง 2562 พท. จะเป็นพรรคอันดับ 1 แต่ก็ไม่อาจชิงการนำจัดตั้งรัฐบาลได้ การเลือกตั้งซ่อมหนนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ พท. "แพ้ไม่ได้" ไม่เช่นนั้นจะทำให้จังหวะก้าวทางการเมืองต้องสะดุด และต้องมาคิดแก้เกม-ขึ้นเกมกันใหม่

พรรคกล้า

ผู้สมัคร: นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. 2 สมัย (2550, 2554) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคกล้า

แคมเปญเปิดตัว: "สร้างสรรค์ การเมืองคุณภาพ"

กลยุทธ์หาเสียง: ขึ้นป้ายแนะนำผู้สมัคร, เดินเคาะประตูบ้านตามหมู่บ้าน/ชุมชนต่าง ๆ, ขึ้นรถแห่, ระดมผู้บริหารพรรคลงพื้นที่, เปิดปราศรัย ตอกย้ำแนวทางปฏิบัตินิยม เน้นการลงมือทำ และไม่แบ่งซ้าย-แบ่งขวาทางการเมือง, จัดเวทีล้อมวงพูดคุยกับประชาชน และเปิดชื่อ-เปิดตัวคนดังในฐานะผู้สนับสนุนพรรค/ผู้สมัคร อาทิ ปู-จิตกร บุษบา คอลัมนิสต์, โจ-มณฑานี ตันติสุข นักเขียนและวิทยากรด้านการเงิน, นพพล โกมารชุน นักแสดงและผู้กำกับ อีกทั้งยังได้นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบรัฐบาล "ทักษิณ" หลังรัฐประหาร 2549 และนายต่อตระกูล ยมนาค ขึ้นปราศรัยปิดบนเวทีของพรรคด้วย

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ชูมือผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคกล้า ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของพรรคประชาธิปัตย์

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคกล้า

คำบรรยายภาพ, นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ชูมือผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคกล้า ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากนี้นายอรรถวิชช์ยังจงใจเข้าไปกราบขอพรผู้ใหญ่ของ ปชป. แล้วเผยแพร่ภาพนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี กรรมการสภาที่ปรึกษา ปชป. ขณะชูมือผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคกล้า ในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อส่งสัญญาณขอเสียงสนับสนุนจากมวลชนพรรคสีฟ้า ซึ่งในการเลือกตั้งทั่วไป ผู้สมัครของ ปชป. ได้คะแนนเป็นอันดับ 4 ในเขตนี้ด้วย 16,255 คะแนน

เวทีปราศรัยใหญ่: ศูนย์เยาวชนหลักสี่ เคหะทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ วันที่ 28 ม.ค.

แคมเปญโค้งสุดท้าย: "รวมพลัง เลือกการเมืองคุณภาพ"

เดิมพันชัยชนะ: หากนายอรรถวิชช์ได้เป็น ส.ส. คนแรกของพรรคกล้า น่าจะฟื้นความเชื่อมั่นและศรัทธากลับคืนมาให้ต้นสังกัดของเขาได้ หลังเกิดภาวะเลือดไหล-ย้ายค่ายไปอยู่กับพรรคสร้างอนาคตไทยที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อกลางเดือน ม.ค.

แต่ถ้าเลขาธิการพรรคต้องประสบกับความปราชัย นั่นหมายถึงผลกระทบด้านลบที่จะเพิ่มขึ้นอย่างทบทวีและสะเทือนต่ออนาคตของพรรคกล้า ถึงขนาดที่นายอรรถวิชช์เองก็เคยลั่นวาจาไว้ว่าในบรรดาผู้สมัครทั้งหมด เขาคือคนที่วาง "เดิมพันสูงที่สุด"

พรรคก้าวไกล (ก.ก.)

