1 ปี รัฐประหารเมียนมา : ชะตากรรมทหารและนักศึกษาที่ต่อต้านกองทัพจนต้องหนีไปต่างแดน

คำบรรยายวิดีโอ, อดีตนายทหารกับนักศึกษา ที่ต้องเป็นผู้ลี้ภัยจากกองทัพเมียนมา
  • Author, ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

หลังรับราชการทหารมากว่า 15 ปีตั้งแต่อายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ ตูระ (นามสมมุติ) อดีตร้อยเอกแห่งกองทัพเมียนมาหันหลังให้กับอาชีพที่เขารักในวัย 32 ปี ทันที่ที่เห็นปากกระบอกปืนที่ควรจะใช้เพื่อปกป้องประเทศ หันมาหาประชาชน

"ผมมาเป็นทหาร เพราะอยากปกป้องประชาชน และทำงานเพื่อประเทศชาติ ทหารไม่น่าจะมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทหารต้องปกป้องประเทศ" ตูระกล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่นกับบีบีซีไทยระหว่างการซ่อนตัวอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา

หลังการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ 1 ก.พ. 2564 ตูระและเพื่อนทหารหลายคนตัดสินใจละทิ้งตำแหน่งเพื่อมาอยู่ข้างประชาชน แม้ดูเป็นเรื่องยากสำหรับนายทหารสัญญาบัตรหลายคน แต่สำหรับผู้กองอย่างเขา การปกป้องประชาชนถือเป็นภารกิจหลักในชีวิต

เกือบหนึ่งปีแล้วที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย นำกำลังเข้ายึดอำนาจมาจากรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของ นาง ออง ซาน ซู จี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ด้วยข้ออ้างที่ว่ารัฐบาลของเธอโกงการเลือกตั้ง หัวหน้าคณะรัฐประหารให้สัญญาว่าจะนำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง จัดให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่จนถึงวันนี้ ประชาธิปไตยก็ยังไม่ได้ถูกคืนให้ประชาชนเมียนมา

People gather to protest against the military coup in Mandalay, Myanmar on February 28, 2021

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การที่กองทัพเมียนมาใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ทำให้กลุ่มอาสาสมัครติดอาวุธตามเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ ก่อเหตุโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐที่สนับสนุนรัฐบาลทหารมากขึ้น

เช่นเดียวกับชาวเมียนมาผู้รักชาติและประชาธิปไตยคนอื่น ตูระต้องการต่อสู้เพื่อบ้านเกิดอันเป็นที่รัก แต่การถูกคุกคามรายวันโดยทหารเมียนมาทำให้ชีวิตของพวกเขาต้องถึงจุดเปลี่ยน หลายคนเลือกที่จะข้ามมาขอลี้ภัยที่ฝั่งไทยเป็นการชั่วคราว ด้วยความหวังที่จะได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองต่อในประเทศที่สาม แต่บางคนก็ยังมีความหวังจะได้กลับไปทำงานเพื่อประชาชนต่อไป

อยู่ข้างประชาชน

ตูระ จบหลักสูตรปริญญาตรีด้านการทหารมาจาก Defence Services Academy (DSA) โรงเรียนทหาร 3 เหล่าทัพของกระทรวงกลาโหม เขาเติบโตต่อเนื่องในเส้นทางทหารจนได้รับตำแหน่งในด้านการดูแลปราบปราม

ด้วยใจรักชาติ ตูระไม่ได้มองเห็นอนาคตของตัวเองไปกับการทำอาชีพอื่นนอกจากการเป็นทหาร ที่เป็นอาชีพที่มีรายได้ค่อนข้างดีและทำให้พวกเขามีสถานะทางการเงินที่มั่นคง

"ตั้งแต่เข้ามารับงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็มีความตั้งใจจะดูแลประชาชน ลองจินตนาการดูว่าถ้าคนจะมาทำร้ายครอบครัวของคุณ คุณจะยอมไหม นั้นคือสิ่งที่ผมรู้สึกว่าประชาชนชาวเมียนมาเป็นครอบครัวของผม ฉะนั้นผมต้องปกป้อง ไม่ใช่ทำร้ายพวกเขา" ตูระเล่าถึงความตั้งใจ

1 ปี รัฐประหารเมียนมา

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ตูระยอมทิ้งตำแน่งทางทหารมาเพื่อร่วมต่อสู้กับประชาชน เพราะเขาอยากจะปกป้องและทำงานเพื่อชาวเมียนมา ไม่ใช่สู้รบกับพวกเขา

