เกมอำนาจการเมืองในศึกชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. ท่ามกลางความขัดแย้งสองนายพลตำรวจ

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ถูกย้ายไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นระยะเวลา 60 วัน

อีกไม่กี่เดือน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะเกษียณอายุราชการ และจะส่งผลให้ต้องมีการคัดเลือกและแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ขึ้นอีกครั้ง

แต่ด้วยการเมืองภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ปะทุก่อนฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้าย กลายเป็นว่าทั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ถูกย้ายไปนั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งคู่

เป็นที่ทราบกันว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ คือคู่แข่งคนสำคัญของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ในการชิงตำแหน่ง ผบ.ตร. รอบล่าสุดช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา แต่เส้นทางของเขาชะงักลงเพียง 2 วันก่อนหน้าผลการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ออก เมื่อถูก พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบช.กมค.) ขณะนั้น นำชุดตำรวจไซเบอร์เข้าตรวจค้นบ้านพักในคดีเกี่ยวกับเว็บไซต์พนันออนไลน์

ดร.พอล แชมเบอร์ส อาจารย์ประจำสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร เขียนบทวิเคราะห์การโยกย้ายตำแหน่งของนายทหารและนายตำรวจของไทยเมื่อเดือน ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา และเผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค

เขาวิเคราะห์ให้เห็นว่า แคนดิเดต ผบ.ตร. สมัยที่แล้วมาจากเส้นสายทางการเมืองกลุ่มใดบ้าง พร้อมกับให้เหตุผลว่าทำไม พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จึงได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร. คนปัจจุบัน

ในบทวิเคราะห์ของนักวิชาการรายนี้ยังมองด้วยว่า ตำแหน่ง ผบ.ตร. คนต่อไปน่าจะถูกส่งต่อไปที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ซึ่งนั่งเป็นรักษาการ ผบ.ตร. อยู่ในขณะนี้ จากนั้นคนที่น่าจะได้เป็น ผบ.ตร. ต่อจาก พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ คือ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางคนปัจจุบัน ถ้าหาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไม่สามารถทวงคืนเก้าอี้ ผบ.ตร. กลับมาอยู่ในมือได้

ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีต ผบ.ตร. เห็นต่างกับบทวิเคราะห์ของ ดร.พอล และมองว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติครานี้ มาจากการแต่งตั้ง ผบ.ตร. โดยข้ามลำดับชั้นอาวุโสตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิม

ขณะที่ เอกสารวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ที่จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ของไทยยังไม่เป็นอิสระจากการเมือง ถึงแม้มีความพยายามในการปรับเปลี่ยนเกณฑ์และองค์ประกอบคณะกรรมการบางส่วนให้ต่างจากอดีตแล้วก็ตาม

สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ทำงานใหม่ของ “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์”

วันที่ 21 มี.ค. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เดินทางเข้ารายงานตัวที่สำนักนายกรัฐมนตรี หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งย้ายทั้งคู่มาช่วยราชการเป็นระยะเวลา 60 วัน จากกรณีความขัดแย้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา หลังจากเกิดการตอบโต้กันไปมาระหว่าง ผบ.ตร. และ รอง ผบ.ตร. ผ่านหน้าสื่ออยู่เป็นระยะเวลาร่วมเดือน ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวกับการดำเนินคดี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในข้อหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินจากเว็บไซต์พนันออนไลน์

ด้านนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุผลการสั่งย้าย ผบ.ตร. และ รอง.ผบ. ในครั้งนี้ว่า ตนเองต้องการยุติความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้น และให้คดีความต่าง ๆ เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย รวมถึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาควบคู่กันด้วย

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการรายงานตัวว่า ตนเองได้รับมอบหมายให้ดูงานจิตอาสาซึ่งทำอยู่เดิมแล้ว รวมถึงให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลเหตุชุมนุมต่าง ๆ และยังคงเข้าเวรราชองครักษ์เช่นเดิม