ผู้สมัคร: นายกรุณพล เทียนสุวรรณ หรือ "เพชร" นักแสดง

แคมเปญเปิดตัว: "ไม่เป็นกลาง ยืนข้างประชาชน"

กลยุทธ์หาเสียง: ขึ้นป้ายแนะนำผู้สมัคร, เดินเคาะประตูบ้านตามหมู่บ้าน/ชุมชนต่าง ๆ, เข้าไปหาเสียงในค่ายทหาร, ขึ้นรถแห่, ระดมผู้บริหารและ ส.ส. ของพรรคลงพื้นที่ และเปิดปราศรัย นอกจากนี้พรรคยังเปิดตัวนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นแคนดิเดตผู้ว่าราชการ กทม. ใน 7 วันสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งซ่อม โดยทิ้งคำสำคัญว่า "พร้อมชน" กับปัญหาเหมือนกัน ซึ่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค คาดหวังว่าจะช่วยเกื้อหนุนผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถ่ายรูปกับผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล หลังเสร็จสิ้นการปราศรัยช่วย เพชร-กรุณพล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถ่ายรูปกับผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล หลังเสร็จสิ้นการปราศรัยช่วย เพชร-กรุณพล

เวทีปราศรัยใหญ่: ลานกีฬาชุมชนเสนานิคม 2 เขตจตุจักร วันที่ 22 ม.ค. และตลาดเจเจกรีน 2 เขตหลักสี่ วันที่ 28 ม.ค.

แคมเปญโค้งสุดท้าย: "เลือกให้เหมือนเลือกตั้งใหญ่ เลือกก้าวไกล กาเพชร กรุณพล" เนื่องจากแกนนำพรรคประเมินว่าความรู้สึกของโหวตเตอร์ต่างไปจากตอนเลือกตั้งใหญ่ 2562 ที่ประชาชนโหวตให้พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ด้วยความหวังว่าจะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ได้คะแนนมหาชนจากชาว กทม. มากถึง 804,272 คะแนน แต่การเลือกตั้งซ่อมไม่สามารถพลิกโฉมการเมืองได้อย่างฉับพลัน งานนี้พรรคจึงออกแคมเปญกระตุ้นเตือนความรู้สึกของประชาชน พร้อมประกาศส่ง เพชร-กรุณพล เข้าไปทำงานในช่วงปลายสภา-เข้าร่วมการอภิปรายนัดสำคัญ ๆ เพื่อ "ปิดจ็อบดับอายุขัยของรัฐบาล"

เดิมพันชัยชนะ: ด้วยระยะเวลาอันจำกัด และกระแสเลือกตั้งที่ไม่สูงนัก ทำให้แกนนำพรรคยอมรับกับบีบีซีไทยว่าโอกาสปักธงก้าวไกลในเขตนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เป้าหมายขั้นต่ำของพรรคสีส้มจึงอยู่ที่การรักษาคะแนนดั้งเดิม 25,735 คะแนน ที่ อนค. เคยทำได้ในเขตนี้เอาไว้ให้ได้

ขณะเดียวกับผลการเลือกตั้งซ่อมในเขตนี้ จะเป็นเครื่องชี้วัดได้บางส่วนว่านโยบายและแนวทางการทำงานการเมืองแบบอนาคตใหม่-ก้าวไกล ที่มุ่งเน้นการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และพร้อมปะทะกับอำนาจต่าง ๆ ยังได้รับการตอบรับจากประชาชนหรือไม่ และผลงานในสภาของพรรคโดนจิตโดนใจประชาชนหรือไม่ เพื่อนำไปปรับกลยุทธ์การเมืองในการเลือกตั้งสนามใหญ่ต่อไป

พรรคไทยภักดี

ผู้สมัคร: นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ ผู้สมัคร ส.ส. คนแรกของพรรค

แคมเปญเปิดตัว: "ไม่กุ๊ย ไม่กร่าง ไม่โกง"