วันที่เกิดการรัฐประหาร เขาประจำการอยู่ที่ฐานในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ โดยเขาไม่ได้รับรู้ถึงการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นเพราะสัญญาณอินเตอร์เน็ตถูกตัด ไม่สามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันลูกพี่ลูกน้องของเขาก็ส่งภาพมาให้และอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น

ในช่วงแรกหลังการรัฐประหาร ตูระแทบไม่รู้สึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเพราะที่ยะไข่ไม่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหาร แต่หลังจากนั้น 4 เดือน ตูระถูกส่งให้ไปประจำการที่ค่ายในรัฐกะยา ทางฝั่งตะวันออกของประเทศ อยู่ติดกับ จ.แม่ฮ่องสอน และที่นั่นเอง เขาเริ่มได้เห็นความรุนแรงที่ทหารต้องหันมาต่อสู้กับประชาชน

"พอเห็นเหตุการณ์ในรัฐกะยา ผมก็มีความคิดแน่วแน่แล้วว่าไม่อยากมีส่วนร่วมกับรัฐประหาร และไม่อยากทำร้ายประชาชน ก็เลยตัดสินใจออกจากทหารมาร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการอารยะขัดขืน" ซึ่งใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Civil Disobedience Movement หรือ CDM

ตูระบอกกับบีบีซีไทยผ่านล่ามว่า "ตำแหน่งทางทหารไม่สำคัญ ผมไม่อยากทำงานภายใต้เผด็จการ ก็เลยทิ้งตำแหน่งมาอยู่ข้างประชาชน"

หนีออกจากค่ายทหาร

เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ตูระเริ่มติดต่อเพื่อนสมัยเรียนที่ DSA แล้วพบว่าบางคนออกจากการเป็นทหารมาเข้ากับกลุ่ม CDM บ้างก็เข้าร่วมกับ "กองกำลังพิทักษ์ประชาชน" หรือ People's Defense Force (PDF) เพื่อเป็นทหารของประชาชนต่อสู้กับรัฐบาลทหาร

A protester makes the three-finger salute in front of a sign during a demonstration against the military coup in Yangon on February 11, 2021.

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, กลุ่มแพทย์อาวุโสในเมียนมาระบุว่า หน้าที่พวกเขาในฐานะแพทย์คือให้ความสำคัญกับคนไข้ก่อน "แต่เราจะทำสิ่งนี้ได้อย่างไรภายใต้ระบบทหารที่ทั้ง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญและกดขี่"

เขาใช้เวลาอยู่หลายเดือนเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากคนใน CDM ว่าไม่ใช่สายสืบของรัฐบาล เมื่อได้รับความไว้วางใจให้เข้าร่วมขบวนการ เขาจึงวางแผนหนีจากค่าย

"ตอนที่หนีออกมาเป็นช่วง 17 ต.ค. ผมบอกกับผู้บังคับบัญชาว่าจะออกมารับภรรยาที่อยู่ต่างเมืองเข้ามาอยู่ด้วยในค่ายด้วยกัน ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ออกมานอกค่าย" ตูระอธิบาย

"ตอนนั้นลำบากมากเพราะต้องผ่านด่านตรวจหลายด่าน กว่าจะออกมาสู่พื้นที่ปลอดภัยได้ และมีความกังวลมากว่าคนที่จะมารับเขาจะพาไปส่งพื้นที่ปลอดภัยหรือส่งตัวให้ทางการ ช่วงที่มาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยต้องเดินทางต่ออีก 3 วันกว่าจะหลบหนีออกมาได้สำเร็จ"

ตูระหลบหนีออกมาจากเมียนมาเพื่อนำครอบครัวของเขามาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าตูระจะไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในการร่วมต่อสู้หรือชุมนุมร่วมกับ CDM โดยตรง แต่เขายังทำหน้าที่ด้านการวางแผนและยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม

1 ปี รัฐประหารเมียนมา

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC THAI

มาถึงตอนนี้ตูระไม่มีความคิดที่จะจับอาวุธต่อสู้กับประชาชนอีกต่อไป แต่สิ่งเขายังอยากทำงานเพื่อประเทศชาติอีก เขากล่าวย้ำว่าทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่การต่อสู้กับประชาชน และคิดว่าวันหนึ่งถ้าเมียนมากลับไปสู่ภาวะปกติก็จะกลับไปอยู่บ้าน ทำงานเพื่อประชาชน

เยาวชนอนาคตของชาติ

กลุ่มคนที่ออกมาประท้วงต่อต้านการรัฐประหารมากที่สุดคือเยาวชนและนักศึกษาที่เปรียบเสมือนอนาคตของชาติ เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนและทหารทั่วเมียนมาที่เห็นตามสื่อต่าง ๆ มักจะเป็นการเคลื่อนไหวอย่างสงบของกลุ่ม CDM เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร แต่เยาวชนถูกปราบปรามโดยทหารด้วยความรุนแรง

