รัสเซีย ยูเครน : สงครามสร้างความเสียหายให้ยูเครนกว่า 18 ล้านล้านบาท – เจรจาสันติภาพอาจเริ่มขึ้น 29 มี.ค.

Local resident Valentina Demura, 70, reacts next to the building where her apartment, destroyed during Ukraine-Russia conflict, is located in the besieged southern port city of Mariupol, Ukraine March 27, 2022.

ที่มาของภาพ, Reuters

ทางการยูเครนเปิดเผยว่าสงครามที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายให้แก่โครงสร้างพื้นฐาน ความสูญเสียด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่น ๆ ของประเทศไปแล้วเป็นมูลค่าอย่างน้อย 564,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 18.64 ล้านล้านบาท)

นางยูเลีย สวีรีเดนโก รัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจยูเครน โพสต์เรื่องนี้ทางโซเชียลมีเดีย โดยระบุว่า การสู้รบยังได้สร้างความเสียหาย หรือทำลายถนนหนทางเป็นระยะทางรวมกัน 8,000 กม. รวมทั้งอาคารบ้านเรือนกินพื้นที่ 10 ล้านตารางเมตร

รัสเซียยังคงยืนกรานว่า "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" ในยูเครนโดยมีวัตถุประสงค์ในการทำให้ประเทศปลอดจากทหาร ด้วยการมุ่งโจมตีอาคารและสิ่งปลูกสร้างทางทหาร

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ากองทัพรัสเซียได้โจมตีพื้นที่ในเขตที่พักอาศัยของพลเรือน ทั้งโรงพยาบาล และสถานศึกษา ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

เมื่อสัปดาห์ก่อน นางมาทิลดา บ็อกเนอร์ หัวหน้าทีมสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่าการที่รัสเซียใช้ขีปนาวุธ ปืนใหญ่ จรวด และการโจมตีทางอากาศในเขตที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น อาจเข้าข่ายการก่ออาชญากรรมสงคราม โดยยกตัวอย่าง 2 กรณี คือ การโจมตีโรงเรียนในเมืองแชร์นีฮิฟ และการโจมตีโรงพยาบาลแม่และเด็กในเมืองมาริอูโปล

ลาฟรอฟชี้การพบปะของปูตินและเซเลนสกีอาจไม่ส่งผลดี

นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุว่า การพบกันระหว่างประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องสงครามในยูเครนในตอนนี้อาจ "ให้ผลในทางตรงข้าม"

นายลาฟรอฟ ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้กับสื่อของเซอร์เบีย โดยชี้ว่า การพบปะกันระหว่างผู้นำทั้งสองควรมีขึ้นในขณะที่ทั้งสองฝ่ายกำลังใกล้จะบรรลุข้อตกลงในประเด็นสำคัญต่าง ๆ

เขาแสดงความหวังว่า การเจรจาสันติภาพรอบใหม่ระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่จะมีขึ้นที่ตุรกีในสัปดาห์นี้จะ "ให้ผลลัพธ์ที่ดี" ด้านนายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกประธานาธิบดีรัสเซีย ระบุว่า การเจรจาอาจเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (29 มี.ค.)

รองนายกรัฐมนตรียูเครน ระบุว่า ไม่มีการอพยพพลเรือนออกจากพื้นที่การสู้รบผ่านทาง "ระเบียงมนุษยธรรม" ในเมืองต่าง ๆ วันนี้ (28 มี.ค.) เพราะได้รับรายงานข่าวกรองว่ารัสเซียอาจก่อเหตุ "ยั่วยุ" ตามเส้นทางอพยพ

ด้านคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross หรือ ICRC) ระบุว่า ไม่สามารถส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปให้พลเรือนในเมืองมาริอูโปลซึ่งตกอยู่ภายใต้การปิดล้อมของรัสเซียได้ ขณะที่ยกยกเทศมนตรีมาริอูโปล ระบุว่า เมืองกำลังตกอยู่ในหายนะ และจะต้องมีการอพยพประชาชนออกไปทั้งหมด

นสพ.อิสระฉบับสุดท้ายของรัสเซียระงับทำงานชั่วคราว

หนังสือพิมพ์อิสระโนวายา กาเซตา (Novaja Gazeta) สื่ออิสระที่เหลืออยู่เจ้าสุดท้ายของรัสเซียได้ประกาศระงับการเผยแพร่ข่าวในสื่อออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์เป็นการชั่วคราวจนกว่า "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" ในยูเครนจะสิ้นสุดลง โดยให้เหตุผลว่า ได้รับคำเตือนเป็นครั้งที่ 2 จากหน่วยงานกำกับดูแลสื่อของรัสเซีย "รอสคอมนาดซอ" (Roskomnadzor) ในวันนี้ (28 มี.ค.)