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า คำสั่งในหนังสือสั่งย้ายใช้คำค่อนข้างรุนแรง ทาง ผบ.ตร. ตอบว่า ตนเองยอมรับว่าเป็นหัวหน้าหน่วยและทำให้องค์กรเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไม่ได้ ซึ่งเป็นความบกพร่องและยอมรับสภาพ นอกจากนี้ เขายังบอกกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ด้วยว่า “เราไม่ได้คุยกัน ที่ผ่านมาพยายามทำสภากาแฟ ให้พี่น้องได้มาคุยกัน เป็นพี่เป็นน้อง ไม่ใช่เจ้านาย ไม่ใช่หัวหน้า ซึ่งก็โอเคในระดับหนึ่ง”

“วันนี้พี่ถอดหัวโขน อยู่แค่ตำแหน่ง ผบ.ตร. หัวโขนในการปฏิบัติหน้าที่ เราก็ถอดออก มานั่งที่นี่ก็ใส่หัวโขนที่นี่ โรงละครของเราเลิกแล้วก็เก็บฉาก เก็บเครื่องแต่งตัว ปิดไฟ หอบเสื่อกลับบ้านเราก็เท่านั่น ชีวิตเรามีเท่านี้ จะมาเครียดอะไร มาเร็วก็ต้องจากกัน ผมไม่เครียดหรอก ยืนยันไม่ช็อก เพราะรู้ล่วงหน้ามาก่อนแล้ว รู้ก่อนที่นายกฯ จะเรียกเข้าพบ รู้ส่วนตัวอยู่แล้ว” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 21 มี.ค.

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าที่โดนเด้งครั้งนี้ เป็นเพราะจัดการเรื่องในสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้ใช่หรือไม่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า “ใช่” พร้อมยกนิ้วโป้ง

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็น ผบ.ตร. คนแรกที่ไม่ได้จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ด้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลเช่นกัน โดยเขาบอกว่า ได้รับมอบหมายให้ดูงานด้านที่ปรึกษากฎหมาย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ และการกระจายอำนาจ ซึ่งเชื่อว่าจะทำหน้าที่ได้ดี

อย่างไรก็ดี นี่เป็นครั้งที่ 2 ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่ถูกย้ายมานั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเขาบอกว่า “การมาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี นั้นก็เหมือนการกลับมาบ้านเก่า และการมาช่วยราชการครั้งนี้ก็ไม่มีอะไรแนะนำ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีคนมองว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีชีวิตที่ 10 และ 11 ทาง รอง ผบ.ตร. ยิ้ม และตอบนักข่าวว่า ไม่มีอะไร วันนี้ก็ทำหน้าที่ปกติ ตนเองมีโอกาสให้ทำงาน ก็ต้องทำงาน จากนั้นผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า รอบนี้จะฆ่าไม่ตายหรือไม่ ทาง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า “ไม่รู้” เพราะทำหน้าที่ปกติตามที่ได้รับมอบหมาย

รอง ผบ.ตร. ยังปฏิเสธด้วยว่า เขาไม่มีเส้นสายบ้านจันทร์ส่องหล้าอย่างที่มีกระแสข่าวออกมา ส่วนการไปพบนายทักษิณ ชินวัตร ช่วงเยือน จ.เชียงใหม่ นั้น ตนเองไปทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยขบวนบุคคลสำคัญ เพราะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี

ขั้วอำนาจ กับ โผเก้าอี้ ผบ.ตร.

ดร.พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการจากสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร เขียนบทวิเคราะห์การโยกย้ายตำแหน่งของนายทหารและนายตำรวจของไทยเมื่อเดือน ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา และเผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof-Ishak Institute) ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว

ในบทวิเคราะห์ชิ้นนี้ ดร.พอล มองว่าการแต่งตั้งตำรวจในปี 2566 มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 โดยมาตรา 78 (1) ของกฎหมายใหม่ฉบับนี้ ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีสามารถคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด โดยคำถึงถึงอาวุโส ความรู้ ความสามารถประกอบกัน เพื่อเสนอให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) พิจารณาเห็นชอบได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ถอนวาระการแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ออกจากที่ประชุม ก.ตร. เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2566 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็นประธานการประชุมเป็นครั้งสุดท้าย และได้ส่งต่อการสรรหา ผบ.ตร. คนต่อไปให้กับ นายเศรษฐา หลังได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ล่าช้าจากเดิมประมาณ 1 เดือน

โดยแคนดิเดตตำแหน่ง ผบ.ตร. ในขณะนั้น มี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ผู้ที่เคยถูกนายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายพาดพิงเรื่องตั๋วช้าง และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นสองตัวเต็งที่จะได้รับตำแหน่ง ผบ.ตร.