เซยะ (นามสมมุติ) อดีตนักศึกษาด้านจิตวิทยา ชั้นปีที่ 2 จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมียนมา คือผู้ลี้ภัยอีกคนที่ซ่อนตัวอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา

ใน วัย 23 ปี เขาเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่ร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารมาตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร และนั่นทำให้ชีวิตของเขาต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

วันที่เกิดรัฐประหาร เซยะอยู่บ้านและกำลังเรียนออนไลน์อยู่ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางคณะจึงงดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย

1 ปี รัฐประหารเมียนมา

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เซยะถูกทหารตีหลังด้วยด้ามปืนก่อนจะกระโดดหนีการจับกุมจากอาคารชั้นที่สองของหอพักจนหลังหัก ถึงวันนี้เขายังมีอาการเจ็บปวดที่หลังจนไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนปกติได้

"ผมตัดสินใจมาเป็นนักเคลื่อนไหวหลังจากเกิดรัฐประหารได้ 5 วัน โดยตอนที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงแรกก็กลัวโดนยิง กลัวโดนจับ และโดนทำร้าย แต่คิดในใจว่ายอมความไม่ยุติธรรมไม่ได้ เลยรวมตัวกันกับเพื่อน ๆ ช่วยกันผลักดันให้ระบบรัฐประหารในเมียนมาออกไป" เซยะอธิบายให้บีบีซีไทยฟัง

"การทำรัฐประหารจะทำให้ประเทศล้าหลัง และไม่ส่งผลดีให้ประเทศ ไปไหนก็ไม่ได้ ไปเรียนหนังสือก็ไม่ได้ เพื่อน ๆ ที่เคยร่วมชุมนุมด้วยกันโดนจับหลายคน ถ้าเห็นว่าวันนี้โดนจับไปได้ พรุ่งนี้ก็กลับออกมาเป็นศพ ผมไม่รู้จะพูดอะไร เพราะมองไม่เห็นอนาคต"

ครอบครัวของเซยะมีสมาชิก 6 คน พ่อและแม่ไม่ชอบรัฐประหาร แต่ก็ไม่อยากให้ลูก ๆ ออกมาชุมนุมเพราะเป็นห่วง ส่วนเขากับพี่ชายออกไปประท้วงตามท้องถนนทุกวัน จนมีทหารมาค้นบ้าน พอรู้สึกไม่ปลอดภัย เขาจึงหนีออกจากบ้านไปอยู่ที่หอพักของมหาวิทยาลัย แต่แล้วก็มีทหารมาบุกค้นพร้อมควบคุมตัวแกนนำนักศึกษาไปหลายคน

Protesters take cover behind barricades during a demonstration against the military coup in Mandalay, Myanmar March 21, 2021.

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, Protests over the coup have been taking place in Mandalay, and across Myanmar, since last month

ตัวเขาเองถูกทหารทุบหลังด้วยด้ามปืนก่อนจะพยายามวิ่งหนี แล้วกระโดดลงมาจากอาคารชั้นสอง ทันทีที่ร่างของเขากระแทกลงกับพื้น เซยะพบว่าตัวเองขยับขาไม่ได้ เพราะหลังหัก เพื่อน ๆ จึงมาช่วยกันพยุงเขาหลบหนีไป นอกจากนี้มีเพื่อนบางส่วนที่หลบหนีมาไม่ทันและถูกทหารจับหมด ตอนนี้ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าเป็นอย่างไร

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners--AAPP) กลุ่มนักเคลื่อนไหวระบุตัวเลขล่าสุดผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่ 1,498 คน และองค์กรช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลด้านสิทธิเด็ก ระบุว่า ในบรรดาผู้เสียชีวิตนับพัน มีเด็กรวมอยู่ด้วยกว่า 70 คน

"ถ้าเราไม่ออกไปประท้วง ทหารจะคิดว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นสิ่งที่คนยอมรับ แต่ที่ออกมาเรียกร้องเพราะอยากให้ประชาคมโลกรู้ว่าพวกเราไม่เอารัฐประหาร" เซยะกล่าว

"ตอน NLD ชนะการเลือกตั้ง แล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่รัฐบาลที่นำโดยทหารจะไม่ทำให้ประเทศได้ประโยชน์อะไร"

A demonstrator looks on along burning debris during a protest against the military coup in Mandalay, Myanmar, 21 March 2021.