โนวายา กาเซตา ได้รับคำเตือนแรกเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่นายดมิทรี มูราทอฟ ผู้ร่วมก่อตั้ง และบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ประกาศจะประมูลเหรียญรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2021 ที่เขาได้รับ เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครน

การได้รับคำเตือนจากรอสคอมนาดซอ 2 ครั้งอาจทำให้สื่อถูกเพิกถอนใบอนุญาตการปฏิบัติงานในรัสเซียได้

โนวายา กาเซตา ได้เข้าร่วมการสัมภาษณ์ประธานาธิบดีเซเลนสกี ของยูเครนเมื่อ 27 มี.ค. แต่ไม่ได้เผยแพร่เนื้อหาการสัมภาษณ์ หลังจากทางการรัสเซียเตือนว่าอาจมีบทลงโทษหากเผยแพร่บทสัมภาษณ์ดังกล่าว

นับแต่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครน ผู้สื่อข่าวในรัสเซียต่างต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักจากทางการ โดยรัฐสภารัสเซียได้ผ่านร่างกฎหมายเผยข่าวปลอมรัสเซีย-ยูเครน ที่มีบทลงโทษสูงสุดคือจำคุก 15 ปี

ยูเครนเผยรัสเซียเริ่มถอนทหาร พร้อมวางตัวเป็นกลางหากมีผู้รับรองความปลอดภัย

รถถังของรัสเซียถูกทำลายที่บริเวณใกล้กรุงเคียฟ เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, รถถังของรัสเซียถูกทำลายที่บริเวณใกล้กรุงเคียฟ เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา

กองบัญชาการกองทัพยูเครนรายงานว่า กองกำลังรัสเซียเริ่มถอนทหารออกจากพื้นที่สู้รบหลายแห่งหลังประสบความเสียหายอย่างหนัก ทั้งในบริเวณโดยรอบกรุงเคียฟและเมืองอื่น ๆ รวมทั้งที่เมืองสลาวูทิช ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของพนักงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลและครอบครัว ที่ก่อนหน้านี้ถูกโจมตีอย่างหนัก

สำหรับเมืองบางแห่งที่ใกล้กับกรุงเคียฟนั้น กองทัพยูเครนระบุว่ารัสเซียถอนกำลังหน่วยรบเชิงยุทธวิธี 2 กองพัน โดยถอยร่นกลับเข้าไปในเขตแดนของประเทศเบลารุส ชาติพันธมิตรที่เหนียวแน่นของรัสเซีย

กองทัพยูเครนคาดว่าการถอนกำลังครั้งนี้มีขึ้น เพื่อผลัดเปลี่ยนกำลังทหารที่ได้รับบาดเจ็บ เติมเสบียงอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง และเครื่องกระสุนที่ขาดแคลน รวมทั้งปรับเปลี่ยนตัวบุคลากรในสายการบังคับบัญชาเสียใหม่ด้วย

ด้านประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวให้สัมภาษณ์สื่อเสรีของรัสเซียบางสำนัก ถึงประเด็นสำคัญที่จะเป็นข้อเสนอในการเจรจาสันติภาพรอบใหม่ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศตุรกีในสัปดาห์นี้

นายเซเลนสกีระบุว่า ยูเครนพร้อมจะมีสถานะเป็นกลางในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งสละสิทธิ์การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ตามที่รัสเซียเรียกร้อง แต่จะต้องมีการทำประชามติเพื่อให้ชาวยูเครนรับรองข้อเสนอดังกล่าว และจะต้องมีประเทศที่สามเป็นผู้รับประกันความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ยูเครนด้วย

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน

"การรับประกันความปลอดภัย สถานะที่เป็นกลาง และไม่ครอบครองนิวเคลียร์ เราพร้อมจะตกลงกับข้อเสนอเหล่านี้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุด"

"จะต้องมีการรับรองความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพให้ยูเครน มันชัดเจนว่าเป้าหมายของเราคือสันติภาพ และการหวนคืนสู่ชีวิตปกติโดยเร็วที่สุด" นายเซเลนสกีกล่าว