ขณะที่อีก 2 แคนดิเดตที่เหลือ ได้แก่ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ซึ่งมีลำดับอาวุโสสูงที่สุด และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ที่มีลำดับอาวุโสอยู่ในอันดับ 3 ในขณะนั้น

ทั้งนี้ ปัจจุบัน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ได้รับตำแหน่งเป็นรักษาการ ผบ.ตร. หลังจาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกย้ายไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลา 60 วัน

ดร.พอล มองว่า การที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผบ.ตร. ในเดือน ต.ค. 2566 “ไม่น่าแปลกใจเลย” เพราะ ผบ.ตร. คนนี้เป็นน้องชายของ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เลขาธิการพระราชวัง และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ถือเป็น ผบ.ตร. คนแรกที่ไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ค้นบ้าน

ที่มาของภาพ, HANDOUT

คำบรรยายภาพ, ชุดตำรวจไซเบอร์เข้าค้นบ้านพัก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2566

ดร.พอล ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการบุกค้นบ้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเว็บไซต์พนันออนไลน์ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2566 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าวันแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 14 เพียงสองวัน ว่า พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาชุดตรวจค้นนั้น มีความสนิทสนมกับ พล.อ.ประยุทธ์ และจบโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 25 เช่นเดียวกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนปัจจุบัน

นักวิชาการจาก ม.นเรศวร ผู้นี้วิเคราะห์ต่อด้วยว่า การที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกกล่าวหามีส่วนพัวพันกับการพนันออนไลน์ทำให้เขาตกอยู่ในความเสียเปรียบ และส่งผลให้นายเศรษฐาต้องสั่งให้เปิดการสอบสวนคดีดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มากกว่านั้น ยังพบว่าภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้น มีกลุ่มตำรวจจาก 3 กลุ่มที่มีอำนาจได้แก่ สายตระกูลชินวัตร/ดามาพงศ์ ของพรรคเพื่อไทย, สาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ของพรรคพลังประชารัฐ และ สาย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ของพรรคภูมิใจไทย แต่ทั้งหมดก็ไม่สามารถผลักดันให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กลายเป็น ผบ.ตร. ได้

ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีต ผบ.ตร. และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย มองต่าง เขาบอกว่ากลุ่มการเมืองที่ ดร.พอล หยิบยกขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสายตระกูลชินวัตร วงษ์สุวรรณ หรือชิดชอบ ล้วนเป็นเพียงกลุ่มอิทธิพลการเมืองในระดับชาติ ไม่ใช่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นักวิชาการจากสถานประชาคมอาเซียนศึกษา ม.นเรศวร ยังวิเคราะห์ต่อด้วยว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กำลังจะเกษียณอายุราชการในปี 2567 นี้ แต่เมื่อดูรายชื่อของนายตำรวจอาวุโสที่เตรียมขึ้นเป็น ผบ.ตร. คนต่อไป เขามองว่าส่วนใหญ่ยังมาจากสายที่ พล.อ.ประวิตร และ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้เคยแต่งตั้งไว้ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

นักวิชาการจาก ม.นเรศวร คนนี้ยังคาดการณ์ด้วยว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผู้ซึ่งดูเหมือนว่ามีสายสัมพันธ์อันดีกับพี่น้องตระกูลวงษ์สุวรรณ และยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหารร่วมกับ ร.อ.ธรรมนัส ด้วยนั้น อาจสืบทอดตำแหน่ง ผบ.ตร. หลังวาระของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สิ้นสุดลง ซึ่งตัว พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เองจะเกษียณอายุราชการในปี 2569 ขณะที่นายตำรวจดาวรุ่งจากอีกคนหนึ่งคือ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง น่าจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง ผบ.ตร. ถัดจากนั้น

"พล.ต.ท.จิรภพ น่าจะได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. [ในปี 2569] เว้นเสียแต่ว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะกลับมาได้ [หากเป็นเช่นนั้น] พล.ต.ท.จิรภพ จะสามารถดำรงตำแหน่งได้นานถึง 10 ปี จนกว่าจะเกษียณราชการในปี 2579" ดร.พอล ระบุในบทความของเขา