ที่มาของภาพ, EPA

เซยะ ย้อนไปเมื่อปี 1988 ที่ทหารเข้ายึดอำนาจเขามองว่า "ประเทศล้าหลังไปเยอะ" มาในปี 2021 ประเทศ "กลับไปเหมือนเดิมอีก" นักเรียนไปโรงเรียนไม่ได้ ทหารเริ่มสอน เรื่องชวนเชื่อให้เด็กตามโรงเรียน จนเยาวชนตกเป็นเป้าของทหารไป

ตอนนี้เซยะ พี่ชายของเขา และกลุ่มนักศึกษาที่เป็นแกนนำการชุมนุม กลายเป็นบุคคลที่ทางการต้องการตัว พวกเขาจึงต้องหนีออกนอกประเทศ และมีความหวังว่าจะขอลี้ภัยไปประเทศที่สาม

"ถ้าเลือกได้ อยากจะขอลี้ภัยไปออสเตรเลีย และอยากกลับไปเรียนหนังสือต่อ โดยที่เลือกออสเตรเลียเพราะชอบประเทศนั้นอยู่แล้ว และมีญาติอาศัยอยู่ที่นั่นด้วย แต่ถ้าขอลี้ภัยประเทศที่สามไม่สำเร็จ ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ เพราะยังไม่ได้คิดถึงแผนเสริมเลย ถ้าได้ย้ายไปจริง ๆ ก็อยากจะเรียนต่อสายจิตวิทยาจนจบและอยากทำงานด้านนี้"

ประชาชนต้องชนะ

นอกจากความรุนแรงที่ทหารทำต่อประชาชน ผู้กองตูระกล่าวว่าในค่ายทหารเองก็มีเรื่องความรุนแรงและความไม่ยุติธรรมอยู่มาก เขาถูกสั่งให้ทำหลายเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตัวเขาเองก็ถูกข่มเหง ในค่ายทหารมาด้วยเช่นกัน

"การจะทำให้คนอื่นเชื่อฟัง เขาต้องทำให้กลัวก่อน คนรับฟังไม่ใช่เพราะยินยอม แต่เพราะกลัว ครอบครัวใดที่อยู่ในค่ายทหาร ก็จะถูกบังคับใช้งานเยี่ยงทาสโดยไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ เลย บางครั้งเสบียงอาหารก็ไม่พอให้กิน เรื่องพวกนี้มีในค่ายทหารมาก่อนจะเกิดรัฐประหารอยู่แล้ว" ตูระกล่าว

Mourners gesture the three finger salute as they attend the funeral of Tin Hla, 43, who was shot dead by security forces during a protest against the military coup in Thanlyin township, outskirts of Yangon, Myanmar on March 27, 2021.

ที่มาของภาพ, NurPhoto via Getty Images

คำบรรยายภาพ, ชาวเมียนมาจัดงานศพให้ผู้ประท้วงที่เสียชีวิต ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.

"ขนาดทหารด้วยกันเองยังไม่มีความยุติธรรม แล้วจะมาให้ความยุติธรรมกับประชาชนได้อย่างไร และการทำร้าย ทุบ ตี ที่เป็นระบบการปกครองที่ใช้ในค่ายทหารก็จะถูกนำมาใช้ปกครองประชาชนด้วย"

ถึงตูระเกิดไม่ทันช่วงการรัฐประหารที่เมียนมาในปี 1988 แต่เขาเห็นว่าการยึดอำนาจในอดีตไม่เหมือนปัจจุบัน เพราะตอนนี้ประชาชนถูกปิดหูปิดตาเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ ทุกคนเข้าถึงสื่อ และตอนนี้มีแนวร่วมเกือบทั้งประเทศมาต่อต้านการรัฐประหาร

"ตอนนี้ที่เมียนมามีใจเดียวกันคือกำจัดรัฐบาลทหารออกไปให้ไม่เหลือรากเหลือโคนด้วยซ้ำ" ตูระยืนยัน

ในฐานะอดีตทหาร ตูระมองว่า กองทัพเมียนมาอยู่มายาวนาน ามีอาวุธพร้อม และวางแผนมาอย่างดี เพราะฉะนั้นประชาชนทั่วไปที่เพิ่งมาจับอาวุธและอยากสู้กับทหารก็ต้องใช้เวลา แต่ถ้าทุกคนร่วมกัน วันหนึ่งก็ต้องชนะ และในอนาคตชาวเมียนมาทุกคนก็หวังว่าประเทศจะกลับไปเป็นอิสระและเป็นประชาธิปไตย

"ทหารยังไงก็อยู่ไม่ได้ พวกเขาอยู่ที่เนปิดอว์ที่เดียว แต่ที่อื่นต่อต้านทหารและสู้รบกันอยู่ ยังไงก็ปกครองประเทศไม่ได้อยู่ดี ทหารไม่สามารถคุมประชาชนทั้งหมดได้"