อย่างไรก็ตามผู้นำยูเครนยังคงยืนกรานว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกในการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย ก็คืออธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดนของยูเครน ซึ่งยากที่เขาจะยอมอ่อนข้อในประเด็นเหล่านี้

นางฮันนา มัลยาร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมยูเครนเปิดเผยว่า สถานการณ์ในขณะนี้บีบบังคับให้รัสเซียต้องจัดทัพใหม่ แต่ก็ยังไม่สามารถรุกคืบได้ในแนวรบด้านใด ๆ ในยูเครน

นางมัลยาร์ ระบุว่า รัสเซียพยายามส่งกำลังพบไปเสริมทัพให้ทหารที่ปักหลักอยู่ตามที่มั่นต่าง ๆ แล้วพยายามฝ่าแนวตั้งรับของกรุงเคียฟ แต่ก็ "ไม่มีหวังว่าจะยึดกรุงเคียฟได้

รัสเซียอาจแบ่งแยกยูเครนเป็นสองประเทศเหมือนเกาหลี

นายคีรีโล บูดานอฟ หัวหน้าหน่วยข่าวกรองทางทหารของยูเครนกล่าวเตือนว่า รัสเซียอาจมีแผนแบ่งแยกดินแดนยูเครนออกเป็นสองประเทศ เหมือนกับที่เกาหลีถูกขีดเส้นแบ่งออกเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มาแล้ว หลังจากที่รัสเซียล้มเหลวในการเข้ายึดกรุงเคียฟและโค่นล้มรัฐบาลยูเครนชุดปัจจุบัน

นายบูดานอฟเกรงว่า ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียจะขีดเส้นแบ่งเขตแดนเสียใหม่ โดยให้ภูมิภาคทางตะวันออกและทางตอนใต้แยกตัวเป็นเอกราช เนื่องจากไม่สามารถเข้ายึดครองยูเครนทั้งประเทศได้สำเร็จ

ค่ายที่รัสเซียกักตัวพลเรือนไว้หลายพันคน ที่เมืองเบซิเมนเนทางตะวันออกของมาริอูโปล

ที่มาของภาพ, Satellite image ©2022 Maxar Technologies

คำบรรยายภาพ, ค่ายที่รัสเซียกักตัวพลเรือนไว้หลายพันคน ที่เมืองเบซิเมนเนทางตะวันออกของมาริอูโปล

อย่างไรก็ตาม นายบูดานอฟทำนายว่าสภาพการณ์ดังกล่าวจะไม่สามารถเป็นจริงได้ เพราะกองกำลังรัสเซียต้องพบกับ "การต่อสู้ไล่ล่าแบบกองโจรของยูเครน" นอกจากนี้ ยังมีการขัดขวางต่อต้านจากประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองมาริอูโปล ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่กั้นขวางไม่ให้รัสเซียเชื่อมต่อดินแดนไครเมียทางใต้เข้ากับเขตอิทธิพลทางตะวันออกในภูมิภาคดอนบาสได้

กองทัพยูเครนยังยืนยันรายงานข่าวที่ว่า พลเรือนชาวมาริอูโปลหลายพันคนถูกฝ่ายรัสเซียกวาดต้อนออกจากเมืองโดยไม่สมัครใจ แล้วถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ค่ายพักหลายแห่ง ทั้งที่ตั้งอยู่ในเขตแดนประเทศรัสเซียและในเมืองบางแห่งของยูเครนที่รัสเซียยึดครองอยู่

ภาพถ่ายดาวเทียมจากบริษัท Maxar Technologies ของสหรัฐฯ ยังเผยให้เห็นค่ายกักกันที่สร้างขึ้นเป็นที่พักชั่วคราวให้ชาวเมืองมาริอูโปล 5,000 คน ที่เมืองเบซิเมนเน (Bezimenne) ซึ่งเป็นเขตยึดครองของรัสเซียที่ห่างจากเมืองมาริอูโปลไปทางตะวันออกราว 90 กิโลเมตร

นางอิรีนา เวเรชชุก รองนายกรัฐมนตรีของยูเครนระบุว่า ขณะนี้มีพลเรือนยูเครนราว 40,000 คนแล้ว ที่ถูกกองกำลังรัสเซีย "บังคับเนรเทศ" โดยในบางกรณีมีการพาตัวชาวยูเครนโดยสารรถไฟไปที่เมืองหลายแห่งในรัสเซีย ซึ่งอยู่ห่างจากภูมิลำเนาของชาวยูเครนถึงกว่า 1,000 กิโลเมตร