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ และ พล.ต.ท.จิรภพ

ที่มาของภาพ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

คำบรรยายภาพ, พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาการ ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

อดีต ผบ.ตร. ชี้ ตร. เละเทะ เพราะไม่ยึดหลักอาวุโสตามเดิม

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า เมื่อการคัดเลือกตำแหน่ง ผบ.ตร. ไม่ได้อิงจากลำดับอาวุโสอีกต่อไป ส่งผลให้นายตำรวจระดับสูงหวังใช้เงินเพื่อซื้อตำแหน่งมากกว่าทำงาน เพราะมองว่ามีทางลัดให้ตนเองได้ขึ้นตำแหน่งโดยไม่ต้องรอลำดับอาวุโส โดยเงินส่วนใหญ่ได้มาจากการสั่งให้ลูกน้องแต่ละหน่วยไปรีดไถอีกที ด้วยผลประโยชน์ต่างตอบแทนว่า หากนายได้ขึ้น ลูกน้องก็ได้ขยับตำแหน่งตามไปด้วย ผลสุดท้ายแล้วผู้ที่เดือดร้อนที่สุดก็คือประชาชน

เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในสมัยเลือก ผบ.ตร. คนที่ 14 ปรากฏว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้รับการแต่งตั้งทั้งที่มีความอาวุโสอยู่ลำดับที่ 4 จากในบรรดาแคนดิเดตทั้งหมด แต่เมื่อแต่งตั้งรักษาการ ผบ.ตร. คนปัจจุบัน “ทำไม นายกฯ ถึงได้เลือก พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ซึ่งเป็นอาวุโสรองลงมาจาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ถึงแม้ไม่มีระเบียบใดระบุถึงคุณลักษณะของตำแหน่งรักษาการ ผบ.ตร.ก็ตาม

แต่กระนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ไม่ได้มองว่าการแต่งตั้งรักษาการ ผบ.ตร. ในครั้งนี้จะเป็นการปูทางให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร. คนถัดไปอย่างที่ ดร.พอล วิเคราะห์

"นี่คือความเละเทะที่สุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” อดีต ผบ.ตร. กล่าวกับบีบีซีไทย เพราะตนเองไม่เคยเห็นหัวหน้าองค์กรตำรวจในระดับ ผบ.ตร. หรือ รอง ผบ.ตร. ถูกฟ้องร้องในคดีร้ายแรงเช่นนี้มาก่อน

แต่เขาเห็นด้วยว่า ความอื้อฉาวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะการชิงตำแหน่ง ผบ.ตร. ก่อนหน้านี้ ที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างนายตำรวจระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเวลาต่อมา

“ครั้งที่แล้วแต่งตั้งรอง ผบ.ตร. ที่ความอาวุโสลำดับที่ 4 เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเมื่อได้ขึ้นแล้ว ทาง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เขาก็เป็นรองอันดับ 1 เขาก็ต้องคิดว่าตนเองมีสิทธิ์ ไฉนเลยจะนั่งอยู่เฉย ๆ ก็ต้องทำอะไรสักหน่อย”

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์

ที่มาของภาพ, สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

คำบรรยายภาพ, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีต ผบ.ตร. บอกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติตอนนี้ "เละเทะที่สุด"

อดีต ผบ.ตร. ผู้นี้บอกด้วยว่า นายกรัฐมนตรีควรแก้ไขความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งนานแล้ว เพื่อจะได้ไม่บานปลายเช่นนี้

“แต่คนนอกอย่างผมก็มองว่า นายกฯ จะกล้าตัดสินใจอะไรหรือเปล่า ถ้านายกฯ กล้าตัดสินใจ ก็คงตัดสินใจไปนานแล้ว แต่นายกฯ ต้องหารือใครหรือเปล่า เพราะ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เขาก็ไม่ธรรมดา มีพี่ชายเป็นราชเลขาฯ ถ้าย้อนกลับไป ทำไม พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้เลื่อนตำแหน่งทุกปี นับตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ ปี 2557 เลื่อนซ้อนกันเลยปีละตำแหน่ง ๆ ถ้าไม่เลื่อนแบบนี้ ไม่ได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรอก”