กลยุทธ์หาเสียง: ขึ้นป้ายแนะนำผู้สมัคร, เดินเคาะประตูบ้านตามหมู่บ้าน/ชุมชนต่าง ๆ, หาเสียงในหมู่เพื่อนตำรวจ/แฟลตตำรวจ เนื่องจาก พล.ต.ท. ชาญเทพ เสสะเวช เลขาธิการพรรค เป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.), ออกจดหมายเปิดผนึกจากหัวหน้าพรรคถึงประชาชน, ขึ้นรถแห่, ระดมผู้บริหารพรรคลงพื้นที่ และเปิดตัวคนดังร่วมเป็นผู้สนับสนุนพรรค/ผู้สมัคร อาทิ นายถาวร เสนเนียม อดีต รมช.คมนาคม และอดีตแกนนำ กปปส., พล.ต.นพ. เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ, นายฉัตรชัย เปล่งพานิช นักแสดงและผู้กำกับ, นายสุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัวเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค ร่วมด้วยเครือข่าย 9 องค์กรปกป้องสถาบันฯ ที่ประกาศสนับสนุนผู้สมัครของพรรค

เลขาธิการพรรค หัวหน้าพรรค และผู้สมัคร ส.ส. คนแรกของพรรคไทยภักดี (จากซ้ายไปขวา)

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, เลขาธิการพรรค หัวหน้าพรรค และผู้สมัคร ส.ส. คนแรกของพรรคไทยภักดี (จากซ้ายไปขวา)

เวทีปราศรัยใหญ่: ศูนย์เยาวชนหลักสี่ เคหะทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ วันที่ 23 ม.ค. และลานกีฬาชุมชนเสนานิคม 2 เขตจตุจักร วันที่ 28 ม.ค.

แคมเปญโค้งสุดท้าย: "นับ 1 ที่จตุจักร-หลักสี่ เพื่อเติมคนดีเข้าสภา" โดยตอกย้ำนโยบายปราบปราบคอร์รัปชันเพื่อ "ทำการเมืองให้สะอาด" และปกป้องสถาบันฯ นอกจากนี้ นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรค ยังประกาศขอผู้สมัคร ส.ส. คนแรกของพรรคเขาเข้าสภา เพื่อเป็น "1 เสียงพันธมิตรใกล้ชิด พล.อ. ประยุทธ์" อีกทั้งยังสื่อสารไปยังฐานเสียงของ ปชป. ซึ่งไม่ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมในหนนี้ว่า พรรคไทยภักดีกับ ปชป. มีแนวทางสอดคล้องกัน

"อยากขอคะแนนจากฐานแฟนคลับของพรรคประชาธิปัตย์ให้กับพรรคไทยภักดี และหากลงคะแนนให้ มั่นใจได้ว่าจะไม่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ผิดหวังด้วยเช่นกัน" นพ. วรงค์กล่าว

เดิมพันชัยชนะ: การหิ้ว ส.ส. เขตคนแรกเข้าสภาอาจเป็นเรื่องยากของพรรคไทยภักดี แต่พวกเขาต้องการใช้สนามเลือกตั้งซ่อมหลักสี่เป็น "พื้นที่นำร่อง" ทดลองแบรนด์พรรค แผนหาเสียง และฐานเสียงโดยเทียบเคียงกับคู่แข่งจากพรรคที่มีเฉดอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ นพ. วรงค์เคยกล่าวกับบีบีซีไทยว่าการเลือกตั้งหนนี้จะเป็นเครื่องสะท้อนว่าสังคมตอบรับในอุดมการณ์แบบไทยภักดีหรือไม่

หัวหน้าพรรคและผู้สมัคร ส.ส. พรรคต่าง ๆ ถ่ายภาพร่วมกันก่อนจับสลากหมายเลขผู้สมัคร

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, หัวหน้าพรรคและผู้สมัคร ส.ส. พรรคต่าง ๆ ถ่ายภาพร่วมกันก่อนจับสลากหมายเลขผู้สมัคร เมื่อ 6 ม.ค.

นอกจาก 5 พรรคข้างต้น ยังมีผู้สมัครจากอีก 3 พรรคการเมือง ได้แก่ น.ส. กุลรัตน์ กลิ่นดี จากพรรคยุทธศาตร์ชาติ, นายรุ่งโรจน์ อิบรอฮีม จากพรรคไทยศรีวิไลย์ และนายเจริญ ชัยสิทธิ์ จากพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ร่วมชิงชัยเก้าอี้ ส.ส.กทม. ในเขตจตุจักร-หลักสี่ ด้วย