ระหว่างที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกย้ายไปช่วยราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติชั่วคราว ทาง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มองว่า ผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่จะออกมาหลังจากนี้น่าจะไม่ส่งผลในทางลบกับทั้งคู่แต่อย่างใด และคาดการณ์ว่าผลสอบจะออกมาในลักษณะว่า “ไม่มีมูล” ความผิดของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้ความขัดแย้งระหว่างกันจบลงด้วยดี เป็นการยุติเรื่องที่ส่งผลดีต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ผบ.ตร., รอง ผบ.ตร. หรือ นายกรัฐมนตรี

หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยมองไปข้างหน้าว่า หากการแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนต่อไปเลือกผู้ที่มีอาวุโสอันดับหนึ่ง นั่นก็คือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็จะสร้างความสงบให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“แต่ถ้าตั้งเบอร์ 2 3 4 ก็เจอการฟ้องร้องคดีพัวพันแบบนี้ต่อไป” โดยเขามองว่า หากต้องการให้องค์กรตำรวจมีอิสระจากการเมืองจริง ๆ ก็ควรแยกออกไปเป็นองค์กรอิสระ

“แต่สุดท้าย เขาคงไม่ยอมกันหรอก เพราะต้องไปแก้กฎหมาย ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร สส.ที่ไหนจะยอม” เมื่อบีบีซีไทยถามต่อว่า เหตุใดฝ่ายการเมืองถึงต้องการแทรกแซงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทาง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะตำรวจเป็นองค์กรที่มีอำนาจสอบสวน สืบสวน จับกุม ดำเนินคดี ผู้กระทำความผิด “ทางการเมืองจึงต้องการเอามาเป็นพวก”

ทำไมตำแหน่ง ผบ.ตร. ถึงผูกโยงกับการเมืองทุกสมัย

เอกสาร "บทวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ...." ที่จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นระบบรวมศูนย์ (centralization) ส่งผลให้ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรม หากเปรียบเทียบกับระบบงานตำรวจในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ออสเตรเลีย พบว่า ประเทศเหล่านั้นใช้หลักการบริหารแบบกระจายอำนาจ มุ่งเน้นป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในระดับพื้นที่โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

ขณะที่ การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ของไทย ถึงแม้เป็นการพิจารณาคัดเลือกผ่าน ก.ตร. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน แต่องค์ประกอบของคณะกรรมการยังมาจากส่วนกลางซึ่งเป็นรูปแบบอำนาจรวมศูนย์เช่นเดิม

เอกสารบทวิเคราะห์ดังกล่าว ที่จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้า ยังระบุด้วยว่า แม้ว่าในองค์ประกอบของ ก.ตร. จะมีอดีตข้าราชการตำรวจในตำแหน่งผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าขึ้นไปซึ่งพ้นราชการตำรวจไปแล้วเกิน 1 ปีเท่านั้นร่วมอยู่ด้วย แต่พบว่าบุคคลเหล่านี้ยังคงมีความผูกพันกับข้าราชการตำรวจที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ในฐานะอดีตผู้บังคับบัญชา หรือเคยมีปฏิสัมพันธ์กันมาก่อน

นอกจากนี้ยังพบว่า การลงคะแนนเสียงเพื่อเลือก ผบ.ตร. ยังคงเป็นแนวคิดเดิมคือขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง และให้ความสำคัญกับอำนาจของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ก.ตร. และแม้มีการเพิ่มคุณสมบัติของ ผบ.ตร. ว่าให้คำนึงถึงความอาวุโส ความรู้ความสามารถในการบริหารงาน และประสบการณ์ด้านสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม ประกอบกัน แต่ก็ไม่ได้มีตัวชี้วัดเป็นคะแนนชัดเจน เป็นเพียงหลักเกณฑ์กว้าง ๆ ซึ่งทำให้การพิจารณาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละบุคคล จึงทำให้การคัดเลือก ผบ.ตร. ตามกฎหมายฉบับปัจจุบัน ไม่ได้แตกต่างจากการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ในสมัยที่ผ่านมา